ผู้เขียน หัวข้อ: การจัดการนิเทศการศึกษาภายในสถานศึกษา  (อ่าน 3710 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
               
                คำว่า การนิเทศการศึกษาภายในโรงเรียน เป็นคำศัพท์ที่เรียกกันภายในระบบการศึกษาของประเทศไทยเท่านั้น สำหรับในต่างประเทศจะไม่ใช้คำศัพท์นี้แต่จะมีคำศัพท์ที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่านิเทศภายในโรงเรียนของไทยเราก็คือ คำว่า Personalized Supervision (Berman and Usery, 1966)

                การที่ระบบการจัดการนิเทศการศึกษาในประเทศไทยได้มีการตั้งชื่อการนิเทศ การศึกษาภายในโรงเรียนขึ้นมานั้นก็เพื่อให้เกิดความแตกต่างเกี่ยวกับความรับผิดชอบในการจัดการนิเทศการศึกษา ทั้งนี้เนื่องจาก การนิเทศการศึกษาในระบบการศึกษาของไทยนั้นได้เริ่มเป็นที่รู้จักคุ้นเคยในฐานะที่เป็นงานของศึกษานิเทศก์ ซึ่งเป็นตำแหน่งของบุคลากรที่อยู่ภายนอกสถานศึกษา และประการสำคัญสมัยก่อนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถยังมีจำนวนจำกัด ครูผู้สอนอยู่ในโรงเรียนต่างๆ ส่วนใหญ่ก็มีวุฒิทางครูค่อนข้างต่ำ ดังนั้นการช่วยเหลือและพัฒนาครูประจำการให้มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นนั้นจึงต้องอาศัยศึกษานิเทศก์ซึ่งกรมที่มีสถานศึกษาได้จัดตั้งขึ้นสำหรับทำหน้าที่นิเทศครูในสถานศึกษาของตนเองโดยเฉพาะ โดยเหตุนี้ในสังคมไทยจึงมีความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า การนิเทศการศึกษา ในฐานะงานของศึกษานิเทศก์ซึ่งเป็นบุคลากรที่อยู่ภายนอกสถานศึกษา

                จุดกำเนิดของคำว่า การนิเทศภายในสถานศึกษา ได้เริ่มขึ้นเนื่องจากการพัฒนาบุคลากรในสถานศึกษาต่างๆ โดยศึกษานิเทศก์ภายนอกนั้นเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่ได้ผลเท่าที่ควรเนื่องจากไม่สามารถติดตามให้การนิเทศอย่างสม่ำเสมอได้ ประกอบกับในช่วงระยะหลัง บุคลากรในสถานศึกษาต่างๆมีความรู้สูงขึ้นจึงเห็นสมควรให้บุคลากรภายในสถานศึกษาต่างๆดำเนินการนิเทศกันเอง เป็นการแบ่งเบาภาระของศึกษานิเทศก์ซึ่งอยู่ภายนอก และเป็นการเร่งการพัฒนาคุณภาพบุคลากรประจำการให้เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ในช่วงเวลาต่อมาได้มีการขยายขอบเขตของการนิเทศภายในสถานศึกษาออกไปอีกถึงการนิเทศการศึกษาภายในกลุ่มสถานศึกษาอีกด้วย

1. ความจำเป็นของการจัดการนิเทศการศึกษาภายในสถานศึกษา

                ในภาวะปัจจุบันการนิเทศภายในสถานศึกษามีความสำคัญและจำเป็นยิ่งขึ้นด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ (สงัด   อุทรานันท์ ,2524)
 
                1. ศึกษานิเทศก์โดยตำแหน่งมีจำนวนจำกัด จึงไม่สามารถสนองความต้องการทางการนิเทศการศึกษาของสถานศึกษาต่างๆ ได้ทั่วถึง
                2. สภาพปัญหาและความต้องการของสถานศึกษาแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน จึงเป็นการยากที่ศึกษานิเทศก์ซึ่งอยู่ภายนอกจะรู้สภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของสถานศึกษาได้ การนิเทศเพื่อสนองความต้องการของสถานศึกษาจึงเป็นไปได้ยาก
                3. ในสภาพปัจจุบันบุคลากรในสถานศึกษาส่วนใหญ่มีความรู้ ความสามารถเพียงพอและบางคนยังมีความชำนาญในเฉพาะสาขาวิชา จึงสมควรจะใช้ทรัพยากรเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และยังเป็นการสร้างการยอมรับซึ่งกันและกันอีกด้วย
                4. เป็นการสอดคล้องกับปรัชญา หลักการ และวิธีการของการนิเทศสมัยใหม่ ซึ่งการนิเทศสมัยใหม่จะเกิดขึ้นโดยความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ใช่จะต้องมีคนมาคอยชี้แนะให้ทำงานอยู่ตลอดเวลา

