ผู้เขียน หัวข้อ: อำเภอผักไห่ สมัยขอมเรืองอำนาจ  (อ่าน 2704 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
เมื่อ: กรกฎาคม 20, 2015, 08:03:51 PM

ประวัติความเป็นมา

       สมัยขอมเรืองอำนาจ บริเวณพื้นที่อำเภอผักไห่นี้อยู่ในอาณาเขตเมือง "เสนาราชนคร" หรือเมือง "อโยธยา" ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านแห่งอาณาจักรทวาราวดีของขอม โดยขอมสร้างเมืองลพบุรี (ละโว้) เป็นเมืองอุปราช สร้างเมืองอโยธยาเป็นเมืองหน้าด่าน (ต่อมาเมืองอโยธยาเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองเสนาราชนคร)

       เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง สมัยพระเจ้าอู่ทองได้สร้างเมืองใหม่ในอาณาเขตเก่าของเมืองเสนาราชนคร ขนานนามว่า "กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา" มีอาณาเขตรวมบริเวณพื้นที่อำเภอผักไห่ด้วย โดยบริเวณนี้อยู่ระหว่างสุพรรณบุรีกับกรุงศรี-อยุธยา จึงเป็นเส้นทางเดินทัพหรือเป็นบริเวณที่ไทยรบกับพม่าในบางครั้ง เช่นตามประวัติศาสตร์ไทยรบพม่าครั้งที่ 24พระยาเสนารับอาสามารบพม่าที่มีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ รบกันที่บริเวณนี้ (บ้านจักราช ตำบลจักราช) รวมทั้งหลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสร็จศึกยุทธหัตถีที่ดอนเจดีย์ ก็เสด็จผ่านนำช้างมาอาบน้ำกินไหลบัวในบริเวณบ้านจักราชแล้วจึงเสด็จไปทางบ้านตาลานกลับกรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีอยู่ 417 ปี ก็เสียเมืองให้แก่พม่า เมื่อกู้เอกราชได้ เมืองหลวงย้ายไปตั้งที่กรุงธนบุรี และเรียกบริเวณเมืองกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ว่าเมือง "กรุงเก่า"

       สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้แบ่งเขตการปกครองของพระนครศรีอยุธยา(กรุงเก่า) ออกเป็น 4 แขวง ได้แก่ แขวงนครใน แขวงอุทัย แขวงรอบกรุง และแขวงเสนา โดยพื้นที่อำเภอผักไห่นี้อยู่ในแขวงเสนา มีอาณาเขตรวมผักไห่ เสนา บางบาล และบางไทรทั้งหมด ครั้นสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3ทรงเห็นว่าแขวงเสนา ประชาชนอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น และมีอาณาเขตกว้างขวางมาก ยากแก่การปกครอง จึงแบ่งแยกพื้นที่ เขตเสนาตอนเหนือเป็น "แขวงเสนาใหญ่" และพื้นที่เขตเสนาตอนใต้เป็น "แขวงเสนาน้อย" (ที่ตั้งของที่ว่าการแขวงเสนาใหญ่ อยู่ในเขตอำเภอผักไห่ในปัจจุบัน)

       ต่อมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2438 ได้ทรงเริ่มการปกครองตามระบบมณฑล-เทศาภิบาล มีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้แบ่งเขตเสนาใหญ่ออกเป็น 2 ตอนตอนบนให้เป็นแขวงเสนาใหญ่ (อำเภอผักไห่) ตอนใต้เป็นแขวงเสนากลาง (อำเภอเสนา)  และแบ่งเขตเสนาน้อยออกไปอีก 2 แขวง คือแขวงเสนาใน (อำเภอบางบาล) และแขวงเสนาน้อย (อำเภอบางไทร) จึงกล่าวได้ว่าอำเภอผักไห่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2438 แต่ตอนนั้นใช้ชื่อว่าเสนาใหญ่

       เมื่อได้แบ่งเขตเสนาตอนบนออกเป็นแขวงเสนาใหญ่และแขวงเสนากลางแล้ว ที่ว่าการแขวงเสนาใหญ่ ครั้งแรกตั้งอยู่ที่บ้านตึกของหลวงวารีโยธารักษ์ (อ่วม) ตำบลอมฤต หมู่ที่ 3 เหนือปากคลองบางทองในขณะนี้ โดยหลวงวารีโยธารักษ์เป็นนายอำเภอ คนแรก   ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2440 ได้ย้ายที่ว่าการแขวงเสนาใหญ่ไปตั้งชั่วคราวที่ศาลาท่าน้ำวัดตาลานเหนือ ตำบลตาลาน อยู่ได้ประมาณปีเศษก็ย้ายมาตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 4 ตำบลผักไห่ในปัจจุบัน   ใน พ.ศ.2450-2471 พระเสนากิจพิทักษ์ เป็นนายอำเภอ ได้โอนตำบลบางหลวงโดด ตำบลบางหลวงเอียง ตำบลบางหลวงเมือง ตำบลบางหัก ตำบลทางช้าง และตำบลวัดตะกู ไปขึ้นกับอำเภอบางบาล โดยเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2460 เปลี่ยนชื่อจากอำเภอเสนาใหญ่มาเป็นอำเภอผักไห่ตามชื่อตำบลที่ตั้ง

      ชื่อตำบลผักไห่นี้ สันนิษฐานว่าคำว่า"ผักไห่" เพี้ยนมาจากคำว่า "ปากไห่" หรือ "ปากไห้" ซึ่งมีหลักฐานจากการเขียนนิราศของนายมีศิษย์สุนทรภู่ เมื่อตามเสด็จพระปิยมหาราชเสด็จประพาสต้นอำเภอผักไห่ เมื่อ พ.ศ.2414 ก็เขียนคำว่า "ปากไห่"

      "จวนเวลาสิ้นแสงสุรีย์ฉัน ถึงป่าโมกเรือมาพร้อมหน้ากัน เรือหลวงนายสิทธิ์นั้นคอยละห้อยใจ โปรดเกล้าเข้าผูกกับท้ายพระที่นั่ง คงคาหลั่งแลเชี่ยวเป็นเกลียวไหล เข้าคลองเอกราชเร็วครรไล ตามน้ำไหลออกคลองลาดน้ำเค็ม พวกขุนนางต่างตามหลามข้างหลัง ไม่รอรั้งแจวหน่วงจ้วงเต็มเล่ม ระยะทางไกลทายาทลาดน้ำเค็ม ฝีพายเต็มเหนื่อยอ่อนไม่ผ่อนพักพอยามหนึ่งถึงสถานย่านปากไห่ เห็นโคมไฟตามแดงแจ้งประจักษ์ เขาตั้งเครื่องบูชาดูหน้ารัก เสด็จพักพลับพลาในสาครวัดชีตาเห็นเป็นแต่เขาเล่ากันว่า ท้าวอู่ทองหนีห่าเที่ยวหลบซ่อน หยุดที่นี่สร้างเจดีย์ริมทางจร ยอพระกรเสี่ยงด้วยพระบารมี..."

       " ?จนรุ่งแจ้งแสงสางสว่างฟ้า ดูคูหาถิ่นฐานบ้านปากไห่ เรือนสะพรั่งสองฝั่งคงคาลัย ลำน้ำไหลแพรายขายสินค้าพอเสียงแตรแซ่ก้องในท้องน้ำ เดือนอ้ายขึ้นเก้าค่ำจำมาสา พระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงทรงนาวา จนถึงลาดชะโดดูเห็นบ้านชลธารมากท่วมถึงเคหา แล้วเสด็จเสร็จกลับมาพลับพลา ดูคะเนเวลาห้าโมงตี "


       ในนิราศสุพรรณบุรี ซึ่งนายมีเขียนเมื่อปีมะโรงฉอศก ก็ได้เขียนว่า "ปากไห่" เช่นกัน ดังนี้

       " แต่เที่ยวลัดทุ่งท่าเหมือนหน้าน้ำ ทั้งสองลำล่องเลื่อนจนเฟือนหลง ไปถึงบ้านปากไห่เหมือนใจจง แล้ววกวงออกทุ่งเที่ยวมุ่งมอง เห็นบัวหลวงบัวขมน่าชมดอก ช่างงามงอกนับแสนดูแน่นหนอง เห็นบัวขาวขาวล้วนนวลละออง"

