ผู้เขียน หัวข้อ: กระบวนการจิตศึกษา...เพื่อยกระดับจิตวิญญาณครู  (อ่าน 4033 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
กระบวนการจิตศึกษา...เพื่อยกระดับจิตวิญญาณครู
สิริรัตน์  นาคิน

             ?เมื่อครูใช้กระบวนการจิตศึกษาเพื่อขัดเกลาเด็ก ในขณะเดียวกันนั้นครูได้ขัดเกลาตนเองไปด้วย ?จิตศึกษา? จึงกลายเป็นส่วนสำคัญของโรงเรียนในการพัฒนาครู เพื่อยกระดับจิตวิญญาณของครูให้มี ?หัวใจของความเป็นครู? อย่างแท้จริง?  ?วิเชียร  ไชยบัง?

           เราดำรงชีวิตและดิ้นรนไปเพื่อสิ่งใด หากเราร่ำเรียนไปเพียงเพื่อจะได้ชื่อเสียงได้งานดี ๆ ขวนขวาย หาทางเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานยิ่งขึ้นจนได้เป็นเจ้านายผู้อื่น ชีวิตของเราก็นับว่าผิวเผินไร้สารระเต็มที่ ต่อให้ตั้งหน้าตั้งตาเรียนเพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าเป็นได้แค่นักวิชาการที่ติดตำรา หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เอาแต่แสวงหาวิชาความรู้เรื่อยไป เราก็จะกลายเป็นคนที่ทำให้โลกนี้ประสบหายนะและทุกข์เข็ญยิ่งกว่าเดิม แม้ชีวิตจะมีความหมายที่ยิ่งใหญ่สูงส่ง หากการศึกษาไม่ช่วยให้เราค้นพบสาระเหล่านั้นได้เลย การศึกษานั้นย่อมไร้ค่า จริงอยู่เราอาจได้รับการศึกษาถึงระดับสูง แต่ถ้ายังไม่สามารถประสานความคิดและรู้สึกให้กลมกลืนกัน ชีวิตของเราก็นับว่ายังไม่สมบูรณ์ ยังสับสนวุ่นวายไปด้วยนานาภายคติ ถ้าการศึกษาไม่อาจกล่อมเกลาให้เราดำรงชีวิตอยู่อย่างกลมกลืนกับโลก  เมื่อนั้นก็อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาดังกล่าวไม่มีประโยชน์อันใดต่อเราเลย เราแบ่งแยกชีวิตออกเป็นส่วน ๆ  จนกระทั่งการศึกษาลดฐานะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ที่แทบจะหาความหมายมิได้ เหลือแต่การเรียนรู้วิทยาการเฉพาะด้านหรือวิชาชีพ แทนที่จะให้เรียนเพื่อกระตุ้นให้เกิดสติปัญญาอันสมบูรณ์ สถานศึกษากลับส่งเสริมให้ผู้เรียนปฏิบัติตามแบบแผนเสียจนกระทั่งขาดโอกาสที่จะทำความเข้าใจตัวเองอย่างเป็นขบวนการทั้งหมด ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาสารพันของชีวิตในระดับต่างๆ กัน โดยแยกมาแก้ไขเป็นเรื่อง ๆ นั้น ชี้ให้เห็นว่า ผู้แก้ปัญหาขาดความเข้าใจโดยสิ้นเชิง 

