ผู้เขียน หัวข้อ: โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แกล้งดิน  (อ่าน 2014 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แกล้งดิน

         วันที่ 24 สิงหาคม 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสกับ หม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรี นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร.นายชิต นิลพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายเล็ก จินดาสงวน ผู้ช่วยอธิบดีกรมชลประทาน นายอำเภอท้องที่ และข้าราชการที่ เกี่ยวข้องในจังหวัดนราธิวาส สรุปความว่า

          ?ด้วยพื้นที่จำนวนมากในจังหวัดนราธิวาส เป็นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำขังตลอดปี ดินมีคุณภาพต่ำ ซึ่งพื้นที่ ทั้งหมดประมาณสามแสนไร่ เกษตรกรจำนวนมากไม่มีที่ทำกิน แม้เมื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่หมดแล้วยังยากที่จะใช้ประโยชน์ทางการเกษตรให้ได้ผล ทั้งนี้ เนื่องจากดินมีสารประกอบไพไรท์ ทำให้มีกรดกำมะถัน เมื่อดินแห้งทำให้ดินเปรี้ยว ควรปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ดังนั้น เห็นสมควรที่จะมีการปรับปรุงพัฒนา โดยให้มีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุร่วมกัน แบบผสมผสานและนำผลสำเร็จของโครงการไปเป็นแบบอย่างในการที่จะพัฒนาพื้นที่ดินพรุในโอกาสต่อไป....?

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระราชดำริ ?โครงการแกล้งดิน? โดยให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ดำเนินการศึกษา ทดลอง เพื่อปรับปรุงดินเปรี้ยวให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ ทรงพระราชทานพระราชดำริ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ความว่า

          ?...ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้งและศึกษาการแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด 2 ปี และพืชที่ทำการทดลองควรเป็นข้าว...?

วัตถุประสงค์
          - เพื่อทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่เกิดขึ้นในดินเปรี้ยว และหาวิธีการปรับปรุงแก้ไขสภาพดิน
          - เพื่อปรับแก้ไขสภาพดินเปรี้ยวอันเกิดมาจากป่าพรุ และดินเปรี้ยวอื่นๆ ให้สามารถปลูกพืชได้
    
ทำไมถึงต้อง "แกล้งดิน "

          สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราช ฐานและทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภาคใต้ อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปี 2516 เรื่อยมา ทำให้ทรง ทราบว่าราษฎรในพื้นที่แถบจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดใกล้เคียง ประสบปัญหาอยู่นานัปการ ราษฎรขาดแคลนที่ทำกิน อันเป็นสาเหตุสำคัญใน การดำรงชีพพื้นที่ดินพรุที่มีการ ระบายน้ำออกจะแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เนื่องจากสารไพไรท์ที่มีอยู่ในดินทำ ปฏิกริยากับออกซิเจนในอากาศแล้วปลดปล่อย กรดกำมะถันออกมามากจนถึงจุดที่เป็น อันตรายต่อพืชที่ปลูกหรือทำให้ผลผลิต ลดลงอย่างเห็นได้ชัดจึงได้มี พระราชดำริให้จัดตั้ง " โครงการศูนย์ศึกษา การพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระ ราชดำริ"  ขึ้น ณ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2524 เพื่อศึกษา และปรับปรุงแก้ไขปัญหาพื้นที่พรุให้ สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและด้าน อื่นๆ ได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2527 ณ ศูนย์ ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจาก พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่อง  "แกล้งดิน" ความว่า

          "...ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัดโดย การระบายน้ำให้แห้งและศึกษาวิธีการแกล้ง ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาเรื่องนี้ในเขตจังหวัด นราธิวาสโดยให้ทำโครงการศึกษาทดลอง ในกำหนด2 ปี และพืชที่ทำการทดลอง ควรเป็นข้าว..." 
 
แกล้งดินทำอย่างไร

          ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ทำการศึกษาวิจัยและปรับปรุงดิน โดยวิธีการ "แกล้งดิน" คือ ทำให้ดินเปรี้ยว เป็นกรดจัดรุนแรงที่สุด กล่าวคือ การทำให้ดินแห้ง และเปียกโดยนำน้ำเข้าแปลงทดลองระยะหนึ่ง และระบายน้ำออกให้ดินแห้งระยะหนึ่งสลับกัน จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดกรดมากยิ่งขึ้น ด้วยหลักการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงให้เลียนแบบสภาพธรรมชาติ ซึ่งมีฤดูแล้งและฤดูฝนเป็นปกติในแต่ละปี แต่ให้ใช้วิธีการร่นระยะเวลาช่วงแล้ง และช่วงฝนในรอบปีให้สั้นลง โดยปล่อยให้ดินแห้ง 1 เดือน และขังน้ำให้ดินเปียกนาน 2 เดือน สลับกันไป เกิดภาวะดินแห้ง และดินเปียก 4 รอบ ต่อ 1 ปี เสมือนกับมีฤดูแล้งและฤดูฝน 4 ครั้ง ใน 1 ปี หลังจากนั้นจึงให้หาวิธีการปรับปรุงดิน ดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้

