ผู้เขียน หัวข้อ: ครูไทย 4.0 โดย ดิเรก พรสีมา อดีตประธานกรรมการคุรุสภา  (อ่าน 2410 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 พอไปถึงโรงเรียน ครูแจกกระดานชนวนและดินสอหินให้ผู้เขียนและเพื่อนๆ ในชั้นเรียนคนละ 1 ชุด ส่วนไม้บรรทัด ผู้ปกครองของนักเรียนต้องจัดหาเอง ครูแก้ว เหล่าสะพาน ซึ่งเป็นครูประจำชั้น ป.1 ของโรงเรียน สอนให้พวกเราคัดและอ่านพยัญชนะไทย ฝึกคัดและอ่านเลขไทยในช่วงเช้า

ส่วนช่วงบ่ายพวกเราก็จะลงวิ่งเล่นในบริเวณโรงเรียน ถ้าฝนไม่ตกและแดดไม่ร้อนมาก พวกเราก็จะออกวิ่งเล่นกันกลางสนาม มีความสุข สนุกสนาน ร่าเริง ตามวัยของเด็ก หลังจากฝึกคัดและอ่านพยัญชนะไทย และเลขไทยไประยะหนึ่ง จนพวกเราคัดและอ่านได้ชำนาญ ครูแก้วก็จะให้พวกเราคัดและอ่านสระ คัดวรรณยุกต์ ส่วนวิชาเลขเมื่อนักเรียนคัดและอ่านเลขไทยได้คล่องแล้ว คุณครูก็จะให้พวกเราคัดและอ่านเลขอารบิคจนชำนาญ

เมื่อนักเรียนคัดและอ่านพยัญชนะไทย สระ วรรณยุกต์ และเลขไทย เลขอารบิคชำนาญแล้ว ครูแก้วก็จะสอนให้พวกเราเอาพยัญชนะและสระมาผสมกัน อ่านให้พวกเราฟัง ให้พวกเราอ่านตาม ฝึกให้นำพยัญชนะตัวใหม่ สระตัวใหม่มาผสมและอ่าน นำวรรณยุกต์มาเติม อ่านให้เราฟัง ให้พวกเราฝึกอ่าน ฝึกผสมคำ เริ่มต้นจากคำง่ายๆ และเพิ่มคำยากขึ้นตามลำดับ ผู้เขียนและเพื่อนๆ ในชั้นเรียนก็อ่านและเขียนกันได้ทุกคน

ส่วนวิชาเลข ในชั้น ป.1 เราเรียนเรื่องการบวกและการลบ พวกเราบวกลบเลขได้ดีกันทุกคน ส่วนเรื่องระเบียบวินัย ความสะอาด การแต่งกาย คุณธรรม จริยธรรม สุขภาพอนามัย เป็นเรื่องที่ครูทุกคนต้องช่วยกันดูแลเอาใจใส่ให้นักเรียนทุกคนปฏิบัติตามระเบียบวินัย รักษาความสะอาดตัวเอง ห้องเรียน โรงเรียนและบริเวณโรงเรียน ยึดมั่นในค่านิยม จริยธรรมและคุณธรรมที่พึงประสงค์ และแต่งกายให้สะอาด เรียบร้อย แม้ว่าท่านเหล่านั้นไม่ได้เป็นครูประจำชั้นของพวกเราก็ตาม

การที่พวกเราไม่มีสมุดสำหรับจดบันทึก ใช้เพียงกระดานชนวนคนละแผ่นและดินสอหินคนละแท่งเขียนแล้วต้องลบ จึงจะเขียนสิ่งใหม่ลงไปแทนได้ พวกเราจึงต้องจำทุกอย่างที่ครูสอนให้ได้ เมื่อขึ้นชั้น ป.2 พวกเราจึงมีสมุดใช้ แต่ความรู้ทุกอย่างมาจากครู เรียนจาก ป.1-ป.4 ผู้เขียนระลึกเสมอว่าผู้เขียนได้ความรู้ทุกอย่างมาจากครู ไม่เคยรู้จักห้องสมุด แหล่งเรียนรู้ หรือแหล่งค้นคว้าอื่น

