เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้
ประวัติ ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน
ตำนานแห่งดงพญาไฟ จากดินแดนอาถรรพณ์สู่มหาอุทยานเขาใหญ่
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: ตำนานแห่งดงพญาไฟ จากดินแดนอาถรรพณ์สู่มหาอุทยานเขาใหญ่ (อ่าน 8998 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3893
ตำนานแห่งดงพญาไฟ จากดินแดนอาถรรพณ์สู่มหาอุทยานเขาใหญ่
เมื่อ:
กุมภาพันธ์ 11, 2016, 06:26:12 AM
เรื่อง ?ดงพญาไฟ? กล่าวถึงเมื่อนานมาแล้ว ในบริเวณที่แห่งนี้เป็นป่าดงดิบกว้างใหญ่ที่ทอดตัวตามแนวยาวของเทือกเขาเพชรบูรณ์ เทือกเขาอันกว้างใหญ่นี้แบ่งเขตแดนที่ลุ่มภาคกลาง และที่ราบสูงภาคอีสาน เชื่อกันว่าเป็นที่สิงสถิตของผีป่านางไม้ และสัตว์ร้ายทำให้ไม่มีผู้ใดกล้าดั้นด้นเข้าไปถึง
เรื่องเล่าขานกล่าวไว้ว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง ?ขุนบรมราชา? ผู้ซึ่งครองเมืองขวางทะบุรีมีประกาศว่าวันพระทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ห้ามทำบาปฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะเกิดวิบัติล่มจม ชาวบ้านชาวเมืองก็เชื่อถือปฏิบัติสืบต่อกันมาบ้านเมืองก็สงบสุข จนกระทั่งเมื่อเจ้าผู้ครองนครคนใหม่ไม่ปฏิบัติตามกฎ ก่อกรรมทำชั่วและเบียดเบียนสัตว์ทั้งฆ่า และล่าเอาสนุก อีกทั้งผิดศีลละเมิดลูกเมียผู้อื่น ชาวบ้านบางคนที่มีสันดานร้ายอยู่ก่อนแล้วก็ยิ่งทำตัวผิดศีลธรรมโดยอ้างว่าเอาตัวอย่างจากเจ้าเมืองจนเดือดร้อนกันไปทุกหย่อมหญ้า
?พญาแถน? เจ้าแห่งฟากฟ้าผู้เป็นใหญ่ทราบถึงความเป็นไปก็สุดจะทนไหว จึงลงโทษให้ฝูงงูใหญ่พิษร้ายมากมายเหลือคณานับ ลงมาเข่นฆ่ากลืนกินคนทั้งเมืองจนกลายเป็นเมืองร้าง ครั้งนั้นมีชายหนุ่มรูปงามผู้องอาจเก่งกล้าชื่อ ?คัทธกุมาร? ผู้ชอบการผจญภัย และช่วยเหลือผู้อื่นกับสหายสองคน นามว่า ?นายไม้ร้อยกอ? และ ?นายเกวียนร้อยเล่ม? ออกเดินทาง
เมื่อบังเอิญผ่านทางมาเมืองร้างแห่งนี้ ทั้งหมดได้เดินสำรวจในเมืองและในวังก็ไม่พบใคร ทั้งสามรู้สึกผิดสังเกตกับกลองใบใหญ่มากใบหนึ่ง นายไม้ร้อยกอจึงใช้ไม้ตีกลองดู ทันใดนั้นก็เกิดเสียงประหลาดดังขึ้นในกลอง คัทธกุมารจึงใช้ดาบเปิดหน้ากลองออก พวกเขาพบหญิงสาวสวยผู้หนึ่งนั่งร้องไห้อยู่ในนั้น เมื่อช่วยเธออกมาเธอก็เล่าว่าเธอเป็นพระธิดาของเจ้าเมืองขวางทะบุรี
พระธิดาเล่าว่าในวันที่ฝูงงูลงมาจากฟ้าไล่ฆ่าผู้คน พระบิดาได้ซ่อนเธอไว้ในกลองนี้ และบอกเธอว่าหากมีใครมาช่วยเธอจงหนีออกไปจากเมือง และอย่าได้จุดไฟทำการใดๆ ในเมือง เพราะควันไฟจะทำให้พญาแถนส่งฝูงงูลงมาอีก ฝ่ายคัทธกุมารเห็นว่าชาวเมืองได้ใช้กรรมเพียงพอแล้วสมควรได้ใช้ชีวิตปกติสุขเช่นเดิม พวกเขาจึงพากันออกค้นหาชาวเมืองที่หลบซ่อนอยู่นอกเมืองมารวมตัวกัน และช่วยกันหาฟืนมาก่อกองไฟกองมหึมา เกิดเป็นกลุ่มควันโขมงพวยพุ่งขึ้นฟ้าทันใดนั้นเองฝูงงูใหญ่ก็เคลื่อนตัวลงมาจากฝากฟ้าดำมืดไปหมด มันเลื้อยทะยานลงมาหนุนเนื่องไม่ขาดสาย พวกมันเข้าฉกกัดชาวบ้าน และชายสามสหายอย่างโหดร้าย แต่ด้วยความสามัคคีรวมพลังกันต่อสู้ พวกงูจึงตายหมด
