ผู้เขียน หัวข้อ: โลกที่ไร้สิ่งกีดขวาง : วินทร์ เลียววาริณ  (อ่าน 1215 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726

การแข่งขันวิ่ง 100 เมตร ของเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 โรงเรียนประถมศึกษาโยงะ จัดขึ้นทุกปีในวันฟ้าแจ่มใสของพฤษภาคม ที่เรียกว่า ?อากาศดีเดือนห้า? เด็กชายคนหนึ่งเริ่มออกวิ่งที่จุดกึ่งกลางลู่วิ่ง คนทั้งสนามเฝ้าดูการวิ่งของเด็กชายคนนั้นด้วยใจจดจ่อ

เมื่อเสียงปืนสัญญาณดังขึ้น เขาก็เริ่ม ?วิ่ง? เตาะแตะออกไปด้วยแขนที่ยาวเพียงข้อศอกและก้นของเขา

เมื่อ โอโตทาเกะ อิโรทาดะ เดินทางออกจากท้องแม่นั้น แม่ไม่ได้เห็นตัวเขาเลยจนกระทั่งหนึ่งเดือนให้หลัง

โอโตทาเกะเกิดมาพิการ ไม่มีแขน ไม่มีขา หรือที่ถูกคือ แขนขาของเขายาวถึงเพียงข้อศอกและหัวเข่าเท่านั้น ทั้งพ่อของเขาและทางโรงพยาบาลไม่กล้าให้แม่เห็นตัวเขา อ้างว่า เด็กตัวเหลืองมาก

ในวันที่แม่พบลูกเป็นครั้งแรกนั้น พ่อพยายามบอกให้แม่เตรียมใจ พ่อว่าเหตุที่ไม่ให้เจอลูก ไม่ใช่เพราะลูกตัวเหลือง แต่เพราะลูกมีความผิดปกติ ?นิดหน่อย?

โรงพยาบาลเตรียมเตียงว่างไว้หนึ่งเตียง เดาว่าเมื่อแม่เห็นลูกแล้วจะเป็นลม

เมื่อแม่เห็นลูกที่ไร้แขนขา แม่ของเขาไม่ได้เป็นลม หากเอ่ยออกมาคำเดียวว่า ?น่ารักจัง?

การวิ่งของเด็กที่วิ่งได้ช้าที่สุดกินเวลาเพียงยี่สิบวินาที แต่โอโตทาเกะใช้เวลามากกว่านั้นหลายเท่า

เมื่อเขาเริ่มออกวิ่ง ทั้งสนามเงียบกริบ เขากลายเป็นคนเดียวที่เหลือกลางสนาม

แล้วก็ปรากฏเสียงเชียร์สนั่น

ถึงโอโตทาเกะเกิดมาด้วย ?ความผิดปกตินิดหน่อย? พ่อแม่ของเขาก็ไม่ต้องการให้ลูกเล่าเรียนในโรงเรียนคนพิการ แต่การโน้มน้าวให้ทางโรงเรียนรับเขาเข้าเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโอโตทาเกะพิการในระดับสูง

โอโตทาเกะต้องสาธิตการใช้ชีวิตเยี่ยงคนปกติให้คณะกรรมการดู เช่น เขียนหนังสือโดยใช้แก้มและปลายศอกหนีบดินสอ ตักอาหารใส่ปากโดยวางช้อนกับส้อมที่ขอบจาน แล้วใช้แรงงัดอาหารเข้าปาก ตัดกระดาษโดยใช้ปากคาบกรรไกรข้างหนึ่ง ใช้แขนกดอีกข้างหนึ่ง แล้วขยับใบหน้าเพื่อตัดกระดาษ เป็นต้น

โอโตทาเกะได้เข้าเรียนในโรงเรียนสำหรับคนปกติ

โอโตทาเกะเดินทางไปไหนมาไหนด้วยเก้าอี้ล้อไฟฟ้า ใช้ติ่งแขนบังคับกลไกให้เคลื่อนที่ ครูประจำชั้นใช้มาตรการเข้มงวดกับโอโตทาเกะ ห้ามไม่ให้ใครช่วยเหลือเขา และห้ามเขาใช้เก้าอี้ล้อไฟฟ้าหากไม่ได้รับอนุญาต ท่านต้องการให้เขาพึ่งตัวเองได้

