ผู้เขียน หัวข้อ: ?ทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน? จากความห่วงใยของในหลวง ร.9  (อ่าน 1872 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740

ในปี  2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงมีพระราชปรารภว่า

"เวลาเรามีปัญหาเกี่ยวกับฟันก็มีทันตแพทย์ดูแลรักษา แล้วเวลาราษฎรที่อยู่ห่างไกล จะมีทันตแพทย์ช่วยรักษาหรือเปล่า"                     

ในเวลาต่อมา ทรงทราบว่าทันตแพทย์นั้นมีน้อยและมีอยู่ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น บางจังหวัดก็ไม่มี พระองค์ทรงรับสั่งว่า

"โรคฟัน เป็นโรคของทุกคน การที่จะให้ราษฎรที่ยากจนที่มีปัญหาเรื่องฟัน หยุดการทำนาทำไร่ เดินทางไปหาแพทย์นั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงกันข้าม หากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ไปสู่ประชาชน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง"

จากนั้นจึงทรงตรัสแก่ทันตแพทย์สีสิริสิงห์ทันตแพทย์ประจำพระองค์ว่า

"ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์ให้แก่นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นกันดารห่างไกลหมอ และจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดตามความจำเป็นโดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปโดยรถยนต์และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้าน ที่อยู่ ห่างไกล ชนบท"

พระราชดำรัสในครั้งนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้น งานทันตกรรมเคลื่อนที่ หรืองานทันตกรรมชนบท เป็นครั้งแรกในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดซื้อรถยนต์ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือทำฟัน มีทันตแพทย์อาสาออก ปฏิบัติงานโดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี  2512 โดยมี ทันตแพทย์ สี สิริสิงห์เป็นหัวหน้าทีม เพื่อส่งทันตแพทย์อาสาสมัครออกช่วยเหลือ บำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันแก่เด็ก นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องที่ทุรกันดารโดยไม่คิดมูลค่า ได้รับความ ร่วมมือจากทันตแพทย์โรงพยาบาลต่างๆ ในการออกปฏิบัติการภาคสนาม

บัดนี้ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ได้ให้บริการแก่ราษฎรผู้ยากไร้ และด้อยโอกาสมาเป็นเวลานานถึง 46 ปี มีการพัฒนาไปอย่างมาก จากที่ในอดีต สามารถให้การรักษาได้วันละประมาณ 50-70 คน และทำการถอนฟันเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันนี้ สามารถให้บริการได้ถึง 1,200-1,500 คนต่อวัน จึงทำให้ปัจจุบัน หน่วยทันตกรรมพระราชทานหน่วยนี้ จึงนับเป็นหน่วยทำฟันเคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถให้บริการได้ เช่นเดียวกับโรงพยาบาลใหญ่ๆ นับตั้งแต่การตรวจรักษาโรคในช่องปาก ถ้าพบโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งในช่องปาก ปากแหว่งเพดานโหว่ ฯลฯ ก็จะนำไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือที่คณะทันตแพทย์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระราชนุเคราะห์

ฟันปลอมพระราชทาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงเล่าว่า วันหนึ่งเสด็จเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดขอนแก่น มีราษฎรคนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ ร่างกายซูบผอม ไม่สบาย พระองค์ท่านรับสั่งถาม "เป็นอะไร ไม่สบายหรือ?" ราษฎรผู้นั้นทูลตอบว่า "ไม่สบาย ฟันไม่มี กินอะไรไม่ได้" พระองค์ท่านจึงบอกว่า "ไปใส่ฟันซะ แล้วจะเคี้ยวอะไรได้ ร่างกายจะได้แข็งแรง"

ในปีต่อมา เมื่อพระองค์ท่านเสด็จเยี่ยมราษฎร ที่จังหวัดขอนแก่นอีกครั้งราษฎรผู้นั้นได้มาเฝ้า และทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "ไปใส่ฟันมาแล้ว ตามที่ในหลวงแนะนำ ตอนนี้กินอะไรได้ สบายแล้ว" เมื่อได้ฟัง ทำให้คิดว่า เรื่องการใส่ฟันเป็นเรื่องสำคัญ ทรงมีพระราชดำรัสว่า ?เวลาไม่มีฟัน ทำให้กินอะไรไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง? ด้วยเหตุนี้ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน จึงสนองพระราชดำรัส ทำให้มีการใส่ฟันให้กับราษฎรที่ยากไร้ และด้อยโอกาสในหน่วยเคลื่อนที่นั้น และในเดือนตุลาคม พ.ศ.2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ร.9 พระราชทานรถใส่ฟันเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นรถใส่ฟันเคลื่อนที่คันแรก ในประเทศไทย ให้หน่วยทันตกรรมฯ ไปใช้