ครั้นเรียนจบชั้น ป.4 จบการศึกษาภาคบังคับ นักเรียนที่เรียน (วิชาภาษาไทยและเลข) ไม่ค่อยเก่งก็จะเลือกออกไปช่วยงานพ่อแม่ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่วนผู้เขียนโชคดีได้เรียนต่อชั้น ม.1 (เทียบเท่าชั้น ป.5 ในปัจจุบัน) การเรียนการสอนก็ไม่แตกต่างไปจากเดิม จากชั้น ม.1-ม.6 พวกเราเรียนวิชาต่างๆ จากคุณครู และคุณครูก็ใช้หนังสือหรือตำราเรียนเพียงไม่กี่เล่ม ส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิชาละเล่ม ตั้งใจฟังคุณครูอธิบาย ทำแบบฝึกหัดให้ครบทุกข้อ เวลาสอบก็มักจะได้คะแนนเต็มเสมอ ส่วนคนที่ไม่ตั้งใจฟังครู ไม่ทำการบ้าน ไม่ทำแบบฝึกหัดก็จะสอบตก การเรียนในช่วงปี พ.ศ.2495-2504 จึงเป็นการเรียนที่ค่อนข้างง่ายๆ เรียนสบายๆ ตั้งใจรับความรู้จากครูให้ได้ครบถ้วน เราก็จะได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนเก่ง

การเรียนการสอนในประเทศไทยตั้งแต่เริ่มแรกมาจนถึงยุค พ.ศ.2500 ต้นๆ จึงเป็นการเรียนการสอนที่พึ่งครูเป็นสำคัญ มาถึงสมัยปัจจุบันเรานิยมเรียกการเรียนการสอนแบบนี้ว่าเป็นการเรียนการสอนแบบ ?Teacher-Centered? เป็นการเรียนการสอนที่ครูรู้เนื้อหาวิชาดีที่สุด ครูทุ่มเทเสียสละ ตั้งใจ เตรียมการสอน ตรวจการบ้าน เอาใจใส่ศิษย์ทุกคน ทำตนให้เป็นแบบอย่างในทุกโอกาส ประสานงานกับผู้ปกครอง ห่วงใย แนะนำ อบรม สั่งสอนศิษย์ในทุกๆ เรื่องโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย นักเรียนที่เรียนช้าก็ได้รับคำแนะนำ ช่วยเหลือ

ผู้เขียนเรียนในโรงเรียนในต่างจังหวัดจึงไม่มีความรู้เรื่องการกวดวิชาเพราะครูในโรงเรียนก็ไม่มีใครไปสอนกวดวิชา

หลังจากเรียนจบชั้น ม.6 (ในขณะนั้น) ผู้เขียนมีโอกาสได้เรียนต่อในวิทยาลัยครู ในหลักสูตร ป.กศ. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพทางการศึกษา) ซึ่งเป็นหลักสูตร 2 ปีที่วิทยาลัยครู การเรียนการสอในวิทยาลัยครูตั้งแต่ชั้น ป.กศ.ต้น จนถึงชั้น ป.กศ.สูง ยังคงเป็นการเรียนการสอนแบบ ?Teacher Centered? ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าอาจารย์ที่สอนวิชาจิตวิทยาทางการศึกษาในสมัยโน้นจะพูดถึงเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Difference) ให้พวกเราท่อง ให้ค้นคว้า ให้รายงาน แต่เมื่อถึงเวลาสอบก็ยังออกข้อสอบเฉพาะเรื่องที่อาจารย์บรรยายเป็นหลัก ถ้าใครตั้งใจฟังคำบรรยาย อ่านทบทวนคำบรรยาย ก็จะตอบได้และได้เกรด A ง่ายๆ