หลังการต่อสู้ที่ยาวนานก็เกิดฝนตกหนักเกิดน้ำนองไปทั่ว และกระแสน้ำนองนั้นก็ได้พัดพาซากงูไปรวมกันจนกองโตเป็นภูเขา ชาวบ้านจึงตั้งชื่อภูเขาซากงูนั้นว่า ?เขาภูโฮง? หรือ ?ภูหอ? ส่วนกองไฟกองมหึมานั้นต่อมากลายเป็นป่าดงดิบชื่อ ?ดงพญาไฟ? เมื่อเมืองขวางทะบุรีมีความสงบสุขแล้ว คัทธกุมารจึงมอบให้นายไม้ร้อยกอแต่งงานกับพระธิดา และครองเมืองขวางทะบุรี ส่วนเขาและนายเกวียนร้อยเล่มก็ออกเดินทางท่องเที่ยวต่อไป
เรื่องเล่า ?ดงพญาไฟ? สอดคล้องกับเรื่องจริงที่ย้อนไปกว่า 120 ปีนี้ว่า ณ ที่แห่งนี้เป็นป่าดงดิบอันกว้างใหญ่ไพศาลคั่นกลางระหว่างที่ราบลุ่มภาคกลาง กับที่ราบสูงภาคอีสาน คือเทือกเขาพนมดงรักที่เต็มไปด้วยภยันตรายนานัปการทั้งจากสัตว์ป่า ไข้ป่า ตลอดจนภูตผีปีศาจ และอาถรรพณ์ลึกลับมากมาย ผืนป่าแห่งนี้ผู้คนจึงขนานนามว่า ?ดงพญาไฟ? ผู้ใดเข้าไปในป่าผืนนี้แล้วน้อยคนนักที่จะได้กลับออกมา จนเป็นที่ร่ำลือเล่าขานกันมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
การเดินทางจากเมืองสระบุรีกับมณฑลนครราชสีมาต้องผ่านดงพญาไฟแห่งนี้ และจะใช้เกวียนก็ไม่ได้ต้องอาศัยการเดินเท้าอย่างเดียว ต้องเดินตามสันเขาบ้างไหล่เขาบ้างลำธารบ้าง เดินทางปกติตั้งแต่ตำบลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ต้องค้างคืนในป่านี้ถึง 2 คืน จึงจะผ่านพ้นไปได้ ในปี พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟเชื่อมภาคกลางกับภาคอีสานโดยตัดผ่านดงพญาไฟแห่งนี้
และช่วงนี้นี่เองที่ทำให้วิศวกร นายช่าง และแรงงานจำนวนมากทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติต่างพาชีวิตมาสังเวยกับไข้ป่ากันเป็นจำนวนมาก ศพกองกันเป็นภูเขาเลากา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสลดพระทัยยิ่งนัก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้โดยทั่วกัน พร้อมกับให้ยุติการสร้างทางรถไฟไว้เพียงเท่านี้
ครั้งเมื่อพระองค์เสด็จมาทำพิธีเปิดทางรถไฟ ขณะเสด็จกลับได้ผ่านป่าใหญ่ดงดิบ (ปัจจุบันคือบริเวณเขื่อนลำตะคอง) ถึงสถานีรถไฟปากช่องก็ได้ทรงรับสั่งถามว่า ?ป่านี้ชื่อว่าอะไร? ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้กราบบังคมทูลว่าชื่อ ?ป่าดงพญาไฟ? พระองค์ทรงรับสั่งว่า ?ป่านี้ชื่อฟังดูน่ากลัว? จึงตรัสว่า ?ให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น"ดงพญาเย็น"เพื่อความเป็นสิริมงคล และความร่มเย็นเป็นสุขของอาณาประชาราษฎร์ในวันข้างหน้า?
