ผู้เขียน หัวข้อ: โรคตาขี้เกียจ มองเห็นไม่ชัด ไม่รักษาระวังตาดับไม่รู้ตัว  (อ่าน 2792 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
          โรคตาขี้เกียจ อาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา เรื่องใกล้ตัวที่เราอาจยังไม่เข้าใจ แต่ใช่ว่าจะปล่อยผ่านได้ เพราะหากเป็นแล้วปล่อยไว้มีสิทธิ์ถึงขั้นตาบอดได้

           อีกหนึ่งภัยเงียบเกี่ยวกับดวงตาที่อาจคุกคามการมองเห็นของคนเราซึ่งอยู่ใกล้ตัว และสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ยังเด็กนั่นก็คือโรคตาขี้เกียจ ซึ่งโรคนี้มีคนจำนวนไม่น้อยที่เป็น แต่ไม่ยอมเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องเพื่อประคับประคองอาการ และปล่อยไว้โดยคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิดถนัดเลยล่ะค่ะ เพราะโรคตาขี้เกียจนั้น สามารถสร้างปัญหาให้กับผู้ป่วยได้มากเลยทีเดียวเชียว แถมถ้ายังไม่ยอมอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และรักษาอาการอย่างถูกต้องก็สามารถทำให้เกิดปัญหาสายตาอย่างถาวร ในรายที่อาการรุนแรงถึงขั้นตาบอดเลยก็มี
 
           ทราบแบบนี้แล้วอาจจะกลัวกันขึ้นมา แต่เรื่องแบบนี้เราสามารถรับมือได้หากได้เรียนรู้และทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้มากขึ้น เราจึงข้ออาสาหยิบข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคตาขี้เกียจมาฝาก จะได้รู้เท่าทันและสามารถดูแลรักษาไม่ให้อาการหนักขึ้นกว่าเดิมได้ค่ะ
 
           โรคตาขี้เกียจ (Lazy Eye) หรือที่ภาษาทางการแพทย์เรียกว่า Amblyopia เป็นหนึ่งในปัญหาทางด้านจักษุ โดยตาขี้เกียจนั้นเป็นภาวะที่มีการมองเห็นซึ่งผิดปกติมาโดยกำเนิด หรือมีสาเหตุมากจากปัญหาทางจักษุอื่น ๆ โดยสามารถเกิดขึ้นกับตาเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ และไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ เนื่องจากไม่ได้เกิดความผิดปกติจากโครงสร้างของดวงตา

สาเหตุของของโรคตาขี้เกียจ

           โรคตาขี้เกียจนั้นเป็นโรคที่เกิดขึ้นมาจากความผิดปกติอื่น ๆ ของดวงตา และจะไม่สามารถตรวจพบได้นอกจากผู้ป่วยจะเป็นคนบอกเล่าอาการ แต่ก็สามารถสรุปสาเหตุออกมาได้ 3 สาเหตุดังนี้

โรคตาเข หรือตาเหล่ (Strabismic amblyopia)

           โรคตาเหล่เป็นสาเหตุของตาขี้เกียจที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด เพราะดวงตาที่มีอาการเหล่นั้นจะมีการมองเห็นไม่ดีเท่ากับดวงตาที่ปกติ และทำให้ผู้ป่วยต้องเลือกมองด้วยตาเพียงข้างเดียวเพื่อไม่ให้เห็นภาพซ้อน และทำให้ตาอีกข้างหนึ่งที่ไม่ได้ใช้งานเกิดการมองเห็นที่น้อยลงและมองไม่ชัดในที่สุด ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในวัยเด็กค่ะ

ภาวะสายตาทั้งสองข้างสั้น-ยาว หรือเอียงไม่เท่ากัน (Anisometropic amblyopia)

