ผู้เขียน หัวข้อ: เพราะเปรียบเทียบจึงแตกต่าง (ท่านชุติปัญโญ)  (อ่าน 1742 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740

ท่านชุติปัญโญเล่าให้ฟังเรื่อง "เพราะเปรียบเทียบจึงแตกต่าง" ในหนังสือชื่อ "ทำใจเสียบ้าง แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น" ว่า

ในการศึกษาธรรมะของพุทธศาสนานิกายเซนนั้น จะมีวิธีการสื่อสารภาษาทางจิตเป็นหลัก บางครั้งมิต้องอาศัยคำพูดแต่อย่างใด แต่เป็นการสื่อสารแบบจิตสู่จิตแทน และมุ่งตรงไปที่การเกิดสภาวธรรม เพื่อให้จิตลุกโพลงในฉับพลันเป็นที่ตั้ง

ที่สำคัญภาษาจิตในการศึกษาแบบเซนนั้น จะไม่มีการเปรียบเทียบเหมือนหลักตรรกะทั่วไป เป็นการรับรู้จากสภาวธรรมล้วน ๆ เพื่อให้รู้ถึงภาวะที่ซ่อนเร้นอยู่ข้างในจิตใจว่าเป็นเช่นไร

มีครั้งหนึ่ง พระภิกษุ ๒ รูป กำลังถกปัญหาเรื่อง "ธงไหว" หรือ "ลมไหว" อยู่หน้าวิหาร

รูปหนึ่งกล่าวว่า "เหตุที่ธงปลิวเพราะลมไหว"

อีกรูปหนึ่งกล่าวว่า "เหตุที่ธงปลิวเพราะลมไหว"

อีกรูปหนึ่งกล่าวว่า "เหตุที่ธงปลิวก็เพราะธงไหวด้วยตัวของมันเองต่างหาก"

ขณะที่กำลังโต้เถียงกันอยู่นั้น ท่านเว่ยหลาง ผู้ซึ่งต่อมาเป็น พระสังฆปรินายกองค์ที่ ๖ ของนิกายเซนได้เดินผ่านมา จึงกล่าวขึ้นว่า

"มิใช่ลมไหว และมิใช่ธงไหว แต่เป็นจิตของท่านผู้เจริญนั่นแหละที่ไหวเอง"

พอพระทั้งสองและเหล่าคณะสงฆ์ได้สดับฟัง ก็เข้าใจในความหมายนั้นโดยฉับพลัน

"เพราะมีการเปรียบเทียบสิ่งทั้งหลายจึงแตกต่าง"


จึงเป็นคำกล่าวที่เราควรทำความเข้าใจร่วมกัน เพราะเมื่อมองย้อนกลับมาดูชีวิตของคนเรา เหตุที่โลกวุ่นวายและขาดความสมดุลในการดำรงอยู่ร่วมกัน เหตุผลหนึ่งเกิดมาจาก "การเปรียบเทียบ" ที่คนเราสร้างขึ้นในความรู้สึก

เปรียบเทียบว่า คนนี้รวย คนนั้นจน

คนนี้หน้าตาดี คนนั้นขี้เหร่

คนนี้เรียนสูง คนนั้นเรียนต่ำ

คนนี้ทำงานดี คนนั้นทำงานต่ำ

คนนี้สูงเกียรติ คนนั้นด้อยศักดิ์ ฯลฯ


ด้วยการเปรียบเทียบเช่นนี้ ความรู้สึกแตกต่างจึงเกิดขึ้นในความคิดของตน และเมื่อเพาะบ่มการเปรียบเทียบจนรู้สึกเป็นความแตกต่างมากเข้า จึงทำให้เกิดการแบ่งความเป็นชนชั้นออกจากกันโดยอัตโนมัติ

ถึงแม้เราจะพยายามบอกว่า ไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะในความเป็นคน แต่วิถีแห่งความคิดที่เพาะบ่มให้เกิดการเปรียบเทียบ ก็แบ่งให้เกิดเป็นความห่างไกลจากกันอยู่ดี

เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมที่ดำเนินไป ก็จะเข้าสู่ภาวะของการหลงสมมุติที่ตัวเองได้มา หลงคิดว่า หัวโขนที่สวมคือ ความจริงของชีวิต ทำให้เกิดเป็นความสับสนทั้งในตนเองและสังคมที่อาศัย และแผ่ขยายความแตกต่างในใจไม่มีสิ้นสุด สุดท้ายสิ่งที่ตามมาจึงก่อให้เกิดความทุกข์ระทมกันถ้วนหน้า เพราะเหตุมาจากการเปรียบเทียบที่สร้างขึ้นด้วยตัวของเราเอง

