ผู้เขียน หัวข้อ: เปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี  (อ่าน 1875 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
เมื่อ: ตุลาคม 27, 2015, 12:37:50 AM
เปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี
พระไพศาล วิสาโล


อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม เป็นอาจารย์สอนธรรมที่หลายคนรู้จักดี  ท่านพิการตั้งแต่คอลงมาเมื่ออายุ ๒๔ ปี  แต่ก็ได้อาศัยธรรม โดยเฉพาะการเจริญสติ ช่วยให้อยู่กับความพิการได้โดยไม่ทุกข์   ตอนนี้ท่านกำลังป่วยหนัก  หมอวินิจฉัยว่าอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตแล้ว เพราะมะเร็งตับลุกลาม เดิมร่างกายก็พิการอยู่แล้ว ยังต้องทรมานกับมะเร็งตับอีก หากเป็นคนทั่วไปคงจะทุกข์ทรมานมาก แต่เวลาอาตมาไปเยี่ยมกลับเห็นท่านยิ้มแย้มแจ่มใส ร่าเริงเหมือนไม่มีเรื่องอะไรให้อนาทรร้อนใจ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีคนเขียนเอาข้อความของอาจารย์กำพลมาขึ้นเฟซบุ๊ค ว่า "ผมยอมรับความจริง ยอมรับความเป็นไป และยอมรับความตาย"

ยอมรับความจริง คือยอมรับว่าเป็นมะเร็งตับ ซึ่งเป็นโรคที่รักษายาก  ไม่บ่นโวยวาย ยอมรับความเป็นไป คือ เมื่อรู้ว่าโรคนี้ทำให้ร่างกายย่ำแย่ไปเรื่อย ๆ ก็ไม่ปฏิเสธผลักไส และสุดท้ายยอมรับความตาย  สามยอมนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้อาจารย์กำพลยังยิ้มแย้มแจ่มใสได้

ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะอาจารย์กำพลปฏิบัติธรรมมานาน การปฏิบัติธรรมทำให้จิตใจของอาจารย์กำพลพ้นจากความพิการ กายยังพิการอยู่ แต่ใจไม่พิการแล้ว เพราะเจริญสติตามคำแนะนำของหลวงพ่อคำเขียน  หลวงพ่อแนะนำว่าในเมื่อยกมือสร้างจังหวะไม่ได้ เดินจงกรมก็ไม่ได้  ก็ให้พลิกมือไปมา แล้วพิจารณาว่าที่พลิกนั้นเป็นรูป ที่คิดเป็นนาม รู้กายเมื่อมือพลิก รู้ใจเมื่อคิดนึก อาจารย์กำพลได้ทำตามที่หลวงพ่อแนะนำ ทำไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดเข้าใจเรื่องรูปนาม อาจารย์กำพลบอกว่า หลงโง่ตั้งนานนึกว่าเราพิการ ที่จริงไม่ใช่ แค่กายพิการเท่านั้น แต่ใจไม่ได้พิการด้วย  พอเห็นความจริงตรงนี้ จิตก็หลุดพ้นจากความพิการ จิตลาออกจากความทุกข์ นี่เรียกว่าเห็นด้วยปัญญา

จำไว้นะว่า เมื่อเจอเหตุร้ายเกิดขึ้น เราไม่จำเป็นต้องทุกข์ระทมก็ได้ เราสามารถผ่านมันไปได้ ถ้าเรามีสติ มีปัญญา มีธรรมะ ในทางตรงข้าม แม้จะได้โชคลาภ ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าไม่มีสติ มันก็พาไปเข้ารกเข้าพง ไปเจอความตกต่ำย่ำแย่ได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราสามารถแยกเป็นสองทางได้เสมอ ดีหรือร้าย สูงส่งหรือตกต่ำ อยู่ที่เราเลือก แต่จะเลือกได้ก็ต่อเมื่อเรามีสติปัญญา  ขนาดความพิการยังทำอะไรอาจารย์กำพลไม่ได้  เรื่องเล็กน้อยกว่านั้นควรหรือที่เราจะเป็นทุกข์เพราะมัน

