ผู้เขียน หัวข้อ: ความเชื่อ ตะเพียนสาน สิริมงคลของเด็กแรกเกิด  (อ่าน 9329 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3834


        ปลาตะเพียน สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีของเล่นในยุคดิจิตอล อาจจะดูห่างไกลจากความคุ้นเคย อีกทั้งปลาตะเพียนที่เป็นอาหารของคนไทยมาแต่ดั้งเดิม ก็ไม่ค่อยเป็นปลาขึ้นโต๊ะ ตั้งสำรับสำหรับคนยุคใหม่สักเท่าไร ความไม่นิยมรับประทานปลาตะเพียนอาจเป็นเพราะ ก้างปลาที่มีอยู่มากมายจนหลายคนคร้านที่จะกินปลาชนิดนี้
       
       เด็กอ่อนสมัยก่อน ครั้งที่เกิดใหม่ๆ เด็กจะนอนอยู่กับเบาะนุ่มๆ บ้างก็นอนเปล ไกวเปลไปมาให้ผู้เป็นแม่ร้องเพลงกล่อมลูก ชวนให้เคลิ้มหลับได้ง่ายๆ

       เปลเด็กสมัยก่อนก็มีหลายแบบด้วยกันนะคะ แต่สิ่งหนึ่งที่มักจะอยู่คู่กับเปลเด็กอ่อน ก็คือ ปลาตะเพียนสานนั่นเอง เพราะผู้ใหญ่ จะใช้ปลาตะเพียนแขวน เป็นทั้งของเล่นให้เด็กเพลิดเพลิน นอนมองปลาพลิ้วไหวไปตามแรงลมอ่อนๆ อีกทั้งปลาตะเพียนแขวน ยังเป็นเครื่องช่วยทดสอบความปกติของสายตาเด็กและยังช่วยฝึกกล้ามเนื้อตาให้เด็กอีกด้วยค่ะ
       
       ปลาตะเพียนแขวนเหนือเปลในสมัยก่อนนั้นเป็นที่นิยมกันมากค่ะ ส่วนใหญ่จะทำเป็นแม่ปลาตัวใหญ่ และมีลูกหลานตัวเล็กตัวน้อยห้อยระย้า ลงมาอีกหลายตัวลดหลั่นลงมา
       
       โดยธรรมชาติของปลาตะเพียนแล้ว จัดว่าเป็นสัตว์น้ำที่รักสงบ ชอบอยู่รวมกัน และเป็นปลาที่ปราดเปรียวว่องไว ไม่อยู่นิ่ง ชอบว่ายน้ำตลอดเวลา อีกทั้งยังเป็นปลาที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดีอีกด้วย
       
       ดังนั้น คนไทยโบราณจึงมีความเชื่อกันมาค่ะว่า หากแขวนปลาตะเพียนเอาไว้ จะเป็นสิริมงคลสำหรับเด็กและทำให้เด็กผู้นั้น เติบโตมีสุขภาพแข็งแรง มีฐานะมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ เสมือนปลาตะเพียนในฤดูข้าวตกรวงซึ่งเป็นช่วงที่โตเต็มที่
       
       บ้างก็มีความเชื่อว่า ปลาตะเพียนเป็นสิ่งสิริมงคล ทำให้เงินทองไหลมาเทมา บ้างก็ว่า หากบ้านไหนแขวนปลาตะเพียนไว้หน้าบ้านจะทำให้บ้านนั้นมั่งมีศรีสุข ทำมาค้าขึ้น นอกจากนี้ ปลาตะเพียน ยังมีนัยยะ ที่บ่งบอกถึงเรื่องความขยันหมั่นเพียร อีกด้วย
       
       ปลาตะเพียนใบลาน หรือการนำเอาใบลานมาสานเป็นรูปปลาตะเพียนนั้น ถือว่าเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านไทยที่สืบต่อกันมา นับร้อยปีแล้วค่ะ ปัจจุบันปลาตะเพียนถูกเติมแต้มสีสันให้สวยสดงดงาม เพื่อดึงดูดใจเป็นสินค้าเครื่องแขวนที่ดูมีราคาไปแล้ว
       
       แหล่งที่ทำปลาตะเพียนสาน ขึ้นชื่อมากที่สุด เห็นจะเป็นชุมชนมุสลิมในท้องที่ท่าวาสุกรี บ้านหัวแหลม จังหวัดอยุธยานะคะ เพราะที่นี่เขาทำสืบทอดต่อเนื่องกันมานับร้อยปีแล้วล่ะค่ะ อีกทั้งปัจจุบันนี้ ที่นี่ยังเป็นแหล่งผลิตปลาตะเพียนที่ใหญ่ที่สุดของไทยเราอีกด้วย
       
       จะว่าไปแล้วการนำปลาตะเพียนมาสานเป็นของเล่นให้กับเด็กสมัยก่อนนั้น ก็เพราะว่า คนไทยแต่เดิมมีความคุ้นเคยใกล้ชิดกับปลาตะเพียนมานาน จนถือเอาว่าปลาตะเพียนนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ตามความเชื่อนี้เอง จึงมีผู้นำเอาใบลานแห้งมาสานเป็นตัวปลาตะเพียนขนาดต่าง ๆ ผูกเป็นพวง เพื่อนำไปแขวนไว้เหนือเปลเด็กอ่อน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เด็กคนนั้น แต่เดิมปลาตะเพียนสานมีเพียงสีธรรมชาติที่เป็นใบลานเท่านั้นค่ะ ที่นำมาตกแต่งลวดลายเตมสีสันนั้นเพิ่งจะมาเริ่มทำเอาในรัชกาลที่ 5 ของไทยเรานี่เอง
       
       ปลาตะเพียนสาน เป็นเครื่องแขวนที่ประกอบด้วย ชิ้นส่วนสำคัญ 6 ชิ้น ก็คือ กระโจม แม่ปลา กระทงเกลือ ปักเป้า ใบโพธิ์ และ ลูกปลา หากจะใช้สีธรรมชาติ ก็ต้องพิถีพิถันในการเลือกใบลานที่มีผิวสวยเรียบค่อนข้างขาว แต่หากจะแต้มสีสันก็ไม่จำเป็นต้องพิถีพิถันมากนัก
       
       แม้ว่าปลาตะเพียนจะลดความนิยมไปแขวนให้เด็กอ่อนลงไปมาก กลับกลายเป็นสินค้าที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวไป แต่ดิฉันเองก็เชื่อว่า หลายคนยังคงนึกถึงวัยเด็กของตัว ที่จะมีปลาตะเพียนประจำตัว แขวนอยู่จนกระทั่งโตขึ้นมานะคะ บางที การมองสิ่งประดิษฐ์จากธรรมชาติเช่น ปลาตะเพียนสาน อย่างนี้ อาจเป็นสิ่งบ่มเพาะให้เด็กๆ มีจิตใจที่ละเอียดอ่อน และอ่อนโยนกับสิ่งรอบข้างก็เป็นได้ค่ะ
       
       และด้วยความเชื่อเหล่านี้เอง ที่ทำให้ปลาตะเพียนยังคงเป็นหนึ่งในร้อยตำนานไทย สืบมาจนปัจจุบัน


ที่มา :http://www.dek-d.com/board/view/1017802/