ผู้เขียน หัวข้อ: การศึกษาของชาติ : ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ  (อ่าน 2138 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
        การศึกษาคือการพัฒนาคนให้มีความรู้ มีความสามารถ และมีคุณธรรมเพื่อนำมาเป็นเครื่องกำกับการใช้ความรู้ และความสามารถให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคมโดยรวม
       
          ดังนั้น การศึกษาของชนชาติใด ก็จะต้องมีการจัดการให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของชนชาตินั้น
       
          ด้วยเหตุนี้ การมีคนจากประเทศหนึ่งซึ่งมีสภาวะแวดล้อมทางสังคมเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ไปศึกษาในอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งมีสภาวะแวดล้อมทางสังคมต่างกัน ดังเช่นประเทศในซีกโลกตะวันออกกับประเทศในซีกโลกตะวันตก ตัวอย่างเช่น ผู้คนในซีกโลกตะวันออกมีวัฒนธรรม และประเพณีผูกพันอยู่กับความเชื่อในแนวจิตนิยม และยึดติดอยู่กับลัทธินับถือบรรพบุรุษหรือ Ancestor Worship ส่วนผู้คนในซีกโลกตะวันตกถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของวัตถุนิยม และยึดติดอยู่กับการนับถือคนเก่ง Hero Worship
       
          ดังนั้น คนจากซีกโลกตะวันออกไปศึกษาในประเทศตะวันตกจนจบหลักสูตรการศึกษา แล้วนำหลักวิชาที่ตนเองได้ร่ำเรียนมาใช้เป็นหลักในการพัฒนาประเทศ โดยมิได้มีการประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมของประเทศตนเอง จึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควรจะเป็น ดังจะเห็นได้จากการพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสองด้านต่อไปนี้
       
          1. ด้านการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 และผู้ริเริ่มในครั้งนั้นก็ล้วนแล้วแต่จบการศึกษามาจากประเทศตะวันตก ซึ่งเป็นต้นแบบของการปกครองในระบอบนี้
       
          จากวันนั้นถึงวันนี้ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย มิได้ก้าวไปข้างหน้าเยี่ยงประเทศต้นแบบเท่าที่ควรเป็น ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีผู้ที่จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ในระดับปริญญาเอกจากประเทศตะวันตกมากมาย และคนเหล่านี้ได้มีส่วนในการพัฒนาระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยการเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย และร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญมาหลายครั้งหลายหน
       
          2. ในด้านเศรษฐกิจก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่ประเทศไทยได้เดินตามรอยเท้าประเทศตะวันตก แต่ผลที่ได้รับคือประชาชนในภาคเกษตรยากจนลง จากการมีที่ทำกินเป็นของตนเอง และไม่มีหนี้กลายมาเป็นคนมีหนี้ และถูกยึดที่ทำกินต้องทำนา ทำไร่ในที่เช่าจากนายทุน และมีอยู่ไม่น้อยที่ต้องเช่าที่ดินซึ่งเคยเป็นของตนเองแก่นายทุนเงินกู้ยึดไปจากการเป็นหนี้ของคนในประเทศนี้เอง ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากว่าคนชั้นล่างและชั้นกลางมีหนี้เพิ่มขึ้น
       
          ด้วยเหตุนี้ จึงพูดได้ว่าในปัจจุบันคนไทยส่วนหนึ่งเป็นทุกข์จากการเป็นหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร และยังมองไม่เห็นว่าหนี้ของคนกลุ่มนี้จะลดลงได้อย่างไร ถ้าประเทศไทยยังถูกครอบงำด้วยนโยบายทุนนิยม ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะมีอยู่บ้างบางกลุ่มที่หันมาใช้นโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และผลได้ปรากฏให้เห็นแล้วว่าคนกลุ่มนี้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น และมีหนี้ลดลงในบางรายมีรายได้เหลือกินเหลือใช้แล้วก็มี
       