คำว่า ?Individual Differences,? ?Multiple Intelligences,? หรือ ?Learning Styles? จึงเป็นเพียงคำศัพท์ทางจิตวิทยาการศึกษาให้พวกเราอ่านและท่องให้เข้าใจ แต่การปฏิบัติต่อพวกเราโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลจริงๆ ไม่เกิดในชั้นเรียน สาเหตุอาจเป็นเพราะครูยังเป็นใหญ่ในชั้นเรียน นักเรียนต้องเรียนตามสไตล์การสอนของครู ใครเรียนตามสไตล์การสอนของครูไม่ได้ก็จะกลายเป็นคนไม่เก่ง สอบตก ทำเกรดเฉลี่ยได้ต่ำกว่าเกณฑ์ และถูกให้ออกจากวิทยาลัยครูไป

การเรียนการสอนที่เน้นครูเป็นสำคัญ หรือ Teacher-Centered ปัจจุบันนี้หลายคนก็จะเรียกว่าเป็นการเรียนการสอนแบบ 1.0 ที่สอนโดยครู 1.0 และนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาออกมาก็จะกลายเป็นนักเรียน 1.0 คือรู้ เข้าใจเนื้อหา ทฤษฎี หลักการและแนวปฏิบัติ และอธิบาย ปฏิบัติตามและใช้เครื่องมือที่ครูสอนได้เป็นอย่างดี

ส่วนผู้บริหารโรงเรียนที่ทำหน้าที่กำกับดูแลให้ครูสอนจนนักเรียนรู้ เข้าใจ ปฏิบัติตามครูได้ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารโรงเรียน 1.0 ส่วนโรงเรียนก็กลายเป็นโรงเรียน 1.0

ครู 1.0 และผู้บริหารโรงเรียน 1.0 ทำงานประสบความสำเร็จและทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า และเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากจำนวนนักเรียนทั่วทั้งประเทศมีจำกัด สัดส่วนของนักเรียนที่เรียนจบชั้น ป.4 และได้เรียนต่อ ม.1 ก็มีไม่ถึง 50% ของผู้สำเร็จการศึกษา นอกจากนั้น ความรู้ หรือทฤษฎี หลักการ งานวิจัย กฎ ระเบียบ และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับวิชาต่างๆ เป็นต้นว่าทฤษฎี หลักการ งานวิจัย กฎ ระเบียบ และแนวปฏิบัติในวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เลข ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ฯลฯ ก็มีจำกัด หนังสือเรียนเกี่ยวกับวิชาต่างๆ เหล่านี้ก็มีเพียงไม่กี่เล่ม การเรียนการสอนก็เน้นที่การทำความเข้าใจในทฤษฎี หลักการ งานวิจัย กฎ ระเบียบ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับวิชาต่างๆ ก็ถือว่าเพียงพอ แค่เข้าใจ ทำโจทย์ได้ ก็สอบได้คะแนนเต็มแล้ว ครูผู้สอนหลายท่านจึงเข้าสอนได้โดยไม่ต้องพึ่งตำรา เพราะคุณครูท่านจำทฤษฎี จำโจทย์ตัวอย่าง และจำโจทย์แบบฝึกหัดได้หมด อาชีพที่ผู้จบชั้น ม.6 หรือสูงกว่า จะออกไปประกอบก็เน้นที่การนำความรู้ที่เรียนมาไปใช้โดยตรง

ครู 1.0 และผู้บริหารโรงเรียน 1.0 จึงทำงานอย่างมีความสุข

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2503 รัฐบาลไทยในสมัยนั้นได้ประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503 บังคับให้เยาวชนไทยต้องเข้ารับการศึกษาภาคบังคับ 7 ปี เยาวชนที่เข้าอยู่ในระบบโรงเรียนจึงเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับผู้ปกครองก็เห็นความสำคัญของการศึกษามากขึ้น ผู้สำเร็จการศึกษาสูงๆ มักจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ทำงานก็มีรายได้สูงๆ จากการที่ต้องเข้าเรียนในระบบการศึกษาภาคบังคับ 7 ปี ผู้ปกครองหลายคนจะชักนำ บังคับ หรือขืนใจให้บุตรหลานของตนเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้น จากการที่จำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น ประเทศจำเป็นต้องจัดหาครูเพิ่มมากขึ้น