       คำว่า "ปากไห่" นี้ ก็เพี้ยนมาจากคำว่า "ปักให้" อีกทีหนึ่ง โดยมีเกร็ดที่มา เล่ากันว่า มีตากับหลานปลูกบ้านอยู่ทางตอนเหนือของบ้านเศรษฐี เศรษฐีปลูกบ้านใหญ่โตมาก คนสมัยนั้นเรียกว่า "บ้านใหญ่" (ตำบลบ้านใหญ่ในปัจจุบัน)  และเรียกบ้านตากับหลานว่า "บ้านตาหลาน" (เพี้ยนเป็นตำบลตาลานในปัจจุบัน) เศรษฐีเป็นหลานเขยของตา ส่วนตาเป็นชนชั้นผู้ปกครอง (กำนัน)  โดยทุ่งผักไห่อยู่ทางเหนือบ้านตาหลาน

       บ้างก็ว่าเดิมที่ตอนเหนือบ้านตาหลานเป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่มีชื่อ ตาซึ่งเป็นชนชั้นผู้ปกครองจึงช่วยกันกับหลานปักเขตกำหนดขนาดที่ให้ชาวบ้านจับจองไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละครอบครัว ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกบริเวณที่ ตาหลานปักเขตให้นี้ว่า "ทุ่งตาหลานปักให้" และเพี้ยนเป็น "ตาหลานปากไห่" จนถึง "ตาลานผักไห่" ในปัจจุบัน

       บ้างก็ว่า ที่ดินเหนือบ้านตาหลานนี้ เป็นที่ดินของเศรษฐีบ้านใหญ่ และเศรษฐียกให้ตาหลานไว้ทำมาหากิน โดยเศรษฐีปักเขตให้ตาหลานไว้เป็นกรรมสิทธิ์ ชาวบ้านจึงเรียกว่า "ทุ่งปักให้ตาหลาน" และเพี้ยนเป็น "ผักไห่ตาลาน" ในปัจจุบัน

       คำว่า "ผักไห่" นี้ มีผู้รู้บางท่านได้เล่าไปอีกอย่างว่า เป็นชื่อหญ้าชนิดหนึ่ง ใช้เป็นสมุนไพรมีใบคล้ายใบไผ่ เลื้อยแผ่ไปตามดิน ลอยขึ้นในน้ำขังหรือในที่ลุ่มชื้นแฉะ ลักษณะคล้ายผักปราบ (บ้างก็ว่าต้นผักไห่ก็คือต้นผักปราบ) มีอยู่มากในสมัยนั้นจึงเรียกว่าทุ่งผักไห่ และต่อมาเป็นตำบลผักไห่ ปัจจุบันหญ้าชนิดนี้หาได้ยากมาก เนื่องจากราษฎรใช้พื้นที่ทำการเกษตรกันโดยทั่วไป

       นอกจากนี้คำว่าผักไห่ยังเป็นชื่อหนึ่งของมะระขี้นก (ภาคใต้ ภาคเหนือ และจังหวัดนครราชสีมา เรียกมะระขี้นกว่าผักไห่)ซึ่งอาจเคยมีอยู่มากที่ตำบลผักไห่

       อีกพวกหนึ่งว่า คำว่า"ปากไห่" มาจากคำว่า ปากไห หมายถึงภาษีปากไห (ไหผักดอง ไหปลาร้า) แต่บางคนว่าสมัยก่อนมีการเก็บภาษีปากเรือ ไม่เห็นว่ามีการเก็บภาษีปากไห

       ถึงจะไม่สามารถสรุปได้มั่นคงว่าคำว่าผักไห่หมายถึงสิ่งใด แต่ที่เชื่อถือได้เพราะมีเอกสารอ้างอิงคือ ในปี พ.ศ. 2414 เรียกที่นี่ว่าปากไห่  และเปลี่ยนเป็นเรียกว่าผักไห่มาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2460 (เป็นชื่อตำบลมาก่อนจะเป็นชื่ออำเภอ) เมื่อ "ผักไห่" เพี้ยนมาจากคำว่า "ปากไห่"  ฉะนั้น ผักไห่ จึงไม่ใช่ชื่อ "ผัก" ส่วนคำว่า ปากไห่ จะมีความหมายว่าอย่างไร หรือเพี้ยนมาจากคำใดอีกต่อหนึ่งนั้น ไม่ชัดเจน

ที่มา :  phakhai.ayutthaya.police.go.th