ผู้เขียน หัวข้อ: เดินหน้า ปฏิรูปการศึกษา 2559  (อ่าน 1319 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
เมื่อ: มกราคม 28, 2016, 08:29:29 PM
โดย เพชร เหมือนพันธุ์

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฟันธงนำนโยบายการปฏิรูปการศึกษาเรื่องการ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" Kick off ออกไปเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 เพื่อขับเคลื่อนรัฐนาวาการศึกษาไทยให้ก้าวเข้าสู่สนามแข่งขันในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกด้วยนโยบายสั้นๆ ว่า "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็ว เข้าถึงภายในรั้วโรงเรียน เข้าใกล้ตัวนักเรียนมากที่สุดตั้งแต่มีนโยบายปฏิรูปการศึกษามาในรอบ 20 ปี นโยบายนี้หากมีการขับเคลื่อนจัดการที่ดีจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

พลังแรงสั่นสะเทือนนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" เหมือนแผ่นดินไหวเล็กๆ แต่มีพลังอำนาจขับเคลื่อนสูง สั่นสะเทือนไปถึงสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของนักเรียน ของครู และผู้ปกครอง เป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร พลังอำนาจคลื่นสั่นสะเทือนจะส่งผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงตามมา และจะมีอาฟเตอร์ช็อก (After Shock) ตามมาอีกหลายครั้ง จะเกิดปฏิกิริยาโต้กลับ (Reaction) จากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือครู นักเรียน ผู้ปกครอง และสังคม เพราะนโยบายนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรของโรงเรียน และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปถึงโครงสร้างหลักสูตร โครงสร้างเวลาเรียน และการวัดผลการเรียน

ผลกระทบจากนโยบายนี้คือสไตล์การสอนของครูจะถูกปรับเปลี่ยนไปให้เหมาะสมกับธรรมชาติของรายวิชา เด็กลดเวลานั่งเรียนในห้องลง ครูลดเวลายืนอธิบายบรรยาย (Lecture) หน้าชั้นตลอดวันลง "กิจกรรมการเพิ่มเวลารู้" จะเป็นแรงขับให้ทุกสถาบันการศึกษาแสวงหารูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทและทรัพยากรขององค์กรตน

การเปลี่ยนแปลงจะยังไม่หยุดนิ่งจนกว่าพลังอำนาจของนโยบายจะนิ่ง เมื่อพลังแรงขับเคลื่อนสงบลงก็จะตกผลึก กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ขององค์กรที่จะเกิดขึ้น

ในสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือฟินแลนด์ เขาจะจัดกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้สัมผัสกับโลกเสมือนจริง ได้เรียนรู้จากการกระทำ เริ่มจากกิจกรรมการฝึกนิสัย กิริยามารยาท การสร้างความมีระเบียบ ความมีวินัย ความรับผิดชอบ ความมีน้ำใจนักกีฬา ผ่านกิจกรรมชั้นเรียน กิจกรรมหน้าเสาธง กิจกรรมความรับผิดชอบการรักษาความสะอาดห้องเรียน บริเวณโรงเรียน กิจกรรมจิตสาธารณะ กิจกรรมสภานักเรียน กิจกรรมคณะสีนักเรียน ฯลฯ ในกิจกรรมชมรมนักเรียนที่เขาจัดจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ประเภทที่ 1 เป็นกิจกรรมชุมนุมที่ใช้กำลัง เช่น ชุมนุมกีฬาประเภทต่างๆ เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล บาสเกตบอล เทนนิส ฯลฯ ดนตรี ศิลปะ และประเภทที่ 2 ชุมนุมเชิงวิชาการ เช่น ชุมนุมภาษาไทย ชุมนุมภาษาอังกฤษ ชุมนุมภาษาต่างประเทศ ชุมนุมวิทยาศาสตร์ ชุมนุมคณิตศาสตร์ ชุมนุมบรรณารักษ์ ชุมนุมเกษตรกร ฯลฯ และกิจกรรมฝึกประสบการณ์ เช่น กิจกรรมออกฝึกงานหรือออกฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการ นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จะมีการออกไปสัมผัสกับสถานประกอบการจริง ได้ไปฝึกงานในสถานประกอบการ