2. ความเข้าใจเกี่ยวกับการนิเทศภายในสถานศึกษา

                การนิเทศภายในสถานศึกษา เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในสังคมไทยเท่านั้น การกำหนดคำศัพท์ที่ว่า การนิเทศภายใน ขึ้นมาก็เพื่อให้มีความแตกต่างจากการนิเทศการศึกษาที่ดำเนินการโดยศึกษานิเทศก์ซึ่งอยู่ภายนอกสถานศึกษานั่นเอง ดังนั้นการที่จะอธิบายคำศัพท์คำว่า การนิเทศภายใน ก็จะต้องเน้นถึงความแตกต่างของการจัดการนิเทศที่ดำเนินการโดยศึกษานิเทศก์ซึ่งอยู่ภายนอกสถานศึกษา คือ การนิเทศภายในสถานศึกษาจะเป็นกระบวนการทำงานของผู้บริหารสถานศึกษา (หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย) ในการพัฒนาคุณภาพการทำงานของครู และบุคลากรภายในสถานศึกษาเพื่อให้ได้มา ซึ่งสัมฤทธิ์ผลสูงสุดในการเรียนของผู้เรียน

                ในการจัดการนิเทศการศึกษาภายในสถานศึกษาให้ได้ผลนั้น ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้นิเทศควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะการปฏิบัติงานของบุคลากรและควรยึดหลักการสำคัญต่างๆ ดังกล่าวถึงในต่อไปนี้  (สงัด   อุทรานันท์  . 2529 : 200 ? 202)

                 2.1 ความเชื่อพื้นฐานเกี่ยวกับบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในสถานศึกษา
                การจัดการนิเทศการศึกษาภายในสถานศึกษาจะประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี  ถ้าผู้จัดการนิเทศการศึกษามีความเข้าใจถึงธรรมชาติของผู้ปฏิบัติงาน เข้าใจถึงศักยภาพ สภาพพื้นฐานทางจิตใจ ตลอดจนความต้องการของบุคลากรเหล่านั้น สิ่งที่ผู้จัดการนิเทศควรทำความเข้าใจมีดังนี้ คือ

                 1. ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานแต่ละคนมีเกียรติมีศักดิ์ศรี และมีคุณค่าต่อหน่วยงานทัดเทียมกัน
                 2. ผู้ปฏิบัติงานจะมีความสามารถที่จะแก้ปัญหาต่างๆ และตัดสินใจได้อย่างฉลาดโดยอาศัยความร่วมมือกัน
                 3. ผู้ปฏิบัติงานจะมีศักยภาพในการเพิ่มพูนความสามารถของตนเอง
                 4. ถ้ามองผู้ปฏิบัติงานมีความแตกต่างกัน ?
                 5. ผู้ปฏิบัติงานมีแรงจูงใจที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น
                 6. ผู้ปฏิบัติงานมีสมรรถภาพเฉพาะอย่าง มีความปรารถนา และมีความสามารถในการนำตนเองได้
                 7. ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานเป็นแหล่งทรัพยากรเป็นผู้ให้ข้อมูลปฐมภูมิ มีความคิดสร้างสรรค์ มีสติปัญญา และมีทักษะในด้านเทคนิควิธีการทำงาน ดังนั้นเขาเหล่านี้จึงเป็นทรัพยากรสำคัญในการปรับปรุงหน่วยงาน
                 8. หากผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานการศึกษามีการเตรียมตัวเป็นอย่างดีแล้วก็มีโอกาสที่จะเป็นนักการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญได้
                 9. ครูมีหน้าที่รับผิดชอบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ฉะนั้นเขาจึงมีอำนาจเต็มที่ในการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนในแต่ละกลุ่ม
                10. มีความจำเป็นที่จะให้ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางการศึกษามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรและกำหนดนโยบายในการจัดการศึกษา
                11. บุคลากรจะมีอารมณ์เท่าๆ กับการมีเหตุผล ฉะนั้นความรู้สึกของเขาเหล่านั้นจึงมีความสำคัญและจำเป็นจะต้องได้รับการพิจารณา (Lovell and Wiles, 1983, p. 15)
                ถ้าหากผู้จัดการนิเทศการศึกษามีความเข้าใจในสภาพพื้นฐานเกี่ยวกับลักษณะหรือธรรมชาติของผู้ปฏิบัติงานดังกล่าวข้างต้น ก็จะสามารถดำเนินการจัดการนิเทศการศึกษาได้โดยราบรื่น ปราศจากข้อขัดแย้งหรือปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในสภาพการณ์เช่นนี้โอกาสพบความสำเร็จในการนิเทศการศึกษาก็จะเป็นไปได้สูงมาก

