ผู้เขียน หัวข้อ: ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม (Perennialism)  (อ่าน 6486 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
เมื่อ: กรกฎาคม 20, 2015, 12:37:05 AM
เป็นปรัชญาการศึกษาที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาพื้นฐานกลุ่มวัตถุนิยมเชิงเหตุผล(Rational realism) หรือบางทีเรียกว่าเป็นพวกโทมนัสนิยมใหม่ (Neo ? Thomism) เกิดขึ้นในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังมีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเทศทางตะวันตกซึ่งมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ก่อให่เกิดการแข่งขันทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม มีการเอารัดเอาเปรียบสินค้า ราคาสูงเกิดปัญหาครอบครัว ขาดระเบียบวินัย มนุษย์ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้    ทำให้วัฒนธรรมเสื่อมสลายลงไป จึงมีการเสนอปรัชญาการศึกษาลัทธินี้ขึ้นมาเพื่อให้การศึกษาเป็นสิ่งนำพามนุษย์ไปสู่ความมีระเบียบเรียบร้อย มีเหตุและผล มีคุณธรรมและจริยธรรม จึงเป็นที่มาของปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยมปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม มีมาแล้วตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ผู้เป็นต้นคิดของปรัชญาลัทธินี้ คือ อริสโตเติล (Aristotle) และเซนต์ โทมัส อะไควนัส (St. Thomas Aquinas)อริสโตเติลได้พัฒนาปรัชญาลัทธินี้โดยเน้น การใช้ความคิดและเหตุผล จนเชื่อได้ว่า Rationalhumanism ส่วนอะไควนัส ได้นำมาปรับให้เข้ากับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้า เรื่องศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องของเหตุและผล แนวคิดนี้มีส่วนสำคัญโดยตรงต่อแนวคิดทางการศึกษาในศตวรรษที่ 20 นักปรัชญาที่เป็นผู้นำของปรัชญานี้ในขณะนี้คือ โรเบิร์ท เอ็ม ฮัทชินส์(Robert M. Hutchins) และคณะได้รวบรวมหลักการและให้กำเนิดปรัชญานิรันตรนิยมขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ.1929

1 แนวความคิดพื้นฐาน

ปรัชญานิรันตรนิยมมีรากฐานมาจากปรัชญา จิตนิยมและปรัชญาวัตถุนิยม ปรัชญาการศึกษาลัทธินี้แบ่งออกเป็น 2 ทัศนะ คือ ทัศนะแรกเน้นในเรื่องเหตุผลและสติปัญญา อีกทัศนะหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา โดยเฉพาะกลุ่ม ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค ตั้งแต่ 2 ทัศนะ เกี่ยวข้องกับเหตุและผล จนเชื่อได้ว่าเป็น โลกแห่งเหตุผล(A world of reason) ส่วนคำว่านิรันตร เชื่อว่าความคงทนถาวรย่อมเป็นจริงมากกว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลง การศึกษาควรสอนสิ่งที่เป็นนิรันตร ไม่เปลี่ยนแปลง และจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทุกยุคทุกสมัย ได้แก่คุณค่าของเหตุผล คุณค่าของศาสนา เป็นการนำเอาแบบอย่างที่ดีของอดีตมาใช้ในปัจจุบันหรือย้อนกลับไปสู่สิ่งที่ดีงามในอดีต

2 แนวคิดทางการศึกษา

ปรัชญาการศึกษาลัทธินี้เชื่อว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของธรรมชาติมนุษย์คือ ความสามารถในการใช้เหตุผล ซึ่งความสามารถในการใช้เหตุผลนี้จะควบคุมอำนาจฝ่ายต่ำของมนุษย์ได้ เพื่อให้มนุษย์บรรลุจุดมุ่งหมายในชีวิตที่ปรารถนา ดังที่ โรเบิร์ต เอ็มฮัทชินส์ (Hutchins 1953 : 68) กล่าวว่า การปรับปรุงมนุษย์ หมายถึงการพัฒนาพลังงานเหตุผล ศีลธรรมและจิตใจอย่างเต็มที่ มนุษย์ทุกคนล้วนมีพลังเหล่านี้ และมนุษย์ควรพัฒนาพลังที่มีอยู่ให้ดีที่สุด กาศึกษาในแนวปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม คือ การจัดประสบการณ์ให้ได้มาซึ่งความรู้ ความคิดที่เป็นสัจธรรม มีคุณธรรม และมีเหตุผล

3. จุดมุ่งหมายของการศึกษา

ปรัชญาการศึกษาลัทธินี้มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์เพราะมนุษย์มีพลังธรรมชาติอยู่ในตัว พลังในที่นี้คือสติปัญญา จะต้องพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์ให้เต็มที่ เมื่อมนุษย์ได้พัฒนาสติปัญญาอย่างดีแล้วก็จะทำอะไรอย่างมีเหตุมีผล การจัดการศึกษาก็ควรจะพัฒนาคุณสมบัติเชิงสติปัญญาและเหตุผลในตัวมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ดำรงความเป็นคนดีตลอดไปไม่เปลี่ยนแปลง แต่ไม่เน้นการเปลี่ยนแปลงของสังคม