หลังจากเปลี่ยนชื่อเป็น ?ดงพญาเย็น? เริ่มมีผู้คนเข้าไปตั้งถิ่นฐานกันเรื่อยๆ ต่อมาเมื่อประมาณ 80 กว่าปีที่ผ่านมา (ประมาณปีพ.ศ. 2467) ราษฎรบ้านท่าชัย และบ้านท่าด่าน จังหวัดนครนายก ได้พากันขึ้นไปถากถางป่าปลูกข้าว ปลูกพริก ไม้ผล (ยังปรากฏมีต้นขนุน และมะม่วงให้เราเห็นอยู่บนเขาใหญ่จนบัดนี้) และปลูกบ้านเรือนอยู่บนยอดเขาประมาณ 30 หลังคาเรือน เกิดเป็นชุมชนเล็กๆ ขึ้นมา ทางการได้ยกฐานะขึ้นเป็นตำบลเขาใหญ่ ขึ้นกับอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก มีการบุกรุกถางป่า ทำไร่เลื่อนลอยมาเป็นเวลาช้านาน จนทำให้สภาพป่าเป็นทุ่งหญ้าคามีเนื้อที่กว้างขวาง แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกชัฏอยู่
ต่อมา ตำบลเขาใหญ่กลายเป็นที่ซ่องสุมโจรผู้ร้าย เป็นที่พักพิงพวกหลบหนีคดีต่างๆ กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนยากแก่การปราบปรามให้ราบคาบได้ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2499-2500 รัฐบาลได้สร้างถนนมิตรภาพจากสามแยกสระบุรีตัดผ่านดงพญาเย็น ขนานกับทางรถไฟในบางช่วงสู่ภาคอีสาน ทำให้ความเจริญรุกคืบหน้า ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปตรวจราชการ โดยแวะพักบริเวณใกล้กับหนองขิงเขาใหญ่เห็นว่ามีภูมิประเทศสวยงามตามธรรมชาติ อากาศดี การคมนาคมไปมาสะดวก น่าจะเป็นแหล่งดึงดูดให้ประชาชนที่อยู่พระนคร และใกล้เคียงได้ไปพักผ่อน จึงได้กำหนดนโยบายที่จะพัฒนาให้เป็นสถานที่ตากอากาศ และเป็นที่พักผ่อนของประชาชน โดยให้รักษาสภาพธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด
ทางกระทรวงมหาดไทยจึงกำหนดให้เขาใหญ่เป็นเขตหวงห้ามที่ดินของรัฐ ให้กระทรวงเกษตรเป็นผู้รับไปดำเนินการให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และได้มีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของเมืองไทย ในปี พ.ศ. 2505 ครอบคลุมพื้นที่ รวม 4 จังหวัด คือ จังหวัดนครนายก นครราชสีมา สระบุรี และปราจีนบุรี จากนั้นผู้คนจึงได้เรียกผืนป่าดงพญาเย็นว่า ?เขาใหญ่? ตามที่ชาวบ้านเรียกเทือกเขาในบริเวณนั้นว่า ?เทือกเขาใหญ่? (เทือกเขาใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก)
ปัจจุบัน ?เขาใหญ่? เป็นมรดกโลกแหล่งที่ 5 ของเมืองไทย และเป็นอันดับที่ 2 ของมรดกทางธรรมชาติไทย ที่ได้รับการลงทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 10-17 กรกฎาคม 2548 ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ อีกทั้ง ?เขาใหญ่? ยังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งใน และต่างประเทศมีผู้ไปเยี่ยมเยือนในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ และงานมหกรรมดนตรีต่างๆ ที่กู่ก้องร้องอยู่ที่ตีนเขา ?เขาใหญ่? แทนเสียงนกร้องพนาไพร ยัดเยียดความศิวิไลให้กับผืนป่า โดยหลงลืมไปว่าการท่องไพรชมธรรมชาติที่แท้จริงนั้นควรพึงปฏิบัติเช่นไร.....
ข้อมูล : ตู่ ตาโต/คอลัมน์ ?เล่าขานตำนานทั่วทิศ? นิตยสาร"ชีวิตต้องสู้"ฉบับที่ 634
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
เกร็ดความรู้
ประวัติ ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน
ตำนานแห่งดงพญาไฟ จากดินแดนอาถรรพณ์สู่มหาอุทยานเขาใหญ่
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?