                 2.2 หลักการสำคัญสำหรับการจัดการนิเทศการศึกษาภายในสถานศึกษา

                การจัดการนิเทศภายในสถานศึกษาจะต้องยึดหลักการสำคัญต่อไปนี้ (สงัด   อุทรานันท์  . 2529 : 202 ? 203)

                1. ผู้บริหารสถานศึกษาต้องถือว่าการนิเทศการศึกษาเป็นงานในความรับผิดชอบของผู้บริหารสถานศึกษาโดยตรง สำหรับการดำเนินงานนิเทศนั้น ผู้บริหารอาจจะดำเนินการเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทนก็ได้
                2. การนิเทศภายในสถานศึกษาจะสำเร็จลงได้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายผู้บริหาร ผู้นิเทศ และผู้รับการนิเทศ หากขาดความร่วมมือจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การนิเทศจะไม่มีโอกาสพบกับความสำเร็จได้เลย
                3. จะต้องตระหนักถึงความเข้าใจว่าการนิเทศการศึกษาภายในสถานศึกษานั้นเป็นการทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยพัฒนาเพื่อนร่วมงานให้มีความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงานสูงขึ้น การนิเทศไม่ใช่เป็นการบังคับ ขู่เข็ญหรือคอยจับผิดแต่ประการใด
                4. บุคลากรภายในสถานศึกษาต้องมีการยอมรับและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ในสภาพความเป็นจริงแล้วไม่มีใครที่จะมีความเชี่ยวชาญทุกๆ ด้าน ดังนั้นจึงควรจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเชี่ยวชาญให้แก่เพื่อนร่วมงานเพื่อให้ทุกคนในหน่วยงานมีความรู้ความสามารถสูงขึ้น
                5. การนิเทศการศึกษาภายในสถานศึกษาต้องเกิดขึ้นจากความจำเป็นในการแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการ ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา
                6. การสร้างเสริมกำลังใจของผู้บริหาร จะมีผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้นจึงถือว่าการสร้างเสริมกำลังใจของผู้บริหารจะส่งผลต่อความสัมฤทธิผลของการนิเทศในสถานศึกษา

3. ขอบเขตของงานนิเทศการศึกษาภายในสถานศึกษา

                งานวิชาการภายในโรงเรียนที่ผู้บริหารจะต้องรับผิดชอบมี  2  ประเภท คือ

                (1) งานหลัก ได้แก่ หลักสูตร การเรียนการสอน และการวัดและประเมินผลการเรียนการสอน
                (2) งานสนับสนุนวิชาการ ได้แก่ งานเกี่ยวกับอาคารสถานที่ กิจการนักเรียน ธุรการและการเงิน และความสัมพันธ์กับชุมชน ขอบเขตงานที่กล่าวมานี้หากผู้บริหารมีความมุ่งหวังที่จะให้ได้ผลงานของบุคลากรภายใต้การควบคุมดูแลมีคุณภาพก็จำเป็นจะต้องพัฒนาบุคลากรเหล่านี้ ให้มีความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงานจึงจะได้ผลงานที่มีคุณภาพตามความมุ่งหวังที่ตั้งไว้
                เมื่อพิจารณาถึงงานภายในสถานศึกษาที่ครูและบุคลากรจะต้องปฏิบัติ ก็อาจจะกล่าวได้ว่าประกอบด้วยงานต่อไปนี้ (สงัด   อุทรานันท์  . 2529 : 203 ? 206)