           ครูที่ดีจะต้องเข้าใจเด็กตามสภาพที่เขาเป็นอยู่จริงโดยไม่คิดจะปั้นแต่งให้เขาเป็นไปตามอุดมคติที่เราคิดว่าเขาควรจะเป็น การจับเด็กมาใส่กรอบอุดมคติเท่ากับส่งเสริมให้เขายอมเชื่อฟังเรื่อยไป เด็กจะเกิดความกลัวและความขัดแย้งในใจระหว่างสภาพที่เขาเป็นจริงกับสภาพที่เราคิดว่าเขาควรจะเป็น ความขัดแย้งทุกอย่างในใจจะส่งผลกระทบออกมาสู่สังคม อุดมคตินี่แหล่ะเป็นตัวอุปสรรคที่ทำให้เราไม่เข้าใจเด็ก และทำให้เด็กไม่เข้าใจตัวเอง ครูที่ดีจะไม่เอาแต่ยึดวิธีการ แต่จะศึกษานักเรียนเป็นรายบุคคลไป เด็ก ๆ และคนหนุ่มสาวที่เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยนั้นไม่ใช่เครื่องยนต์กลไกที่เสียแล้วซ่อมได้ทันใจ ?คนเหล่านี้มีชีวิต จิตใจ โน้มน้าวจิตใจได้ง่าย เปลี่ยนแปลงง่าย บ้างอ่อนไหว ขี้ขลาด หรืออ่อนโยน  ถ้าจะสร้างความสัมพันธ์กับเด็ก เราจะต้องทำความเข้าใจเขาให้มาก ๆ ต้องมีจิตใจหนักแน่นเปี่ยมไปด้วยความอดทนและความรัก ถ้าไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้ เราก็มักจะมองหาทางออกที่ง่ายและทันใจ สิ่งที่ไม่อาจตอบสนองได้โดยกลไกที่เราคุ้นชิน นี่คือปัญหาใหญ่ประการหนึ่งในวงการศึกษา ความปรารถนาสูงสุดของชีวิตมนุษย์ คือ การมีชีวิตที่มีความสุขหรือสุขภาวะ และการมีอยู่ร่วมกัน (สังคมด้วยสันติ) ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม เมื่อปรารถนาสิ่งใดก็ควรเรียนรู้ในเรื่องนั้นและทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ นั่นคือการศึกษาควรจะเอาชีวิตและสังคมเป็นตัวตั้ง แต่การศึกษา ได้แยกส่วนไปเอาวิชาเป็นตัวตั้ง นั่นคือชีวิตก็อย่างหนึ่ง การศึกษาก็อย่างหนึ่ง การศึกษาต้องเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา และการพัฒนา ชุมชน ท้องถิ่นเป็นฐานของประเทศ ถ้าฐานของประเทศเข้มแข็งทุกด้าน จะทำให้ประเทศทั้งหมดมั่นคง และยั่งยืน การศึกษาต้องเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยบูรณาการ  8  ด้านด้วยกันคือ การศึกษา เศรษฐกิจ ประชาธิปไตย สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และจิตใจ  (ประเวศ วะสี. 2552 : 45) อัลเบิรต์ ไอน์สไตน์ ได้กล่าวไว้ว่า ?ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้ เราต้องการวิธีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง? และ ไลลามะ ก็ได้กล่าวไว้ด้วยว่า ?โลกวิกฤติเพราะพร่องทางจิตวิญญาณ ต้องแก้ไขด้วยการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ?  สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนใจของเราทุกคนว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องหันมาให้ความสนใจกับการศึกษา การจัดการเรียนการสอน ทั้งภาคความรู้ วิชาชีพ และจิตวิญญาณ การที่เราจะสั่งสอน อบรมสิ่งใดนั้น เราต้องเปิดใจเรียนรู้ และยอมรับความจริงว่ายังพร่องเรื่องใดอยู่ และเราควรเติมเต็มสิ่งใดในตนเองก่อน และเมื่อนั้นเราจะไปพัฒนานักเรียนของเราให้เขาเป็นคนที่สมบูรณ์เฉกเช่นเดียวกันกับคนทุกคนบนโลกใบนี้ หากเราขาดความรู้ ทักษะ เรายังสามารถพัฒนาได้แต่เมื่อใดก็ตาม  ที่ขาดความลุ่มลึกของจิตใจ คงจะเป็นสิ่งที่สะท้อนได้ว่าเราใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการผลิตคนแบบแยกส่วนไปเสียแล้วนั่นเอง  ดังนั้น ทางรอดของการศึกษาคืออะไร คือการยอมรับความจริงว่าเราถอยห่างจากโลกภายในมาไกลมาก ถึงเวลาที่เราต้องทบทวนและทำความเข้าใจกับนามธรรมที่ฝังอยู่ในตัวเรา ภายในจิตใจ และจิตวิญญาณของเราออกมาเรียนรู้ แก้ไขปรับปรุง พฤติกรรมให้ดีขึ้นกว่าเดิม (กฤษณมูรติ. 2556 : 55)

