ผู้เขียน หัวข้อ: การเรียนโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน  (อ่าน 3368 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
เมื่อ: กรกฎาคม 20, 2015, 12:34:16 AM

การเรียนโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน
การศึกษาในกระบวนทัศน์ใหม่ : การเรียนโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน
Education in the New Paradigm: Research-based Learning
รองศาสตราจารย์เสาวภา วิชาดี  มหาวิทยาลัยกรุงเทพ


วิจัยกับการเรียนการสอน
                เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้สอนเป็นศูนย์กลาง (Teacher-centered) ในอดีตที่ผ่านมานั้นไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนได้อย่างแท้จริง ในการปฏิรูปการศึกษาจึงได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดเป็นการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-centered, Student-centred หรือ Child-centered) โดยมีหลักการว่า กระบวนการจัดการเรียนการสอนต้องเน้นให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ และพัฒนาความสามารถได้ตามธรรมชาติ เต็มตามศักยภาพของตนเอง รวมทั้งสนับสนุนให้มีการฝึกและปฏิบัติในสภาพจริงของการทำงาน มีการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับสังคม ได้เรียนรู้จากหลายๆ สถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน มีการจัดกิจกรรมและกระบวนการให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ โดยไม่เน้นไปที่การท่องจำเพียงเนื้อหา ผู้เรียนจึงมีอิสระในการเรียนมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับ ?การเรียน? มากกว่า ?การสอน? จากหลักการและแนวคิดดังกล่าว นักการศึกษาจึงได้พัฒนาแนวทางในการจัดกิจกรรมที่เอื้อประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้เรียน ซึ่งการเรียนที่ใช้การวิจัยเป็นฐาน (Research-based Learning หรือ RBL) ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่มุ่งเน้นทักษะกระบวนการค้นคว้า พัฒนาการคิดวิเคราะห์และบูรณาการเนื้อหาความรู้ อาจารย์ผู้สอนจำนวนมากให้ความสนใจกับวิธีการสอนแบบนี้เนื่องจากสามารถนำไปใช้ได้ทุกรายวิชาในหลายระดับการศึกษา
                กระบวนการวิจัยเป็นกระบวนการแสวงหาความรู้อย่างเป็นระบบระเบียบเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้หรือข้อค้นพบใหม่ เป็นการพัฒนาให้ผู้เรียนมีความใฝ่รู้ ใฝ่เรียน สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องหรืออาจกล่าวได้ว่า กระบวนการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งสอดคล้องกับหลักการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในหมวด 4 มาตรา 24 (5) ว่า ?ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้? (สำนักงานปฏิรูปการศึกษา, 2545) ผลจากพระราชบัญญัติการศึกษานี้ทำให้ผู้สอนนำกระบวนการวิจัยมาผสมผสานหรือบูรณาการใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนและเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้สามารถใช้กระบวนการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวน การเรียนรู้มากขึ้น สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม  ระยะที่ 9 (พ.ศ. 2545 ? 