เราควรเริ่มฝึกใจจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปก่อน ใช้เหตุการณ์ที่ต้องเจอในชีวิตประจำวัน เช่นคำวิจารณ์ สิ่งขัดอกขัดใจ ใช้มันเพื่อฝึกใจเรา  ไม่ทุกข์ใจกับเหตุการณ์เหล่านั้น เวลาใครต่อว่าเราก็ไม่ทุกข์ หรือหากทุกข์แล้วก็อย่าทุกข์ฟรี ๆ ต้องรู้จักหาประโยชน์จากสิ่งเกิดขึ้น ให้เรื่องขัดอกขัดใจนั้นมาเป็นเครื่องฝึกความอดทน ลดละอัตตาตัวตน  คนเราไม่ชอบคำแนะนำหรือคำตักเตือน เพราะอัตตามันทนไม่ได้ มันต้องการประกาศความยิ่งใหญ่ ว่า กูเก่ง กูแน่ ฉะนั้นพอเจอคำวิจารณ์ก็จะตอบโต้ทันที แต่ถ้าเรามีสติก็จะไม่ทำตามอำนาจของมัน

ท่านอาจารย์พุทธทาสเล่าว่า สมัยหนุ่ม ๆ ท่านต้องสร้างกุฏิ สร้างศาลาเอง บ่อยครั้งเวลาตอกตะปูผิด ค้อนทุบนิ้ว ท่านจะร้องด้วยความเจ็บปวด ตอนหลังท่านคิดว่าทำอย่างไร ถึงจะไม่ร้องเวลาตอกตะปูผิด ท่านคิดว่าเราจะยิ้มได้ไหม เราจะหัวเราะได้ไหมเวลาค้อนทุบโดนนิ้ว ท่านฝึกแล้วฝึกเล่าในที่สุดก็หัวเราะได้ พวกเราจะลองใช้วิธีนี้ก็ได้นะ เวลาใครวิจารณ์ ตำหนิแทนที่จะโกรธ ทำหน้าบึ้ง ก็เปลี่ยนเป็นยิ้มแทน ลองฝึกดูนะ ขนาดอาจารย์พุทธทาสโดนค้อนทุบนิ้วท่านยังหัวเราะได้ คำแนะนำตักเตือนทักท้วงมันเบากว่าค้อนเยอะ ถ้าเราฝึกว่าฉันจะยิ้มให้ได้เมื่อถูกตำหนิติเตียน  วันนี้ฉันยังยิ้มไม่ได้ แต่วันข้างหน้าฉันจะยิ้มให้ได้  เราต้องบอกเพื่อนให้ความร่วมมือ คือ วิจารณ์บ่อย ๆ ตักเตือนบ่อย ๆ วันไหนยิ้มได้ก็ไปเลี้ยงฉลองได้เลย

หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า "การภาวนา คือการเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี" เปลี่ยนเคราะห์ให้กลายเป็นโชค เปลี่ยนทุกข์ให้เป็นธรรมะ เปลี่ยนคำตำหนิติเตียนให้เป็นของดี หรือมองอย่างหลวงพ่อทองรัตน์ก็ได้ คำต่อว่าด่าทอว่าเป็นอมฤตธรรมจากเทวดา เราควรมองว่าเพื่อน ๆ ในที่ทำงานของเราเป็นเทวดาทั้งนั้น สามารถให้อมฤตธรรมแก่เราได้  ลองทำดูนะ ถ้าทำบ่อย ๆ  ต่อไปพอเจออะไรที่หนักกว่านี้ เราจะตั้งสติได้ไวขึ้น ถ้าทำได้อย่างนี้ เวลาทำงานก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วย

มีคนหนึ่งพูดไว้ดีมากว่า "จุดมุ่งหมายในชีวิตของเขา คือ ๑ ค้นพบตัวตน และ ๒ สลายตัวตน" ไม่แน่ใจว่าคนพูดเป็นชาวพุทธหรือเปล่า แต่สิ่งที่เขาพูดนี้สอดคล้องกับหลักธรรมในพุทธศาสนามาก การมาปฏิบัติธรรมส่วนหนึ่งก็เพื่อค้นพบตัวตน เพื่อรู้จักตัวเอง รู้จักว่าเราเป็นใคร เราต้องการอะไรในชีวิต  เวลามีความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้นก็รู้ทันมัน ถ้ารู้จักตัวตนอย่างถึงที่สุดแล้ว จะพบว่าแท้จริงไม่มีตัวกูอยู่เลยแม้แต่น้อย