           ในกรณีที่สายตาทั้งสองข้างเกิดความผิดปกติอย่างเช่น สั้น-ยาว หรือเอียงไม่เท่ากันก็สามารถทำให้เป็นโรคตาขี้เกียจได้ โดยสาเหตุนี้เป็นสาเหตุของโรคตาขี้เกียจที่พบได้รองจากอาการตาเหล่ ยิ่งถ้าหากค่าสายตาห่างกันมาก ๆ ก็จะยิ่งทำให้อาการตาขี้เกียจพัฒนามากขึ้น อาทิ ถ้าสายตาข้างซ้าย สั้น 100 แต่อีกข้างสั้น 800 ก็จะทำให้การมองเห็นต่างกัน และส่งผลให้ผู้ป่วยจะเลือกมองด้วยตาเพียงข้างที่สั้นน้อยกว่า และทำให้ตาอีกข้างได้รับการพัฒนาที่น้อยลงจนกลายเป็นตาขี้เกียจ อาการนี้หากรีบรักษาด้วยการสวมแว่นตั้งแต่เริ่มเกิดอาการใหม่ ๆ ก็จะช่วยให้อาการตาขี้เกียจไม่รุนแรงมากนัก

ภาวะสายตาสั้น-ยาว หรือเอียงมากผิดปกติ (Isometropic amblyopia)
         
           ไม่ใช่แค่เพียงว่าค่าสายตาห่างกันมาก ๆ แล้วจะทำให้เป็นตาขี้เกียจได้เท่านั้น การที่มีความผิดปกติของดวงตาและมีค่าสายตาสั้น-ยาว หรือเอียงมาก ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดอาการตาขี้เกียจจนไม่เห็นทั้งสองข้างได้เช่นกัน โดยวิธีแก้ไขก็คือควรสวมแว่นเพื่อปรับการมองเห็นให้การมองเห็นเป็นปกติค่ะ

ความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกิดจากการมีสิ่งมาบดบังดวงตา (Deprivation amblyopia)

           เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นได้น้อย แต่ก็มีความรุนแรงและอันตรายมากที่สุด เพราะสาเหตุนี้อาจเกิดจากภาวะต้อกระจก และภาวะหนังตาตกมาบดบังตาดำตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยนั้นมีสภาพการมองเห็นที่ไม่ชัดเจน และมีทัศนวิสัยที่แย่ลง เนื่องจากการถูกปิดกั้นการมองเห็นโดยสิ้นเชิง
 
อาการของตาขี้เกียจ

           อาการของตาขี้เกียจนั้นผู้อื่นจะไม่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติในดวงตาได้ แต่จะเห็นได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โดยผู้ที่เป็นโรคตาขี้เกียจจะใช้สายตาเพ่งมองมากกว่าปกติ หรืออาจจะมองไม่ค่อยเห็นในที่มืด นอกจากนี้หากเป็นในเด็กก็อาจจะสังเกตได้จากพฤติกรรมทางการเรียน หากเด็กไม่ค่อยสนใจเรียนหรือมีอาการเหม่อ ก็ควรที่จะพาเด็กไปตรวจกับจักษุแพทย์จะดีกว่า

           ทั้งนี้อาการของตาขี้เกียจนั้นจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก หากผู้ปกครองให้ความสนใจและหมั่นสังเกตพฤติกรรมที่ผิดปกติหรือไถ่ถามอยู่เป็นประจำก็จะช่วยให้อาการตาขี้เกียจนั้นสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกอาการสามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ค่ะ
 
วิธีรักษาอาการตาขี้เกียจ

           โรคตาขี้เกียจหากสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่วัย 3-5 ปี ก็มีโอกาสสูงที่เด็กจะสายตากลับมาเป็นปกติ แต่ถ้าหากอายุมากกว่า 8-10 ปีแล้วละก็ การรักษามักจะไม่ค่อยได้ผล ทำได้เพียงประคับประคองอาการเอาไว้ไม่ให้รุนแรงเท่านั้น ดังนั้นผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในช่วงก่อนวัยเรียนควรพาเด็กไปทำการตรวจตาอย่างน้อย 1 ครั้งเพื่อหาความผิดปกติค่ะ ซึ่งถ้าหากพบความผิดปกติแล้ว ก็สามารถรักษาอาการได้ด้วยวิธีดังนี้

           สวมแว่น หรือใส่คอนแทคเลนส์ วิธีนี้เป็นวิธีช่วยให้ตาที่มีความผิดปกตินั้นได้รับการกระตุ้นการมองเห็น และยังช่วยให้ตาข้างที่มีอาการขี้เกียจนั้นถูกกระตุ้นให้ถูกใช้งานมากขึ้นอีกด้วย