                3.1 งานหลัก  เป็นงานสำคัญซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาโดยตรง หากครูและบุคลากรไม่ได้เอาใจใส่ต่องานเหล่านี้ถือว่าเป็นความล้มเหลวที่สุด งานหลักที่ครูและบุคลากรในสถานศึกษาจะต้องปฏิบัติและถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งจะประกอบด้วย

                (1) หลักสูตร ได้แก่

                                 การปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพของท้องถิ่น
                                 การสร้างหลักสูตรเพื่อสนองความต้องการของผู้เรียนท้องถิ่น
                                 การจัดแผนการเรียนการสอน
                                 การจัดทำโครงการสอน
                                 การจัดตารางสอน
                                 การจัดครูผู้สอน
                                 การจัดชั้นเรียน (จัดนักเรียนเข้าแผนการเรียน)
                                 การจัดกิจกรรมในหลักสูตร
                                 การผลิตสื่อและอุปกรณ์การสอน ฯลฯ

                (2) การเรียนการสอน ได้แก่

                                 การพัฒนาเทคนิควิธีการสอน
                                 การพัฒนาเทคนิคในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
                                 การพัฒนาเทคนิคในการใช้สื่อและอุปกรณ์การสอน ฯลฯ

                (3) การวัดและประเมินผลการเรียนการสอน ได้แก่

                                 การสร้างข้อทดสอบ
                                 การวัดและประเมินผล
                                 งานทะเบียนวัดผลและรายงานความก้าวหน้าของนักเรียน ฯลฯ

                3.2  งานสนับสนุนวิชาการ  เป็นงานที่จะช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนให้งานหลักดำเนินไปอย่างมีคุณภาพ งานสนับสนุนวิชาการที่ผู้บริหารอาจจะจัดให้มีการนิเทศเพื่อประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานหลัก ก็คือ

                (1) งานที่เกี่ยวข้องกับอาคารสถานที่ ได้แก่

                                 การใช้ประโยชน์จากบริเวณสถานศึกษา
                                 การใช้อาคารเรียน ห้องเรียน และห้องปฏิบัติการในวิชาต่างๆ
                                 ห้องโสตทัศนูปกรณ์
                                 ห้องแนะแนว ฯลฯ

                (2) งานธุรการเงิน  ได้แก่

                                 การปฏิบัติเกี่ยวกับงานธุรการ
                                 การปฏิบัติเกี่ยวกับงานการเงินและพัสดุ ฯลฯ   

                (3) งานกิจการนักเรียน ได้แก่

                                 กิจกรรมนักเรียน
                                 การบริการด้านสุขภาพอนามัย
                                 โครงการอาหารกลางวัน ฯลฯ

                (4) งานสัมพันธ์ชุมชน  ได้แก่

                                 การศึกษาเกี่ยวกับชุมชน
                                 การบริการชุมชน
                                 สมาคมครูและผู้ปกครอง ฯลฯ

                 การที่จะดำเนินงานนิเทศการศึกษาภายในสถานศึกษาให้ได้ผลนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีความเข้าใจในหลักการของการนิเทศ สิ่งสำคัญประการแรกนั้น จำเป็นจะต้องเข้าใจและแยกให้ออกว่างานใดเป็นงานนิเทศ และงานใดเป็นงานบริหาร หากผู้บริหารให้ครูปฏิบัติงานโดยไม่ได้มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ปฏิบัติงานเลยนั้นไม่ถือว่าเป็นงานนิเทศ การทำความเข้าใจ เรื่องพฤติกรรมการนิเทศกับพฤติกรรมการบริหารนับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จในการจัดการนิเทศการศึกษาภายในสถานศึกษา ทั้งนี้เพราะการจำแนกออกได้ว่างานใดเป็นงานนิเทศและงานใดเป็นงานบริหารจะทำให้ปริมาณของงานที่จะต้องทำการนิเทศมีน้อยลง ผู้บริหารย่อมจะสามารถทุ่มเทความพยายามไปสู่งานนิเทศได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้หากไม่จำแนกงานนิเทศกับงานบริหารให้ชัดเจน ก็อาจก่อให้เกิดความสับสน และเป็นผลในทางลบต่อเจตคติต่อการนิเทศได้