แต่หากเรามีวิธีการมองและเข้าใจชีวิตที่ก่อขึ้นจากรูปและนามด้วยความเข้าใจ เราจะรู้ว่าแท้จริงนั้นความแตกต่างที่เกิดขึ้น เป็นผลพวงจากความคิดที่หลอกตัวเราให้หลงเท่านั้น เพราะความลวงแห่งจิตมาหลอกให้โง่เขลา จึงทำให้เราเดินออกห่างจากคุณค่าของชีวิตออกไปทุกที

ยิ่งใครต้องการความสงบสุขให้กับชีวิตของตัวเองด้วยแล้ว หากนำความรู้สึกที่เกิดขึ้นไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ความสุขในชีวิตที่ควรจะได้ประสบก็แทบจะมลายไปในพริบตา เพราะความจริงของแต่ละคนนั้น มีความแตกต่างกันเป็นทุกเดิม เป็นความสมบูรณ์ท่ามกลางความบกพร่องที่ปรากฎมีในแต่ละคน

ถ้าเราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นในวันที่ตัวเองด้อย เราจะรู้สึกว่า ทำไมตัวเราถึงอาภัพเช่นนี้ แต่ครั้นมีดีกว่าใครอื่นก็จักทำให้เกิดความอาภัพเช่นนี้ แต่ครั้งมีดีกว่าใครอื่นก็จักทำให้เกิดความลำพองในใจตน ก่อให้เกิดเป็นความหยิ่งพยองและมองเห็นตัวเองเป็นคนสำคัญไม่รู้จบ

แต่ความจริงก็คือ ไม่ว่าเราจะอยู่ในฐานะใด การนำตัวเองเข้าไปเปรียบเทียบกับสิ่งต่าง ๆ ก็ชื่อว่าเป็นการเบี่ยงเบนความรู้สึกที่เป็นความสมดุลให้หล่นไปจากชีวิตจริงอยู่ดี เพราะโดยธาตุแท้ของชีวิตที่ทรงคุณค่านัน้ ต้องยืนอยู่ท่ามกลางความพอดี และมีความพอใจในความเป็นตัวเองเป็นที่ตั้ง

มีจิตใจที่งดงามท่ามกลางความรู้สึกที่ปราศจากการเปรียบเทียบ ไม่ยกตนข่มผู้อื่นในวันที่ได้รับเกียรติแห่งความดี ไม่ซ้ำเติมตัวเองในวันที่ไม่มีใครสรรเสริญ แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะเข้าใจตัวเองบนพื้นฐานแห่งความพอดีที่มีอยู่ในใจตน

เมื่อใดที่เรายกระดับจิตให้อยู่เหนือการเปรียบเทียบได้ ส่งที่ช่วยระดับคุณค่าแห่งจิตใจก็คือ เราจะไม่มีความแตกต่างจากสิ่งรอบข้างที่มี เราจะเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติด้วยความถูกต้องเหมาะสม แม้ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปทั้งในแง่ดีและร้าย เราย่อมมีการปรับตัวให้มีความสมดุลโดยอาศัยธรรมชาติที่มี ด้วยเหตุนี้เราจึงก้าวขึ้นไปสู่ความเป็นอริยชนคนผู้ประเสริฐได้อย่างภาคภูมิ

ชีวิตของคนเราแต่ละคนมีคุณค่าในตัวเอง ไม่มีใครสูงศักดิ์ หรือด้อยเกียรติ หากใครนั้นมีความดีประดับตน แต่ความชั่วที่แสดงออกต่างหาก เป็นสิ่งที่แสดงความต่ำต้อยและด้อยเกียรติในตนเอง

อย่านำเรื่องเลวร้ายเปรียบเทียบให้ตัวเองต่ำค่าลง และมิควรนำเรื่องดีงามมาเปรียบเทียบ แล้วทำให้ตัวเองหลงกับสิ่งดี ๆ นั้น แต่จงเป็นอิสระจากการเปรียบเทียบให้ได้ แล้วเราจะรู้ว่า สรรพสิ่งล้วนมีค่าและงดงามในความเป็นตัวเอง


ที่มา  :  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/170182