ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องเล่า..ผ่านล่ามประจำพระองค์  (อ่าน 1876 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740

?สลามัตไบซ์ มีความหมายว่า สวัสดี , ซาเกะ ฆาปอ แปลได้ว่าเจ็บอะไรมา ,ซาเกะ เดาะ หมายถึงเจ็บไหม, เคอนอ มาแก อูบะ คือ ต้องทานยาด้วยน่ะ? ขณะที่คำพูดง่ายๆที่ต้องจดจำ มูโละ คือปาก ,ตือเก๊าะคือคอ, ฮีดง คือจมูก , มาตอ คือตา นี่คือภาษามลายูท้องถิ่น...ที่แปลข้อความเป็นภาษาไทยแบบฉบับง่ายๆที่มีความหมายเกี่ยวกับการสอบถามทุกข์ทั่วไปหากแต่ข้อความภาษามลายูเหล่านี้ ล้วนเป็นคำพูดที่ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงหัดพูดและเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับพสกนิกรที่เป็นพี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี ,ยะลาและจ.นราธิวาส ทุกๆครั้งในช่วงเวลาที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาสการเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นเป็นเหมือนการบ้านที่ทรงไม่ลืมปฎิบัติเพื่อจะได้ใช้สื่อสารกับชาวบ้านให้เข้าใจกันได้ง่ายขึ้นอันเป็นที่มาของแนวพระราชดำรัสที่ว่า ?เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา? ความทรงจำเหล่านี้ถูกบอกเล่า ผ่านเรื่องราวประทับใจของ ?ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ? หรือ ?ครูดิลก? ล่ามภาษามลายูประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

"30ปีที่พระองค์ท่านเสด็จทรงงานในพื้นที่จะให้ความสำคัญกับการสื่อสารเพื่อจะได้คุยกันเข้าใจได้ถูกต้องตรงประเด็น คำพูดง่ายๆที่สื่อสารกันได้ทำให้พระองค์ยิ่งมีความสุขมากขึ้น เวลาผ่านไปการพูดคุยกับราษฎรจึงแทบไม่ต้องอาศัยล่ามแปลเพราะพระองค์พูดและเข้าใจภาษามลายูท้องถิ่นเป้นอย่างดี" ล่ามแปลภาษามลายูประจำพระองค์ กล่าวด้วยเสียงสั่นเคลือพร้อมยกมือปาดหยดน้ำตาที่ไหลอาบแก้ม

เมื่อย้อนระลึกถึงความทรงจำเมื่อวันวาน ความประทับใจที่พรั่งพรูออกมาจากความรู้สึกปลื้มปริ่มของอดีตครูบ้านนอกคนหนึ่งที่ชื่อ ?อับดุลเลาะ ศิริวัลลภ? หรือ ?ครูดิลก? มุสลิมหนุ่มจากอ.ตากใบ จ.นราธิวาส อดีตเป็นข้าราชการครูที่สอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านบ่อทอง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาสก่อนตัดสินใจถวายตัวเป็นล่ามแปลภาษามลายู เพื่อติดตามถวายคำแปลภาษามลายูและภาษาท้องถิ่นให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 จวบจนปัจจุบัน

?ผมเป็นครูบ้านนอกคนหนึ่งแต่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นล่ามแปลพระเจ้าแผ่นดิน ที่สุดของชีวิตนี้จึงเพียงพอแล้ว? ครูดิลก กล่าวน้ำตาซึม ดินแดนปลายด้ามขวาน ที่ใครต่อใครมองว่าเป็นพื้นที่อันตราย แถมยังเป็นถิ่นทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญการเดินทางแสนลำบากทว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังคงสด็จเยี่ยมพสกนิกรอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แม้ยามฝนตก แดดออกและน้ำท่วม

