ผู้เขียน หัวข้อ: โรงเรียนแห่งการเรียนรู้พัฒนาบทเรียน-บรรยายจากกรณีศึกษา  (อ่าน 2060 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3834
          อาจเป็นเพราะแนวคิดที่มุ่งส่งเสริม การเรียนรู้ ด้วยความร่วมมือรวมพลัง จึงทำให้เครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ ในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (The International Network for School as Learning Community)ภาควิชาการศึกษา มหาวิทยาลัยกาคุชูอิน กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จึงได้มีการจัดสัมมนานานาชาติครั้งที่ 3 ในหัวข้อโรงเรียนในฐานะ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ (The Third Inter national Conference for School as Learning Community) ทั้งนั้นเพื่อให้เครือข่ายนานาชาติที่ทำงาน และมีประสบการณ์มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนงานวิจัย

          ภายในงานสัมมนา "รศ.ดร.สิริพันธุ์ สุวรรณมรรคา" คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ในโรงเรียน กรณีศึกษาในประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาครู โดยใช้กระบวนการสร้างระบบการชี้แนะ และการเป็นพี่เลี้ยง (Coaching and Mentoring) ที่ประยุกต์แนวคิดดังกล่าวมาใช้ในโครงการ

          ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาโรงเรียนกว่า 40 แห่ง ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 รวมถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จ.ระยอง เขต 2 จ.ตราด

          "รศ.ดร.สิริพันธุ์" กล่าวในเบื้องต้นว่า นอกจากการสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การนำเสนอกรณีศึกษาเชิงปฏิบัติ และการตีความที่เป็นผลงานของแต่ละประเทศ ยังมีการพาเยี่ยมชมโรงเรียน เพื่อแสดงถึงตัวอย่างความสำเร็จของการปฏิรูปโรงเรียน และการจัดการเรียนรู้ตามแนวทาง School as Learning Community (SLC) หรือโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ และสร้างความสุขทั้งแก่นักเรียน ครู ผู้บริหาร และชุมชน

          การเยี่ยมชมโรงเรียนตัวอย่างมีการเปิดห้องเรียน เพื่อเข้าไปสังเกตกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียน ทั้งการคิด การวิเคราะห์ของนักเรียน วิธีการสอนของครู หลังจากนั้นจะให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาสังเกตการณ์ แสดงความคิดเห็น และช่วยกันพัฒนาบทเรียน การสอน เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ

          "กระบวนการดังกล่าวทำให้ครูผู้สอน เพื่อนครู ผู้สังเกตการณ์ ครูใหญ่ผู้วางนโยบาย และนักเรียน เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ตลอดจนพ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน ก็เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของ การพัฒนาไปสู่โรงเรียนแห่งการเรียนรู้"

          ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินโครงการในญี่ปุ่นนี้พบว่านักเรียนทั้งโรงเรียนมีผลการเรียนรู้ และพัฒนาการดีขึ้นมาก กล่าวคือ นักเรียนเก่ง มีความสุข ครูมีความสุข และฝ่ายบริหารของโรงเรียนก็มุ่งเน้น และให้ความสำคัญกับการเรียน การสอน ซึ่งเป็นหัวใจของ การศึกษา โดยมีผู้ปกครอง และชุมชน เข้า มามีส่วนร่วมในกระบวนการครั้งนี้ด้วย

          "แต่ละปีโรงเรียนจะเปิดพื้นที่ให้เพื่อนครูจากโรงเรียนอื่นมาศึกษาดูงาน เพื่อ แลกเปลี่ยนแนวทาง และประสบการณ์ของการทำงาน ซึ่งส่งผลทำให้ทุกโรงเรียนในชุมชนได้ช่วยเหลือกันและกัน เกิดเป็นเครือข่ายการทำงานที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ด้วยความร่วมมือรวมพลังจากทุกภาคส่วน"

          นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างของอีกหลายประเทศที่นำเอาแนวคิดโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ จนเริ่มเห็นผลชัดเจน เช่น ประเทศเกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่ง "รศ.ดร.สิริพันธุ์" กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างเกาหลีมีการนำเอาแนวคิดดังกล่าวไปใช้ จนพบว่าครูกว่าครึ่งมีความประทับใจในแนวคิด และมากกว่าครึ่งยังคงใช้แนวทางการทำงานในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

