เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
บทความการศึกษา
ระบบประกันคุณภาพทางการศึกษา ถึงเวลาทบทวนวิธีการแล้วหรือยัง?
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: ระบบประกันคุณภาพทางการศึกษา ถึงเวลาทบทวนวิธีการแล้วหรือยัง? (อ่าน 3019 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3925
ระบบประกันคุณภาพทางการศึกษา ถึงเวลาทบทวนวิธีการแล้วหรือยัง?
เมื่อ:
ตุลาคม 13, 2015, 07:58:11 AM
ระบบประกันคุณภาพทางการศึกษา ถึงเวลาทบทวนวิธีการแล้วหรือยัง?
นพดล ปกรณ์นิมิตดี
ในช่วงระยะเวลาเดือนสองเดือนที่ผ่านมา ข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องการประกันคุณภาพทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบอุดมศึกษา มีทิศทางและปฏิกิริยาอันสอดคล้องเป็นไปในทางลบเป็นส่วนใหญ่ ประเด็นใจความสำคัญมุ่งไปที่การตั้งคำถามถึงประโยชน์และประสิทธิภาพในการประกันคุณภาพทางการศึกษา หรือที่แวดวงอาจารย์จะเรียกว่า SAR นี่แหละครับ
สิ่งที่ปรากฏใน Facebook ในเพจที่ว่าด้วยอาจารย์ทั่วประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับระบบประกันคุณภาพ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ชัดถึงความขุ่นข้องหมองใจกับภาระที่เกิดขึ้นกับคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ในหลายสถาบันที่อาจารย์ทั้งถูกบังคับหรือด้วยภาระหน้าที่ ในอันต้องเข้ามามีส่วนจัดทำงานเอกสารมากมายตามระบบประกันคุณภาพ อันอุดมไปด้วยตัวบ่งชี้สารพัดหลากหลายที่ถูกคิดขึ้นโดยที่ผู้คิดบางท่านคิดให้คนอื่นทำ แต่ตัวเองไม่ได้ทำ จนอาจลืมคิดไปว่า หากตนเองจะต้องมีหน้าที่มารับภาระทำ จะทำได้ทั้งหมดจริงหรือไม่
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หมวด 6 มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา
มาตรา 47 บัญญัติว่า "ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วย ระบบการประกันคุณภาพภายในและระบบการประกันคุณภาพภายนอก ระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง"
แม้จะไม่เห็นด้วยกับระบบประกันคุณภาพการศึกษา แต่เมื่อกฎหมายการศึกษาแห่งชาติบัญญัติไว้ให้มี และต้องทำ ก็ยากยิ่งที่จะปฏิเสธต่อการคงอยู่ของระบบประกันคุณภาพการศึกษา
ฉะนั้น หากมีข้อเสนอที่ไม่ต้องการให้มีระบบประกันคุณภาพการศึกษา ก็มีหนทางเดียวคือ ต้องเสนอยกเลิกมาตรา 47 นี้ซะ หรือปฏิรูป พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเสียใหม่ทั้งฉบับ
กระบวนการและวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ที่กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาต้องมีการประเมินตนเองตามตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประกันคุณภาพ โดยมีคณะกรรมการประเมินคุณภาพภายในอันประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกส่วนหนึ่ง แม้ในภาพรวมดูแล้วเป็นสิ่งดีเพื่อการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ ผู้ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามระบบประกันคุณภาพการศึกษา คืออาจารย์ผู้น้อยในระดับล่างๆ รวมถึงผู้บริหารในระดับคณะ
