ผู้เขียน หัวข้อ: นโยบายการจัดทำงบประมาณปี 2560 ของกระทรวงศึกษาธิการ  (อ่าน 1606 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมเพื่อมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 เมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2558 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งผู้บริหารฝ่ายการเมือง ผู้บริหารองค์กรหลัก และหน่วยงานในกำกับ เข้าร่วมประชุม

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ต้องการให้ทุกหน่วยงานจัดทำงบประมาณภายใต้กรอบการจัดทำแผนงานและโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ, แผนบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ตามนโยบายรัฐบาล และจุดเน้นการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดที่มีความเที่ยงตรงและสร้างผลลัพธ์ (Outcomes) ที่ชัดเจน โดยขอให้ใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการก่อสร้างต่างๆ ควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์และประโยชน์ในการใช้งานได้จริง ไม่ควรเน้นความหรูหรามากเกินไป และงบฯ ด้านบริหารงานก็ควรใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

แนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 จึงควรจัดทำในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ 6 ด้าน และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง, ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ, ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน (กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบ), ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน, ยุทธศาสตร์ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน, ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะจัดทำข้อเสนองบประมาณเบื้องต้น (Pre-Ceiling) เป็น 3 ส่วน คือ แผนงานยุทธศาสตร์ แผนงานพื้นฐาน และแผนงานบุคลากรภาครัฐ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายสำคัญของรัฐบาล และภารกิจของหน่วยงาน ตลอดจนมีแผนปฏิบัติงาน แผนใช้จ่ายงบประมาณ และบูรณาการงบประมาณในมิติพื้นที่

ในส่วนของแผนงานยุทธศาสตร์ จะต้องมีการวางแผนให้สอดคล้องเชื่อมโยงกันใน 3 ส่วน คือ

1) ยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นร่มใหญ่ของแผนงานยุทธศาสตร์ที่มีงบประมาณทั้งหมดกว่า 5.1 แสนล้านบาท

2) แผนงานบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ในเบื้องต้นรัฐบาลกำหนดไว้ 25 แผนบูรณาการ โดยกระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบแผนบูรณาการ (13) การยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีความเกี่ยวข้องกับอีก 21 แผนบูรณาการ อาทิ (2) การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (4) การป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด (18) การบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม

3) จุดเน้นการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ 6 ด้าน คือ

- ครู เพื่อแก้ปัญหาครูไม่ครบชั้น สอนไม่ตรงเอก ภาระงานเยอะ ขาดขวัญและกำลังใจ โดยมีแนวทางดำเนินงาน อาทิ โครงการคุรุทายาท, ทุนครูระดับอุดมศึกษา, ราชภัฏเป็นเลิศ (ด้านครู), มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง, พัฒนาครูช่วงปิดภาคเรียน, ปรับปรุงเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะ, ปรับปรุงบ้านพักครู เป็นต้น

- หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ เพื่อแก้โจทย์เด็กเรียนมาก ไม่มีความสุข และผลสัมฤทธิ์ต่ำ โดยใช้แนวทางการปฏิรูปหลักสูตรสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, การตั้งกรมวิชาการ, โครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้, STEM Education, กระบวนการ BBL, ทวิศึกษา, การจัดทำมาตรฐานภาษาอังกฤษ, Boot-camp เป็นต้น

- พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ เพื่อการผลิตพัฒนากำลังคนและงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศ เพื่อส่งเสริมการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของประเทศ, ยกระดับมาตรฐานฝีมือ, แก้ปัญหาขาดแคลนกำลังแรงงานสายวิชาชีพ และงานวิจัยที่ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยใช้แนวทางการสร้างค่านิยมอาชีวศึกษา, ทุนการศึกษาด้านวิชาชีพ, ทวิศึกษา, ทวิภาคี, อาชีวศึกษาสู่สากล, ปรับเกณฑ์การสรรหาและบรรจุครู, อาชีวะ/อุดมศึกษาเป็นเลิศ, ทุนให้ยืมสาขาขาดแคลน, ภาษาอังกฤษ เป็นต้น

- การประเมินและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา เพื่อส่งเสริมการประเมินครู, การศึกษาต่อในแต่ละระดับ, การประเมินผลสัมฤทธิ์ผู้เรียนและสถานศึกษา โดยการสร้างกรอบมาตรฐานการประเมิน, กำหนดแนวทางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา, การทดสอบผ่าน/ซ้ำชั้น ป.6 ม.3 ม.6, พัฒนาแบบทดสอบการศึกษามาตรฐานระดับชาติ, สร้างเครื่องมือ ระบบ วิธีประเมิน/ประกันคุณภาพ เป็นต้น

- ICT เพื่อการศึกษา เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาระบบฐานข้อมูล และระบบการจัดการเนื้อหาสาระ/องค์ความรู้ โดยใช้แนวทางการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาและแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารงาน มีการบูรณาการงบประมาณ ICT และโครงการ DLTV เป็นต้น

- การบริหารจัดการ เพื่อให้มีระบบงบประมาณที่สอดคล้องกับการดำเนินงาน การกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ที่มีการบูรณาการและกระจายอำนาจ โดยใช้แนวทางของระบบคูปองเพื่อการศึกษา การจัดสรรงบประมาณตามกรอบปฏิรูปการศึกษา จัดกลุ่ม Cluster การปรับโครงสร้าง และปรับปรุงระเบียบในการเข้าสู่ตำแหน่งและความก้าวหน้าในตำแหน่งผู้บริหารในพื้นที่

ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานจัดทำข้อเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 เบื้องต้น ตามแนวทางการจัดทำงบประมาณข้างต้นให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะได้ส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2558

 

ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 10 ธันวาคม 2558