ต่างประเทศให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเด็กที่เรียนอยู่ในระดับชั้น ม.2 เพราะเด็กในวัยนี้เป็นวัยที่มีพลังมาก เริ่มแสวงหาประสบการณ์ อยากรู้อยากเห็นอยากเป็น เป็นวัยที่ก้าวเข้าสู่วัยรุ่นเต็มที่ หากทางโรงเรียนไม่จัดให้ เด็กจะก้าวร้าว ก่อกวน เกเร สร้างปัญหาให้แก่โรงเรียน ในประเทศไทยเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นจะถูกโรงเรียนละเลยไม่ให้ความสนใจ เพราะทุกโรงเรียนต่างหันไปสนใจเด็กนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ทุกโรงเรียนต่างผลักดันให้เด็กมัธยมศึกษาตอนปลายไปสอบเข้าเรียนในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยที่ดีให้ได้ เด็กมัธยมศึกษาตอนต้นจึงถูกปล่อยทิ้ง ต่างจากโรงเรียนมัธยมในต่างประเทศ

ปรากฏการณ์จากคลื่นกระแสพลังผลักดันลูกแรกที่จะเกิดกับครู นักเรียน ผู้ปกครองคือ อาการแตกตื่นตระหนกโกลาหล (Chaos) ต่อต้าน หรือแรงฝืนแรงขืนต่อนโยบาย จนกว่าพลังอำนาจของแรงสั่นสะเทือนของนโยบายจะหยุดนิ่ง หลังจากนั้นเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างสงบ ปรับตัวลงได้ สิ่งใหม่ๆ จะเกิดขึ้นหรือจะอุบัติขึ้น ความเปลี่ยนแปลงจะตามมา

ผู้บริหารสถานศึกษาและครูทุกคนต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ (Paradigm Shift) คำกล่าวอ้างที่ ว่า "เพิ่มเวลามั่วให้เด็ก เพิ่มภาระให้ครู เพิ่มเวลาเล่นให้เด็ก" หรือสารพัดข้ออ้างเพื่อป้องกันตนเอง (Self defense) หรือกลไกป้องกันตนเอง (Defense Mechanic) ให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และต้องสนองนโยบายให้ได้ รับมือกับอาฟเตอร์ช็อก (After Shock) ที่จะตามมาอีกหลายลูกให้ทัน

อาฟเตอร์ช็อกลูกที่ 1 คือการปฏิรูปหลักสูตรให้สอดคล้องกับเวลาเรียน บางวิชาจะถูกตัดออกไปเพราะเด็กสามารถเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้จากสังคมได้ หลายวิชาที่เป็นขยะ (Garbage) จะต้องตัดทิ้งไป เนื้อหาวิชาที่ซ้ำซ้อน เรียนแล้วเรียนอีกจะต้องตัดออก เช่น ในรายวิชาภาษาไทย มีเนื้อหาที่ว่าด้วยอักษร 3 หมู่ คือ อักษรสูง อักษรกลาง อักษรต่ำ เรียนมาตั้งแต่ชั้น ป.3-4 จนถึงระดับปริญญาตรี หรือในวิชาคณิตศาสตร์ที่เนื้อหาไม่ได้สัมพันธ์กับวิถีชีวิตจริง วิชาการเงินการบัญชีที่ทุกคนจำเป็นต้องสัมผัสต้องใช้กลับไม่มีสอนในโรงเรียน การรื้อโครงสร้างของหลักสูตรของเนื้อหาวิชาจะต้องสร้างคนไทย ครูไทย นักเรียนไทย ให้มีความรู้เรื่องเงิน เรื่องบัญชีรับ-จ่าย หลายวิชาในห้องเรียนในหลักสูตรไม่มีความจำเป็นในชีวิตของผู้เรียน ไม่แก้ปัญหาในอนาคต เป็นขยะในหลักสูตร ควรตัดทิ้ง เรียนเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ที่ผ่านมาเจ้านายไปดูงานประเทศไหนมาเห็นของเขาดีก็เอามาจับยัดใส่เข้าไปในหลักสูตร เข้าไปในชั้นเรียน เด็กเรียนจนสำลัก เรียนจนเบลอแต่ไม่เกิดการเรียนรู้ เพราะเด็กไม่รับหรือรับไม่ได้ ก็เหมือนเทน้ำใส่ลงไปในแก้วที่น้ำมันเต็มจนล้นแก้วแล้ว