ภาระของคณาจารย์ โดยส่วนใหญ่ต้องไม่ลืมว่าคนเหล่านี้ภาระหน้าที่หลักคือการสอน การเตรียมการสอน การศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างสม่ำเสมอ บางสถาบันให้ผู้บริหารระดับรองคณบดีหรือผู้ช่วยคณบดีทำ คณาจารย์ผู้น้อยก็ร้องเพลงสบายๆ ไป อาจไม่มีปัญหา แต่บางสถาบันอุดมศึกษาไม่ว่ารัฐหรือเอกชน จะมอบภาระทั้งหมดให้คณาจารย์ลูกภาค ลูกคณะ ช่วยกันทำ หลายสถาบันมิได้จ้างเจ้าหน้าที่มากมายเหมือนมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ปัญหา SAR จึงถูกหมักและถมเข้าใส่อาจารย์ผู้น้อย
ฉะนั้น หากใครบอกอาชีพอาจารย์สบาย อาจจะไม่จริงซะแล้วกระมังในยุค 2015
ปัญหาในแง่พฤติกรรมส่วนตัวของอาจารย์บางคนจึงเกิดขึ้น การผลักภาระ การพยายามหลีกเลี่ยงการทำ SAR จึงเกิดขึ้นกับคณาจารย์จำนวนหนึ่ง บางท่านแม้จะจบการศึกษาระดับขั้นสูงสุดแล้ว ก็พยายามพูดว่าตนเองไม่รู้เรื่อง SAR ขอฉลาดบางเรื่อง แต่ยอมโง่เรื่อง SAR เพื่อที่จะไม่อยากจัดทำเอกสารอันมีมากมาย ผลักภาระให้อาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ที่อาวุโสน้อยกว่าทำไป คุณประโยชน์บางข้อของการประกันคุณภาพการศึกษา จึงอาจเป็นเพียงการสร้างครูบาอาจารย์ที่เห็นแก่ตัวบางคนให้กับวงการศึกษาไทยโดยทางอ้อมก็เป็นได้
วิธีการตรวจประเมินที่ให้สถาบันจัดทำเอกสารทั้งหมดให้สมบูรณ์ เตรียมรอหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งมาตรวจ จึงไม่ต่างอะไรกับการผลักภาระให้ผู้ถูกตรวจทำเอกสารทั้งหมดไว้เพื่อรอให้คนตรวจมาตรวจเฉยๆ คนตรวจ (หน่วยงาน.....ที่อยู่เบื้องหลัง SAR) จะได้สบายใช่หรือไม่ หากมองในมุมกลับ ทำไมไม่ให้สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ทำ เพียงแค่จัดเตรียมเอกสารแนบท้ายตัวเล่มตรวจจริง ทำไมหน่วยงานที่อยากมีอำนาจในการตรวจประกันคุณภาพไม่เป็นผู้จัดทำเสียเอง ด้วยเหตุที่หน่วยงานนั้นๆ ยังต้องการทำหน้าที่กำกับ ดูแล หรือกำกับควบคุมอยู่ใช่หรือไม่
มิฉะนั้น มันก็ไม่ต่างอะไรกับการที่อาจารย์คนหนึ่งให้เด็กทำข้อสอบเสร็จ แล้วก็ให้นักศึกษาผลัดกันตรวจและรวมคะแนนให้ แล้วอาจารย์ก็นั่งรอคะแนน อาจารย์ที่ทำแบบนี้เรายังรู้สึกไม่ค่อยดีเลย แล้วนี่หน่วยงานรัฐกลับทำเสียเอง มันคืออะไร จะอ้างไม่มีงบประมาณกระนั้นหรือครับ
ท้ายสุดนี้ ทุกสถาบันอุดมศึกษาต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานสถาบันอุดมศึกษาตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว แค่บังคับให้ทุกสถาบันทำให้ได้ คุณภาพอุดมศึกษาไทยก็ดีขึ้นได้แน่นอน อยากเพิ่มอะไร ก็แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรฐานการอุดมศึกษา แต่วิธีการประเมินคุณภาพการศึกษาในรูปแบบปัจจุบัน จะทำให้ได้คุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้นหรือไม่ 10 กว่าปี กับกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ คงมีคำตอบในใจของใครหลายคนแล้ว
ถึงเวลาคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่ออุดมศึกษาไทยกันได้แล้วหรือยังครับ
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 13 ต.ค. 2558 (กรอบบ่าย)
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
บทความการศึกษา
ระบบประกันคุณภาพทางการศึกษา ถึงเวลาทบทวนวิธีการแล้วหรือยัง?
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?