ผู้เขียน หัวข้อ: ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ นโยบายปฏิรูปที่ใกล้ตัวนักเรียนมากที่สุด  (อ่าน 1444 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
โดย เพชร เหมือนพันธุ์

นโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ที่ท่าน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ประกาศใช้ในภาคเรียนที่สองของปีการศึกษา 2558 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 ในโรงเรียนนำร่องจำนวน 3,831 โรง และในโรงเรียนเอกชนบางส่วน ขณะนี้ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 3 เดือนแล้ว เป็นนโยบายที่มีผลกระทบไปถึงโรงเรียน ไปถึงครู ไปถึงนักเรียน ผู้ปกครองมากที่สุดตั้งแต่มีนโยบายปฏิรูปการศึกษามา นโยบายนี้เป็นความหวังที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้นได้จริง ผลกระทบ แรงกระเพื่อมในวงการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เกิดขึ้นครั้งนี้มีพลังอำนาจพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการศึกษาไทยในอนาคตได้ค่อนข้างแน่นอน แม้จะมีความสับสน เกิดปัญหา เกิดการต่อต้านในการปฏิบัติในระยะต้น แต่ผลดีจะเกิดความเปลี่ยนแปลงระยะยาวในอนาคตได้

กลยุทธ์ที่แต่ละโรงเรียนจะนำนโยบายออกไปสู่การปฏิบัติ ผู้บริหารโรงเรียนต้องแปลงนโยบายไปเป็นกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับบริบท ให้สอดคล้องกับสภาพทรัพยากรปัจจุบัน ปัญหาของแต่ละโรงเรียน รูปแบบกลยุทธ์ของแต่ละโรงเรียนที่อาจแตกต่างกันไปในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดทั้งความสับสนเกิดทั้งแรงต้าน ซึ่งเป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงที่นักปฏิรูปต้องรู้ แม้จะมีเสียงบ่น เสียงตะโกน เสียงต่อต้านทั้งเปิดเผยและเงียบ ก็ต้องรู้เท่าทัน เพราะหลายคนแม้อยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแต่ก็กลัวความเปลี่ยนแปลง การศึกษาไทยควรจะได้รับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อย่างจริงจังและอย่างเป็นขั้นตอน

ผลตรวจสอบประเมินการปฏิบัติตามนโยบายในระยะเริ่มต้นที่ท่านบัณฑิต ศรีพุทธางกูร ผู้ตรวจราชการ ศธ. พบว่าครูส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและไม่ถนัดในการออกแบบกิจกรรมการ "เพิ่มเวลารู้" ที่เชื่อมโยงหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ ครูยังมองว่าเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ครู ขณะที่ ผู้ปกครองหวั่นว่าเด็กจะเรียนไม่ครบตามหลักสูตร ทำให้กิจกรรมยังไม่บรรลุเป้าหมายในขณะนี้ ความหวังที่จะให้เด็กได้คิดวิเคราะห์เป็นจึงยังไม่เกิดขึ้น ระดับความสำเร็จเบื้องต้นในแต่ละสถาบันการศึกษาไม่เท่ากัน เนื่องจากขีดความสามารถของแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน การวางยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติของแต่ละโรงเรียนยังแตกต่างกัน ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการ ศธ. พล.อ.ดาว์พงษ์ ท่านเข้าใจปัญหาได้ดี ยังจะต้องแก้ไขปัญหาเป็นจุดๆ ไป

การ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" เป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์กร (Organization Culture) มีผลกระทบไปถึงวิถีชีวิต (Way of Life) ของโรงเรียน ของครู ของเด็ก ของผู้ปกครอง ของชุมชน จึงเกิดอาการช็อกทางวัฒนธรรม (Culture Shock) ขึ้น เกิดการต่อต้านหรือเกิดแรงเสียดทาน แต่จะเป็นปัญหาในระยะแรกเริ่มเท่านั้น พฤติกรรมการต่อต้านที่พบ เช่นคำพูดที่ว่า "ลดเวลาเรียน เพิ่มภาระให้ครู, ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเล่นให้เด็ก, ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลามั่วให้ทั้งครูและเด็ก" แม้หลายโรงเรียนจะพยายามแสวงหายุทธศาสตร์จัดวางกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง แต่ปัญหาอาการช็อกต่อวัฒนธรรมใหม่ ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

ก่อนมีนโยบายนี้ นักเรียนเรียนวันละ 7-8 คาบ พอลดเวลาเรียน เรียนวันละ 6-7 คาบ เคยเรียนวันจันทร์-ศุกร์ จนถึงเวลา 16.00 น. ทุกวัน เปลี่ยนเป็นเรียนถึงเวลา 14.30 น. แล้วให้นักเรียนทุกคนได้เข้าร่วมกิจกรรมชมรมในภาคบ่ายวันละ 2 ชั่วโมง ถึงเวลา 16.00 น.นั้น คือการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต คือการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร อาการช็อกทางวัฒนธรรมใหม่จึงเกิดขึ้นเป็นสัญชาตญาณปกติของมนุษย์

การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ครั้งนี้ แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ แต่จะส่งผลกระทบไปถึงการลดคาบเรียนในบางรายวิชา ส่งผลไปถึงการปรับลดเนื้อหาในรายวิชาต่างๆ ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปหลักสูตร ปรับเนื้อหาวิชาในหลักสูตรให้มีความเหมาะสม และจะส่งผลไปถึงการปฏิรูปการวัดผลการศึกษาด้วย

การปฏิรูปหลักสูตรจึงเป็น "ไฟลต์บังคับ" ที่จะทำให้เกิดคลื่นลูกใหญ่ สึนามิการปฏิรูปการศึกษาตามมา นั่นคือขบวนการปฏิรูปการศึกษาจะเกิดขึ้นทั้งระบบ โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ไปสู่ระบบใหญ่ๆ ทั้ง ครม. รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และนักการศึกษาในทุกระดับจะต้องออกแรงประชาสัมพันธ์นโยบายให้สังคมเกิดความตระหนัก เกิดการยอมรับและเห็นด้วยกับนโยบายนี้เพื่อให้ลดแรงเสียดทาน แล้วการเปลี่ยนแปลงในเชิงการปฏิรูปก็จะเกิดขึ้นทั้งระบบ

ประเทศที่จัดกิจกรรมชุมนุมวิชาการประสบผลสำเร็จ เช่น ญี่ปุ่น ที่คุณฟูจิ ฟูจิซาจิ นำเสนอในรายการ "ดูให้รู้" ผ่านยูทูบให้คนไทยได้ดูทั่วประเทศ พบว่าในแต่ระดับการศึกษาของญี่ปุ่นจะจัดกิจกรรมชมรมนักเรียนเพื่อ ฝึกอบรมปลูกฝังนิสัยเด็ก มีวัตถุประสงค์ต่างกันออกไป

ระดับประถมศึกษา กิจกรรมจะเน้นให้เด็กรู้จักช่วยตนเอง จะมุ่งพัฒนาร่างกาย จิตใจ สมอง ปลูกฝังความมีระเบียบ มีวินัย มีความรับผิดชอบ ความอดทน รักษาความสะอาด ทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือคนอื่น โรงเรียนจะใช้ทั้งกิจกรรมประจำวันและกิจกรรมชมรมนักเรียนอบรมเด็ก ชมรมจะมีอยู่สองลักษณะคือ ชมรมที่ใช้กำลัง ได้แก่ ชมรมกีฬาต่างๆ เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล บาสเกตบอล เทนนิส ฯลฯ และชมรมที่ไม่ต้องใช้กำลัง เช่น ชมรมดนตรี ชมรมศิลปะ ชมรมวิชาการต่างๆ เป็นต้น เด็กจะมีความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรม ทุกคน

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นของญี่ปุ่น กิจกรรมชมรมจะเป็นการส่งเสริมให้เด็กได้ "รู้จักค้นหาตนเอง" เด็กวัยนี้มีพลังมาก จะต้องค้นหาเส้นทางชีวิตของตนเองให้เจอ ครูจะใช้กิจกรรมกระตุ้นให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมชมรมทำงานอย่างสร้างสรรค์ กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น นักเรียนแทบทุกคนอยากเข้าร่วมกิจกรรมชมรม ครูจะต้องสนับสนุนจุดเด่นของเด็กแต่ละคนอย่างเต็มที่ ในชุมชนยังมีกิจกรรมชุมชนให้เด็กได้เข้าร่วมในบางแห่ง นักเรียนทุกคนในวัยนี้ต้องได้เรียนรู้ ได้ซ้อมรับมือแผ่นดินไหว ซ้อมการดับเพลิง ซ้อมการปฐมพยาบาล ผู้ปกครองและครูจะเป็นกลุ่มบุคคลที่เข้ามาช่วยเหลือเด็กทำกิจกรรมใน วันหยุด

กิจกรรมชมรมที่จัดในภาคบ่าย จัดใน 2 ลักษณะ คือ กลุ่มที่ 1 เป็นชมรมที่ใช้การออกกำลังกาย เช่น ชมรมกีฬาประเภทต่างๆ เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส วอลเลย์บอล เป็นต้น กลุ่มที่ 2 คือ ชมรมที่ไม่ต้องใช้แรงมาก เช่น ชมรมดนตรี ชมรมศิลปะ ชมรมวิชาการต่างๆ เช่น ชมรมวิทยาศาสตร์ ลักษณะการเข้าร่วมกิจกรรมชมรมจะมีการวางแผนการเล่นทุกครั้ง การวางแผนที่จะเอาชนะคนอื่น การให้ทำงานเป็นทีม ให้ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น กิจกรรมต้องสอนให้เด็กเอาชนะอุปสรรคให้ได้ การฝึกซ้อมหนักทำให้ตนเองแกร่ง เล่นกีฬาให้สนุก ทุกคนทำกิจกรรมอย่างมีเป้าหมาย มุ่งมั่น ใจสู้ ขยัน อดทน กิจกรรมชมรมจะเป็นเสมือนครึ่งหนึ่งของชีวิตเด็ก การได้ร่วมเข้าชมรมทำให้ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เด็กจึงไม่มีเวลาไป เล่นเกม