การค้นพบตัวตนหรือการรู้จักตัวเองอย่างแจ่มแจ้ง คือการค้นพบว่า ไม่มีตัวตน หรือว่างเปล่าจากตัวตนนั่นเอง นี่เป็นการค้นพบที่สำคัญและลึกซึ้งที่สุด เหมือนกับการเฉาะกระบอกไม้ไผ่ สุดท้ายก็พบว่าข้างในหรือแกนกลางนั้นว่างเปล่า เมื่อเราพบว่าไม่มีตัวตนหรือตัวกูอยู่เลยแม้แต่น้อย  ใจก็จะวางไปเอง ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้คำว่า "ตายก่อนตาย?  คือตัวตนตาย แต่ที่จริงตัวตนไม่ได้ตาย เพราะมันไม่มีตั้งแต่แรก ถ้าเราตระหนักตรงนี้  เวลาทำงานหรือปฏิบัติธรรมก็ควรตั้งจิตมุ่งเพื่อสองประการนี้  ให้ถือว่าการทำมาหาเลี้ยงชีพ และการการช่วยเหลือผู้อื่น เป็นหนทางสู่การค้นพบตัวตน และการสลายตัวตน

เมื่อเจอคำวิพากษ์วิจารณ์แล้วเราไม่โกรธ เรายิ้มได้ ไม่เอาตัวตนเข้าไปรับการกระแทก นี่คือหนทางสู่การลดละตัวตน วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราไม่เอาตัวตนมาเป็นใหญ่ ก็คือการเอาสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าตัวตนขึ้นมาแทน เช่น บางคนนึกถึงการช่วยเหลือผู้อื่น พอนึกถึงผู้อื่น จะถูกกระทบกระแทกอย่างไรก็อดทนได้ เหมือนพ่อแม่แม้จะลำบากเพียงใด พอนึกถึงลูกก็ทำให้อดทนได้เสมอ

ถ้าเราเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นใหญ่เหนือตัวตน ก็จะทำให้ตัวตนหรืออัตตามีอำนาจต่อเราน้อยลง พระพุทธเจ้าส่งเสริมให้เอาธรรมะเป็นใหญ่ เมื่อเอาธรรมะเป็นใหญ่ ใครจะว่าเราอย่างไรก็ไม่โกรธ เราก็จะมองว่าที่เขาพูดมาเป็นธรรมะหรือไม่  อาตมาประทับใจนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง เขาเป็นศาสตราจารย์ใหญ่ เชี่ยวชาญด้านเซลล์ อยู่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สมัยนั้นมีข้อถกเถียงกันว่าในเซลล์มีสิ่งที่เรียกกันว่า Golgi Apparatus หรือไม่ เมื่อ ๕๐ กว่าปีมาแล้ว ยังไม่มีกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ศาสตราจารย์คนนี้ปฏิเสธว่าไม่มี Golgi Apparatus ในเซลล์ เป็นเรื่องเข้าใจผิดกันไปเอง  เขาทำงานวิจัย เขียนตำรา และบรรยายมานานนับสิบปีเพื่อยืนยันว่ามันไม่มี

แล้ววันหนึ่งมีอาจารย์หนุ่มจากอเมริกามาบรรยายที่มหาวิทยาลัยของเขา เอาหลักฐานมาชี้แจงว่า Golgi Apparatus มีจริง นักวิชาการหนุ่มบรรยายได้ดีมาก จนหาข้อโต้แย้งไม่ได้เลย ศาสตราจารย์คนนั้นซึ่งอยู่ในห้องประชุมนั้นด้วย  แทนที่จะรู้สึกเสียหน้า  เขากลับเดินไปหาอาจารย์หนุ่มคนนั้นเมื่อบรรยายเสร็จ เขย่ามือแล้วกล่าวกว่า "เพื่อนรัก ขอบคุณมาก  ผมผิดพลาดมานานถึง ๑๕ ปี"

คนที่เป็นศาสตราจารย์ระดับสูง มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่กลับไม่มีความรู้สึกโกรธหรือเสียหน้าเลยเมื่อถูกอาจารย์หนุ่มโต้แย้งหักล้างความเชื่อของเขา  นั่นเป็นเพราะเขาเอาความรู้เป็นใหญ่ เมื่อเอาความรู้เป็นใหญ่ อัตตาก็เป็นเรื่องเล็ก เขาเป็นคนใฝ่รู้ ใจนึกถึงแต่ความรู้ อะไรที่ทำให้มีความรู้เพิ่มเติมก็ยินดีทั้งนั้น แม้ความรู้นั้นจะสวนทางกับสิ่งที่เคยเชื่อ