          นอกจากสองด้านดังกล่าวแล้วข้างต้น ยังมีที่ล้มเหลวอันเนื่องมาจากการนำวิชาการ และวิธีการตามแนวทางตะวันตกมาใช้ โดยไม่มีการประยุกต์ให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมของสังคมไทย ซึ่งมีความแตกต่างจากประเทศตะวันตก แม้กระทั่งการจัดการศึกษาของชาติ ก็ทำนองเดียวกัน ดังนั้น เมื่อการศึกษาล้มเหลว การพัฒนาประเทศก็ล้มเหลวไปด้วย ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อเรื่องของบทความนี้ว่า การศึกษาของชาติเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาประเทศ
       
          ในการจัดการศึกษามีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการคือ
       
          1. ผู้เรียนคือผู้ที่จะต้องได้รับการสอนวิชาการด้านต่างๆ เท่าที่ควรจะได้รับจากรัฐในฐานะเป็นพลเมืองของประเทศในการศึกษาภาคบังคับ และได้รับการส่งเสริมให้เรียนรู้สูงขึ้นไปในระดับสูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ ทั้งในระดับวิชาชีพ และอุดมศึกษาในแขนงวิชาต่างๆ ตามที่ผู้เรียนถนัดและฐานะการเงินเอื้ออำนวย ทั้งนี้เพื่อให้เด็กไทยทุกคนในฐานะเป็นพลเมืองของประเทศ ได้รับการพัฒนาให้เป็นทรัพยากรมนุษย์มีคุณภาพ และมีคุณธรรมเป็นกลไกทำงานสนองความต้องการของตนเอง และประเทศชาติโดยรวม
       
          2. ผู้สอนคือผู้ให้ความรู้ทางด้านวิชาการแขนงต่างๆ อันควรแก่วัยของผู้เรียน และให้การอบรมทางด้านศีลธรรม จริยธรรม เพื่อนำไปกำกับในการใช้ความรู้ให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคมโดยรวม
       
          ในขณะเดียวกัน การปลูกฝังให้คนมีศีลธรรม และจริยธรรม ก็เป็นเครื่องป้องกันมิให้จิตใจถูกความชั่วครอบงำ และนำไปสู่การทำผิดกฎหมายทำลายตนเอง และผู้อื่น
       
          3. หลักสูตรคือวิชาการด้านต่างๆ ซึ่งเหมาะแก่วัยและศักยภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา และสอดคล้องกับความต้องการตลาดแรงงานของประเทศด้วย
       
          ควรจะจัดการศึกษาอย่างไร ประเทศไทยจึงจะได้รับประโยชน์ในการนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ
       
          ก่อนที่จะตอบปัญหานี้ ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านมองดูภูมิประเทศ และสภาวะแวดล้อมทางสังคมของประเทศไทย ก็จะพบว่าภูมิประเทศของไทยเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม และสังคมไทยส่วนใหญ่เติบโตมาจากการเป็นเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน การเลี้ยงสัตว์ และการทำประมง
       
          ส่วนภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มต้นจริงจังก็เมื่อไม่นานมานี้ และจากการที่ประเทศไทยหันไปพัฒนาด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมประเภททำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้ภาคเกษตรได้รับผลกระทบอย่างหนักเนื่องจากของเสียจากโรงงานทำลายน้ำ ดิน และอากาศ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำการเกษตร
       
          ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องกำหนดจุดยืนของตนเองให้ชัดเจน และส่งเสริมการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เช่น ถ้าจะส่งเสริมทางด้านการเกษตรก็จะต้องควบคุมการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมให้อยู่ในวงจำกัด และไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร อันที่จริงประเทศควรจะเป็นประเทศกสิกรรม และทำอุตสาหกรรมทางด้านการเกษตร เช่น ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร และโรงงานแปรรูปผลิตทางด้านเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นต้น


ที่มา : http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000091649