อาฟเตอร์ช็อกลูกที่ 2 คือพฤติกรรมการสอนของครูต้องเปลี่ยนแปลง การจัดทำแผนการสอน (Lesson Plan) ต้องเปลี่ยนแปลง ครูที่เก่งคือครูที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กสามารถรู้จักคิดแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง โสเครติส (Socrates) กล่าวว่า "ฉันไม่เคยสอนอะไรใครเลย ฉันเพียงแต่ทำให้เขาคิดเป็นเท่านั้น" สไตล์การสอนแบบเล็กเชอร์ (Lecture) ที่ครูยืนพูดอยู่หน้าห้องคนเดียวตลอดชั่วโมงตลอดวัน เป็นพระเอกอยู่คนเดียวนั้นก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้น้อยมาก ควรลด เลิก ครูต้องสอนให้เด็กรู้จักแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง กิจกรรมการเรียนการสอนผ่านโครงงานผ่านการได้ฝึกปฏิบัติจริงในโรงฝึกงานในสถานประกอบการ ผ่านการทำกิจกรรมชุมนุม จะสร้างให้เกิดการเผชิญกับปัญหาจริง เด็กได้ร่วมกันหาวิธีการแก้ปัญหา ได้การแก้ปัญหาร่วมกันเป็นทีม การเผชิญปัญหา ทำให้ต้องมีการคิดแก้ปัญหา คิดวางแผน คิดออกแบบกิจกรรมการสร้างปัญหา แก้ปัญหาขณะดำเนินการ ซึ่งเป็นขบวนการเรียนรู้ที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง การทำให้ผู้เรียนเกิดการคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น เลือกทางเลือกที่ดีที่เหมาะสมเป็น ความรู้ทุกวันนี้แขวนอยู่ในอากาศ แขวนอยู่ในคลื่นแม่เหล็กอยู่กับครู Google

ดังนั้น เมื่อฐานของความรู้เปลี่ยนจากครูไปอยู่ที่สื่อ Online แล้ว ครูก็มีหน้าที่จัดให้นักเรียนรู้จักใช้เครื่องมือแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองเท่านั้น

อาฟเตอร์ช็อกลูกที่ 3 คือวัฒนธรรมการเรียนของเด็กจะเปลี่ยนไป เด็กจะมีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องมือสมัยใหม่แสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ครูหยุดสอนแบบเก่า หันไปสอนแบบทันสมัย นักเรียนหยุดเรียนในรูปแบบเดิม หันไปเรียนในรูปแบบใหม่ หยุดการจัดกิจกรรมเข้าร่วมชุมนุมแบบบังคับ หรือเกณฑ์เข้าร่วมกิจกรรม เปลี่ยนเป็นให้เด็กมีความหิวกระหาย มีความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรม ใครไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมจะเป็นความเสียหาย จะไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน เข้ากลุ่มไม่ได้ ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติอย่างสนุกสนานและมีความหมายด้วยตนเอง กิจกรรมนักเรียนจะเป็นเครื่องมือในการสร้างบุคลิกภาพของนักเรียน สร้างให้เป็นนักสู้ สร้างให้เป็นนักกีฬา สร้างให้เป็นนักเผชิญปัญหา