           การจัดการเรียนการสอนที่ยกระดับจิตวิญญาณของครู คือ การนำเอาหลักการของจิตตปัญญาศึกษามาใช้ ถือว่าเป็นการศึกษาที่มุ่งพัฒนาจากภายในของมนุษย์ ทั้งในเรื่องจิตใจ และปัญญาให้เกิดการตระหนักรู้ และเกิดปัญญา เป็นกระบวนการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ โดยความรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงภายใน และให้ความสำคัญกับการตระหนักรู้โลกภายในของตนเองที่สัมพันธ์กับโลกภายนอก กระบวนการเรียนการสอนและการประเมินแบบจิตตปัญญาศึกษา จะอยู่บนฐานของการเป็นกัลยาณมิตร หรือที่เรียกว่ากัลยาณมิตรเรียนรู้และกัลยาณมิตรประเมิน ระหว่างผู้เรียน และจิตตปัญญาศึกษา ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ภายในของแต่ละคน ไม่วิพากษ์ ไม่วิจารณ์ ไม่ตัดสิน ภายใต้บรรยากาศของการเคารพ ยอมรับระหว่างกันแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นบรรยากาศแบบเปิด เอื้อให้ผู้เรียนรู้สึกมั่นคงปลอดภัยที่จะเปิดเผยและรู้จักตนเองและผู้อื่น  (จุมพล พูลภัทรชีวิน.  2552) เกิดความรักความเมตตา จนไปสู่กระบวนการสร้างสังคมคุณธรรม นำสันติภาพให้เกิดกับผู้คน ดังนั้น กระบวนการแห่งการเปลี่ยนผ่านจากการมุ่งศึกษาเพียงภายนอกออกมาสู่การเรียนรู้ภาวะภายในนั้น  หรืออีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีอะไรที่มากไปกว่าปัญหาที่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดของเราเอง และการใช้ชีวิตร่วมกัน ข้าพเจ้าเชื่อว่าความท้อถอยและความกลัวที่ครอบงำโลกเราอยู่ทุกวันนี้ มาจากการมองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างสภาพแวดล้อมภายนอกของโลกกับ๓มิทัศน์ภายในของตัวเรา อย่างไรก็ตาม เมื่อใดที่เรามองเห็นมันแล้วงานหลักที่เราต้องทำจะชัดเจนขึ้นมาเอง เราต้องทำ

กุศโลบายที่ยังความเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและด้านในของเราให้สัมพันธ์กัน (อาเธอร์ ซายองค์. 2556 : บทนำ) โดยที่เราจำเป็นต้องก้าวข้ามผ่านความท้าทายอย่างน้อย 4 ประการ คือ

           1) มุ่งสร้างระบบการเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ที่มุ่งเสพมากกว่าการสร้างสู่การเรียนรู้ที่ยกระดับจิตตปัญญาศึกษา  เพื่อเป็นพื้นฐานให้มนุษย์พัฒนาศักยภาพสูงสุดของตนเอง ในการเรียนวิชาความรู้และความจริงภายในตนเองควบคู่กันไป

           2) ปรับทัศนคติของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม ให้เป็นไปด้วยท่าทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยการฝึกใช้ปัญญา สร้างทักษะของการใช้ปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ หรือเป็นกัลยาณมิตร เป็นความสัมพันธ์ในเชิงเกื้อกูลกัน การช่วยเหลือกัน การมีวาจาที่เป็นมิตร   ให้ความจริงและให้กำลังใจ เห็นอกเห็นใจกัน รวมทั้งสร้างทัศนคติที่ดีว่า มนุษย์ทั้งผองล้วนเป็นพี่น้องกัน