ในช่วงปิดเทอมต้นเด็กชั้น ม.2 ทุกคนจะได้ไปฝึกงานจำนวน 5 วัน การไปฝึกงานจะต้องมีการวางแผน เด็ก-ผู้ปกครองต้องมองหาสถานที่ฝึกงานไว้ตั้งแต่อยู่ชั้น ม.1 โรงเรียนจะต้องประสานงานกับสถานที่ฝึกงานในชุมชนไว้ให้เด็กได้เลือกหลายๆ แห่ง ก่อนไปฝึกงาน เด็กจะต้องได้ฝึกให้รู้จักการทำงานกับผู้ใหญ่ก่อน

เด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย กิจกรรมชมรมจะเป็นการเตรียมตัวเด็ก "เรียนรู้สู่อนาคต" นักเรียนจะเรียนหนัก ขยัน ตรงต่อเวลา การเรียนในห้องจะเป็นการสัมมนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเข้าร่วมกิจกรรมชมรม จะเป็นสิ่งที่ปลูกฝังลักษณะนิสัย การให้เด็กทำงานเป็นทีม รู้จักคิด รู้จักการวางแผน รู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ชมรมก็ยังแบ่งเป็น 2 ลักษณะเหมือนมัธยมต้นคือ กลุ่มที่ใช้กำลังเช่นชมรมกีฬาต่างๆ และกลุ่มที่ใช้ทักษะทางวิชาการ เช่น ดนตรี ศิลปะ สุนทรียศิลป์และชมรมวิชาการต่างๆ เลิกเรียนแล้วเด็กยังต้องอยู่โรงเรียนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมชมรมต่อ หรือเรียนกิจกรรมพิเศษ เช่น ยูโด การเข้าร่วมชมรมเด็กทุกคนมีความกระตือรือร้น สนุก โรงเรียนจะมีครู มีโค้ชดูแลอย่างใกล้ชิด

การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์กร ต้องใช้เวลา ทุกคนต้องอดทน ผู้บริหารโรงเรียนและครูต้องพยายาม การวางกลยุทธ์ของโรงเรียน ออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนของตนเพื่อรองรับนโยบายของกระทรวงให้ได้

วันก่อนได้คุยกับครูชาวฟิลิปปินส์ที่มาสอนในประเทศไทย เขาบอกว่าทำไมเด็กไทยจึงเรียนวิชาการต่างๆ มากมายในแต่ละวันจนเด็กรับไม่ได้ วิชาที่เรียนไม่มีประโยชน์ ไม่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของ ผู้เรียนเลย เด็กไทยจึงขาดความกระตือรือร้นในการเรียน การร่วมกิจกรรมชุมนุมก็ไม่น่าสนใจ ไม่สนุก ไม่กระตุ้นให้เด็กอยากเข้าร่วม

วัฒนธรรมองค์กรในโรงเรียนของเรายังไม่ส่งเสริมการสร้างบรรยากาศให้เกิดความกระตือรือร้นเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม เพราะชุมนุมที่จัดยังไม่มีความหมายต่อเด็ก ครูยังรู้สึกว่าเป็นภาระงานเพิ่ม

การปฏิรูปหลักสูตรจึงต้องกระทำทุกระดับ ปรับให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของผู้เรียน ต้องทำอย่างต่อเนื่อง การปฏิรูปการสอนต้องปรับปรุงวิธีสอนทุกรายวิชา เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ หรือวิชาลูกเสือก็ต้องปฏิรูป ส่วนการปฏิรูปการวัดประเมินผล ยิ่งจำเป็นต้องปฏิรูป เฉพาะข้อสอบที่เป็นปรนัยหรือข้อสอบเลือกตอบ หรือ Multiple Choice ต้องลดลงหรือยกเลิกไปเลย เพราะข้อสอบแบบนี้ไม่สามารถวัดทักษะ วัดความชำนาญการได้จริง มีคนพูดว่า ถ้าให้ลิงชิมแปนซีมากาข้อสอบปรนัย ลิงก็สามารถกาถูกได้มากถึง 30% ในประเทศเพื่อนบ้านเราหลายประเทศ เช่น เวียดนาม เขาก็เลิกใช้ข้อสอบแบบปรนัยสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในหลายวิชาแล้ว เยอรมนีก็เลิกใช้ ส่วนในอังกฤษก็บอกว่าเขาไม่นิยมใช้กันแล้ว

นพ.ดร.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะปฏิรูปการวัดผลการศึกษา บอกจะยกเลิกการสอบด้วยข้อสอบแบบ Multiple Choice ขอสนับสนุนเต็มที่ครับ และสนับสนุน พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ที่จัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV ที่ช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปให้เกิดผลได้จริง ท่านเดินทางมาใกล้ถึงตัวเด็กแล้วครับ

 

ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 21 ม.ค. 2559 (กรอบบ่าย)