          "สาเหตุที่ SLC เกิดการยอมรับอย่างกว้างขวางในเกาหลีใต้ เพราะกระบวนการดังกล่าวเปิดวิสัยทัศน์ใหม่ให้กับครูที่อยากจะปฏิรูปโรงเรียนผ่านนวัตกรรมที่โรงเรียนสร้างเอง การเปิดชั้นเรียน และกลุ่มศึกษาผ่านบทเรียน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ และพลังอำนาจของครู และโรงเรียน จากที่เคยถูกกำกับดูแลจากส่วนกลาง มาตลอด"

          "แต่ SLC กลับเปิดพื้นที่ให้ครูแสวงหาความรู้ คำตอบในเรื่องการสอน และการเรียนรู้ของนักเรียนร่วมกัน ปัจจุบันมีโรงเรียนในเกาหลีใต้ไม่น้อยกว่า 100 โรง ที่ระบุตัวเองอย่างชัดเจนว่า เป็นโรงเรียนที่เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ และยังคงพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง"

          ขณะที่ส่วนของไต้หวัน มีการประยุกต์ใช้แนวทางนี้ตั้งแต่ปี 2012 แม้จะผ่านมาเพียง 3 ปี แต่มีพัฒนาการอย่างมาก เพราะเริ่มมีการก่อตั้ง School-based Learning Community ชุมชนแห่งการเรียนรู้ โดยมีโรงเรียนเป็นฐาน ทั้งยังมีการสร้างชุมชนการเรียนรู้ข้ามโรงเรียน โดยยึดกลุ่มสาระวิชาเดียวกันมาจัดระบบการเรียนรู้เพิ่มเติม

          ถึงตรงนี้ "รศ.ดร.สิริพันธุ์" บอกว่า จากประสบการณ์ของหลายประเทศที่นำ SLC มาประยุกต์ใช้ พบว่าการปฏิรูปที่แท้จริงต้องสร้างจากแรงจูงใจของครูในโรงเรียนเสียก่อน ต้องทำให้ครูสะท้อนการเรียนการสอนออกมา นอกจากนั้นจะต้องเริ่มต้นจากนักวิชาการ หรือผู้นำการศึกษาระดับท้องถิ่น เพื่อขยายผลไปสู่การปฏิบัติของครู เนื่องจากบางครั้งจำเป็นต้องขยายพื้นที่ในบางชั้นเรียน เพื่อก้าวสู่การดำเนินการสอนของทุกกลุ่มสาระวิชา

          ดังนั้น การมุ่งปฏิรูปเรื่องวิสัยทัศน์ ปรัชญา ระบบกิจกรรม และวิธีการ การใช้มุมมองการสืบสอบ โดยปรับจากที่เคยเน้นเรื่องภาวะผู้นำทางการศึกษา มาเป็นการสืบสอบความรู้เพื่อพัฒนาผ่านบทเรียน Lesson Study ที่มุ่งวิเคราะห์เรื่องหลักสูตร การสอน และการเรียนรู้ของนักเรียน รวมถึงการใช้วิธีการของการศึกษาผ่านบทเรียน เปลี่ยนจากโมเดลวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ มาสู่การบรรยายเรื่องกรณีศึกษา

          จากตัวอย่างของหลายประเทศที่เริ่มเห็นผลจากการปฏิบัติอย่างเป็นที่น่าสนใจ บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) จึงมีการจัดงาน EDUCA 2015 : งานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 8 ภายใต้แนวคิด ON SCHOOLING

          โดยมี "ผศ.ดร.เอซูเกะ ไซโตะ" ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง SLC จากประเทศญี่ปุ่น จะมาเป็นองค์ปาฐกในหัวข้อ "การศึกษาชั้นเรียนเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้แนวทางเพื่อการปฏิรูปโรงเรียน" ในวันที่ 14 ตุลาคม 2558

          ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นไฮไลต์สำคัญสำหรับบริบทต่อไปของการศึกษาไทยในอนาคต--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 - 11 ต.ค. 2558