แกล้งดินแล้วปรับปรุงดิน : วิธีการที่สำคัญ 

          เมื่อดำเนินการตามกรรมวิธี "แกล้งดิน" แล้วก็ใช้วิธีการปรับปรุงดิน ซึ่งเปรี้ยวจัดให้สามารถใช้เพาะปลูกได้ โดยมีหลายวิธีการด้วยกันดังนี้

          - ใช้ปูน เช่น ปูนขาว หินปูนฝุ่น ใส่ลงไปในดิน แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปูนจะทำปฏิกริยากับกรดกำมะถันในดิน เกิดสารสะเทิน ปริมาณกรดในดินจะลดลง ซึ่งหากใส่ในปริมาณที่มากพอจะช่วย ให้ดินมีสภาพเป็นกลาง

          - ใช้น้ำจืดล้างกรดและสารพิษออกจากดินโดยตรง วิธีการนี้ใช้เวลานานกว่าวิธีใช้ปูน เนื่องจากกรดจะชะล้างออกไปอย่างช้าๆ แต่ได้ผลเช่นกัน

          - ยกร่อง เพื่อปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น โดยมีคูน้ำอยู่ด้านข้าง ให้นำหน้าดินจากดินในบริเวณที่เป็นคูมา เสริมหน้าดินเดิมที่เป็นคันร่อง ก็จะได้หน้าดินที่หนาขึ้น ส่วนดินที่มีสารไพไรท์จะใช้เสริมด้านข้าง เมื่อใช้น้ำชะล้างกรดบนสันร่อง กรดจะถูกน้ำชะล้างไปยังคูด้านข้าง แล้วระบายออกไป 

          - ควบคุมระดับน้ำใต้ดิน ให้อยู่เหนือชั้นดินเลนตะกอนทะเล ป้องกันไม่ให้สารไพไรท์ทำปฎิกริยากับออกซิเจน กรดกำมะถันจึงไม่ถูกปลดปล่อยเพิ่มขึ้น

          - ใช้พืชพันธุ์ทนทานต่อความเป็นกรด มาปลูกในดินเปรี้ยว  ใช้วิธีการต่างๆ ข้างต้นร่วมกัน

การดำเนินงานศึกษาทดลองในโครงการแกล้งดิน

          ได้มีการดำเนินการในช่วง ต่างๆ ตามแนวพระราชดำริดังนี้

          ช่วงที่ 1 (มกราคม 2529-กันยายน 2530) เป็นการศึกษา การเปลี่ยนแปลงทางเคมีของดิน เปรียบเทียบระหว่างดินที่ปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติ กับดินที่ทำให้แห้งและเปียกสลับกัน โดยวิธีการสูบน้ำเข้า-ออก การทำดินให้แห้งและเปียกสลับกัน ดินจะเป็นกรดจัดรุนแรง และมีผล ต่อการเจริญเติบโตของพืช พบว่าข้าวสามารถ เจริญเติบโตได้ แต่ให้ผลผลิตต่ำ

          ช่วงที่ 2 (ตุลาคม 2530-ธันวาคม 2532) ศึกษาการเปลี่ยน แปลงทางเคมีของดินโดยเปรียบเทียบระหว่างระยะเวลา ที่ทำให้ดินแห้งและ เปียกแตกต่างกัน การปล่อยให้ดินแห้งนานมากขึ้น ความเป็นกรดจะรุนแรงมากกว่าการใช้ น้ำแช่ขังดินนานๆ และการให้น้ำหมุนเวียนโดยไม่มีการระบายออก ทำให้ความเป็นกรดและ สารพิษสะสมในดินมากขึ้น ในการปลูกข้าวทดสอบความรุนแรงของกรด พบว่าข้าวตายหลังจากปักดำได้ 1 เดือน

