ผู้เขียน หัวข้อ: เข็มทิศกับไวโอลินของไอน์สไตน์  (อ่าน 1728 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
เมื่อ: ตุลาคม 14, 2015, 10:54:42 PM
เมื่อนิตยสารไทม์เลือกบุคคลแห่งศตวรรษ (Person of the Century คือบุคคลที่ส่งผลกระทบต่อโลกมากที่สุดในศตวรรษ) พวกเขามีรายชื่อของบุคคลในศตวรรษที่ 20 จำนวนมากมาย ทั้งคนที่สร้างสรรค์และทำลาย เช่น เลนินผู้เปลี่ยนแปลงโลกสู่สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ฮิตเลอร์ผู้นำโลกสู่ความหายนะ เชอร์ชิลล์ผู้หาญสู้อำนาจฟาสซิสต์ของฮิตเลอร์ ประธานาธิบดีแฟรงกลิน รูสเวลท์ ผู้นำพาอเมริกาผ่านวิกฤติ 'ต้มยำกุ้ง' ฉบับอเมริกันและสงครามโลกครั้งที่สอง

รายชื่อนี้ยังรวมถึงผู้ที่เลือกต่อสู้ตามวิถีที่ไม่รุนแรง มหาตมะ คานธี ผู้นำพาผู้คนทั้งชาติต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษด้วยหลักอหิงสา มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้ต่อสู้เพื่อทำลายกำแพงสีผิว โรซา พาร์กส์ ผู้ไม่ยอมสละที่นั่งบนรถเมล์ให้คนขาว ไปจนถึงประชาชนผู้หาญต้านรถถังที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

รายชื่อในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 เช่น อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ผู้พบยาเพนนิซิลลิน, เจมส์ วัตสัน กับ ฟรานซิส คริก ผู้พบรหัสชีวิตดีเอนเอ ส่วนนักประดิษฐ์ที่เปลี่ยนแปลงโลก เช่น พี่น้องตระกูลไรท์ผู้สร้างโลกใหม่บนท้องฟ้า, อลัน ทิวริง ผู้ให้กำเนิดคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์สมองปราดเปรื่องอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, นีล บอหร์, เอนริโค เฟอร์มี, ริชาร์ด ฟายน์แมน, สตีเฟน ฮอว์คิง ฯลฯ

แต่ทำไมไทม์เลือกไอน์สไตน์ ?

คำตอบอาจเพราะความเป็นไอน์สไตน์นั้นรวมเอาคุณสมบัติของผู้สร้างสรรค์ นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ นักต่อสู้แบบอหิงสาทั้งหมดเข้าด้วยกัน !

ไอน์สไตน์เกลียดสงคราม เป็นผู้ที่ใช้จินตนาการรวมเข้ากับวิทยาศาสตร์อย่างสวยงาม นำไปสู่การค้นหาความจริงในมุมมองของจักรวาล ซึ่งย้อนกลับมาทำให้เราเข้าใจวิถีของสิ่งมีชีวิต

ไอน์สไตน์ตั้งคำถามเสมอว่า อะไรคือความหมายของชีวิตมนุษย์ หรือของอินทรีย์ชีวิตทั้งหลาย จะว่าไปแล้ว การที่เขาใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือเดินทางไปสู่ความจริง ก็ไม่ต่างจากการแสวงหาทางหลุดพ้นของนักบวชโดยใช้ศาสนา

ไอน์สไตน์ล้มป่วยเมื่ออายุสี่ขวบ พ่อให้เข็มทิศอันหนึ่งแก่เขา เด็กน้อยหมกมุ่นกับเข็มทิศนั้นด้วยความพิศวง เพราะไม่ว่าหมุนไปทางไหน เข็มก็ชี้ไปในทางเดียวกันเสมอราวกับมีอำนาจลึกลับบางอย่างกำหนดทิศทางของมัน เขารู้สึกแปลกใจมาก เข็มทิศทำให้เขาคิดว่ามีบางสิ่งซ่อนเร้นลึกอยู่เบื้องหลัง เขาเริ่มสัมผัสธรรมชาติในมุมมองของวิทยาศาสตร์

เข็มทิศอันนั้นมิเพียงชี้ทิศบนโลกใบนี้ หากยังชี้ทางใหม่ให้ชีวิตของเขา ทางสายวิทยาศาสตร์