การที่ประชากรวัยเรียนเข้าเรียนต่อในสัดส่วนที่สูงขึ้น นักเรียนที่ไม่ถนัดทางภาษาและคณิตศาสตร์ก็เรียนต่อมากขึ้น ประกอบกับความจริงที่ว่ามนุษย์มีความสนใจ ความถนัด สติปัญญา (Intelligences) และวิถีการเรียนรู้ (Learning Styles) ที่แตกต่างกัน นักการศึกษาโดยเฉพาะนักการฝึกหัดครู จึงคิดรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายให้เหมาะสมกับสติปัญญา ความสนใจและความถนัด และสไตล์การเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน มีเครื่องมือวัดสติปัญญาและความถนัด และสไตล์การเรียนรู้ของผู้เรียน และครูก็จัดให้ผู้เรียนได้เรียนเพื่อพัฒนาสติปัญญาและความถนัดของตน โดยใช้สไตล์การสอนที่เหมาะสมกับสไตล์การเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น นักเรียนที่มีสติปัญญาและความถนัดทางคณิตศาสตร์ก็ให้ได้เรียนกับครูที่มีความสามารถในการจัดรูปแบบการรู้เรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ โดยใช้สไตล์การเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่หลากหลาย

นักเรียนที่มีสติปัญญาและความถนัดทางดนตรีก็ให้ได้เรียนดนตรีตามสไตล์การเรียนรู้ของเขา ผู้ประกอบวิชาชีพครูจึงมีหน้าที่หลักคือการทำให้นักเรียนที่มี Intelligences ที่หลากหลาย (เพราะสัดส่วนผู้เรียนเรียนต่อสูงขึ้น) ได้เรียนรู้ตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน การเรียนการสอนจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จะยึดครูเป็นสำคัญเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมาไม่ได้ แต่ครูจะต้องจัดการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

หรือที่เรียกว่าการจัดการเรียนการสอนแบบ ?Child-Centered? ซึ่งครูที่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจนประสบความสำเร็จ

ปัจจุบันเราก็มักจะเรียกว่าเป็น ?ครู 2.0? และเรียกนักเรียนที่ได้เรียนตามความถนัดและความสนใจจนสติปัญญาได้รับการพัฒนาเต็มที่ตามศักยภาพว่าเป็น ?นักเรียน 2.0? ส่วนผู้บริหารโรงเรียนที่สามารถบริหารให้เกิดการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างมีประสิทธิผลก็จะได้รับเรียกว่าเป็น ?ผู้บริหารโรงเรียน 2.0? และเรียกโรงเรียนที่มี ครู 2.0 และผู้บริหาร 2.0 ปฏิบัติงานอยู่ว่าเป็น ?โรงเรียน 2.0?

โรงเรียน 2.0 ต้องจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้ตอบสนองความสนใจ ความถนัด สติปัญญา และสไตล์การเรียนรู้ที่หลากหลายของผู้เรียน โต๊ะ เก้าอี้ ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ แหล่งเรียนรู้ต้องพร้อม ขนาดของห้องเรียนต้องเล็ก จำนวนนักเรียนต่อห้องต้องน้อย ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 15 คนต่อห้อง การจัดโต๊ะและเก้าอี้นักเรียนก็จะจัดให้นักเรียนนั่งเรียนเป็นวงกลม มีครูที่ผ่านการฝึกมาเป็นอย่างดีในหลากหลายวิชาเอกตามความสนใจ ความถนัด และสติปัญญาของผู้เรียน นักเรียนที่เรียนช้า หรือมีปัญหาในการเรียนวิชาใดวิชาหนึ่งจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ปรับฐานสติปัญญาให้ทัดเทียมเพื่อนๆ เป็นระยะ (Remedial Learning) โดยใช้ครูผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ (Expert Teacher) จนนักเรียนสามารถเรียนร่วมกับเพื่อนได้ นักเรียนจะได้เรียนในสิ่งที่ตนเองชอบและถนัด กับครูที่มีความสนใจ ความถนัด และสติปัญญาในวิชานั้นๆ อย่างแท้จริง