          ช่วงที่ 3 (มกราคม 2533-ปัจจุบัน) ศึกษาถึงวิธีการปรับปรุงดิน โดยใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด ใช้น้ำชะล้างควบคู่กับการใช้หินปูนฝุ่น ใช้หินปูนฝุ่นอัตราต่ำ เฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของดิน หลังจากที่ปรับปรุงแล้วปล่อยทิ้งไว้ ไม่มีการใช้ประโยชน์ และศึกษาการเปลี่ยนแปลงของดินเปรี้ยวจัด เมื่ออยู่ในสภาพธรรมชาติ ในปริมาณเล็กน้อย พบว่าวิธีการใช้น้ำชะล้างดิน โดยขังน้ำไว้นาน 4 สัปดาห์ แล้วระบายออก ควบคู่กับการใช้หินปูนฝุ่นในปริมาณเล็ก น้อยจะสามารถปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด ได้เป็นอย่างดี ส่วนวิธีการใช้น้ำชะล้างก็ให้ผลดีเช่นเดียวกัน แต่ต้องใช้เวลานานกว่า หลังจากมีการปรับปรุงดินแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้ไม่มีการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง จะทำให้ดินกลับเป็นกรดจัดรุนแรงขึ้นอีก สำหรับพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดตามธรรมชาติ ที่ไม่มีการปรับปรุงการเปลี่ยนแปลง ของความเป็นกรดน้อยมาก

          เมื่อปี 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีรับสั่งเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนิน ตรวจแปลงศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็น กรดของดินกำมะถันว่า

          "...นี่เป็นเหตุผลอย่างหนึ่ง ที่พูดมาสามปีแล้วหรือสี่ปี ว่าต้องการน้ำสำหรับมาให้ดินทำงาน ดินทำงานแล้วดินจะหายโกรธ อันนี้ไม่มีใครเชื่อ แล้วก็มาทำที่นี้แล้วมันได้ผล... อันนี้ผลงานของเราที่ทำที่นี่ เป็นงานที่สำคัญที่สุด เชื่อว่าชาวต่างประเทศ เขามาดูเราทำอย่างนี้แล้ว เขาก็พอใจ เขามีปัญหานี่แล้วเขาก็ไม่ได้ แก้หาตำราไม่ได้ ..."

          ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้จัดทำคู่มือ การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด เพื่อการเกษตรขึ้นเมื่อปี 2536

แกล้งดินสำเร็จแล้วราษฎรได้ประโยชน์อะไร

          เมื่อผลของการศึกษาทดลอง สำเร็จผลชั้นหนึ่ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้นำผลการศึกษาทดลองขยายผลสู่พื้น ที่ทำการเกษตรของราษฎร ที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวจัด ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีพระราชดำริว่า

          "...พื้นที่บริเวณบ้านโคกอิฐ และโคกในเป็นดินเปรี้ยว เกษตรกรมีความต้องการจะปลูกข้าว ทางชลประทานได้จัดส่งน้ำชลประทานให้ ก็ให้พัฒนาดินเปรี้ยว เหล่านี้ให้ใช้ประโยชน์ได้ โดยให้ประสานงานกับชลประทาน..."

          จากการพัฒนาบ้านโคกอิฐ และบ้านโคกใน ปรากฏว่าราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว สามารถปลูกข้าวให้ได้ผล ผลิตเพิ่มมากขึ้นจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย ถึงกับมีรับสั่งว่า  "...เราเคยมาโคกอิฐ โคกใน มาดูเขาชี้ตรงนั้นๆ เขาทำ แต่ว่าเขาได้เพียง 5 ถึง 10 ถัง แต่ตอนนี้ได้ขึ้นไปถึง 40-50 ถัง ก็ใช้ได้แล้ว เพราะว่าทำให้เปรี้ยวเต็มที่แล้ว โดยที่ขุดอะไรๆ ทำให้เปรี้ยวแล้วก็ระบาย รู้สึกว่านับวันเขาจะดีขึ้น... อันนี้สิเป็นชัยชนะที่ดีใจมาก ที่ใช้งานได้แล้ว ชาวบ้านเขาก็ดีขึ้น ...แต่ก่อนชาวบ้านเขาต้องซื้อ ข้าว เดี๋ยวนี้เขามีข้าวอาจจะขายได้"

          อย่างไรก็ตาม " โครงการแกล้งดิน " มิได้หยุดลงเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง แต่จะต้องดำเนินการต่อไป "...งานปรับปรุงดินเปรี้ยวควรดำเนินการต่อไป ทั้งในแง่การศึกษาทดลองและการขยายผล..." ซึ่งปัจจุบันได้นำผลการศึกษาทดลอง ไปขยายผลแก่ราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะนี้จะมีการนำผลของการ "แกล้งดิน" นำไปใช้ในพื้นที่จังหวัดนครนายก และจังหวัดนครศรีธรรมราชอีกด้วย ดังนั้น " โครงการแกล้งดิน " จึงเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับราษฎรทั่ว ทั้งประเทศ สร้างความปลื้มปิติ แก่เหล่าพสกนิกรเป็นล้นพ้นที่พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรง ยอมตรากตรำพระวรกายลงมา "แกล้งดิน" เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ พ้นจากความยากจนกลับ มาเบิกบานแจ่มใสกันทั่วหน้า