           3) ยกระดับวัฒนธรรมแห่งศักดิ์ศรี คุณค่า ความดีงาม และการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงเป็นวาระแห่งการอยู่รอดของสังคม ไม่เฉพาะแต่กับบุคคลแต่จะเกิดผลไปถึงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติให้ยั่งยืน ด้วยความสมดุล โดยการเห็นคุณค่าของผู้อื่น เห็นความดี เห็นความงามและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข 

           4)  เสริมกระบวนการสร้างความรู้ด้วยตนเอง ตั้งแต่การรู้จักความรู้ที่มีอยู่ในตัว (Tacit Knowledge) การใช้ความรู้นั้น ๆ  ให้เกิดประโยชน์ได้จริง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอดความรู้ ทดลองใช้ในบริบทต่าง ๆ จนถึงการประมวล สังเคราะห์เป็นความรู้ใหม่ที่ยังประโยชน์ได้กว้างขวาง เกิดความเชื่อมั่นในความรู้ที่สอดคล้องกัน กับความเป็นจริง

           จะเห็นได้ว่า จิตตปัญญาศึกษา เป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักการของจิตตปัญญาศึกษา เข้ามา มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพทางด้านการศึกษา   ที่ส่งเสริมให้ครูมีคุณภาพจากภายในคือ จิตใจ  ปลูกฝังสิ่งดีงาม อย่างลุ่มลึกลงภายในจิตใจ แล้วจะค่อย ๆ เกิดการปรับความคิด และเปลี่ยนจิตใจของตนเอง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผู้อื่นในระดับสังคมต่อไป หากพิจารณาใคร่ครวญให้ดี จะพบว่า เราในฐานะครู อาจมีอะไรขาดหายไปบางอย่าง ดังนั้นสิ่งที่จะตอบโจทย์การปรับเปลี่ยนพื้นฐานทางด้านความคิดและจิตใจ ต้องหาเหตุปัจจัยที่ทำให้ตนเองนั้นเห็นความสำคัญเสียก่อน เพื่อยกระดับความคิด ใคร่ครวญตนเอง ตระหนักรู้ และเห็นคุณค่าของการส่งเสริมเพื่อยกระดับตนเอง ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผู้อื่นได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักเรียนจะทำให้ครูตระหนักถึงความรัก และความเมตตา เพื่อเกิดการหล่อหลอมความดี บนพื้นฐานของความจริง และความงาม เพื่อให้เป็นไปตามพื้นฐานทั้งสามภาค คือ ภาคความรู้ ภาควิชาชีพ และภาคจิตวิญญาณ  โดยคุณลักษณะสำคัญของผู้เรียนที่บ่งบอก ว่าผู้เรียนได้เกิดการพัฒนา เราอาจสังเกตได้จากแนวทางการปฏิบัติตามกระบวนการดังต่อไปนี้

           1. การรู้ตัว มีสติ ผู้เรียนสามารถกลับมารู้ตัวเองได้ด้วยตัวเองอยู่เสมอ รู้เท่าทันความคิด อารมณ์เพื่อให้รู้ว่าต้องหยุดหรือไปต่อกับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ เมื่อมีภาวะรู้ตัว ก็จะสามารถจัดการกับอารมณ์ตนเองได้รวดเร็วเช่นกัน บรรยากาศเพื่อการกล่อมเกลาให้เกิดภาวะรู้ตัว หรือกิจกรรมที่ฝึกฝนสติต้องไม่ฝืนกับธรรมชาติของเด็ก ๆ แต่ละวัยด้วการมีสัมมาสมาธิ สามารถตั้งใจมั่น จดจ่อเพื่อกำกับให้การเรียนรู้ของตน หรือการทำภาระงานของตนเองให้สำเร็จลุล่วงได้ทั้งมีความอดทนทั้งร่างกายและจิตใจ