ครู 2.0 จึงต้องเก่งในวิชาที่ตนสอนเช่นเดียวกับ ครู 1.0 แต่ที่ต้องเก่งมากกว่า ครู 1.0 ก็คือ ครู 2.0 ต้องรู้ความถนัด ความสนใจ สติปัญญาและวิถีการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน และต้องทำให้ผู้เรียนแต่ละคนประสบความสำเร็จตามศักยภาพของตน การผลิต ครู 2.0 จึงต้องฝึกแบบเข้ม คนที่จะมาเรียนเพื่อออกไปเป็น ครู 2.0 จึงต้องผ่านการคัดกรองมาเป็นอย่างดี และมีกระบวนการผลิตที่ดี คล้ายๆ กับระบบ และกระบวนการผลิตแพทย์

ครู 2.0 ที่จัดการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญยังเป็นที่ปรารถนาของผู้ปกครองและนักเรียนแทบทั่วทุกประเทศ อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology= ICT-ไอซีที) ได้รับการพัฒนาจนมีศักยภาพสูงมาก มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้แบบไม่มีขอบเขตจำกัด สามารถสื่อสารถึงกันได้ในรูปแบบที่หลากหลาย ผ่านทางตัวหนังสือ ข้อความเสียง ภาพนิ่ง ภาพวิดีโอ แผนภูมิ และระบบอัตโนมัติต่างๆ ความรู้ในทุกศาสตร์ ทั้งที่เป็นทฤษฎี หลักการ งานวิจัย สมมุติฐาน แนวปฏิบัติเกี่ยวกับวิชาต่างๆ ถูกนำขึ้นเผยแพร่ในสื่อดิจิทัล Websites, YouTube, PowerPoint, LINE, สื่อวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และอื่นๆ อีกมากมาย ความรู้ไม่มีขอบเขตจำกัด ความรู้ไม่คงที่ มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง การเป็น ครู 1.0 หรือ ครู 2.0 ที่ดีเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ ครูในยุคปลาย ศตวรรษที่ 20 จึงต้องเป็นทั้ง ครู 1.0 และครู 2.0 ที่มีคุณภาพ และนอกจากนั้นก็จะต้องเป็นครูที่สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร สื่อดิจิทัล และสื่อสารมวลชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการจัดการเรียนการสอน และสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้เรียนเกี่ยวกับแนวทางการตรวจสอบความถูกต้องและน่าเชื่อถือของความรู้ที่ปรากฏตามสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

ครูที่มีคุณลักษณะของ ครู 1.0 และครู 2.0 และสามารถใช้สื่อดิจิทัล สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น Websites, YouTube, PowerPoint, LINE, Digital Learning Sources, Radio, TV, Printed Materials, Museums, Displays, Presentations, Local Wisdoms, etc. ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิผล ก็จะได้รับการเรียกชื่อว่า ครู 3.0

ครู 3.0 จึงมีความรอบรู้ในเนื้อหาวิชาที่ตนสอนเป็นอย่างดี รู้ความสนใจ ความถนัด สติปัญญา และศักยภาพของผู้เรียนและสามารถจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดและสติปัญญาของผู้เรียน มีความรอบรู้เกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ ทั้งแหล่งเรียนรู้บนสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อดิจิทัล ปราชญ์ชาวบ้าน พิพิธภัณฑ์ นิทรรศการ ผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญ และกระตุ้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ รวมทั้งจากพ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติๆ เพื่อนในสาขาวิชาต่างๆ แล้วนำความรู้ที่ได้มาแลกเปลี่ยนกันในชั้นเรียน ให้นักเรียนรักการเรียนรู้ รักการศึกษาค้นคว้า
ใฝ่เรียนใฝ่รู้ และเรียนรู้ด้วยตนเอง

การเรียนการสอนแบบ 3.0 จึงเน้นที่การเรียนมากกว่าการสอน (Learning-Oriented) ครูจึงใช้เวลาในการบรรยายหรือถ่ายทอดน้อยลง แต่ใช้เวลาตามตารางสอนไปเพื่อทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ เกิดความรู้ ความเข้าใจ ความมั่นใจในสิ่งที่เขาไปศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองให้มากขึ้น หรือที่เรียกว่า ?สอนน้อยลง เรียนรู้มากขึ้น-Teach Less, Learn More = TLLM.?