อัตตาของเขาเบาบางมาก ที่เบาบางได้เพราะเอาความรู้เป็นใหญ่นั่นเอง ส่วนพวกเราสามารถเอาธรรมะเป็นใหญ่ได้ โดยการเอาประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์องค์กรเป็นใหญ่ก็ได้ การเอาองค์กรเป็นใหญ่ช่วยทำให้เราอดทนต่อคำวิจารณ์ของเพื่อนได้ เพราะสนใจแต่ว่าจะทำให้องค์กรดีขึ้น นี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ที่ช่วยขัดเกลาให้ตัวตนเบาบางลงได้

เราพึงตระหนักอยู่เสมอว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นกับเรา ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องฝึกสติ เป็นเครื่องขัดเกลาให้เราลดละตัวตน ให้มองว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราดีทั้งนั้น งานล้มเหลว เจอคำต่อว่าด่าทอ ของหาย ให้ถือว่ามันเป็นสิ่งที่ช่วยฝึกให้เรามีความเข้มแข็ง ช่วยทำให้เรามีสติ  มีความพร้อมมากขึ้น ในการรับมือกับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในวันหน้า อย่าคิดว่าชีวิตเราตอนนี้ราบรื่นแล้วมันจะราบรื่นตลอดไป มันอาจจะเกิดเรื่องเลวร้ายรุนแรงสักครั้งหนึ่งก็ได้ แต่ถ้าเราฝึกใจสม่ำเสมอโดยอาศัยการทำงานและเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน  เราก็จะมีความพร้อมในการรับมือกับมันได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วย ความพลัดพราก หรือแม้กระทั่งความตาย

หลวงพ่อคำเขียนพูดอยู่เสมอว่า "นักภาวนาคือนักฉวยโอกาส" หมายถึง เราควรใช้เวลาและเหตุการณ์ทุกอย่างเพื่อฝึกฝนจิตใจของตน  ท่านเปรียบเทียบว่า เหมือนกับแม่ค้าแถวสถานีรถไฟ  แม้รถไฟจอดชานชาลาไม่กี่นาที ก็รีบขึ้นไปขายของทันที  เขาไม่คิดปล่อยเวลาห้านาทีให้เปล่าประโยชน์  ไม่ได้คิดว่าเวลาห้านาทีมันน้อยนิดจะไปทำอะไรได้ ปล่อยไปเถอะ ไว้รอขึ้นรถขบวนที่จอดครึ่งชั่วโมงดีกว่า  แม่ค้าไม่คิดแบบนั้น แม้จะจอดเพียงห้านาทีก็รีบฉวยโอกาสขายของ เก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อย ๆ

พวกเราก็เช่นกัน เวลาเจอรถติด แทนที่จะเอาเวลาไปบ่นหรือหงุดหงิด ก็ฉวยโอกาสเจริญสติคลึงนิ้วไปด้วย เวลานัดเพื่อนแล้วเพื่อนมาสาย แทนที่จะหงุดหงิดกระสับกระส่าย ดูนาฬิกาไม่หยุด ก็เจริญสติตามลมหายใจไป หากทำได้อย่างนี้เราก็เสียเวลาอย่างเดียว แต่ไม่เสียอย่างอื่นด้วย

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เป็นสิ่งที่ควรทำเฉพาะในบ้านหรือในวัดเท่านั้น แม้อยู่ที่ทำงานก็ทำได้ ใช้การทำงานเป็นเครื่องปฏิบัติธรรม ใช้คำติเตียนต่อว่าของเพื่อนร่วมงานเป็นเครื่องมือปฏิบัติธรรม ใช้รถติด ใช้งานที่ไม่ประสบความสำเร็จ อุปสรรคต่าง ๆ เป็นเครื่องฝึกใจ นี้แหละคือศิลปะของการปฏิบัติธรรม ในการเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี  เปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นโชค ช่วยให้เราเป็นสุขได้ทุกที่ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นใจก็ไม่ทุกข์   หากทำได้เช่นนี้ ชีวิตก็จะพบแต่ความสุขสงบเย็น ไม่ว่าโลกรอบตัวจะผันผวนเพียงใดก็ตาม

ที่มา : http://www.visalo.org/article/suksala26.html