ผู้เขียน หัวข้อ: การแนะแนวการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  (อ่าน 2800 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
บทนำ

          การจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการจัดการศึกษาเพื่อประชาชนทุกคน ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาตามความสนใจ ความถนัด และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน รูปแบบวิธีการและกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จึงมีหลากหลายทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด

          จากความหลากหลายของกลุ่มเป้าหมาย และกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยดังกล่าว จำเป็นจะต้องมีกระบวนการแนะแนวเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนและประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ได้รู้จักตนเองอย่างท่องแท้ รู้จักชุมชนแวดล้อมอย่างลึกซึ้ง และมีข้อมูลข่าวสาร เพียงพอที่จะวิเคราะห์ และตัดสินใจกำหนดทางเลือกในการศึกษา การประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิตของตนเองได้อย่างเหมาะสม เจริญก้าวหน้า และสามารถพึ่งพาตนเองได้

ความหมาย

          การแนะแนวการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง กระบวนการที่จัดขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการ รู้ถึงความสามารถ ความสนใจของตนเอง เข้าใจสิ่งแวดล้อม สามารถเลือกและตัดสินใจได้ว่าตนเองควรจะศึกษาด้านใด ประกอบอาชีพอะไร หรือควรดำเนินชีวิตอย่างไรได้อย่างเหมาะสม และสามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และมีความสำเร็จในชีวิต

วัตถุประสงค์/เป้าหมาย

1) เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นกับบุคคล (Preventive Approach)
2) ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น (Curative Approach)
3) ส่งเสริมและพัฒนาบุคคล (Developmental Approach)

หลักการแนะแนว

1) การแนะแนวต้องจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษา หรือการให้บริการโดยสอดแทรกอยู่ในกระบวนการเรียนการสอน หรือการให้บริการทุกกิจกรรม
2) การแนะแนวเป็นหน้าที่ของผู้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน หรือผู้ให้บริการทุกคนที่จะต้องดำเนินการร่วมกัน และมีการประสานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาทุกคน โดยเฉพาะชุมชน
3) การแนะแนวจะต้องจัดสำหรับผู้เรียนและผู้รับบริการทุกคนไม่ใช่จัดให้เฉพาะผู้เรียนหรือผู้รับบริการที่มีปัญหาเท่านั้น และต้องจัดให้คลอบคลุมทั้งด้านการศึกษา อาชีพ และบุคลิกภาพ
4) การแนะแนวต้องจัดอย่างต่อเนื่อง ควรมีแผนปฏิบัติการแนะแนวที่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับปัญหา ความต้องการในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
5 ) การแนะแนวควรมีข้อมูลและสารสนเทศ ที่ใช้ในการแนะแนวทุกด้านตรงตามความเป็นจริง และเป็นปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยเหลือผู้เรียนหรือผู้รับบริการได้ตรงความต้องการ
6) การแนะแนวจะต้องสามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการนำตนเองและพึ่งตนเองได้
ขอบข่ายของการแนะแนวการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

1) ประเภทของ การแนะแนว แบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1.1) แนะแนวทางการศึกษา (Education Guidance) การแนะแนวทางการศึกษา เป็นกระบวนการของการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทางด้านการศึกษา ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการทราบถึงแนวทางการเข้ารับการศึกษา แนวโน้มของการศึกษา โอกาสของการศึกษาในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการ สามารถเลือกแนวทางการศึกษา ได้อย่างเหมาะสมกับความสามารถทางสติปัญญา ความถนัด ความสนใจ ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกประกอบอาชีพในอนาคต
1.2) แนะแนวทางอาชีพ (Vocational Guidance) การแนะแนวทางอาชีพ เป็นกระบวนการของการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกของงานอาชีพ แนวทางและโอกาสของการประกอบอาชีพแต่ละอาชีพ การแนะแนวทางอาชีพ จะช่วยให้ผู้เรียน ผู้รับบริการรู้จักศึกษาโลกของงานอาชีพ รู้จักเตรียมตัวทางด้านอาชีพ และช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการเลือกงานอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง สามารถวางแผนการประกอบอาชีพได้ ซึ่งจะทำให้ทำงานอาชีพได้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย และมีความสุขกับการทำงาน
1.3) การแนะแนวทางด้านสังคมส่วนตัว (Personal Social Guidance) การแนะแนวทางด้านสังคมส่วนตัว เป็นกระบวนการของการให้ความช่วยเหลือผู้เรียนหรือผู้รับบริการ ให้รู้จักปฏิบัติตนที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เป็นผู้ที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี มีความเข้าใจตนเองและผู้อื่น สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น รู้จักทำตนให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและบุคคลอื่น

2) บริการแนะแนว 5 บริการ

2.1) บริการศึกษาและรวบรวมข้อมูล (Individual Inventory Service) หมายถึง การศึกษาสำรวจ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียนทางด้านการศึกษา อาชีพ บุคลิกภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และจัดระบบแล้วจะทำให้ผู้แนะแนวได้รู้จักผู้เรียน และสามารถให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนาได้อย่างถูกต้อง สามารถช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการเข้าใจตนเอง และยอมรับตนเอง
2.2) บริการสนเทศ (Information Service) หมายถึง การให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนา เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากบริการศึกษาและรวบรวมข้อมูล จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลข่าวสารความรู้ตรงกับความต้องการ ในการส่งเสริม พัฒนา ตลอดจนแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม
2.3) บริการให้คำปรึกษา (Counseling Service) หมายถึง การให้ความช่วยเหลือ ความใกล้ชิด ความอบอุ่น ความมั่นใจ สติปัญญา ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถตัดสินใจ และเลือกได้อย่างฉลาด ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพปัญหา ความต้องการ ความจำเป็น ซึ่งการให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นจะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง ลึกซึ้งอย่างเพียงพอ
2.4) บริการจัดวางตัวบุคคล (Placement Service) หมายถึง บริการที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถดำเนินการตามที่ตัดสินใจเลือกไว้ เช่น ได้เรียนในวิชาหรือประกอบอาชีพที่เลือกไว้ เป็นต้น
2.5) บริการติดตามและประเมินผล (Follow ? up Service) จัดทำขึ้นเพื่อดำเนินการติดตามผลผู้เรียนภายหลังจากที่ได้รับบริการแนะแนวไปแล้วว่าได้ประโยชน์มากน้อยเพียงไร นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้จัดบริการแนะแนวได้ทราบว่าบริการต่าง ๆ ที่จัดขึ้นนั้น ได้ผลมากน้อยเพียงใด มีจุดเด่นอะไรบ้าง และมีจุดอ่อนที่จะต้องรีบปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

3) รูปแบบการให้บริการแนะแนว

3.1) การให้บริการทางโทรศัพท์
3.2) การให้บริการทางเครือข่าย Internet
3.3) การให้บริการโดยสื่อเอกสารและอิเล็กทรอนิกส์
3.4) การให้บริการโดยสื่อประชาสัมพันธ์
3.5) การให้บริการเป็นรายกลุ่ม-รายบุคคล
3.5.1) ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำ (Guidance Center)
3.5.2) หน่วยงานแนะแนวเคลื่อนที่

ที่มา :  อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล:  http://panchalee.wordpress.com/2009/03/27/advice/