แต่วิทยาศาสตร์โดยตัวมันเองเป็นเพียงกระบวนการ ไม่ใช่จิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ จุดหักเหอาจจะเกิดจากการที่แม่ของไอน์สไตน์แนะนำให้เขารู้จักดนตรี

เข็มทิศชี้ทางไปสู่การค้นหาความจริง เสียงไวโอลินเชื้อเชิญให้เขาเปิดหัวใจ

นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ตลอดชีวิต ไอน์สไตน์พกพาไวโอลินไปตามที่ต่าง ๆ และเป็นนักเล่นไวโอลินที่มีฝีมือ

จินตนาการ วิทยาศาสตร์ กับความเป็นมนุษย์ เป็นส่วนประกอบที่ลงตัวในการสร้างบุคคลเช่นไอน์สไตน์

การศึกษาหาความลับของจักรวาลผ่านทฤษฎีทั้งหลายของเขา ทำให้เขาซาบซึ้งถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและความกระจ้อยร่อยกระจิริดของมนุษย์ จักรวาลวิทยาทำให้พบเห็นว่ามนุษย์เรานั้นเป็นเพียงการประกอบรวมกันของธาตุ เราเป็นเพียงธุลีหนึ่งในจักรวาลไอน์สไตน์บอกว่า ยิ่งเรียนรู้ความลับของธรรมชาติจากเรื่องอะตอม แรงลึกลับทั้งหลาย ยิ่งทำให้มนุษย์เราต้องถ่อมตนและสันโดษ

สรรพสิ่งสัมพัทธ์กันไปหมด !

ไอน์สไตน์เขียนในปี พ.ศ. 2474 ว่า "ผมเตือนตัวเองนับร้อยครั้งต่อวันว่า ชีวิตของผมทั้งภายในและเปลือกนอกล้วนมีฐานบนแรงงานของผู้อื่น ทั้งที่ยังมีชีวิตและที่ตายไปแล้ว ผมต้องใช้ความสามารถทุกอย่างของตนเพื่อที่จะให้ในระดับเดียวกับที่ผมได้รับและกำลังรับอยู่"

ไอน์สไตน์พร่ำพูดให้เห็นคุณค่าของมนุษย์ คุณค่าของเสรีภาพ ความไม่รุนแรง อันตรายของลัทธิทหาร และความคลั่งชาติ

แปดปีต่อมาโลกก็เข้าสู่สงครามที่ทำลายชีวิตมนุษย์หลายสิบล้านคน

แม้ไอน์สไตน์จะเป็นผู้ชื่นชมวิถีอหิงสาอย่างคานธี และเช่นเดียวกับคานธี เขาเป็นนักมนุษย์นิยม นักต่อต้านสงคราม แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องตัดสินใจ เขาก็แนะนำให้ประธานาธิบดีรูสเวลท์ใช้ระเบิดปรมาณู เมื่อข่าวการทำลายล้างฮิโรชิมามาถึงเขา ไอน์สไตน์กุมศีรษะอย่างสลดใจต่อบทบาทของตน ความเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ถูกสั่นคลอน เรื่องนี้สร้างความเศร้าใจแก่เขาตลอดชีวิต

ยิ่งแก่ตัวลงเขาก็ยิ่งปล่อยวางมากขึ้น ใช้ชีวิตเรียบง่ายไม่ต่างจากนักบวช คือไม่ได้สนใจในชื่อเสียงเงินตรา

ไอน์สไตน์เขียนในปี พ.ศ. 2477 ว่า "คุณค่าที่แท้จริงของมนุษย์ถูกกำหนดเบื้องแรกจากมาตรการและสำนึกในการปลดปล่อยตัวเอง การปลดปล่อยนี้ไม่ใช่เฉพาะอิสรภาพจากความหลงตัวเอง แต่จากเปลือกความเชื่อของศาสนาที่ห้ามโต้แย้ง"

มนุษย์เราทุกคนต้องการทั้งความรู้และความรัก ต้องการทั้งเข็มทิศกับไวโอลิน

ความรู้คือประตูเปิดโลก

ความรักคือหน้าต่างเปิดหัวใจ

ที่มา : วินทร์ เลียววาริณ
www.winbookclub.com
26 กันยายน 2558


คมคำคนคม

Education is what remains after one has forgotten what one has learned in school.

การศึกษาคือสิ่งที่เหลือหลังจากเราลืมทุกอย่างซึ่งเรียนที่โรงเรียนแล้ว