นักเรียนที่เรียนรู้จากครู 3.0 ก็จะกลายเป็นนักเรียน 3.0 ส่วนผู้บริหารโรงเรียนที่บริหารโรงเรียนจนทำให้นักเรียนเข้าถึง Websites, YouTube, PowerPoint, LINE, Digital Learning Sources, Radio, TV Programs, Printed and Non-printed Materials, Local Wisdoms, Museums, Displays, Presentations, etc. และสามารถบริหารงานวิชาการ งบประมาณ บุคคล และบริหารทั่วไปให้ยืดหยุ่น ให้ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ ได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน ได้รับความรู้ที่เป็นปัจจุบัน ทันสมัย ทำให้ครูทุกคนเก่ง (Teacher Empowerment) ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารโรงเรียน 3.0 ส่วนโรงเรียนที่สอนโดยครู 3.0 และบริหารโดยผู้บริหาร 3.0 ก็จะได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียน 3.0

การปรับเปลี่ยนจากครู 1.0 เป็นครู 2.0 รัฐบาลอาจลงทุนเพิ่มเพียงไม่มาก แต่การปรับเปลี่ยนจากครู 2.0 เป็นครู 3.0 ให้สำเร็จ รัฐบาลจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะลงทุนในส่วนที่เป็นสภาพแวดล้อมทางกายภาพเพื่อการเรียนรู้ (Physical Learning Environments) เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึง Websites, YouTube, PowerPoint, LINE, Digital Learning Sources, Museums, Displays, etc. และที่สำคัญ ครูจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้ทันสมัยตลอดเวลาจึงจะรู้ความรู้และแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย ครูที่สอนวิชาเดียวกัน ระดับชั้นเดียวกัน ในชุมชนที่ใกล้เคียงกัน และต่างมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศิษย์ให้ประสบความสำเร็จเหมือนกันจึงรวมตัวกันเป็นชุมชน (Community) เพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้จากกันและกันเป็นระยะ เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ จากวิทยากรหรือผู้รู้ร่วมกัน สร้างชุมชนวิชาชีพร่วมกันจนกลายเป็นชุมชนวิชาชีพ (Professional Learning Community= PLC)

นอกจากนั้น ผู้บริหารโรงเรียนก็ต้องพัฒนาตนเองให้สามารถจัดหา ปรับปรุง และพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนให้ทันสมัยและสามารถสนับสนุนการสอนของครู 3.0 และการเรียนรู้ของนักเรียน 3.0 ได้ ผู้บริหารโรงเรียนจึงจำเป็นต้องมีชุมชนวิชาชีพของตนเองเช่นกัน

ครู 1.0 ครู 2.0 หรือ ครู 3.0 เป็นครูที่มุ่งมั่นทำให้นักเรียนเรียนรู้ เข้าใจ และสามารถนำความรู้ (Knowledge) ทั้งที่อยู่ในรูปทฤษฎี หลักการ งานวิจัย กฎ ระเบียบ ประกาศ แนวปฏิบัติ ปทัสถาน ค่านิยม วัฒนธรรมเกี่ยวกับวิชาต่างๆ ที่เรียนในโรงเรียน และที่ปรากฏตามแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทั้งแหล่งเรียนรู้ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ และแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ไปใช้ในการแก้ปัญหาและใช้ในชีวิตประจำวัน

เป็นครูที่ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้และสามารถใช้ Knowledge ที่มีอยู่แล้ว ค้นพบแล้วให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของผู้เรียน

