ผู้เขียน หัวข้อ: พระนามทางการของ 'พระเจ้ากรุงธนบุรี' ที่เลือนหายจากความทรงจำของคนไทย  (อ่าน 4050 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3899
คนไทยส่วนใหญ่มักเรียกสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า ?สมเด็จพระเจ้าตากสิน? ซึ่งเป็นพระนามที่ปรากฏบนจารึกหน้าฐานพระบรมราชานุเสาวรีย์ของพระองค์ที่วงเวียนใหญ่ ส่วนที่มาของพระนามดังกล่าว คนเฒ่าคนแก่ หรือครูบาอาจารย์ชอบบอกว่า เพราะพระองค์เป็นเจ้าเมืองตากมาก่อน เมื่อพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นครองกรุงธนบุรี คนก็ยังติดกับพระนามเดิมจึงมักเรียกพระองค์ว่า ?พระเจ้าตากสิน?

อย่างไรก็ดี สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ บอกว่า การเรียกพระนามของพระองค์ดังกล่าวเท่ากับเป็นการลดทอนพระเกียรติยศของพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์เพราะนั่นมิใช่พระนามอย่างเป็นทางการของพระองค์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน และภายหลังมีความพยายามลดทอนพระบารมีของพระองค์ ไม่ยอมรับพระองค์ในฐานะ ?พระเจ้าแผ่นดิน? ด้วยข้ออ้างว่า เมื่อสมัยที่พระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก บ้านเมืองยังเป็นจลาจล หาพราหมณ์ทำพิธีไม่ได้ การประกอบพระราชพิธีในครั้งนั้นจึงบกพร่องไม่เป็นไปตามโบราณราชประเพณี

แต่สุทธิศักดิ์ยืนยันว่า พระองค์ทรงมีสถานะเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยสมบูรณ์มาแต่ต้นรัชกาล เห็นได้จากหลักฐานการตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรี พ.ศ. ๒๓๑๙ ที่ระบุว่าพระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ?พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว? และรับ ?พระราชโองการ? ตามอย่างพระเจ้าแผ่นดินพระมหานครศรีอยุทธยาทุกประการ

อย่างไรก็ดี เมื่อล่วงเข้าสู่ราชวงศ์ใหม่พระองค์ถูกลดทอนพระบารมีลงด้วยการไปเรียกขานพระองค์ด้วยชื่อตำแหน่งเมื่อครั้งที่พระองค์ยังคงมีสถานะเป็นเพียงขุนนาง เช่นในหมายรับสั่งเรื่องแห่พระทราย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ที่เรียกพระองค์ว่า ?พระยาตากสิน? และเรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัท) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พ.ศ. ๒๓๒๗ ก็เรียกพระองค์ว่า ?พญาตากสิน? สุทธิศักดิ์ จึงกล่าวว่า ในทัศนะของราชวงศ์ใหม่ พระเจ้ากรุงธนบุรีมีสถานะเป็นเพียง ?หัวหน้าชุมชน? เท่านั้น ไม่ใช่ ?พระเจ้าแผ่นดิน?

เอกสารในยุคหลังจึงยึดเอาธรรมเนียมการเรียขานพระนามของพระองค์ ด้วยสถานะเทียบเท่าหัวหน้าชุมนุมเรื่อยมา หรือเลี่ยงที่จะเอ่ยพระนามของพระองค์ไปเสีย จนกระทั่งเข้าถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานะความเป็น ?พระเจ้าแผ่นดิน? ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้รับการฟื้นฟูขึ้น เพื่อแสดงความสืบเนื่องของแผ่นดินตั้งแต่สมัยอยุธยา มาจนถึงสมัยของพระองค์ (รัชกาลที่ ๔)

หลักฐานปรากฏอยู่ในเอกสาร ?ประกาศพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์? พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๐๘ ที่ตรัสเรียกว่า ?กรุงธนบุรี? แปลว่าพระเจ้าแผ่นดินธนบุรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงกล่าวใน ?พระราชกรัณยานุสร? ว่า พระนามเดิมของพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ยกย่องขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินคงมีอยู่แน่ แต่ไม่ปรากฏ (หลักฐาน) ดังที่ได้ตรัสว่า ?พระนามเดิมคงมีอยู่ แต่จะใช้พระนามไร ก็ไม่รู้ที่จะสันนิษฐานต้องยกไว้?

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ตรวจชำระแก้ไขพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ พระองค์ได้ขนานพระนามสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียใหม่ตามพระวินิจฉัยส่วนพระองค์ว่า ?สมเด็จพระบรมราชา องค์ที่ ๔? ซึ่งนักพงศาวดารไทยก็ได้ยึดถือตามกันมาและถือเป็นพระนามทางการของพระองค์ไป

อย่างไรก็ดี ภายหลังสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงวินิจฉัยตามหลักฐานที่ปรากฏในภายหลัง ระบุว่า พระนามที่แท้จริงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีควรจะเป็น ?สมเด็จพระเอกาทศรถ? อันเป็นพระนามที่กษัตริย์ตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรมทรงใช้สืบต่อกันมา รวมถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย ดังที่ปรากฏพระราชโองการตั้งเจ้านครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ สุทธิศักดิ์ ยังพบว่า ข้อสันนิษฐานภายหลังของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีหลักฐานอื่นรองรับอีกหลายชิ้น เช่นพระราชสาส์นล้านช้าง ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพระราชทานไปถึงพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๔ ที่จดพระนามร่วมสมัยของพระองค์ว่า ?สมเด็จพระมหาเอกาทุศรุทอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว? ตามด้วยพระราชสาส์นล้านช้าง พ.ศ. ๒๓๑๗ ที่ออกพระนามว่า ?สมเด็จพระมหาเอก (า) ทศรธอิศวรบรมนารถบรมบพิตรฯ?

เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระแก้ไขพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา พระองค์ได้แก้ไขพระวินิจฉัยเดิม และแก้พระนามของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีใหม่เป็น ?พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว? ซึ่ง สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า พระนามดังกล่าวถอดความได้ว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่ผู้ครอบครองราชรถทั้งสิบเอ็ดรถ

อย่างไรก็ดี สุทธิศักดิ์ มองว่าพระนามดังกล่าวมิได้เป็นพระเกียรติยศสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน ?จึงเห็นควรปริวรรตพระนามตามอักขรวิธีในปัจจุบันเป็น ?พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทรอิศวร? แปลว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้แบ่งภาคมาจากเทพยดาผู้เป็นใหญ่ทั้ง ๑๑ พระองค์ คือ พระพรหม พระพิษณุ พระอิศวร พระพาย พระพิรุณ พระเพลิง พระยม พระไพศรพณ์ พระอินทร์ พระจันทร์ และพระอาทิตย์ ตามคติความเชื่อใน ?ลัทธิเทวราช? ของศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจรรโลงสิทธิธรรมในการขึ้นครองราชสมบัติของพระเจ้าแผ่นดินในอดีต?

ด้วยเหตุนี้ สุทธิศักดิ์ สรุปว่า ?สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงควรมีพระนามทางการตามจารึกในพระสุพรรบัฏว่า ?สมเด็จพระเอกาทศรุทรอิศวร? นับเป็นพระองค์ที่ ๖ ถัดจากพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวรที่ ๕ (สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ)?  ไม่ใช่สมเด็จพระบรมราชา พระองค์ที่ ๔ อย่างที่ยึดถือกันมาแต่เดิม

อ้างอิง: ?พระนามทางการที่ปลาสนาการของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี?. สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม ๒๕๕๓
ที่มา : https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_5171