ผู้เขียน หัวข้อ: ไอเดีย...โครงสร้างศธ.ใหม่ สลาย 5แท่งหวนสู่ "กรม" !!  (อ่าน 1290 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
ไอเดีย...โครงสร้างศธ.ใหม่ สลาย 5แท่งหวนสู่ "กรม" !!

          เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ


          ส่งสัญญาณอยู่เป็นระยะสำหรับ "บิ๊กหนุ่ย" พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการะทรวงศึกษาธิการ ว่าพร้อมรับฟังเสียงของข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใครเสนออะไรมาก็พร้อมหยิบขึ้นมาพิจารณาให้ ซึ่งก็เห็นจริงตามนั้น...

          อย่าง "การปรับโครงสร้าง ศธ." รูปแบบใหม่ ที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ บอกว่าไม่ได้คิดเอง แต่มีข้อเสนอจากคนใน ศธ. แต่ก็ได้ซุ่มดำเนินการเรียกผู้บริหาร 5 องค์กรหลักของ ศธ.มาร่วมถก เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือ ซูเปอร์บอร์ดการศึกษา ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานก่อนตีกลับมาให้ ศธ.ดูอีกครั้ง

          รูปแบบโครงสร้างใหม่ของ ศธ.นั้น สลาย 5 องค์กรหลัก หรือ 5 แท่งและแบ่งระบบโครงสร้างบริหารเป็นกรม คล้ายในอดีตก่อนเมื่อครั้งมี 14 องค์ชาย หรือ 14 กรม ก่อนจะปรับโครงสร้าง ศธ.ครั้งใหญ่ออกเป็นพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 เหตุผลว่าการทำงานที่เป็นอยู่เทอะทะ ไม่เป็นเอกภาพ !!

          พล.อ.ดาว์พงษ์ ชี้แจงว่า รูปแบบโครงสร้าง ศธ.ครั้งนี้ อาจเหมือนถอยหลังไปสู่ยุค 14 กรม แต่ไม่ใช่ยกมาทั้งดุ้น เพราะการปรับได้ดูทั้งโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และความเชื่อมโยงควบคู่กันไป โดยเวลานี้เห็นแล้วว่า การทำงานของ ศธ.ขาดความเชื่อมโยงและการขับเคลื่อน ดังนั้นจะมาบอกว่าปรับถอยหลัง โดยไม่ได้ดูสิ่งเหล่านี้คงไม่ใช่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มองอะไรบางอย่างไว้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ไม่อยากพูดตามใจตนเอง เพราะจะกลายไปชี้นำ

          โครงสร้าง ศธ.ใหม่..วางในรูปแบบที่เรียกว่า "ซิงเกิล คอมมานด์" มี "รมว.ศึกษาธิการ"  ดูแลนโยบายในภาพรวม มี "ปลัด ศธ." เป็น ผู้บริหารระดับสูงเพียงคนเดียว แยกการทำงาน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้น พื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ออกเป็น 6 กรม 2 สำนัก คือ สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กรมวิชาการ กรมการศึกษานอกโรงเรียน กรมการปฐมวัยและประถมศึกษา กรมการมัธยมศึกษา กรมการศึกษาพิเศษ และกรมอาชีวศึกษา

          นอกจากนี้กำหนดให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค 1-19 ซึ่งเป็นการแบ่งตามกลุ่มจังหวัดของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด ทำงานเชื่อมโยงกับสำนักงานระดับจังหวัด คือ สำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานปฐมวัยและประถมศึกษาจังหวัด สำนักงานมัธยมศึกษาจังหวัด สำนักงานการศึกษาพิเศษจังหวัด สำนักงานอาชีวศึกษา ทำงานประสานไปยังสถานศึกษาต่างๆ

          อย่างไรก็ดี จุดเด่นของโครงสร้าง ศธ.ใหม่ จะมี "ศึกษาธิการภาค" เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวง ไปสู่การปฏิบัติและบริหารจัดการในพื้นที่ให้เกิดการบูรณาการ โดยมี "คณะกรรมการการศึกษาจังหวัด" และ "สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด" เป็นผู้ดูแล ทำให้กระทรวงสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกันทั้งระดับภาค และจังหวัด มีลำดับชั้นของการบริหารจัดการและสายบังคับบัญชาที่ชัดเจน การบริหารบุคคลมี "การตรวจสอบ" และ "ถ่วงดุล" ทั้งในระดับจังหวัดและระดับภาค

          ทั้งนี้ รูปแบบโครงสร้าง ศธ.ใหม่จะมีองค์กรหลักที่หายไป 2 แท่ง อันได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่จะย้ายไปขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เวลานี้ "ดร.กมล รอดคล้าย" เลขาธิการ สกศ.ระบุว่า อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด และศึกษาแนวทางเพิ่มเติมตามโจทย์ของนายกฯ คาดว่าจะแล้วก่อนการปรับเสร็จเร็วๆ นี้