พอก้าวย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เทคโนโลยีโรบอต (Robot Technology) ก้าวหน้าและมีอัตราเร่งของการพัฒนาที่สูงมาก มีการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence =AI) มาใช้ในการประดิษฐ์คิดค้น สร้างนวัตกรรม และการบริหารจัดการ ทำให้มนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมด้านต่างๆ ได้รวดเร็วเกินความคาดหมายของมนุษย์ในหลายๆ เรื่อง การสอนให้นักเรียนเป็นนักเรียน 3.0 จึงไม่เพียงพอ ครูในศตวรรษที่ 21 นอกจากเป็น ครู 1.0 ครู 2.0 และครู 3.0 แล้ว ยังต้องปรับเปลี่ยนตนเองให้เป็นครู 4.0 ด้วยจึงจะสามารถทำให้นักเรียนกลายเป็นนักเรียน 4.0 และสามารถดำรงตนให้ประสบความสำเร็จได้ในศตวรรษที่ 21

ครู 4.0 จะใช้สมรรถนะที่ครูมีอยู่ในการทำให้นักเรียนกลายเป็นนักเรียน 4.0 ด้วยการเพิ่มกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะทำให้นักเรียนได้รับทักษะที่จำเป็นสำหรับ ศว.ที่ 21 คือทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์ การสร้างนวัตกรรม การเรียนและการทำงานร่วมกันเป็นทีม การมีภาวะผู้นำ การสื่อสาร การใช้ข้อมูลและสารสนเทศ การติดต่อสื่อสารทางไกล การใช้คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ การคิดคำนวณ การสร้างอาชีพและการเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือที่พวกเราเรียกกันว่า ?7Cs?

และนอกจากนั้น ต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่บูรณาการการพัฒนาทักษะทางสังคม คุณธรรม จริยธรรม คารวธรรม การสร้างเสริมสุขภาพอนามัย การเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศและของโลก การจัดการเกี่ยวกับเศรษฐกิจของตนเองและครอบครัว การเป็นผู้ประกอบการใหม่ การรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การป้องกันภาวะโลกร้อน การยึดมั่นในขนบธรรมเนียม ประเพณี และจรรยาบรรณวิชาชีพเข้าไปในทุกวิชาที่สอนด้วย

ครู 4.0 จึงเน้นที่การสร้างชุมชนแห่งความสงสัย กระตือรือร้น อยากเรียนอยากรู้ และอยากได้คำตอบขึ้นในชั้นเรียน ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนทุกห้องเป็นห้องเรียนแห่งความสงสัย อยากเรียนอยากรู้ อยากหาคำตอบ ?Community of Inquiry? และนักเรียนก็จะลงมือค้นหาคำตอบที่ตนสงสัยและอยากรู้เป็นกลุ่ม ค้นหาคำตอบผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่เรียกว่าการเรียนรู้โดยยึดปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning = PBL) คือเริ่มต้นจากความสงสัย อยากเรียนอยากรู้แล้วก็จะพัฒนาเป็นปัญหาที่ต้องการคำตอบ (Problem) และจากปัญหาที่ต้องการคำตอบก็จะพัฒนาไปสู่การค้นหาคำตอบ ลงมือค้นหาคำตอบ โดยใช้สมรรถนะความเป็นนักเรียน 3.0 นักเรียน 2.0 นักเรียน 1.0 เทคโนโลยีโรบอต และปัญญาประดิษฐ์เป็นตัวช่วย

ผู้เรียนแต่ละคนจึงไม่อยู่นิ่ง แต่กระตือรือร้นและคิดค้นหาความรู้และคำตอบอยู่ตลอดเวลา (Active Learner) ซึ่งในกระบวนการของการเรียนรู้โดยยึดปัญหาเป็นฐาน นักเรียนอาจค้นหาคำตอบจากห้องทดลอง ห้องปฏิบัติการ สถานประกอบการ แปลงสาธิต โรงงาน บริษัท ธุรกิจของรัฐ หรือของเอกชน นักเรียนได้ค้นหาคำตอบจากสถานที่จริง สถานประกอบการจริงเพื่อให้ได้คำตอบที่เป็นจริง ทำให้เกิดคำว่า Work-based Learning หรือ Work-integrated Learning หรือ Site-based Learning ขึ้นทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน สถานประกอบการจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนของนักเรียน และจากการเรียนโดยยึดปัญหาเป็นฐานนี้ก็จะทำให้นักเรียนและ/หรือครูค้นพบความรู้ใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ใหม่ และสร้างนวัตกรรมใหม่