4. องค์ประกอบของการศึกษา

1) หลักสูตร กำหนดโดยผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ เป็นหลักสูตรที่เน้นวิชาทางศิลปะศาสตร์ (Liberal arts) ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มศิลปะทางภาษา (Liberacy arts)ประกอบด้วยไวยากรณ์ วาทศิลป์และตรรกศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องของการอ่าน การฟัง การพูด การเขียนและการใช้เหตุผล อีกกลุ่มหนึ่งคือ ศิลปะการคำนวณ (Mathematical arts) ประกอบด้วยเลขคณิต วิทยาศาสตร์ ปรัชญา ดาราศาสตร์ และดนตรี นอกจากนี้ยังให้ผู้เรียนรู้ผลงาน อันมีค่าของผู้มีอัจฉริยะในอดีตเพื่อคงความรู้เอาไว้ เช่น ผลงานอมตะทางด้านศิลปะ วรรณกรรม ดนตรีรวมทั้งผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ในปัจจุบันได้แก่หลักสูตรของวิชา พื้นฐานทั่วไป (General education) ในระดับอุดมศึกษา

2) ครู ปรัชญาการศึกษานี้มีความเชื่อว่าเด็กเป็นผู้มีเหตุผลและมีชีวิตมีวิญญาณ ครูจะต้องรักษาวินัยทางจิตใจ และเป็นผู้นำทางวิญญาณของนักเรียนทุกคน ครูต้องเป็นผู้ใฝ่รู้อยู่เสมอ เข้าใจเนื้อหาวิชาที่สอนอย่างถูกต้องชัดเจน มีความคิดยาวไกล เป็นผู้ดูแลรักษาระเบียบวินัย ควบคุมความประพฤติของผู้เรียน เป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติที่ดี

3) ผู้เรียน โดยธรรมชาติเป็นผู้มีเหตุผลมี สติ มีศักยภาพในตัวเองที่สามารถพัฒนาไปสู่ความมีเหตุผล ถือว่าผู้เรียนมีความสนใจใคร่เรียนรู้ อยู่แล้ว ดังที่อริสโตเติลกล่าวไว้ว่า All man by nature desire to know (ไพทูรย์ สินลารัตน์ 2523 : 74) การให้การศึกษาจึงต้องพัฒนาสิ่งที่ผู้เรียนมีอยู่อย่างเต็มที่ โดยมุ่งพัฒนาเป็นรายบุคคลฝึกฝนคุณสมบัติที่มีอยู่โดยการสอนและการแนะนำของครู ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสเรียนเท่าเทียมกันหมด ใช้หลักสูตรเดียวกันทั้งเด็กเก่งและเด็กอ่อน ถ้าเด็กอ่อนเข้าใจช้าก็ต้องฝึกฝนบ่อยๆ หรือทำซ้ำๆกันเพื่อไปให้ถึงมาตรฐานเดียวกันกับเด็กเก่ง

4) โรงเรียน ไม่มีบทบาทต่อสังคมโดยตรง เพราะเน้นที่ตัวบุคคลเป็นหลักใหญ่ เพราะถือว่า ถ้าเกิดการพัฒนาในตัวบุคคลแล้วก็สามารถทำให้สังคมนั้นดีขึ้นด้วยโรงเรียนจึงเป็นเสมือนตัวกลางในการเตรียมผู้เรียนให้เกิดความก้าวหน้าที่ดีงามที่สุดของวัฒนธรรมที่มีมาแต่อดีต โรงเรียนจะสร้างบรรยากาศและจัดสภาพแวดล้อมให้มีลักษณะสร้างความนิยมในวัฒนธรรมที่มีอยู่และเคร่งครัดในระเบียบวินัยโดยเน้นการประพฤติปฏิบัติ

5) กระบวนการเรียนการสอน ใช้วิธีท่องจำเนื้อหาวิชาต่าง ๆ และฝึกให้ใช้ความคิดหาเหตุผลโดยอาศัยหลักวิชาที่เรียนรู้ไว้แล้วเป็นแนวทางพื้นฐานแห่งความคิด เพื่อพัฒนาสติปัญญาหรือเน้นด้านพุทธิศึกษา ที่เรียกว่า Intellectual Education (Wingo 1974 : 148 อ้างถึงใน อรสา สุขเปรม 2541) นอกจากนี้ผู้เรียนจะต้องมีความพร้อมทางจิตใจจึงจะสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ การเรียนการสอนที่กระตุ้นและหนุนให้เกิดศักยภาพดังกล่าว จึงต้องมีการอภิปรายถกเถียง ใช้เหตุผล และสติปัญญาโต้แย้งกัน ครูเป็นผู้นำในการอภิปราย ตั้งประเด็นและยั่วยุให้มีการอภิปรายถกเถียงกัน ผู้เรียนจะได้พัฒนาสติปัญญาของตนได้อย่างเต็มที่


ที่มา : http://sitawan112.blogspot.com/2012/03/blog-post_27.html