4.  วิธีดำเนินการจัดการนิเทศการศึกษาภายในสถานศึกษา

                การจัดการนิเทศการศึกษาภายในสถานศึกษา สามารถดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ดังนี้ คือ (สงัด   อุทรานันท์  . 2529 : 206 ? 212)

                    ขั้นที่ 1  การวางแผนการนิเทศ
                    ขั้นที่ 2  การให้ความรู้ก่อนดำเนินการนิเทศ
                    ขั้นที่ 3  การดำเนินการปฏิบัติงานนิเทศ
                    ขั้นที่ 4  การสร้างเสริมกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานนิเทศ
                    ขั้นที่ 5  การประเมินผลการนิเทศ

                 4.1 ขั้นการวางแผนการนิเทศ

                   ในการวางแผนการนิเทศการศึกษาภายในสถานศึกษา มีข้อปฏิบัติ  ดังนี้

                  (1) เริ่มจากการรับรู้สภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการร่วมกันของบุคลากรภายในสถานศึกษา ถ้าหากผู้บริหารหรือผู้นิเทศดำเนินงานไปโดยที่ครูและบุคลากรผู้เกี่ยวข้องยังไม่ทราบว่าเป็นปัญหาหรือยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องกระทำ ครูและบุคลากรเหล่านั้นก็มักจะไม่ให้ความสำคัญหรือไม่มีความสนใจในการปฏิบัติงาน ดังนั้นในการวางแผนงานจึงควรจัดให้มีการประชุมชี้แจง ประชุมระดมความคิดเห็น หรือวิธีการอ่านอื่นใดก็ได้เพื่อให้ครูผู้รับการนิเทศได้รับรู้ว่าตัวเขาเองเป็นบุคคลหนึ่งที่จะต้องร่วมแก้ปัญหาหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้คุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนดีขึ้นกว่าเดิม

                  (2) เมื่อผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่าย คือผู้บริหาร ผู้นิเทศ และผู้รับการนิเทศได้รับรู้และยอมรับสภาพปัญหาและความต้องการร่วมกันแล้วผู้ดำเนินการนิเทศก็จะเป็นผู้นำในการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา กำหนดจุดประสงค์ กำหนดทางเลือกในการแก้ปัญหาหรือกำหนดทางเลือกสำหรับการดำเนินการนิเทศ

                  (3) หลังจากการดำเนินการวางแผนการนิเทศจนกระทั่งได้แนวทางในการดำเนินการแล้ว ก็จะต้องสรรหาบุคคลและมอบหมายงานให้บุคลากรฝ่ายต่างๆ รับผิดชอบ  ในขั้นตอนนี้ผู้บริหารจะต้องรับรู้ถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของบุคลากรฝ่ายต่างๆ จากนั้นจึงให้ความสนใจและคอยเอาใจใส่ต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรเหล่านี้

                 4.2 ขั้นการให้ความรู้ก่อนการนิเทศ

                   การที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้รับการนิเทศหรือจะให้ผู้รับการนิเทศปฏิบัติงานอย่างใดก็จำเป็นจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่จะปฏิบัติเสียก่อน สำหรับ ขั้นตอนนี้มีข้อแนะนำในการดำเนินงานนิเทศการศึกษาภายในสถานศึกษา ดังนี้