โครงการทันตกรรมพระราชทานอื่นๆ

โครงการทันตกรรมพระราชทานที่กล่าวมาแล้ว เป็นเพียงโครงการในพระราชดำริโครงการหนึ่ง ยังมีโครงการในพระราชดำริอีก 3 โครงการ คือ

1. โครงการตามเสด็จ เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นที่ห่างไกลความเจริญ จะมีทันตแพทย์ตามเสด็จ ถ้าพบราษฎรมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน หรือสุขภาพในช่องปากจะได้ให้บริการได้ทันที

2. โครงการทันตกรรมทางเรือ ได้พระราชทานเรือเวชพาหน์ ให้สภากาชาดออกให้บริการทางการแพทย์ และทางทันตกรรม ดูแลราษฎรที่อาศัยอยู่ตามสองฝั่งคลอง เนื่องจากการคมนาคมทางบกไม่สะดวก

3. โครงการทันตกรรมหน้าวัง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ทักษิณราชนิเวศน์ หรือภูพานราชนิเวศน์ จะมีรถทำฟันเคลื่อนที่ของกองทัพบก ให้บริการแก่ราษฎร บริเวณเน้าวังที่ประทับแทบทุกวัน

พระราชดำรัสถึงทันตแพทย์ไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงมีพระเมตตา ให้อาสาสมัครในหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ได้เฝ้ากราบพระบาทเสมอ เมื่อมีโอกาส พระองค์ท่านจะทรงเน้นเสมอในเรื่อง 2 เรื่อง

1. สถานที่ปฏิบัติงาน ควรเป็นที่ห่างไกลความเจริญ ที่ไม่มีทันตแพทย์ หรือมีทันตแพทย์ไม่เพียงพอ และควรให้โอกาสผู้ที่ยากไร้ และด้อยโอกาสก่อน ทั้งนี้ ท่านคงทรงหมายถึง ความเสมอภาค คนจน คนรวย ควรได้รับการดูแลเท่าเทียมกัน เมื่อจะออกหน่วยฯ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือสาธารณสุขจังหวัด ได้ทราบ เพื่อแจ้งให้ราษฎรที่มีปัญหาได้ทราบ จะได้เข้ามารับการรักษา

2. เมื่อออกหน่วยฯ อย่าได้ไปรบกวนเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาต้อนรับ เลี้ยงดู เพราะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมีหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติมากอยู่แล้ว ให้อาสาสมัครหารับประทานเอง

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสอนเรื่อง การรักษาแบบองค์รวม ว่า เวลาออกหน่วยฯ อย่าดูแต่เรื่องฟันอย่างเดียว ให้ดูเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น สังเกต ขาเจ็บ ตาบวม เจ็บคอ ฯลฯ เพราะทันตแพทย์ก็เป็นแพทย์เหมือนกัน เรียนมาเหมือนกัน ถ้ารักษาได้ก็ควรให้การรักษา ถ้ารักษาไม่ได้ ควรให้คำแนะนำส่งต่อไปรักษา ราษฎรจะได้รับการดูแลแต่เนิ่นๆ และต้องซักถามทุกข์สุข เรืองการทำมาหากิน ถนนหนทาง น้ำท่า เพราะถ้าน้ำไม่มี จะให้แปรงฟันวันละ 2 ครั้งได้อย่างไร ถนนไม่ดี จะให้มาพบหมอปีละ 2 ครั้งได้อย่างไร ไม่ควรรักษาเฉพาะกายอย่างเดียว ต้องดูถึงสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และจิตวิญญาณด้วย

จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงมีพระเมตตา และความห่วงใยต่อเหล่าพสกนิกรอย่างใกล้ชิด ดูแลสุขภาพและปากท้องของประชาชนชาวไทยเป็นสำคัญ พร้อมทั้งปลูกฝังความคิดในการเสียสละส่วนตนเพื่อส่วนรวมแก่บรรดาแพทย์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับการเข้าถึงของบริการสาธารณสุขได้ครบถ้วน ทั้งหมดก็เพื่อสุขอนามัย และสุขภาพร่างกายที่ดี และแข็งแรงของพวกเราชาวไทยทุกคน เราจึงนับว่าโชคดีแล้วที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินไทย

ที่มา : http://www.varietyforyou.com/topic-8071