ผู้เขียน หัวข้อ: พระร่วงโรจนฤทธิ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ พระปฐมเจดีย์ บูรณะโดยรัชกาลที่ 6  (อ่าน 3523 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726

"พระร่วงโรจนฤทธิ์"ซึ่งประดิษฐาน ณ พระปฐมเจดีย์ที่เราเห็นอยู่กันนั้น เดิมทีชำรุดเสียหายมากเหลือแต่พระเศียร กับพระหัตถ์ข้างหนึ่งและพระบาท รัชกาลที่6 ทรงไปพบที่เมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัย แล้วโปรดให้อัญเชิญมาหล่อขึ้นใหม่ให้เต็มองค์

เมื่อ พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ ได้ทอดพระเนตรพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์

โดยเฉพาะพระพุทธรูปเก่าแก่องค์หนึ่งที่เมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัย มีพุทธลักษณะงดงามต้องพระราชหฤทัย แต่องค์พระชำรุดเสียหายมาก ยังคงเหลืออยู่แต่พระเศียรกับพระหัตถ์ข้างหนึ่งและพระบาท พอสันนิษฐานได้ว่าเป็นปางห้ามญาติ

จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ แล้วใช้ช่างปั้นขึ้นให้เต็มองค์

ครั้นเมื่อพระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายในการหล่อปฏิสังขรณ์ และดำเนินการจัดหาช่างทำการปั้นหุ่นสถาปนาขึ้นให้บริบูรณ์เต็มองค์พระพุทธรูป เมื่อการปั้นพระพุทธรูปนั้นบริบูรณ์เสร็จ เป็นอันจะเททองหล่อได้แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีสถาปนาพระพุทธรูปพระองค์นั้นที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ซึ่งเป็นกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา หล่อเสร็จได้องค์พระสูงแต่พระบาทถึงพระเกศ 12 ศอก 4 นิ้ว

แล้วโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญออกจากกรุงเทพฯ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2457 เพื่อไปประดิษฐานยังพระวิหารพระปฐมเจดีย์ ที่ นครปฐม

เจ้าพนักงานจัดการตกแต่งต่อมาจนแล้วเสร็จในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458

ต่อมาวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2466 ระหว่างประทับแรม ณ พลับพลาเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระพุทธรูปองค์นี้ว่ายังไม่ได้สถาปนาพระนาม จึงประกาศกระแสพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชบูชนิยบพิตร์"

----------------------------------------------------------------------

พุทธลักษณะ

เมื่อการหล่อหลอมองค์พระพุทธรูปครั้งแรกได้สำเร็จลงแล้ว พนักงานจึงได้เข้าเฝ้า กราบบังคมทูลในหลวง รัชกาลที่6 เสด็จทอดพระเนตร แต่ปรากฏว่าไม่เป็นที่ประสบพระราชหฤทัย ต่อมานายช่างทราบถึง พระราชประสงค์อันแท้จริง จึงหล่อให้พระอุทร(ท้อง)พลุ้ยยื่นออกมาเหมือนคนอ้วน และใกล้จะลงพุงต่างจากครั้งแรก ซึ่งหล่อตรงพระอุทร(ท้อง)แบบธรรมดาเท่านั้น

ครั้นหล่อเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลทอดพระเนตร คราวนี้ปรากฏว่าในหลวงทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก ถึงออกพระโอษฐ์ตรัสชมความสามารถในเชิงฝีมือของนายช่าง

ทั้งนี้พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะให้พสกนิกรทราบว่า พระพุทธรูปองค์นี้พระองค์ทรงสร้างและทรงฝากอนุสาวรีย์ที่พระอุทร(ท้อง) เนื่องด้วยพระองค์ทรงมีพระอุทร(ท้อง)สมบูรณ์เป็นพิเศษ

หากใครมานมัสการสังเกตเห็นพระอุทร(ท้อง)ของพระพุทธรูปก็จะได้รำลึกถึงพระองค์ ดังนั้นเมื่อเรามองทางด้านตรงพระพักตร์ ก็จะเห็นว่ามีพระพุทธลักษณะงดงามสม่ำเสมอ แต่ถ้ามองทางด้านข้างทั้งเบื้องขวาและซ้ายแล้ว จะเห็นว่าพระอุทร(ท้อง)พลุ้ยออกมา เมื่อการหล่อสำเร็จแล้ว

พระพุทธรูปนั้นมีขนาดสูงแต่พระบาทถึงยอดพระเกศ 12 ศอก 4 นิ้ว (7.42 เมตร) สมบูรณ์ด้วยพระพุทธลักษณะทุกประการ เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามองค์หนึ่ง ของเมืองไทย

ที่มา : พิพิธประวัติศาสตร์ มนุษย์ สังคม วัฒนธรรม และ การเมือง