ผู้เขียน หัวข้อ: เรียนรู้ อยู่รอด (Learning, Surviving)  (อ่าน 2932 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3893
เมื่อ: สิงหาคม 21, 2015, 11:25:54 PM
การศึกษาในศตวรรษที่ 21 เป็นการศึกษาที่มีจุดเน้นอยู่ตรงการสร้างให้เยาวชนมีทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้และทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อที่ว่าพวกเขาจะสามารถอยู่รอดปลอดภัยต่อไปได้อย่างดีท่ามกลางวิกฤตการณ์ของโลก ทั้งที่เกิดจากปัญหาทางสังคม และทางธรรมชาติ ที่นับวันก็มีแต่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นทุกวัน

เหตุแห่งปัญญาเหล่านี้ ค่อยๆ สั่งสมและก่อตัวขึ้นจนกระทั่งวิถีทางของการจัดการศึกษาไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากการจัดสรรให้นักเรียนต้องย้อนกลับมาเรียนรู้จากโจทย์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ด้วยการฝึกให้ลงมือทำแทนการจดจำเพื่อนไปสอบ เพราะเกณฑ์การวัดผลการเรียนว่าใครผ่านหรือไม่ผ่านบทเรียนนี้ ไม่ใช่การ ?สอบได้? หรือ ?สอบตก? อีกต่อไป แต่การผ่านนั้นมี ?ชีวิต? และความอยู่รอดของมนุษยชาติเป็นเดิมพัน

รู้ทันภัยพิบัติ

เมื่อสิบกว่าปีก่อนคนไทยได้ลิ้มรสความเสียหายอันเกิดจากภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งมีสาเหตุมาจากแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงในมหาสมุทรอินเดียเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากกว่า165,000 รายที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้กับจุดเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงดินแดนที่อยู่ไกลออกไปในแอฟริกาตะวันออกต้องประสบกับความทุกข์แสนสาหัสอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน

ความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้อาจบรรเทาเบาบางลงได้ หากประเทศต่างๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณแนวชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียที่มีการจัดการเรื่องการป้องกันภัยสึนามิที่ดีพอ เช่น มีการตั้งระบบเตือนภัยสึนามิที่สมบูรณ์ดังเช่น ประเทศที่อยู่ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยเหตุนี้ องค์การยูเนสโกและองค์การระหว่างประเทศหลายแห่งจึงออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการจัดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิโลกขึ้น นอกจากนั้นยังได้เสนอวิธีการป้องกันภัยอีกหนทางหนึ่ง นั่นคือ การให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดภัยพิบัติ เช่น การเปิดสอนหลักสูตรการป้องกันภัยสึนามิในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่เกิดภัยพิบัติ โดยหวังว่านักเรียนที่ผ่านหลักสูตรนี้ จะสามารถนำเอาความรู้ที่มีไปช่วยเหลือครอบครัวและชุมชนของตนต่อไป

ประเทศญี่ปุ่นนับเป็นประเทศต้นแบบที่มีการเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ เนื่องจากตั้งอยู่ในบริเวณที่เป้นแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวได้บ่อย นักเรีนยตั้งแต่ชั้นประถมถึงปริญญาตรีจึงมีการซ้อมอพยพหนีภัยแผ่นดินไหวอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และต้องพร้อมเผชิญกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อทุกคน ต้องมีความรู้และผ่านการฝึกทักษะการเอาตัวรอดมาเป็นอย่างดีด้วยเหตุนี้ สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้ร่วมกับสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency-JICA)และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยดำเนินโครงการให้การศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาตินับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 เป็นต้นมา

โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ขั้นการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อนำร่องการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาในเขตพื้นที่ที่มีความเสี่ยงไปจนถึงการพัฒนาการพัฒนาสื่อและกิจกรรมการเรียนการสอน การอบรมครูโรงเรียนต้นแบบในด้านการป้องกันภับพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงการขยายผลสู่นักเรียนและชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการและเตรียมความพร้อมในการเผชิญสถานการณ์

นอกจากนี้ยังมีการจัดทำสื่อการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติเพื่อขยายผลให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนและศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบด้านภัยพิบัติ และแนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อเป็นตัวอย่างให้ครูสามารถจัดกิจกรรมด้านภัยพิบัติในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีแนวปฏิบัติเบื้องต้นคือ ทันทีที่สัญญาณเตือนภัยดังขึ้น นักเรียนและครูหลบเข้าไปใต้โต๊ะเรียน จากนั้นทิ้งช่วงประมาณ 5 นาที หัวหน้าห้องจะนำเพื่อนๆ ออกจากห้องเรียน โดยตั้งแถว นับจำนวนและลงจากอาคารเรียนพร้อมกันเพื่อมุ่งหน้าไปยังจุดรวมพลที่สนามหน้าโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีการคลานต่ำ การใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูก และใช้ถุงครอบศีรษะเมื่ออากาศหมด การฝึกดับเพลิงโดยใช้กระสอบชุบน้ำและเครื่องดับเพลิง การฝึกทักษะการเอาชีวิตรอดอและระงับเหตุไฟไหม้ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากเกิดแผ่นดินไหว รวมถึงการฝึกเดินบนสะพานเชือก การฝึกเดินบนสะพานไม้ในกรณีที่เส้นทางถูกตัดขาดจากดินโคลนถล่มในฐานการเรียนรู้ที่จำลองสถานการณ์จริงที่อาจเกิดขึ้นได้ เป็นต้น

นวัตกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน

ในการประชุมระดมสมองในหัวข้อ ?การสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสื่อการเรียนการสอนเตรียมความพร้อมรับภับพิบัติ? เพื่อค้นหาวิธีนำนวัตกรรมการเรียนรู้เหล่านี้ไปใช้นั้น พบว่า มีปัจจัยความสำเร็จสำคัญ 3 ประการ คือ

1. ก่อนการนำไปใช้ ผู้สอนต้องหาความรู้อย่างลึกซึ้งและละเอียด และหากเป็นไปได้ ผู้เรียนควรได้เรียนรู้ประสบการณ์ของผู้ประสบภัยโดยตรง
(Prior to the use, the instructors must profoundly and thoroughly investigate knowledge and if possible, the learners should learn from the experience from the victims directly. )ช

2. การเรียนรู้ต้องเป็นไปอยางสนุกสนาน เพราะผู้เรียนจะมีความยินดีในการเรียนรู้เรื่องเดิมบ่อยแค่ไหนก็ตาม

(Learning must be fun as the learners will be satisfied with the learning regardless of how often they have to learn.)

3. สื่อการเรียนรู้ต้องออกแบบให้น่าสนใจ และง่ายต่อการจดจำ

(The learning material must be designed to be interesting and easy to remember.)

ตัวอย่างเช่น ผู้สอนสามารถสร้างการเรียนรู้ในหัวข้อผู้ประสบภัยใช้เทคนิคอะไรในการรับมือภัยพิบัติบ้าง แล้วนำมาทำให้น่าสนใจโดยประมวลออกมาเป็นเกม หรือกลายเป็นสื่อในการเรียนการสอนต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการสั่งสมความรู้เรื่องการใช้ชีวิตระหว่างประสบภัยพิบัติก่อนที่จะได้เผชิญหน้ากับเหตุการณ์จริง โดยโรงเรียนมีหน้าที่หลักในการเชื่อมโยงความรู้พื้นฐานเข้ากับความสามารถในการจัดการเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ เช่น การนับจำนวนผู้บาดเจ็บ การคิดอัตรร้อยละ การทำกราฟ เป็นต้น ซึ่งการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ ถือเป็นเรื่องที่โรงเรียนทุกแห่งต้องให้ความสำคัญ

นอกจากนี้ยังมีชุดความรู้ และประสบการณ์อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโรงเรียน และชุมชนเมื่อประสบภัยพิบัติ เช่น การซ่อมแซมอาคารที่เสียหาย การควบรวมชั้นเรียนชั่วคราวด้วยการนำเด็กมาเรียนรู้ร่วมกัน การเรียนร่วมกับโรงเรียนอื่นๆ การจัดสรรทรัพยากรเฉพาะหน้า การดูแลเด็กที่ต้องพลัดรากจากครอบครัว การเลี้ยงดูเด็กกำพร้าที่ชุมชนต้องเข้ามาโอบอุ้มดูแล การจัดระบบทุนการศึกษา การจัดเพื่อนในโรงเรียนเดียวกันให้คอยเป็นพี่เลี้ยง ลากรฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจ เป็นต้น ดังนั้นการเรียนรู้ภัยพิบัติจึงต้องปรับให้เหมาะสมกับบริบทของปัญหาของแต่ละท้องถิ่น

ในประเทศญี่ปุ่นเทศบาลเมืองโกเบทำหน้าที่เป็นตัวหลักในการสร้างการเรียนรู้ให้กับชุมชน และให้ความรู้ในเรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ เมื่อภัยพิบัติมาถึงก็ยังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือและดูแลจนกระทั่งเหตุการณ์เข้าสู่สภาพปกติ ประสบการณ์ของเทศบาลเมืองโกเบที่ยกมานี้ สอดคล้องกับข้อสรุปของสถาบันปกเกล้า ที่กล่าวมาไว้ในคำนำของคู่มือการจัดการภับพิบัติที่เกิดขึ้นนั้น คือ ประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ที่เกิดภัยนั่นเอง ซึ่งเป็นผู้ที่รู้จักพื้นที่และสภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ และประชากรดีที่สุด อันเป็นส่วนสำคัญในการจัดการภับพิบัติที่มีประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุนี้ หลักสูตรการเรียนรู้ภับพิบัติและเรียนรู้เรื่องชุมชนจึงเป็นเรื่องจำเป็น คนที่มีภูมิลำเนาอยู่ทางภาคเหนือต้องเรียนรู้เรื่องแผ่นดินไหว ในขณะที่คนทางภาคใต้ต้องเรียนรู้เรื่องสึนามิ และทุกคนควรต้องมีความรู้เกี่ยวกับชุมชนของตนเอง ตั้งแต่สภาพภูมิศาสตร์ ประวัติการเกิดภัยพิบัติของชุมชน ที่ตั้งของโรงพยาบาล สถานีอนามัย สถานีตำรวจ วัด ฯลฯทุกครอบครัวต้องช่วยกันสร้างนิสัยเรื่องความมีวินัย การตระหนักในหน้าที่ การมีจิตสาธารณะ การรู้จักที่จะดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การเตรียมตัวเองให้พร้อมเป็นที่พึ่งแห่งตนและคนรอบข้าง เรียนรู้ที่จะอยู่รอดร่วมกัน เพื่อเป็นกำลังในการฟื้นชุมชนให้กลับสู่ความปกติอีกครั้ง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คอลัมน์สื่อการศึกษา.เรียนรู้ อยู่รอด, (2558, เมษายน-มิถุนายน). สื่อพลัง. 23 (2): 45-49.