           2. การรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง  คือ รู้ตัว และกลับมาอยู่กับการใคร่ครวญตัวเองได้เสมอ

           3. การเห็นคุณค่าในตนเอง ตนอื่น และสิ่งต่าง ๆ เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมายและความหมายซึ่งการเห็นคุณค่าก็จะนำมาสู่การเคารพสิ่งนั้น

           4. การอยู่ด้วยกันอย่างภราดรภาพ ยอมรับในความแตกต่าง เคารพและให้เกียรติกัน การมีวินัยมีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม อยู่อย่างพอดีและพอใจง่า

           5. การเห็นความสัมพันธ์และเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสิ่งต่าง ๆ นอบน้อมต่อสรรพสิ่งทเกื้อกูลกัน

           6. การมีความรักความเมตตา ต่อทุกสิ่งจากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า เป็นกระบวนทัศน์ของ

           ?จิตศึกษา? อันประกอบด้วยสิ่งสำคัญ 3 ประการคือ ความเป็นชุมชน จิตวิทยาเชิงบวก และกิจกรรมซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการฝึกฝน ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของจิตศึกษา คือ การเน้นชี้ถูกและการเป็นแบบอย่าง อาจกล่าวได้ว่า การใช้จิตวิทยาเชิงบวกเป็นกรอบความคิด ความศรัทธาในความดีงามของมนุษย์ และบ่มเพาะผู้เรียนให้มีคุณค่าที่ดีงาม ซึ่งมีอยู่แล้วให้งอกงามยิ่งขึ้น โดยปฏิบัติต่อผู้เรียนอย่างมนุษย์ที่มีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

           จิตศึกษา เป็นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาปัญญาภายใน ปัญญาภายใน ในที่นี้หมายถึง ความเข้าใจต่อตนเอง ต่อชีวิต ต่อโลกและจักรวาล การอยู่อย่างมีเจตจำนงอย่างมีความหมาย ทั้งต่อตนเองและสรรพสิ่ง เป็นทั้งความฉลาดทางจิตวิญญาณ และความฉลาดทางด้านอารมณ์  เมื่อนำมาใช้กับผู้เรียนด้วยกระบวนการและวิธีการจิตศึกษาจะเป็นการค่อย ๆ สร้างคุณลักษณะของปัญญาภายในมากขึ้น ผู้เรียนจะฝึกคิดเรื่องที่เป็นนามธรรม ความงาม ความดี ความจริง มิติทางวัฒนธรรม และมิติจิตวิญญาณไปสู่การมีความรักอย่างไพศาลทั้งต่อเพื่อนมนุษย์และต่อสรรพสิ่ง มีอิสระหลุดพ้นจากการบีบคั้น หรือเครื่องครอบครองทางจิตวิญญาณและทางปัญญา จนมีความสุขอันประณีต โดยจะได้ศึกษาจากกิจกรรมตัวอย่าง ดังนี้       
     
           กรณีตัวอย่าง การใช้กิจกรรม ?จิตศึกษา? โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา               

           1. กิจกรรมที่มุ่งสร้างพลังสงบ คือ การให้เกิดความสงบภายในและการผ่อนคลาย เช่น ขณะทำกิจกรรมก็เปิดเสียงดนตรี การทำโยคะ เพื่อรู้ทันลมหายใจเข้าออก มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม การนวดตัวเองและการนวดกันและกัน เพื่อส่งความรู้สึกดีต่อกัน กิจกรรมที่มุ่งเสริมให้เกิดสติ เพื่อให้ผู้เรียนมีความชำนาญในการกลับมารู้ตัวได้เสมอๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนได้รู้เท่าทันอารมณ์ และการกระทำที่กำลังเกิดขึ้นในแต่ละขณะ เพื่อจะได้รู้ว่าควรหยุด หรือดำเนินกิจกรรมนั้นต่อ ตัวอย่างกิจกรรม เช่น การรู้ตัวอยู่กับลมหายใจเข้าออก การเดินตามรอยเท้า เป็นต้น

           2. กิจกรรมที่มุ่งให้เห็นความเชื่อมโยง เห็นคุณค่าของตัวเอง คนอื่นหรือสิ่งอื่น ตัวอย่าง กิจกรรม เช่น การสนทนากับต้นไม้ การเล่าข่าว การค้นหาคุณค่าจากสิ่งที่ไร้ค่า การขอบคุณสิ่งต่าง ๆ การค้นหาต้นกำเนิดของตัวเรา และสิ่งต่าง ๆ การพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมของตัวเองและสิ่งต่าง ๆ

           3. กิจกรรมที่มุ่งให้เกิดการบ่มเพาะจิตสำนึกดีงาม นิทาน เรื่องเล่าเพื่อการใคร่ครวญการใช้คำที่ให้พลังด้านบวก การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้อื่น การเดินทางไกล การอยู่ตามลำพังกับธรรมชาติ

           4. กิจกรรมที่มุ่งบ่มเพาะพลังความรักความเมตตา เช่น การไหว้กันและกัน การกอด การขอบคุณกันและกัน ขอบคุณสิ่งต่าง ๆ การยกย่องชื่นชมความดีงามของคนอื่น ๆ การร่วมกันชื่นชมศิลปะ

           สรุปได้ว่า ทุกกิจกรรมล้วนมีความสำคัญในการกำกับสติ เพื่อให้ผู้เรียนมีความชำนาญในการกลับมารู้ตัวได้เสมอ ๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เด็กได้รู้เท่าทันอารมณ์ และการกระทำที่กำลังเกิดขึ้นในแต่ละขณะ เพื่อจะได้รู้ว่าควรหยุดหรือควรดำเนินกิจกรรมนั้นต่อไป 

           ?จะดีกว่าไหม...ถ้าจะให้การเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะปัญญาภายในให้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อจะช่วยให้เด็ก ๆ ได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับตัวเองเร็วขึ้น ได้ใคร่ครวญกับชีวิตและสรรพสิ่ง เพื่อจะได้พบคำตอบของคำถามเหล่านั้นได้เร็วขึ้น? วิเชียร  ไชยบัง                                                               

          ?การศึกษาที่ผิด สร้างความทุกข์ การศึกษาที่ถูกสร้างความสุข? ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช

บรรณานุกรม

กฤษณมูรติ.  การศึกษาและสาระสำคัญของชีวิต.  มูลนิธิอันกวีกษณา, 2556.   

จุมพล พูลภัทรชีวิน. จุมพล  พูลภัทรชีวิน.  ได้จาก http://jitwiwat.blogspot.com/2012/05/blog-post-22ht., 30 ตุลาคม 2557.

วิเชียร  ไชยบัง. จิตศึกษากับการพัฒนาปัญญาภายใน.  สำนักพิมพ์เรียนนอกกะลา, 2558.

วิจักขณ์ พานิช.  เรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ : การศึกษาดั่งเส้นทางแสวงหาจิตวิญญาณ.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา : สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา, 2551.

ประเวศ วะสี.  มหาวิทยาลัยไทยกับจิตตปัญญาศึกษาและไตรยางค์แห่งการศึกษา.  กรุงเทพ ฯ : ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลและแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2550.

Zajonc, A.  Love and Knowledge : Recovering the heart of Learning through Contemplation.  (online).  Available : fromhttp://www.contemplativemind.org/programs/academic/zajonc-lpve-and-knowledge.pdf/., 2005.

________. Mediation as Contemplative inquiry : When knowing become love. Great Barrington, MA : Lindisfarne Books. P. 178., 2009.

ที่มา : http://apps.qlf.or.th/member/blog/detail.aspx?id=236
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 05, 2016, 09:55:40 PM โดย เลิศชาย ปานมุข »