ผู้เขียน หัวข้อ: ย้อนรอยประวัติศาสตร์ พระเจ้าบุเรงนอง  (อ่าน 10285 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3916


"ผู้ชนะสิบทิศ" เป็นเรื่องของ"มหาราช" ของพม่าพระองค์หนึ่ง ที่มีพื้นตระกูลกำเนิดสามัญชน โดย"ยาขอบ"สร้าง"ตัวเอก"ขึ้นมาชื่อ"จะเด็ด"

นิยายเรื่องนี้ เป็นเรื่องของ 3 เมืองใหญ่ ที่"ยาขอบ"นำมาถูกผูกเป็นเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่การเมือง การรบ ความแค้นและความรัก อันประกอบด้วย "ตองอู" เป็นเมืองพม่า มีเมงกะยินโย เป็นผู้ยกเศวตฉัตรเหนือตองอู

เมืองต่อมาคือ "แปร" มีพระเจ้านระบดี เป็นกษัตริย์ มีราชธิดาที่จะเด็ดรักยิ่ง คือตละแม่กุสุมา

สุดท้ายคือ "หงสาวดี" อันเป็นเมืองมอญ มีพระเจ้าสการะวุตพี เป็นกษัตริย์ มีมเหสี ซึ่งต่อมาก็เป็นหนึ่งในภริยาของจะเด็ดในชื่อตละแม่มินบู อันเป็นนามเดิมก่อนอภิเษกเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสการะวุตพี ทั้ง 3 เมืองรบกันเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง และผู้ชนะสุดท้ายคือ"จะเด็ด" หรือ"บุเรงนอง"ขุนพลเอกของ"พระเจ้าตะเบงชะเวตี้" แห่งตองอู จากนั้นพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ก็ย้ายพระมหาราชวังจากตองอูมาอยู่หงสาวดี เพราะเป็นเมืองใหญ่ ส่วนมเหสี คือ"นันทะวดี"ก็ถูกยกเป็นอัครมเหสี

เมื่อรวม 3 เมืองใหญ่และอังวะเข้าเป็นอาณาจักรเดียว พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ก็ประกาศตั้ง"บุเรงนอง"เป็น"พระเจ้าตองอู" แต่บุเรงนองปฏิเสธ เพราะรับปากกับมหาเถรกุโสดอว่าจะไม่ขอแข่งบารมีกับ"มังตรา" น้องร่วมเต้าของมารดา

ตัวตนจริงๆของ"จะเด็ด" ในนิยาย กับตัวตนจริงๆของ"พระเจ้าบุเรงนอง"ในประวัติศาสตร์ ไม่ตรงกันทั้งหมด !!!

โดยในประวัติศาสตร์พม่าระบุว่า พระเจ้าบุเรงนอง (Bayinnaung) กษัตริย์พม่าพระองค์ที่ 3 ในราชวงศ์ตองอู อาจจะเป็นกษัตริย์พม่าองค์ที่คนไทยหรือชาวต่างชาติรู้จักดีที่สุด ประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น 12 ค่ำ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2059 ก่อนพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ 1 เดือน ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระนามเดิมของพระองค์ออกเสียงว่า "จะเต็ด" แปลว่า "เจ้าปลวกไต่" ("จะ"หมายถึงปลวก "เต็ด"หมายถึง ไต่ หรือ ป่ายปีน) ขณะที่ในนิยาย"ผู้ชนะสิบทิศ" ถูก"ยาขอบ"ตั้งชื่อว่า"จะเด็ด"

อีกหลักฐานระบุว่า พระนามดั้งเดิมคือ "เชงเยทุต" ซึ่งแปลว่า "เจ้ายอดผู้กล้า" ("เชง"เป็นคำที่เรียกหน้าชื่อบุคคลสำคัญ "เย"หมายความว่า กล้าหาญ และ "ทุต"แปลได้หลากหลาย รวมทั้งแปลว่า ยอด)