การเรียนการสอนของครู 4.0 จึงเป็นการเรียนการสอนที่เน้นการคิดสร้างสรรค์-Creative Learning ที่จะนำไปสู่การผลิตนวัตกรรม-Innovation

ผู้บริหารโรงเรียนที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครู 4.0 จัดการเรียนการสอนได้สำเร็จก็จะกลายเป็นผู้บริหารโรงเรียน 4.0 และโรงเรียนที่สอนและบริหารโดยครูและผู้บริหาร 4.0 ก็จะกลายเป็นโรงเรียน 4.0

ประเทศที่ผลักดันให้โรงเรียนในประเทศของตนเป็นโรงเรียน 4.0 จึงออกกฎหมายกำหนดให้ภาครัฐและเอกชนถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ของเยาวชน สถานประกอบการของรัฐและเอกชน บริษัท ห้างร้าน พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ จึงต้องจัดให้มีห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ ห้องสาธิต และวิทยากรเพื่อให้ความรู้แก่นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ที่จะมาดูงาน มาศึกษา มาค้นคว้า มาหาความรู้ และมาทดลองที่สถานประกอบการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ภาครัฐกำหนดให้สถานประกอบการได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบต่างๆ

หลายประเทศอยากได้โรงเรียน 4.0 อยากได้ผู้บริหารโรงเรียน 4.0 อยากได้ครู 4.0 อยากได้นักเรียน 4.0 และอยากให้ประชาชนของตนกลายเป็นประชาชน 4.0 เพื่อที่จะผลักดันให้ประเทศของตนกลายเป็นประเทศ 4.0 และผลักดันหลายๆ เรื่องในประเทศให้เป็น 4.0 ตามมา

เขียนมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนเองเกิดคำถามขึ้นในใจหลายประการ จนไม่อาจจะเขียนอะไรต่อไปได้จนกว่าจะได้คำตอบจากท่านผู้อ่าน

อยากถามท่านที่เป็นครูอยู่ ณ วันนี้ว่า ท่านคิดว่าท่านเป็นครู 4.0 แล้วหรือยัง ช่วยยกมือขึ้นหน่อยได้ไหมครับ ขอถามท่านที่มีคุณพ่อ คุณแม่ ลูก หลาน ญาติ หรือเพื่อนๆ เป็นครูว่าคุณครูเหล่านั้นเป็นครู 4.0 หรือยัง ถามผู้ใช้ครูว่าครูของท่านเป็นครู 4.0 แล้วกี่เปอร์เซ็นต์ ถามผู้ผลิตครูว่าสถาบันของท่านพร้อมที่จะผลิตครู 4.0 แล้วหรือยัง ถามท่านที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการศึกษา รวมทั้งรัฐบาลด้วยว่าท่านอยากได้ครูไทย 4.0 ไหมครับ

จุดเริ่มต้นอยู่ที่ไหน ถ้าครูและผู้บริหารโรงเรียนของเราไม่พัฒนาตนเองให้เป็นครู 4.0 และผู้บริหารโรงเรียน 4.0 แล้วนักเรียนของเราจะกลายเป็นนักเรียน 4.0 ได้ไหม ถ้านักเรียนของเราไม่เป็นนักเรียน 4.0 คนไทยจะกลายเป็นคนไทย 4.0 ได้ไหม ขอคำตอบด้วยครับ

ได้เวลาหรือยังครับที่พวกเราจะต้องมารวมพลังกันผลักดันให้ประเทศของเราได้มีครูไทยและผู้บริหารโรงเรียนไทย 4.0 จะทำได้ไหมครับ จะได้คำตอบมาอย่างไรครับ ท่านใดจะตอบครับ เกิดปัญหาที่ต้องการคำตอบแล้วครับ

ดิเรก พรสีมา
อดีตประธานกรรมการคุรุสภา

ที่มา : http://www.matichon.co.th/news/343147