ผู้เขียน หัวข้อ: ปฏิรูปการศึกษาไทย ไปทางไหน ?  (อ่าน 2579 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3893
เมื่อ: ตุลาคม 05, 2015, 12:41:19 AM
คอลัมน์ Education Ideas โดย ผศ.ดร.ทศนัย ชุ่มวัฒนะ มหาวิทยาลัยรังสิต

ถึงวันนี้ต้องยอมรับความจริงว่าคุณภาพการศึกษาของเรากำลังถดถอยลงเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันทั้งที่เราพยายามผลักดันให้เด็กเรียนเยอะขึ้น เน้นวิชาการมากขึ้น แต่ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้กลับไม่ได้ทำให้คุณภาพการศึกษาของประเทศเราพัฒนาไปเท่าที่ควร

"คำถามคือ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?"

เมื่อหันกลับมามองปัญหาที่เกิดขึ้นกับการศึกษาไทย โดยเริ่มให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา จึงพบว่า มีปัจจัยหลายด้านที่ยังคงต้องคิดวิเคราะห์เพื่อหาทางออก เช่น การกำหนดนโยบาย และการให้การสนับสนุนต่าง ๆ จากรัฐบาลรวมทั้งเรื่องของการเปิดโอกาสให้บุคลากรทางด้านการศึกษาผู้ซึ่งเห็นและเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ได้เข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายร่วมกับรัฐบาล

ที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลาย ๆ นโยบายของรัฐบาลเป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้ระบบการศึกษาไทยไม่สามารถพัฒนาอย่างที่คิด หนึ่งในนั้นคือนโยบายการนำมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ออกนอกระบบเพื่อเป็นการลดภาระความรับผิดชอบ และค่าใช้จ่ายของรัฐบาล โดยไม่คำนึงผลที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้หลาย ๆ มหาวิทยาลัยเริ่มให้ความสนใจกับปริมาณของนักศึกษามากกว่าคุณภาพที่จะได้รับ จึงไม่แปลกที่การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยในวันนี้จะเกิดความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

แต่หากจะพูดถึงเรื่องที่น่าเศร้าที่สุดเรื่องหนึ่งของการศึกษาไทยคือ ระบบการศึกษาไทยไม่ได้เป็นโรงงานที่ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และใช้งานได้จริง รูปแบบการเรียนการสอนของไทยทุกวันนี้ยังคงเน้นการท่องจำ และการอัดทฤษฎีเข้าสู่ "สมอง" มากกว่าเน้นการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือทักษะการนำทฤษฎีและความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในการทำงานหรือการดำเนินชีวิต

ถึงเวลาแล้วที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทางด้านการศึกษาจะต้องกลับมามองว่า เรามาถูกทางแล้วหรือยัง ? ทำไมสิ่งที่เราทำกันมาไม่ได้ช่วยให้ระบบการศึกษาของประเทศชาติพัฒนาขึ้น ? และนั่นคือคำถามที่จะต้องเก็บไปคิดเพื่อหาคำตอบ

การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนถือว่าเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกของวงจรการปฏิรูปการศึกษาโดยมุ่งเน้นการปรับปรุงเนื้อหาที่เหมาะสม ผสมผสานกับการมุ่งพัฒนาเด็กให้สามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีทักษะในการนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน และแก้ปัญหาต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี

ทั้งนั้น ควรเริ่มต้นจากสถาบันครอบครัวที่จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี และส่งต่อเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ไปยังระบบการศึกษาเพื่อให้ครูอาจารย์ ซึ่งเปรียบเสมือนฟันเฟืองสำคัญบ่มเพาะขัดเกลา และผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ ทั้งทางด้านความรู้ ความคิด และจิตใจกลับคืนสู่สังคม

เพราะเราเชื่อว่า "ต้นไม้ที่ดีจะให้เมล็ดพันธุ์ที่ดีที่พร้อมจะเจริญงอกงามต่อไป"

ที่มา : http://campus.sanook.com/1379215/ สนับสนุนเนื้อหาโดยประชาชาติธุรกิจ