ใน"ผู้ชนะสิบทิศ" จะเด็ดเป็นบุตรของสามัญชนที่มีอาชีพปาดตาล แต่ประวัติศาสตร์พม่าระบุว่าพระองค์เองมีเชื้อกษัตริย์(บ้าง) เพราะเป็นบุตรชายของ"เมงเยสีหตู" ขุนนางระดับสูงผู้หนึ่งของพระเจ้าเมงจีโย พระราชบิดาของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสถาปนาอาณาจักรตองอูร่วมกับพระเจ้าเมงจีโย และเป็นบุคคลที่พระเจ้าตะเบงชะเวตี้เคารพ เพราะมี 2 สถานะ คือหนึ่งเป็นพระอาจารย์ และอีกสถานะคือเป็นพระ สุระ (พ่อตา) ของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เพราะบุตรีของเมงเยสีหตู ก็เป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้(ไม่มีรายละเอียดว่าเป็นพี่สาวหรือน้องสาวของบุเรงนอง) ที่เกี่ยวเนื่องต่อก็คือ พระพี่นางของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ก็เป็นมเหสีอีกองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งในนิยายเรื่อง"ผู้ชนะสิบทิศ"ก็คือ"ตละแม่จันทรา"

พระนามของพระเจ้าบุเรงนอง ออกเสียงตามสำเนียงพม่าว่า "บาเยนอง" ซึ่งแปลว่า "พระเชษฐาธิราช" และมีพระนามเต็มว่า "บาเยนองจอเดงนรธา" (ไทยเรียกเพี้ยนเป็น "บุเรงนองกะยอดินนรธา") แปลว่า "พระเชษฐาธิราชผู้ทรงกฤษดาภิหาร" โดยพระนามนี้ เชื่อว่าพระเจ้าตะเบงชะเวตี้พระราชทานให้ หลังจากพระเจ้าบุเรงนองชนะศึกนองโย อันเป็นศึกไล่ตามทัพของพระเจ้าสการะวุตพี กษัตริย์มอญ ที่เสียกรุงหงสาวดีให้แก่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ อันเป็นเกียรติประวัติที่เลืองลือครั้งแรก ๆ ของพระองค์

พระนามต่างๆของบุเรงนองก็มีอีกมาก เช่น "เซงพะยูเชง" แปลว่า "พระเจ้าช้างเผือก" หรือ "ตะละพะเนียเธอเจาะ" แปลว่า "พระเจ้าชนะสิบทิศ" เป็นฉายาที่พบในศิลาจารึกของชาวมอญ และชาวตะวันตกรู้จักพระองค์ในพระนาม "บราจินโนโค่" (Braginoco)

ในประวัติศาสตร์พม่า พระเจ้าบุเรงนอง เป็น 1 ใน 3 กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของพม่า ถือเป็นกษัตริย์นักรบอันเป็นที่ปรากฏพระเกียรติเลื่องลือ โดยยุคสมัยของพระองค์ อาณาจักรตองอูเข้มแข็งและแผ่ไพศาลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยครอบคลุมอาณาเขตตั้งแต่ลุ่มน้ำอิรวดีจนถึงแม่น้ำโขง มีประเทศราชต่างๆมากมายในภูมิภาคอุษาคเนย์ ได้แก่ หงสาวดี ล้านช้าง ไทยใหญ่ เขมร ญวน อยุธยา เชียงใหม่ เป็นต้น

อีกหนึ่งเรื่องที่ประวัติศาสตร์พม่าบันทึกไว้ คือพระเจ้าบุเรงนองเป็นกษัตริย์นักปกครองและบริหารที่เก่งกาจ เพราะสามารถปกครองและบริหารข้าทาสบริวารมากมาย ทั้งของพระองค์เองและของประเทศราช เช่น การยึดเอาพระราชวงศ์ที่สำคัญๆของประเทศราชต่างๆเข้ามาอยู่ในพระราชวังเพื่อเป็นองค์ประกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือพระนเรศวรมาหราชและพระพี่นางนั่นเอง

"บุเรงนอง"เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2094 ด้วยการปราบดาภิเษก เพราะมีกบฏเกิดหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ พร้อมสร้างพระราชวังของพระองค์ที่กรุงหงสาวดี ชื่อ"กัมโพชธานี" (Kamboza Thadi Palace) ซึ่งเป็นพระราชวังใหญ่โตมาก

พระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2124 ด้วยพระโรคชรา และความยิ่งใหญ่ของพระองค์ จึงมีพระราชอนุสาวรีย์มากมายหลายแห่งในพม่าเพราะชีวประวัติที่น่าสนใจ รวมทั้งเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์พม่าที่เกิดขึ้นในยุคนั้นสนุก ทำให้"ยาขอบ"เกิดแรงบันดาลใจให้เขียนนิยายขึ้นมาในชื่อ"ผู้ชนะสิบทิศ" ด้วยการเสริมแต่งเรื่องให้"จะเด็ด"เก่งเกินจริง...จนเป็นพระเอกในฝันของผู้อ่านยุคนั้น

"บุเรงนอง" ..ในนิยาย"ผู้ชนะสิบทิศ"ต่างจากในประวัติศาสตร์มาก

นอกจาก"รบเก่ง" เพราะในนิยาย ตั้งแต่ชื่อ"จะเด็ด" ชื่อ"มังฉงาย" กระทั่งนาม"บุเรงนอง" ชายผู้นี้ก็สามารถ"ยึด"ทั้งเมืองแปร อังวะ เมาะตะมะและหงสาวดีให้"ตะเบงชะเวตี้"ขึ้นเป็นใหญ่ในพุกามประเทศ

ขณะที่"จุดเด่น"ที่ทำให้คนทุกชนชั้นที่อ่านและ"ติด"นิยายเรื่องนี้ก็คือการเป็น"พระเอกนักรัก"ของจะเด็ดไล่เรื่องตั้งบแต่วัยเด็ก ที่จะเด็ดผูกพันกับ"ตละแม่จันทรา" แล้วเมื่อหนีภัยไปอยู่เมืองแปรในชื่อ"มังฉงาย" เจ้าตัวก็ไปหลงรัก"ตละแม่กุสุมา" พร้อมๆกับหว่านเสน่ห์ใส่หลานหลวงชื่อ"อเทตยา" พระคู่หมั้นของสอพินยา และต่อมาก็เป็นหนึ่งในภรรยาของบุเรงนอง พร้อมขออยู่รับใช้ตละแม่จันทราที่ตองอู เพราะไม่กล้าสู้หน้าตละแม่กุสุมาที่เมืองแปร ...

นอกจากนั้น ก็ยังมี"เชงสอบู" ที่จะเด็ดไปนำตัวมาจากชานเมืองหงสาสระหว่างปลอมตัวไปเพื่อชิงตละแม่กุสุมาคืนมาจากหงสาอีกหนึ่งคือ"กันทิมา"บุตรีครูดาบตะคะญี ที่จะเด็ดผูกพันจนไม่อยากให้นางแต่งกับ"เนงบา" พร้อมดึงนางเข้าไปรับใช้ตละแม่จันทราและเป็นพี่เลี้ยง"นันทบุเรง" พระราชโอรส ทำให้เนงบาโกรธและไม่ขอเห็นหน้าจะเด็ดแม้จะตาย ส่วนกันทิมา ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะรู้ว่าจะเด็ดไม่รักนางจริง

เมื่อรบชนะหงสา จะเด็ดก็ยกมเหสีของพระเจ้าสการะวุตพีให้ตะเบงชเวตี้ตามธรรมเนียมกษัตริย์ที่รบชนะแล้วจะยึดเมืองและข้าราชบริพารรวมทั้งมเหสีของผู้แพ้  ก่อนจะขอจากตะเบงชะเวตี้มาครองเอง และอดีตมเหสีหงสาก็กลับมาใช้นามเดิมเมื่ออยู่กับบุเรงนองคือ"ตละแม่มินบู" โดยนางยินยอมเป็นคนใกล้ตัวตละแม่กุสุมาที่เมืองแปร

จะเด็ดในนิยาย"ผู้ชนะสิบทิศ" จึงเก่งทั้งรบและรัก จนคนหลงไหลกันทั่วเมือง ....



พระราชวังกัมโพชธานีในปัจจุบัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
บล็อกโอเคเนชั่น