          ถัดมา..สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่เตรียมแยกออกไปตั้งเป็น "กระทรวงอุดมศึกษา" ซึ่ง "น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์" เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) บอกว่า ที่ผ่านมามีเสียงสนับสนุนทั้งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหลายคนที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้แยก สกอ.ออกจาก ศธ.เพื่อสามารถสนับสนุนมหาวิทยาลัยได้เต็มที่ โดยสถานะเทียบเท่ากระทรวง แต่จะเรียกชื่อเป็น กระทรวง หรือทบวง ยังต้องรอความชัดเจน แต่ที่ยืนยันได้คือต่อให้แยกออกมา ความเชื่อมโยงกับการศึกษาระดับพื้นฐานและอาชีวศึกษาจะ ไม่สะดุดแน่นอน

          ขณะที่ สอศ.แม้จะยังรวมในโครงสร้างแต่มีสถานะเป็นเพียงกรมการอาชีวศึกษาเท่านั้น "ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์" เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) ย้ำจุดยืนว่า สอศ.ยังขอยืนสถานะองค์กรหลักของ ศธ. เช่นเดิม แต่จะปรับโครงสร้างภายในเป็น 4 กรม มีสถานะเป็นนิติบุคคล คือ กรมอาชีวศึกษารัฐ กรมอาชีวศึกษาเอกชน กรมสถาบันการอาชีวศึกษา และกรมมาตรฐานและความร่วมมือ นอกจากนี้มีหน่วยงานระดับภาคและกลุ่มจังหวัด มีอาชีวศึกษาจังหวัดเป็นตัวเชื่อมกับหน่วยงานการศึกษาอื่นๆ แต่ไม่อยู่ในการบังคับบัญชา อย่างไรก็ตาม โครงสร้างที่สอศ.เสนอนั้น ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากสถานศึกษา ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เห็นพ้องว่าความสำเร็จของ สอศ.ในเวลานี้เป็นผลจากโครงสร้างปัจจุบัน

          ด้าน "นายการุณ สกุลประดิษฐ์" เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มีความเห็นว่า การปรับโครงสร้าง สพฐ.ที่เป็นกรมปฐมวัย กรมมัธยมศึกษา กรมการศึกษาพิเศษ และกรมวิชาการนั้น มีความเหมาะสม โดยระบุว่า เห็นด้วยกับโครงสร้างดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบัน สพฐ.เป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่เทอะทะ แต่หากมีการปรับปรุงจะทำให้การทำงานรวดเร็วเกิดผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในภาพรวม เกิดความชัดเจนในการบริหารงาน

          เวลานี้ "พล.อ.ดาว์พงษ์" ได้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนบทบาท ภารกิจ และโครงสร้างของ ศธ. มี "รศ.นพ.กำจร ตติยกวี" ปลัด ศธ.เป็นประธานและคณะทำงาน 36 คน มีหน้าที่ในการวิเคราะห์ ทบทวนบทบาท ภารกิจ อำนาจหน้าที่ และโครงสร้าง ศธ. ซึ่งเพิ่งถกข้อคิดเห็นไปเมื่อเร็วๆ นี้ เบื้องต้นย้ำไม่เพิ่มคน ไม่เพิ่มเงิน และการบริหารงานต้องคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ไม่ใช้คำว่า "กระจายอำนาจ" แต่จะเพิ่มความเป็นอิสระให้สถานศึกษา โดยได้มอบให้แต่ละองค์กรหลักไปวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของโครงสร้าง

          ปัจจุบัน และเสนอมาด้วยว่า หากมีโครงสร้างใหม่จะแก้ปัญหาที่เจอได้อย่างไร พร้อมกำหนดไทม์ไลน์จะสรุปโครงสร้าง ศธ.ภายในเดือนธันวาคม 2558 เพื่อจะได้เสนอเข้าสู่ ซูเปอร์บอร์ดการศึกษาของนายกฯ   แม้ตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าโครงสร้าง ศธ.จะเป็นรูปแบบใด แต่จากบทเรียนในอดีตอาจทำให้เราต้องตระหนักด้วยว่า กว่าการเปลี่ยนแปลงจะเข้ารูปเข้ารอยต้องใช้เวลาไม่น้อย เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการทำงานและอัตรากำลังคน ที่สำคัญเรื่องของตำแหน่งหน้าที่ เพราะฉะนั้นคงต้องฟังเสียงให้รอบด้าน รวมไปถึงความคุ้มค่า...ต่อระบบการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

          ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก