ผู้เขียน หัวข้อ: สารสนเทศเพื่อการศึกษา แรงผลักสู่ Education 4.0  (อ่าน 2105 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ภาพรวมของเด็กในจังหวัดภูเก็ตมีประมาณ 9 หมื่นคน จำนวนนี้เป็นเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษากว่า 7 หมื่นคน และเป็นเด็กนอกระบบการศึกษาอีก 2 หมื่นกว่าคน ซึ่งจังหวัดภูเก็ตมีจำนวนเด็กนอกระบบอยู่ในลำดับที่ 4 ของประเทศ อย่างไรก็ตาม จากจำนวนเด็กในระบบ 7 หมื่นกว่าคน สามารถแบ่งเป็นเด็กด้อยโอกาสประมาณ 1.9 หมื่นคน

และมีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาปีละ 3,300 กว่าคน ดังนั้น หากนำเด็กด้อยโอกาส เด็กที่หลุดจากระบบ และเด็กนอกระบบมารวมกัน จะมีจำนวนถึง 4.4 หมื่นกว่าคน

ตัวเลขดังกล่าวอาจแปรความได้ถึงสัดส่วนของเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการศึกษา แน่นอนว่าย่อมกระทบต่อเส้นทางอาชีพ และชีวิตในอนาคต และเพื่อปิดช่องว่างที่เกิดขึ้น สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการสถานศึกษา ซึ่งจะช่วยอุดปัญหาเด็กที่อาจไม่ได้ศึกษาต่อ รวมถึงการช่วยสนับสนุนด้านการจัดการอื่น ๆ ภายในโรงเรียน

ทั้งนั้น ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศฯจะจัดเก็บข้อมูลการดำเนินงานและการบริหารจัดการของโรงเรียน เช่น การจัดทำเอกสารที่จำเป็นต่าง ๆ การส่งต่อข้อมูลระหว่างครูผู้สอน ครูประจำชั้น ครูวิชาการ เจ้าหน้าที่การเงิน งานบุคคล และผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งทำให้เกิดการทำงานด้านข้อมูลร่วมกันระหว่างบุคลากรในฝ่ายต่าง ๆ ของโรงเรียน

เช็กการขาด-ลา-มาสาย

"ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า" อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้พัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศฯ ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กออกกลางคันมาจากการขาดเรียนบ่อย ๆ โดยระบบนี้มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการขาดเรียน การลา และการมาสายของนักเรียน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครู และผู้อำนวยการเห็นข้อมูลของนักเรียนได้ทันท่วงที และติดตามเด็กที่มีปัญหาได้เลย อันเป็นการป้องกันเด็กไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา

สำหรับระบบฐานข้อมูลสารสนเทศฯ ถูกนำไปใช้แล้วกับโรงเรียน 62 แห่ง ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต, นครราชสีมา, สุโขทัย, น่าน และลำปาง โดยระบบนี้จะช่วยจัดการการเรียนการสอนในห้องเรียน ทะเบียนนักเรียน อันสอดคล้องกับการวางงบประมาณ และจัดสรรบุคลากร ซึ่งผู้บริหารโรงเรียน และเทศบาลในแต่ละจังหวัดสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการประมวลผลของระบบไปใช้ในการวางแผนการจัดการศึกษาได้

ปักธงยุทธศาสตร์การศึกษา

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เทศบาลนครภูเก็ตจัดทำพิมพ์เขียวการศึกษาเทศบาลนครภูเก็ต 2020 ส่วนหนึ่งของข้อมูลตั้งต้นที่นำมาใช้ในการจัดทำพิมพ์เขียวเป็นข้อมูลจากการทดลองนำร่องระบบสารสนเทศจากสถานศึกษาทั้ง7 แห่งของเทศบาลนครภูเก็ต ที่ดำเนินการตลอดปีการศึกษา 2558

"สมใจ สุวรรณศุภพนา" นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวถึงระบบข้อมูลสารสนเทศฯ ว่า เป็นเครื่องมือของผู้บริหารสำหรับนำไปจัดการด้านการศึกษา เพื่อสามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยเทศบาลนครภูเก็ตนำมาเชื่อมโยงกับการวางยุทธศาสตร์การศึกษาด้านการมีงานทำ ซึ่งเน้นการจัดการเชิงบริบทของพื้นที่ โดยมองถึงความถนัดของเด็กให้ค้นหาศักยภาพของตัวเอง อันนำไปสู่การมีงานทำ