ในวันที่ดูฟุตบอลเยาวชนเอเชียไปโอลิมปิกที่ กาตาร์ ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น นั่งดูไปก็เอาใจช่วยทีมชาติไทยไป หวังว่าทีมไทยน่าจะมีโอกาสชนะญี่ปุ่นบ้าง แต่ขณะที่นั่งลุ้นไปก็มีสิ่งหนึ่งที่อุบัติขึ้นในสมองของผู้เขียน คือรู้ว่านักกีฬาฟุตบอลของญี่ปุ่นมีชิป (Chip) สำคัญตัวหนึ่งที่ฝังอยู่ในสมองของนักฟุตบอลญี่ปุ่นทุกคนคือ "เขาต้องชนะเท่านั้น" ซึ่งสิ่งนี้ถูกปลูกฝังมาในสมองของเด็กทุกคนตั้งแต่วันเข้าโรงเรียน ฝังอยู่ในกิจกรรมนักเรียนของเด็ก ของทุกโรงเรียน คือการได้เข้าร่วมกิจกรรมในภาคบ่ายนั้น เด็กญี่ปุ่นจะได้รับการปลูกฝังว่าต้องมีการวางแผนก่อนเล่นทุกครั้ง และการวางแผนจะต้องวางแผนเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ให้ได้ทุกครั้ง และทุกครั้งที่มีกิจกรรมจะมีครูหรือผู้ที่มีความรู้มาเป็นโค้ชให้ทุกครั้ง เด็กทุกคนจะมีความหิวกระหายที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทุกคน มีระเบียบ มีวินัยการทำงานเป็นทีม การเคารพกฎกติกาในการเล่นจะถูกปลูกฝังไปด้วยทุกครั้ง ดังนั้น กีฬาฟุตบอลเยาวชนไปโอลิมปิกโลกในวันนั้น "ฉันต้องเป็นฝ่ายชนะเท่านั้น"

อาฟเตอร์ช็อกลูกที่ 4 คือกิจกรรมการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ การวัดผลในโรงเรียนที่เราถือปฏิบัติอยู่ทุกวันนั้นเป็นกิจกรรมที่ล้าสมัย การวัดผลที่ใช้ข้อสอบแบบเลือกตอบ (ปรนัย) เกิดขึ้นมาในประเทศไทยเมื่อประมาณปี พ.ศ.2508-2510 และมารุ่งเรืองประมาณปี พ.ศ.2513-2516 และมาเป็นกฎหมายปรากฏในหลักสูตรปี 2521 และยั่งยืนมาจนทุกวันนี้ เป็นเครื่องมือวัดผลที่ใช้ได้ในเฉพาะบางแห่งบางเรื่อง แต่ไทยเอามาใช้ในทุกแห่งทุกเรื่อง ทุกสถานที่ทุกเวลา เพราะผลดีคือมันใช้ง่าย สะดวก เป็นวิทยาศาสตร์ มีความเที่ยงตรงสูง ฯลฯ ส่วนผลเสียไม่มีใครพูดถึง เช่น ลอกกันได้ง่าย เดาได้ง่าย ครูผู้สอนผู้วัดผลก็เมกอัพ นั่งเทียนให้เกรดให้คะแนนได้ง่าย ครูขี้เกียจบางคนสามารถยกเมฆได้ เป็นข้อสอบที่ไม่ส่งเสริมให้เด็กคิดเป็นแก้ปัญหาเป็น สอนให้มักง่าย สอนให้นั่งรอคำตอบ ข่าวล่าสุดในไลน์ที่ส่งเป็นภาพถ่ายจากเพื่อนมา พบว่าเด็กเขมรสอบวัดผลด้วยข้อสอบอัตนัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ใครทุจริตลอกข้อสอบต้องติดคุก

อาฟเตอร์ช็อกลูกที่ 5 เด็กไทยรู้จักคิด คนไทยมีศักยภาพที่จะเข้าสู่สนามแข่งขันได้อย่างมั่นใจ จึงเสนอไว้เพื่อให้ผู้มีอำนาจพิจารณา

 

ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 28 ม.ค. 2559 (กรอบบ่าย)