                  (1) การให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานก่อนที่จะดำเนินการปฏิบัติจริงนั้นอาจดำเนินการโดยบุคลากรภายในสถานศึกษาที่มีความรู้ ความสามารถในเรื่องนั้นๆ หรืออาจจะเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอกก็ได้
                  (2) ในกรณีที่เชิญวิทยากรจากภายนอกมาให้ความรู้นั้นผู้บริหารจำเป็นจะต้องมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดหรือมอบหมายให้คณะผู้นิเทศเป็นผู้ติดตามแนวคิดจากวิทยากรเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง
                  (3) ถึงแม้ผู้บริหารสถานศึกษาจะไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ดำเนินการให้ความรู้หรือได้รับมอบหมายให้ผู้อื่นรับผิดชอบโครงการนิเทศไปแล้วก็ตาม หากเป็นไปได้ผู้บริหารสถานศึกษาควรจะร่วมรับฟังวิทยาการใหม่ๆ จากวิทยากรไปพร้อมๆ กับครูผู้รับการนิเทศด้วย การเข้าร่วมกิจกรรมของผู้บริหารจะบังเกิดผลดี 3 ประการ คือ ประการแรก ทำให้ผู้บริหารมีความเข้าใจถึงหลักการหรือแนวความคิดใหม่ที่ครูและบุคลากรในสถานศึกษาจะได้ปฏิบัติอันจะก่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันในการปฏิบัติงาน ประการที่สอง หากเกิดปัญหาหรืออุปสรรคใดหรือต้องการความช่วยเหลือสิ่งใดผู้บริหารสามารถตัดสินใจช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องทันที และ ประการสุดท้าย การเข้าร่วมกิจกรรมของผู้บริหารจะมีผลต่อความเอาใจใส่และความตั้งใจ ของผู้รับการนิเทศ ทั้งนี้เพราะครูและบุคลากรต่างๆ โดยทั่วไปจะมีความยำเกรงผู้บริหารสถานศึกษานั่นเอง
                 (4) หลังจากการให้ความรู้แก่ผู้รับการนิเทศได้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว ก่อนจะสิ้นสุดรายการควรจัดให้มีช่วงเวลาสำหรับสร้างข้อตกลงในการทำงานด้วย ข้อตกลงนี้จะเป็นเสมือนแนวทางในการทำงานและจะเป็นเสมือนกฎหรือระเบียบหรือสัญญาต่อกลุ่ม ซึ่งจะมีผลต่อความตั้งใจและเอาจริงกับการปฏิบัติงานของผู้รับการนิเทศเป็นอย่างมาก

                 4.3 ขั้นดำเนินการปฏิบัติงานนิเทศการศึกษา

                  ในขณะที่ผู้รับการนิเทศได้ลงมือปฏิบัติงานตามที่ได้รับความรู้มาแล้ว  ผู้นิเทศก็จะทำหน้าที่นิเทศการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตน ส่วนผู้บริหารก็จะคอยสนับสนุนให้การปฏิบัติงานนิเทศดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในการดำเนินการนิเทศงานนั้นมีข้อเสนอแนะต่อการปฏิบัติงาน ดังนี้

                 (1) การนิเทศงานของผู้นิเทศนั้นควรดำเนินการไปตามข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกันในขั้นที่ 2 การทำนอกเหนือจากข้อตกลงร่วมกันจะทำให้ผู้รับการนิเทศไม่มีความไว้วางใจในตัวผู้นิเทศได้
                 (2) ถึงแม้ผู้ปฏิบัติงานพร้อมที่จะรับการนิเทศแล้วก็ตามก่อนที่จะลงมือนิเทศควรจะได้ดำเนินการวางแผนร่วมกันระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศเสียก่อน การวางแผนร่วมกันนี้จะช่วยสร้างความคุ้นเคยและสร้างความไว้วางใจต่อผู้นิเทศเป็นอย่างมาก
                 (3) เมื่อถึงเวลาควรจะเข้าไปพร้อมกับครูและควรออกจากห้องเรียนพร้อมกับครูผู้รับการนิเทศ การเข้าห้องสอนช้า และออกจากห้องสอนก่อนกำหนดจะสร้างความรู้สึกหวาดระแวงให้แก่ผู้รับการนิเทศได้
                 (4) ขณะทำการสังเกตพฤติกรรมการสอนถ้าหากพบว่า ครูทำการสอนผิด อย่าทักท้วง เพราะการทักท้วงความผิดพลาดขณะที่ครูกำลังสอนจะสร้างความไม่พอใจแก่ครูผู้รับการนิเทศและทำให้ผู้เรียนเสื่อมศรัทธาต่อครูผู้สอน สิ่งที่ถูกต้องก็คือควรพูดคุยกับครูผู้สอนเป็นส่วนตัวหลังจากการสอนได้ผ่านไปแล้ว และให้ครูผู้สอนดำเนินการแก้ไขหรือชี้แจงข้อผิดพลาดแก่นักเรียนด้วยตัวของเขาเอง
                 (5) ควรใช้เทคนิควิธีการนิเทศหลายๆแบบและควรให้มีการเปลี่ยนบทบาทในการนิเทศบ้าง เช่น ให้ไปสังเกตการสอนของเพื่อนครูในห้องอื่นเพื่อเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้นิเทศ และขณะเดียวกันจะได้แนวคิดหรือเทคนิควิธีการสอนจากครูคนอื่นอีกด้วย ซึ่งวิธีการนี้ถือว่าเป็นการนิเทศโดยทางอ้อม
                 (6) การให้ข้อมูลป้อนกลับ (feed back) แก่ผู้รับการนิเทศควรเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียง และควรจะให้ข้อมูลทั้งส่วนที่ดีซึ่งควรรักษาไว้ และส่วนบกพร่องซึ่งจะสมควรจะทำการแก้ไขปรับปรุงควบคู่กันไป
                 (7) ในการปฏิบัติงานนิเทศควรจะได้นำเอาวิธีการที่เหมาะสมมาใช้ ซึ่งวิธีการที่เสนอแนะให้นำมาใช้ก็คือ การนิเทศแบบคลินิกและการนิเทศโดยยึดจุดประสงค์