ความเป็นนวัตกรรม

          วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์พิกุลทองฯ ได้พระราชทานพระราชดำรัสกับ น.ต.กำธน  สินธวานนท์ องคมนตรี นายจุลนภ  สนิทวงศ์ ณ อยุธยา องคมนตรี นายสุเมธ  ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. และเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ดังนี้

          ?โครงการแกล้งดินนี้เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่พูดมา 3 ปีแล้ว หรือ 4 ปีกว่าแล้ว ต้องการน้ำสำหรับมาให้ดินทำงาน ดินทำงานแล้วดินจะหายโกรธ อันนี้ไม่มีใครเชื่อ แล้วก็มาทำที่นี่แล้วมันได้ผล ดังนั้น ผลงานของเราที่ทำที่นี่เป็นงานสำคัญที่สุด เชื่อว่าชาวต่างประเทศเขามาดูเราทำอย่างนี้แล้วเขาก็พอใจ เขามีปัญหาแล้วเขาก็ไม่ได้แก้ หาตำราไม่ได้...?

          ?... โครงการปรับปรุงดินเปรี้ยวควรดำเนินการต่อไปในแง่ของการศึกษาทดลองและการขยายผลการทดลองต้องดูอย่างนี้ ทิ้งดินเอาไว้ปีหนึ่งแล้วจะกลับเปลี่ยนหรือเปล่า เพราะว่าความเปรี้ยวมันเป็นชั้นดิน ดินที่เป็นซัลเฟอร์ (sulfer) แล้วก็ถ้าเราเปิดให้มีน้ำ อากาศลงไป ให้เป็นซัลเฟอร์ออกไซด์ ซึ่งซัลเฟอร์ออกไซด์เอาน้ำเข้าไปอีกที ไปละลายซัลเฟอร์ออกไซด์ก็กลายเป็นใส่ออกไซด์ลงไป ก็เป็นกรดซัลฟุริก (sulfuric) แต่ถ้าสมมุติว่าเราใส่อยู่ตลอดเวลา ชั้นดินที่เป็นซัลเฟอร์นั้นถูกกันไว้ไม่ให้โดนออกซิเจนแล้วตอนนี้ไม่เพิ่ม....ไม่เพิ่ม acid โดยหลักการเป็นอย่างนั้น แต่หากว่าต่อไปในแปลงต่างๆ เพิ่มการทดลองอีก เมื่อได้แล้วทิ้งไว้มันจะกลับไปสู่สภาพเดิมหรือไม่ แล้วเมื่อความเป็นกรดเพิ่มขึ้นใหม่ จะพัฒนาให้กลับคืนมาสู่สภาพนี้ได้ ต้องใช้เวลา อาจจะใช้เวลาสักปี ดูสภาพว่าปีไหนไม่ได้ใช้ ดินมันจะเสื่อมลงไปเท่าไรแล้วจะกลับคืนมาเร็วเท่าไร...?

          ?....งานทดลองนี้เหมือนเป็นตำรา ควรทำเป็นตำราที่จะนำไปใช้ในพื้นที่ดินเปรี้ยวอื่นๆ ในพื้นที่อื่นอาจจะไม่ต้องมีการแบ่งเป็นแปลงย่อยเช่นนี้ คันดินที่สร้างเพื่อกั้นน้ำก็อาจจะใช้คลอง ชลประทานสร้างถนน สะพาน การศึกษาจึงต้องทำแบบนี้...?

          จากพระราชดำริให้ดำเนินโครงการ ?แกล้งดิน? และจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าว พบว่า ?โครงการแกล้งดิน? เป็นโครงการที่มีความเป็นนวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในประเทศเขตร้อน และยังไม่มีที่ใดในโลกที่ใช้วิธีการดำเนินงานในลักษณะดังกล่าว และนำมาทำเป็นตำราเผยแพร่ แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเป็น ?นวัตกร? อย่างแท้จริง ทั้งนี้ แนวพระราชดำริดังกล่าวได้เน้นให้เห็นถึงการประสมประสานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีควบคู่กับนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ จนได้วิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขดินเปรี้ยวได้

          ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านนวัตกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และความตั้งพระราชหฤทัยที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยนั้น เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่สรรเสริญพระเกียรติคุณกันทั่วทิศานุทิศ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้บำเพ็ญพระราชกรณียกิจมากหลายซึ่งเป็นคุณประโยชน์ใหญ่หลวงต่อชาวไทยและชาวโลก และเนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี 2549 นี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเทิดพระเกียรติพระองค์เป็น ?พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย? เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณให้สถิตสถาพร อีกทั้งเพื่อเป็นเกียรติและสิริอันสูงยิ่งแก่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และวงการนวัตกรรมไทยสืบต่อไป

ที่มา www.nia.or.th
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 15, 2016, 01:11:07 AM โดย เลิศชาย ปานมุข »