           ผ่าตัดในรายที่มีความผิดปกติเนื่องจากมีสิ่งมาบดบังตาดำนั้น เช่น ต้อกระจก หรือหนังตาตกนั้น การผ่าตัดถือเป็นวิธีที่รักษาได้ผลดีที่สุด เพราะวิธีนี้จะช่วยให้ทัศนวิสัยชัดเจนมากขึ้น แต่ก็ต้องมีการกระตุ้นการใช้ดวงตาข้างที่มีอาการตาขี้เกียจร่วมด้วย เพื่อให้สามารถใช้สายตาได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

           กระตุ้นการใช้งานข้างที่มีอาการตาขี้เกียจด้วยตนเอง เป็นวิธีที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของจักษุแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยวิธีการกระตุ้นการใช้งานดวงตานั้นก็มีตั้งแต่การปิดตาข้างที่ดี และใช้เพียงข้างที่มีอาการตาขี้เกียจ หรือในกลุ่มผู้ป่วยเด็กก็อาจจะใช้ยาหยอดตาที่ทำให้ตาข้างที่ดีมัวลงชั่วคราว จะทำให้เด็กใช้ตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจมากขึ้น หรือหากโตขึ้นมาหน่อย ก็สามารถใช้วิธีการบริหารดวงตาด้วยการใช้มือปิดตาข้างหนึ่งแล้วมองด้วยตาอีกข้างเป็นประจำ ก็ช่วยได้เช่นกัน
 
ตาขี้เกียจในผู้ใหญ่ รักษาหายได้ไหม ?

           โรคตาขี้เกียจในผู้ใหญ่มีอาการสืบเนื่องมาจากการที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องในช่วงวัยเด็ก ทำให้เมื่อโตขึ้นก็จะเกิดการมองเห็นที่ไม่ชัดเจน แม้ว่าจะยังไม่มีผลการศึกษาใดสรุปว่าโรคตาขี้เกียจในผู้ใหญ่จะสามารถรักษาหายได้ แต่ก็ใช่ว่าจะหมดความหวังเลยทีเดียว เพราะการศึกษาในปี 2008 โดยมหาวิทยาลัย University Of Southern California ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการรักษาอาการโรคตาขี้เกียจในผู้ใหญ่ และได้เปิดเผยไว้ในเว็บไซต์ ScienceDaily

           โดยจากการศึกษากับหนูทดลองในวัยเจริญเติบโตซึ่งมีอาการตาขี้เกียจ ด้วยการปิดตาข้างที่ดีให้หนูทดลองและนำไปใส่ไว้ในกรงที่มีสิ่งแวดล้อมซึ่งเต็มไปด้วยข้าวของต่าง ๆ และหมั่นเปลี่ยนแปลงการจัดวางอยู่บ่อย ๆ ช่วยให้หนูทดลองต้องใช้เวลาในการสำรวจสถานที่ใหม่ และส่งผลให้ดวงตาที่มีอาการขี้เกียจนั้นได้รับการกระตุ้นการทำงานจนกลายเป็นปกติภายในเวลา 2 สัปดาห์

           ซึ่งเมื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบเพิ่มเติมแล้วก็พบว่า หากเปรียบเทียบอายุของหนูกับมนุษย์แล้ว การรักษาโรคตาขี้เกียจในช่วงวัย 20 ปี จะเป็นช่วงที่ได้รับประสิทธิภาพมากที่สุด จึงเป็นเรื่องดีที่จะช่วยพัฒนากระบวนการรักษาให้ดียิ่งขึ้นค่ะ

           โรคตาขี้เกียจ ผู้คนรอบข้างไม่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติได้ชัดเจนนัก จึงเป็นหน้าที่ของตัวเราเองที่จะหมั่นสังเกตความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็นของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากหากมีอาการมองไม่ชัดติดต่อกันนาน ๆ แบบไม่ทราบสาเหตุละก็ ควรรีบไปพบจักษุแพทย์น่าจะดีกว่า ส่วนในเด็กก็ต้องเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องเอาใจใส่ค่ะ เพื่อที่เด็กจะได้เติบโตมามีการมองเห็นที่ปกติอย่างที่ควรจะเป็น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน)
ScienceDaily