ครูดิลก เล่าว่า หากถามความประทับใจในการถวายงานตลอดชีวิตที่ผ่านมาไม่มีวันไหนที่ไม่ประทับใจ แต่สิ่งที่จดจำได้ชาตินี้จะไม่มีวันลืมคือเหตุการณ์ครั้งหนึ่งในช่วงหน้าฝน..เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินจะไปเปิดงานที่วัดโต๊ะโม๊ะ ต.ภูเขาทอง อ.สุคีริน จ.นราธิวาสแต่ระหว่างเส้นทางสะพานเชื่อมหมู่บ้านถูกน้ำป่าซัดจากเหตุฝนตกหนักเมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้สะพานเหล็กถูกน้ำพัดพาขวางอยู่บนถนน ขณะที่เส้นทางเลี่ยงอีกแห่งมีสะพานไม้ก็ถูกน้ำซัดพังทั้งหมดทั้งรถและคนไม่สามารถสัญจรผ่านได้เหตุการณ์ในยามคับขันเจ้าหน้าที่พร้อมคณะได้กราบทูลฯให้เสด็จกลับเพราะไร้หนทาง แต่พระองค์ท่านปฎิเสธและให้วิทยุ (ว.)ถามผู้ปกครองหมู่บ้านในพื้นที่เพื่อสอบถามว่ามีชาวบ้านมารอรับเสด็จหรือไม่ คำตอบที่ได้ชาวบ้านมานั่งรอตั้งแต่ 6-7 โมงเช้านับพันคนคำตอบนั้นทำให้พระองค์ท่านทรงคิดหนัก จนทำให้คณะข้าราชบริพารเครียดไปตามๆกัน

?พระองค์ท่านทรงคิดหนัก จากนั้นกลับเข้าไปนั่งที่รถยนต์พระที่นั่งในฝั่งคนขับไม่นานมีเสียงวิทยุดังขึ้นแจ้งให้รถทุกคันลุยฝ่าสายน้ำของแม่น้ำสายบุรีที่ไหลเชี่ยวด้วยความระมัดระวังเมื่อพระเจ้าอยู่หัวฯยืนยันทรงเสด็จคณะเจ้าหน้าที่จึงต้องปฎิบัติแม้จะกลัวจนตัวสั่นก็ตาม ดั่งปรากฎเป็นภาพที่พสกนิกรทั่วหล้าได้เห็นตีพิมพ์รถพระที่นั่งขับฝ่าสายน้ำเชี่ยว? ครูดิลก กล่าวย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและการไม่ทอดทิ้งประชาชนที่ครูดิลกได้เห็นกับตาและได้ยินกับหูตัวเอง ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีของการทำหน้าที่ล่ามแปล

?ครูดิลก? เฝ้าเก็บภาพความประทับใจมากมายบันทึกไว้ในมโนสำนึกที่บอกเล่าเท่าไหร่ไม่เคยหมดและยังเล่าย้อนได้ในทุกเหตุการณ์ความสำคัญ พระราชกรณียกิจในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนอยู่ดีกินดีมาจวบจนปัจจุบัน

?พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส ถูกสร้างขึ้นเพื่อจะได้ทรงงานได้มากขึ้นและช่วยราษฎร์ได้เร็วขึ้นเพราะทรงเห็นถึงปัญหาของป่าพรุที่ทำให้ดินเปรี้ยวส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรไม่ได้ผลผลิตตามควร ความยากจนและด้อยโอกาสจึงคุกคามด้วยเหตุนี้จึงเดินหน้าศึกษาทดลองอยากจริงจังและนำมาสู่โครงการแกล้งดินที่พลิกผืนป่าพรุให้เป็นผืนนาและพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งทำกินที่มีกินมีใช้ในปัจจุบัน? ล่ามประจำพระองค์ถ่ายทอดเรื่องราว พระมหากรุณาธิคุณพระเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงงานช่วยเหลือประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติและศาสนาในปี2516 ขณะเสด็จพระราชดำเนินพระตำหนักทักษิณฯพบชาวบ้านม.4 ต.กลุวอเหนือกำลังก่อสร้างมัสยิดชุมชนชื่อ ?มัสยิดบูเก็ตตันหยง? จึงร่วมพระราชทานเงินก่อสร้างจนมัสยิดแล้วเสร็จ สร้างความดีใจให้กับชาวบ้านที่นี่ จึงเรียกมัสยิดแห่งนี้ติดปากว่า ?มัสยิดรายอ?หรือ ?มัสยิดในหลวง?นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพสกนิกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างหาที่สุดมิได้

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/724193
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 24, 2016, 10:47:03 PM โดย เลิศชาย ปานมุข »