2549) ที่มุ่งเน้นให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ที่สร้างโอกาสให้คนไทยทุกคนคิดเป็น ทำเป็น มีเหตุผลสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต รู้จักใช้ข้อมูลที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เพื่อสร้างองค์ความรู้และพัฒนาตนเอง ซึ่งการจะหล่อหลอมให้เกิดคุณลักษณะดังกล่าวได้ ต้องฝึกให้รู้จักใช้กระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อถือได้ และกระบวนการที่สร้างความรู้ได้อย่างเป็นระบบระเบียบคือการวิจัย ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาฯ ระยะที่ 9 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า การวิจัยเป็นแนวทางดำเนินการหนึ่งที่นำไปสู่การสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ (สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์, 2546) การเรียนที่ใช้การวิจัยเป็นฐานถือเป็นการปฏิรูปการศึกษา ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากระบวนการวิจัยไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับอาจารย์ผู้สอนเท่านั้นแม้แต่ผู้เรียนก็ต้องเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน ผู้เรียนในยุคปฏิรูปการศึกษาควรมีทักษะกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นระบบและยั่งยืน และสามารถนำเอากระบวนการวิจัยไปพัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง เช่น นำไปสร้างโครงงาน ตรวจสอบความรู้ของตนเอง แสวงหาความรู้ใหม่ๆ นำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น (พิชญ์สินี ชมภูคำ, 2544)
นิยามของการจัดการศึกษาแบบใช้การวิจัยเป็นฐาน
                ปัจจุบันการจัดการเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐานนั้น มีผู้เรียกแตกต่างกันไป เช่น การสอนแบบเน้นการวิจัย การเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการวิจัย การสอนแบบวิจัย การเรียนการสอนที่มีการวิจัยเป็นฐาน และการจัดการเรียนรู้แบบใช้การวิจัยเป็นฐาน เป็นต้น เสาวนีย์ กานต์เดชารักษ์ (2539) ได้ให้ความหมายของการสอนแบบเน้นการวิจัยว่าเป็นการนำแนวคิดการวิจัยมาเป็นพื้นฐานในการเรียนการสอน และผสมผสานวิธีสอนแบบต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง จากตำราเอกสารสื่อต่างๆ คำบอกเล่าของอาจารย์ รวมทั้งจากผลการวิจัยต่างๆ ตลอดจนทำรายงานหรือทำวิจัยได้ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2545) ได้ให้คำนิยามของวิธีการจัดการเรียนรู้ที่มีการวิจัยเป็นฐานไว้ว่า เป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ (Research for Learning Development) ซึ่งเป็นการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้
                ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา (2545) อดีตอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ ?การศึกษาที่มีการวิจัยเป็นฐาน? ว่าการวิจัยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สามารถสร้างคุณลักษณะหลายอย่างที่การศึกษาต้องการได้ การวิจัยสามารถปรับเปลี่ยนบุคคลให้ตั้งอยู่บนฐานข้อมูลและเหตุผล มีวิจารณญาณ วิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์และเกิดนวัตกรรมได้ ขั้นตอนของการวิจัยไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงความรู้ การประเมินความเชื่อถือได้ของความรู้ การตีค่า ความอิสระทางความคิดและเป็นตัวของตัวเองย่อมนำมาใช้เป็นเครื่องมือของการเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ และทัศนีย์ บุญเติม (2547) ได้ให้ความ หมายเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบใช้การวิจัยเป็นฐานไว้ว่า เป็นการสอนเนื้อหาวิชา เรื่องราว กระบวนการ ทักษะและอื่นๆ โดยใช้รูปแบบการสอนชนิดที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เนื้อหา หรือสิ่งต่างๆ ที่ต้องการสอนนั้น โดยอาศัยพื้นฐานกระบวนการวิจัย ซึ่งคล้ายคลึงกับความหมายของการสอนที่เน้นกระบวนการวิจัย (Research-based Instruction) ที่ อาชัญญา รัตนอุบล (2547) ได้ให้ความหมายว่า เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สนับสนุนให้นักเรียนใช้การวิจัยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในเรื่องที่ตนสนใจ หรือต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้ขอบเขตเนื้อหาที่เรียน โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกการคิดและจัดการหาเหตุผลในการตอบปัญหาตามโจทย์ที่นักเรียนตั้งไว้ โดยการผสมผสานองค์ความรู้แบบสหวิทยาการและศึกษาจากสถานการณ์จริง นอกจากนี้ อมรวิชช์ นาครทรรพ (2547) ได้ให้ความหมายของการสอนแบบวิจัยไว้ว่าเป็นกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการศึกษาค้นคว้าและ ค้นพบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในเรื่องที่ศึกษาด้วยตนเองโดยอาศัยกระบวนการวิจัยอย่างเป็นระบบเป็นเครื่องมือสำคัญ คำอธิบายนี้จึงสอดคล้องกับความหมายของการจัดการเรียนรู้โดยเน้นกระบวนการวิจัยหรือใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ของทิศนา แขมมณี (2548) ที่ได้นิยามไว้ว่า เป็นการจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาความรู้ใหม่หรือคำตอบที่เชื่อถือได้โดยใช้กระบวนการสืบสอบในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ศึกษาวิจัยในการดำเนินการสืบค้น พิสูจน์ทดสอบ เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล
                จากคำนิยามข้างต้น การจัดการเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน (Research-based Learning หรือ RBL) จึงหมายถึง การนำกระบวนการวิจัยหรือผลการวิจัยมาเป็นพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้หรือนำเอากระบวนการวิจัยมาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะกระบวนการวิจัยและการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองโดยผู้สอนหรือครูใช้วิธีการสอนที่หลากหลายอันนำไปสู่การสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน ลักษณะของการจัดการศึกษาแบบ RBL มีดังนี้ คือหลักการที่ 1 แนวคิดพื้นฐาน เปลี่ยนแนวคิดจาก ?เรียนรู้โดยการฟัง/ตอบให้ถูก? เป็น ?การถาม/หาคำตอบเอง? หลักการที่ 2 เป้าหมาย เปลี่ยนเป้าหมายจาก ?การเรียนรู้โดยการจำ/ทำ/ใช้? เป็น ?การคิด/ค้น/แสวงหา? หลักการที่ 3 วิธีสอน เปลี่ยนวิธีสอนจาก ?การเรียนรู้โดยการบรรยาย? เป็น ?การให้คำปรึกษา? หลักการที่ 4 บทบาทผู้สอน เปลี่ยนบทบาทผู้สอนจาก ?การเป็นผู้ปฏิบัติเอง? เป็น ?การจัดการให้ผู้เรียน? (ไพฑูรย์ สินลารัตน์, 2547)

รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบใช้การวิจัยเป็นฐาน
                สมหวัง พิธิยานุวัฒน์และทัศนีย์ บุญเติม (2540) ได้เสนอรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐานไว้ 4 รูปแบบ ได้แก่
                1. การจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัย คือการให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติทำวิจัยในระดับต่างๆ เช่น การทำการทดลองในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ การศึกษารายกรณี (Case Study) การทำโครงงาน การทำวิจัยเอกสาร การทำวิจัยฉบับจิ๋ว (Baby Research) การทำวิทยานิพนธ์ เป็นต้น
                2. การสอนโดยให้ผู้เรียนร่วมทำโครงการวิจัยกับอาจารย์หรือเป็นผู้ช่วยในโครงการวิจัย (Under Study Concept) ในกรณีนี้ผู้สอนต้องเตรียมโครงการวิจัยไว้รองรับเพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ทำวิจัย เช่น ร่วมเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะมีข้อเสียที่ผู้เรียนไม่ได้เรียนรู้กระบวนการทำวิจัยครบถ้วนทุกขั้นตอน