เมื่อเห็นโอโตทาเกะเดินด้วยก้นสัมผัสพื้นร้อนจัดในฤดูร้อนและเย็นจัดในฤดู หนาว หลายคนอยากให้ล้มคำสั่งนั้น แต่ครูยังยืนยันเช่นเดิม และก็ได้ผล เมื่อโตขึ้น โอโตทาเกะพบว่าในโลกแห่งความจริงไม่ทุกสถานที่ที่มีทางลาดสำหรับเก้าอี้คน พิการ

โอโตทาเกะยังเล่นเบสบอลด้วยการหนีบไม้เบสบอลที่รักแร้ หมุนตัวตีบอล

โอโตทาเกะต้องผ่านการผ่าตัดหลายครั้ง ครั้งแรกตอนอยู่ชั้นอนุบาล เนื่องจากกระดูกเติบโตเร็วกว่ากล้ามเนื้อ การที่เขาไม่มีแขนขาตั้งแต่ข้อศอกข้อเข่าลงไป หากปล่อยทิ้งไว้ กระดูกจะงอกแทงทะลุเนื้อออกมา

แล้วอาการก็แสดงออก ปลายแขนเริ่มอักเสบ หมอทำการผ่าตัดโดยตัดกระดูกสะโพก นำมาตอกเป็นลิ่มที่ปลายกระดูกแขน เพื่อไม่ไห้กระดูกแขนเติบโต

เมื่อถึงชั้นประถมปีที่ 4 กระดูกแขนแทงออกมาอีกครั้ง เจ็บปวดอย่างมาก เขาต้องได้รับการผ่าตัดอีกครั้ง

หมอไม่สามารถเจาะเลือดและให้น้ำเกลือโอโตทาเกะได้ เนื่องจากเขาไม่มีแขน จึงต้องทำที่คอ เขายังจำความเจ็บปวดได้จนถึงวันนี้

รอยแผลเป็นหลังผ่าตัดพาดยาวกลางแผ่นหลัง และนั่นเป็นเพียงการผ่าตัดด้านหนึ่งเท่านั้น เขายังต้องเข้ารับการผ่าตัดแบบนี้อีกในฤดูหนาวหน้า พ่อพยายามมองโลกในแง่ดี บอกเขาว่า หลังผ่าตัดอีกครั้ง รอยแผลเป็นที่แผ่นหลังจะเป็นรูปตัว V

?V ก็คือ Victory ชัยชนะไงลูก?

โอโตทาเกะเป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ

โอโตทาเกะบอกว่า เราเห็นคนสวมแว่นสายตาไม่น่าสงสาร แต่เห็นคนนั่งเก้าอี้เข็นน่าสงสาร ทั้งที่ความบกพร่องทั้งสองอย่างนี้ไม่ได้ต่างกัน

โอโตทาเกะเชื่อว่า ความพิการเป็นเรื่องของใจ ความพิการมิใช่จุดจบของทุกอย่าง สิ่งแรกที่ต้องทำคือการรื้อกำแพงที่กีดขวางทางใจเสียก่อน

เหลือระยะทางอีกเพียงสิบเมตร แต่ความเร็วของเขาเริ่มตกอย่างเห็นได้ชัด โอโตทาเกะได้ยินเสียงครูและเพื่อนดังมาว่า ?สู้...?

เขาวิ่งเตาะแตะไปถึงเส้นชัยเป็นคนที่หก เป็นคนสุดท้าย แต่โอโตทาเกะบอกว่า เขาดีใจยิ่งกว่าได้ที่หนึ่ง

เสียงเชียร์ดังลั่นสนาม

โอโตทาเกะยังจำคำที่พ่อบอกได้ ?V ก็คือ Victory ชัยชนะไงลูก?



(ข้อมูลจากหนังสือ "ไม่ครบห้า" เขียนโดย โอโตทาเกะ อิโรทาดะ แปลโดย พรอนงค์ นิยมค้า สำนักพิมพ์ ส.ส.ท. เยาวชน)

วินทร์ เลียววาริณ

www.winbookclub.com

16 ธันวาคม 2549

(บทความนี้เป็นหนึ่งในบทความที่ได้รวมพิมพ์เป็นเล่มในหนังสือเสริมกำลังใจเรื่อง เบื้องบนยังมีแสงดาว สั่งซื้อได้ที่ห้องผลงาน เหมาะเป็นของขวัญแก่คนที่รัก
)