"60% ของเด็กที่นี่อยู่ในโรงเรียนสังกัดเทศบาล ซึ่งมีความหลากหลายของครอบครัว เพื่อมองให้ครบถ้วนทุกมิติ จึงต้องใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศเข้ามาจัดการ โดยเราบูรณาการการทำงานกับหลายฝ่าย อย่างกองการแพทย์เข้าไปดูแลสุขภาพเด็ก หรือกองสวัสดิการไปดูแลด้านความเป็นอยู่ของครอบครัว ข้อดีของระบบนี้คือส่งต่อข้อมูลระหว่างอำเภอได้ด้วย ทำให้เทศบาลและโรงเรียนสามารถช่วยกันดูแลคุณภาพชีวิตของเด็กได้อย่างครอบคลุม"

ลดงบฯจัดทำเอกสาร

"รัชนี โภชนาธาร" ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดขจรรังสรรค์ จังหวัดภูเก็ต หนึ่งในโรงเรียนที่นำระบบข้อมูลสารสนเทศฯ มาใช้ ให้มุมมองว่า ตามปกติแล้วต้องเรียกเอกสารประเมินผลนักเรียนจากครูมาตรวจสอบ ซึ่งด้วยความที่เป็นเอกสารกระดาษจึงมีจำนวนมากและต้องใช้ระเวลานานในการดูข้อมูล ข้อดีของระบบฐานข้อมูลสารสนเทศฯ ทำให้ผู้อำนวยการสามารถเรียกดูรายละเอียดต่าง ๆ ได้ทั้งระยะบบของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างรายวิชา ผลการอ่าน การวิเคราะห์ข้อมูลนักเรียน

"เมื่อถึงเวลาสอน ครูต้องบันทึกข้อมูลในระบบว่า มีการจัดการภายในห้องเรียนอย่างไร ซึ่งเราสามารถเรียกดูได้เลยว่า ครูคนไหนบันทึกอะไรบ้าง และดำเนินการแล้วหรือยัง ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือตรวจสอบการทำงานของครู โดยเราใช้ระบบนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว สามารถลดเอกสารที่เขียนด้วยลายมือ ทั้ง ปพ.5 (แบบบันทึกผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน) และ ปพ.6 (แบบรายงานการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนรายบุคคล) อีกทั้งยังทำให้เห็นทันทีว่าเด็กนักเรียนคนใดมีปัญหา เราสามารถเข้าไปดูแลได้เลย ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของเด็กที่จะหายไประหว่างชั้นเรียนด้วย"

ทั้งนั้น การบันทึกข้อมูลลงระบบจะทำการประมวลผลให้โดยอัตโนมัติ ถือเป็นการอำนวยความสะดวก ลดพื้นที่ในการเก็บเอกสาร และลดงบประมาณในการจัดจ้างทำเอกสารอย่าง ปพ.5 และ ปพ.6 ซึ่งปกติแล้วทางโรงเรียนใช้งบประมาณในการจัดจ้างทำเอกสารสำหรับบันทึกข้อมูลปีละ 3.5 แสนบาท แต่เมื่อนำระบบนี้มาใช้ งบประมาณดังกล่าวลดลงเหลือ 1.3 แสนบาท

ตั้งเป้าบูรณาการกับ สพฐ.

ในด้านของผู้ผลักดันฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการสถานศึกษา "ดร.ไกรยส ภัทราวาท" ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า ระบบนี้อยู่ในร่มของระบบประกันการศึกษา ซึ่งนำระบบสารสนเทศมาใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยหากนำเอกสารจำนวนมากมาประมวลผลต้องใช้เวลาและเป็นเรื่องยาก ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น

เรียลไทม์ (Real Time) จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งระบบนี้จะช่วยทุ่นแรงและทำให้ทราบทันทีเมื่อเด็กมีปัญหา เรียกได้ว่าช่วยแก้ปัญหารายบุคคลได้ทันท่วงที หรือเป็น Early Learning System

"การขยายผลระบบต่อจากนี้ไปจะหาประเด็นใหม่ ๆ มาลงในระบบ เช่น การเจริญเติบโต สุขภาวะ รวมถึงด้านทักษะพิเศษ รางวัลที่เด็กเคยได้รับ ซึ่งจะเชื่อมโยงถึงเรื่องสัมมาชีพที่โรงเรียนสามารถ ส่งเสริมเด็กให้รับการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งยังตั้งเป้าหมายว่า อยากนำระบบนี้ไปเชื่อมโยงกับการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อบูรณาการข้อมูลระหว่างกัน และสร้างผลกระทบในวงกว้างให้กับการศึกษาของไทย"

เพราะพลังของข้อมูลเป็นกุญแจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาในยุค4.0 ที่เข้าสู่สังคมดิจิทัล ซึ่งหากมีการจัดเก็บข้อมูล และมีระบบที่ดี หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบการจัดการศึกษาก็สามารถวิเคราะห์ข้อมูล และแก้ปัญหาได้ตรงจุด นอกจากนั้น การสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนสูงขึ้นอีกด้วย

ที่มา : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1476717560