                4.4 การสร้างเสริมกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานนิเทศ

                  ในการสร้างเสริมกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานนิเทศมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

                 (1) ผู้มีบทบาทในการสร้างเสริมกำลังใจก็คือ ผู้นิเทศซึ่งจะทำการสร้างเสริมกำลังใจแก่ผู้รับการนิเทศ และอีกผู้หนึ่งที่มีความสำคัญมากก็คือผู้บริหารซึ่งจะต้องสร้างเสริมกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานนิเทศทั้งหมด คือทั้งผู้ให้การนิเทศและผู้รับการนิเทศ
                 (2) การเสริมสร้างกำลังใจของผู้นิเทศนั้นจะทำได้โดยใช้หลักมนุษยสัมพันธ์สร้างความคุ้นเคยเป็นกันเองและวางตัวอยู่ในฐานะผู้ร่วมงานไม่ใช่ฐานะผู้บังคับบัญชา
                 (3) การเสริมสร้างกำลังใจของผู้บริหารสถานศึกษาสามารถทำโดยการให้ความสนใจและสนับสนุนการปฏิบัติงาน และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในการนิเทศเท่าที่สามารถจะทำได้
                 (4) ผู้บริหารจะต้องระวังในการทำนุบำรุงขวัญของผู้ปฏิบัติงานทั้งผู้ให้การนิเทศและผู้รับการนิเทศ เมื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการนิเทศขึ้นแล้วก็ไม่ควรทำลายขวัญ สิ่งสำคัญที่เป็นตัวทำลายขวัญของผู้บริหารพึงระมัดระวังอย่างยิ่งก็คือ ?มาตรการการให้ความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษ?
             
                 4.5 การประเมินผลการนิเทศ
                       
                 การประเมินผลการนิเทศภายในสถานศึกษา มีดังนี้

                 (1) การประเมินผลการนิเทศควรดำเนินการประเมินผลผลิต กระบวนการ และปัจจัยป้อนเข้า โดยให้ความสำคัญมากที่สุดในผลผลิตให้น้ำหนักความสำคัญรองลงมาในส่วนของกระบวนการทำงาน สำหรับปัจจัยป้อนเข้านั้นให้ความสำคัญน้อยที่สุด
                 (2) ในส่วนของผลผลิตนั้นให้ประเมินผลที่เกิดขึ้นกับผู้รับการนิเทศโดยตรง ไม่จำเป็นจะต้องประเมินคุณภาพของนักเรียนซึ่งเป็นผลจากการปฏิบัติงานของผู้รับนิเทศ ทั้งนี้เพราะคุณภาพของนักเรียนนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกมาก ในส่วนของกระบวนการปฏิบัติงานนั้นควรมุ่งเน้นพฤติกรรมในการทำงานร่วมกัน
                 (3) ผลที่ได้จากการประเมินควรจะได้นำมาเป็นพื้นฐานสำหรับการตัดสินใจในการปฏิบัติงานนิเทศต่อไปอีก นั่นคือ หากได้ผลดีแล้วก็ดำเนินการนิเทศต่อไปอีกจนกระทั่งบรรลุเป้าหมายสูงสุดคือผู้รับการนิเทศได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นการถาวรหรือสามารถช่วยเหลือตนเองได้แล้ว สำหรับกรณีที่ไม่ได้ผลตามจุดมุ่งหมายก็จะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่บกพร่องหรือมีจุดอ่อนต่อไป

ที่มา : อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล :  http://panchalee.wordpress.com/2009/04/04/personalized/