                3. การสอนโดยให้ผู้เรียนศึกษางานวิจัย เพื่อเรียนรู้องค์ความรู้ หลักการและทฤษฎีที่ใช้ในการวิจัยเรื่องนั้นๆ วิธีการตั้งโจทย์ปัญหา วิธีการแก้ปัญหา ผลการวิจัย และการนำผลการวิจัยไปใช้และศึกษาต่อไป ทำให้ผู้เรียนเข้าใจกระบวนการทำวิจัยมากขึ้น
                4. การสอนโดยใช้ผลการวิจัยประกอบการสอน เป็นการให้ผู้เรียนได้รับรู้ว่า ทฤษฎีข้อความรู้ใหม่ๆ ในศาสตร์ของตนในปัจจุบันเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างศรัทธาต่อผู้สอนรวมทั้งทำให้ผู้สอนไม่เกิดความเบื่อหน่ายที่ต้องสอนเนื้อหาเดิมๆ ทุกปี

                ทิศนา แขมมณี (2548) ได้กล่าวถึงแนวทางในการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นกระบวนการวิจัยว่ากระบวนการวิจัยคือวิธีวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งผลการวิจัย และผลการวิจัยก็คือผลที่ได้มาจากการดำเนินงาน ดังนั้นแนวทางในการใช้การวิจัยในการเรียนการสอนจึงประกอบด้วยการใช้ผลการวิจัยและใช้กระบวนการวิจัยในการเรียนการสอน การจัดการศึกษาแบบ RBL นั้นมีรูปแบบการจัดการศึกษาดังนี้
                1. RBL ที่ใช้ผลการวิจัยเป็นสาระการเรียนการสอน ประกอบด้วย การเรียนรู้ผลการวิจัย/ ใช้ผลการวิจัยประกอบการสอน การเรียนรู้จากการศึกษางานวิจัย/การสังเคราะห์งานวิจัย
                2. RBL ที่ใช้กระบวนการวิจัยเป็นกระบวนการเรียนการสอน ประกอบด้วย การเรียนรู้วิชาวิจัย/วิธีทำวิจัย การเรียนรู้จากการทำวิจัย/รายงานเชิงวิจัย การเรียนรู้จากการทำวิจัย/ร่วมทำโครงการวิจัย การเรียนรู้จากการทำวิจัย/วิจัยขนาดเล็ก และการเรียนรู้จากการทำวิจัย/วิทยานิพนธ์
อย่างไรก็ตามพบว่ารูปแบบที่มีผู้นำมาใช้ในกระบวนการเรียนการสอนกันอย่างแพร่หลายในสถานศึกษา ต่างๆ ได้แก่ การนำผลการวิจัยมาใช้สนับสนุนเนื้อหาวิชาและการใช้กระบวนการวิจัยเป็นกระบวนการเรียนการสอน

1. ตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ผลการวิจัยประกอบการสอน
                การจัดการเรียนการสอนที่เน้นการนำผลการวิจัยมาพัฒนาความรู้ของผู้เรียนนั้นสามารถนำมาใช้ได้ในทุกรายวิชา ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนได้จัดกิจกรรมการศึกษาแบบใช้วิจัยเป็นฐานโดยใช้ผลการวิจัยเป็นสาระการเรียนการสอนในรายวิชาภาษาอังกฤษ 211 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เนื้อหาสาระของการใช้กลยุทธ์ในการอ่านภาษาอังกฤษจากผลงานวิจัย ซึ่งผู้เขียนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้คือ
                (1) ผู้สอนรวบรวมบทคัดย่อ ผลงานวิจัยเกี่ยวกับกลยุทธ์ต่างๆ ที่ใช้ในการอ่านภาษาอังกฤษ โดยผู้สอนกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจใฝ่รู้ เกิดข้อสงสัย อยากรู้ อยากแสวงหาคำตอบของข้อสงสัย อีกทั้งแนะนำวิธีการอ่านผลงานวิจัย
                (2) ผู้สอนให้ผู้เรียนค้นคว้างานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ทางการอ่านเพิ่มเติม โดยผู้สอนได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งข้อมูล และงานวิจัยที่ผู้เรียนจะต้องสืบค้นเพื่อการศึกษาหาความรู้
                (3) ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนศึกษารายงานวิจัยต่างๆ และสรุปความรู้เพื่อนำมาอภิปรายร่วมกัน โดยเน้นการนำเสนอสาระของงานวิจัยอย่างเชื่อมโยงกับสาระที่กำลังเรียนรู้ เช่น การนำกลยุทธ์การอ่านมาใช้ขณะที่อ่านเพื่อพัฒนาทักษะด้านการสรุปใจความสำคัญ หรือพัฒนาทักษะการอ่านเร็ว เป็นต้น  หลังจากนั้นมอบหมายให้ผู้เรียนทำการประเมินใน 2 ประเด็นดังนี้คือ
                        (1) ประเมินการแสวงหาแหล่งความรู้ต่างๆ
                        (2) ประเมินการเรียนรู้ของตนเองเกี่ยวกับผลการวิจัย

2. ตัวอย่างงานวิจัยที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการวิจัย
                การจัดการเรียนการสอนที่ผู้เรียนใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้นั้นสามารถนำ�มาใช้ในรายวิชาภาษาอังกฤษได้ ยกตัวอย่างเช่น รศ.ดร.พวงเพ็ญ อินทรประวัติ ได้บูรณาการการสอนโดยใช้วิจัยเป็นฐาน (Research-based Method) ควบคู่กับการวิเคราะห์เนื้อหา (Genre Analysis) และกระบวนการเขียน (Writing Process) เพื่อสอนเขียนเรียงความเชิงอภิปรายโวหารในรายวิชาภาษาอังกฤษระดับปริญญาตรี โดยผู้สอนมีความคาดหวัง 2 ด้าน คือด้านเนื้อหาและด้านการใช้ภาษาอังกฤษ
                1. ในด้านเนื้อหา ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้วิธีการเขียนที่สามารถชักจูงผู้อ่านให้คล้อยตามความคิดเห็นของตน หรือกระทำกิจกรรมบางอย่างตามข้อเสนอแนะของตนโดยจะต้องเลือกปัญหาตามหัวข้อเรื่องที่ตนเองสนใจ วิเคราะห์ผู้อ่านเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่ผู้อ่านต้องการทราบ หาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการเปรียบเทียบและจำแนกประเภท นำเสนอข้อมูลโดยการเขียนเรียงความเป็นภาษาอังกฤษ
                2. ในด้านการใช้ภาษาอังกฤษ มุ่งหวังให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการเขียนเรียงความเชิงอภิปรายโวหารเป็นภาษาอังกฤษ โดยที่ 1) ต้องวิเคราะห์และเขียนเรียบเรียงข้อความตามรูปแบบการเขียนเรียงความชนิดนี้ได้ ซึ่งผู้สอนได้นำเอาหลักการวิเคราะห์เนื้อหาตามหน้าที่มาใช้ โดยให้ผู้เรียนพิจารณาข้อความที่ทำหน้าที่ต่างๆ กันในย่อหน้า เช่น ระบุใจความสำคัญ ยกตัวอย่าง ให้คำจำกัดความ เปรียบเทียบความแตกต่างเป็นต้น ให้จำแนกข้อความที่ทำหน้าที่ต่างๆ กันนี้และให้ฝึกเขียนข้อความดังกล่าวในเรียงความของตน และ 2) เขียนประโยคชนิดต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษได้ถูกต้องตามกฎไวยากรณ์ผลการศึกษาพบว่า ผู้เรียนมีความสนใจใฝ่รู้ และมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยที่สามารถนำเอากระบวนการค้นหาความรู้ที่ใช้กระบวนการวิจัยไปใช้ได้ครบถ้วนในทุกขั้นตอนของการเขียนรียงความเชิงอภิปรายโวหาร ผู้เรียนสามารถพัฒนาวิธีการเรียนรู้และกระบวนการคิดของตนเอง ซึ่งสังเกตเห็นจากการตั้งข้อสงสัยการถามระหว่างเรียนและการทำกิจกรรมการเรียนรวมทั้งการให้ข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับกระบวนการเรียนของตนเองที่ปรากฏในแบบสอบ ถาม หลังการเรียน จะเห็นได้ว่ากิจกรรมที่ผู้เรียนต้องทำดังกล่าวมีลักษณะหลากหลายและใช้กระบวนการคิดและทักษะที่แตกต่างกันออกไป เช่นการแสวงหาหัวข้อเรื่องและเลือกประเด็นปัญหา หลังจากที่ตัดสินใจเลือกประเด็นปัญหาแล้ว ก็ให้ค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษ เช่น เว็บไซต์ หนังสือ วารสาร เป็นต้น นำมาอ่านวิเคราะห์เพื่อเลือกข้อมูลให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้อ่าน จัดเก็บข้อมูลอย่างมีระบบในไฟล์ (file) แล้วเรียบเรียงเขียนขึ้นใหม่ตามความคิดของตน ในการเขียนร่างครั้งที่ 1 นี้เน้นที่เนื้อหาที่ต้องการเขียน ซึ่งถ้อยคำภาษาอาจจะยังไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ทั้งหมด หลังจากนั้นจัดให้มีการอภิปรายกลุ่มย่อยและปรึกษากับอาจารย์ผู้สอนเพื่อปรับเนื้อหาจึงได้เป็นร่างที่ 2 เมื่อเนื้อหาที่ได้เป็นที่พอใจแล้วจึงปรับแก้คำศัพท์และแก้ไขภาษาให้ถูกต้อง จึงได้ร่างสุดท้าย สรุปได้ว่ากระบวนการสอนข้างต้นนี้สามารถนำเสนอรูปแบบได้ดังนี้ คือ ตระหนักถึงประเด็นปัญหา วิเคราะห์ผู้อ่าน แสวงหาความรู้ นำเสนองาน อภิปรายผล ตัดสินใจเลือก  (พวงเพ็ญ อินทรประวัติ, 2548)

ประโยชน์จากการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน
                เนื่องจากการวิจัยเป็นกระบวนการในการแสวงหาความรู้หรือข้อเท็จจริงโดยมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน เมื่อนำไปใช้ในระดับมหาวิทยาลัยจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างอิสระ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของปรียนันท์ สิทธิจินดา (2552) ที่กล่าวไว้ว่าการเรียนแบบใช้วิจัยเป็นฐานนี้ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจวิชาที่เรียนมากขึ้น ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชานั้นสูงขึ้น เพราะเป็นการเรียนที่ไม่น่าเบื่อ ไม่จำเจ สนุกสนาน ได้เผยศักยภาพของตนเอง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเป็นการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ เปลี่ยนมุมมอง/ทัศนะของบุคคลให้คิดเป็น มีคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งแตกต่างจากการเรียนแบบอื่นๆ การเรียนแบบนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง สรุปได้ดังนี้คือ
                ? เปลี่ยนรูปแบบจาก Teaching-Based เป็น Learning-Based
                ? เปลี่ยนลักษณะการเรียนจาก Passive เป็น Active
                ? เปลี่ยนจากวิชาเป็นปัญญา
                ? นักศึกษาได้เรียนรู้ (Learning) มากกว่าการรู้ (Knowing)
                ? ได้เปลี่ยนแปลงตัวนักศึกษาโดยใช้งานวิจัยเป็นวิถีของการเรียนรู้

                อำรุง จันทวานิช (2548, 8-10) ได้สรุปประโยชน์ของการจัดเรียนการสอนที่มีการวิจัยเป็นฐาน ไว้ดังนี้
                1. ประโยชน์ต่อผู้เรียน โดยผู้เรียนได้รับการพัฒนาการเกิดทักษะการใช้การวิจัยในการแสวงหาความรู้ เรียนรู้ทฤษฎี แนวคิด หลักการและข้อค้นพบที่มีความหมายมีความเที่ยงตรง รู้จักวิเคราะห์ปัญหา การวางแผนการแก้ปัญหาหรือการพัฒนา เก็บรวบรวมข้อมูล สรุปผลนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ ผู้เรียนมีโอกาสได้รักการพัฒนาทักษะการคิด (Thinking Skills) ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving and Resolution Skills) ทักษะการบริหารจัดการเวลา (Time Management Skills) ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills) ทักษะประมวลผล (Computer Skills) และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning Skills)
                2. ประโยชน์ต่อครู ทำให้ครูมีการวางแผนทำงานในหน้าที่ของตนอย่างเป็นระบบ ได้แก่ วางแผนการสอน ออกแบบกิจกรรมโดยให้ผู้เรียนใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน ประเมินผลการทำงานเป็นระยะโดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำอะไรเมื่อไร เพราะอะไร และทำให้ทราบผลการกระทำว่าบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร
                3. ประโยชน์ต่อวงการการศึกษา ซึ่งผลของการจัดเรียนการสอนที่มีการวิจัยเป็นฐานสามารถนำมาเป็นข้อมูลในการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ของครู เกี่ยวกับวิธีการจัดการการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนที่ครูแต่ละคน ซึ่งครูแต่ละคนสามารถจะประยุกต์และนำไปใช้เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครูอย่างต่อเนื่อง

                สรุปได้ว่าการเรียนการสอนโดยใช้การวิจัยเป็นฐานช่วยให้ผู้เรียนได้รู้จักวิธีการแสวงหาความรู้ จนกระทั่งสามารถนำไปใช้ในการค้นคว้าหาความรู้ที่มีอยู่รอบตัวและเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หรือเรียกว่าเป็นการศึกษาตลอดชีวิต ผู้เรียนจึงต้องเรียนรู้ที่จะแสวงหาความรู้ได้ด้วยวิธีการของตนเอง การเรียนรู้ที่ตัวเนื้อหาแต่อย่างเดียวจึงไม่ใช่เป้าหมายสำคัญของการเรียนการสอนในยุคปฏิรูปการศึกษาอีกต่อไป


ที่มา : http://www.radompon.com/weblog/?page_id=293