ผู้เขียน หัวข้อ: ชนะใจด้วยไมตรี  (อ่าน 1808 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
เมื่อ: ตุลาคม 12, 2015, 12:21:40 AM
เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล กับ ยวาหะลาล เนห์รู ไม่เพียงอยู่คนละทวีปเท่านั้น หากยังอยู่คนละฝั่งทางการเมืองอีกด้วย  เชอร์ชิลเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ  ในขณะที่เนห์รูเป็นผู้นำขบวนการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ อันดับสองรองจากคานธี  เชอร์ชิลนั้นไม่เคยปิดบังอคติที่มีต่อคนอินเดีย  ?ผมเกลียดคนอินเดีย?  เขาเคยกล่าวอย่างเปิดเผย ?พวกเขาเป็นพวกป่าเถื่อน ที่นับถือศาสนาป่าเถื่อน?  ตลอดเวลาที่มีอำนาจเขาใช้นโยบายแข็งกร้าวต่อขบวนการเรียกร้องเอกราชในอินเดีย  โดยไม่ยอมประนีประนอมด้วยเลย  ผลก็คือผู้นำชาวอินเดียถูกจับกุมคุมขังครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งคานธีและเนห์รู  จำเพาะคนหลังนั้นการติดคุกครั้งที่ ๙ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของเขากินเวลาเกือบสามปี

อินเดียได้เอกราชก็ต่อเมื่อเชอร์ชิลพ้นจากอำนาจแล้ว  แต่ขณะที่เป็นผู้นำฝ่ายค้าน เขาก็ยังต่อต้านอินเดียทุกวิถีทาง รวมทั้งสนับสนุนปากีสถาน ซึ่งแยกมาจากอินเดียและกลายเป็นศัตรูสำคัญของอินเดีย  อย่างไรก็ตามเนห์รูซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย กลับมีท่าทีเป็นมิตรกับอังกฤษ และในเวลาต่อมาได้แสดงให้เห็นว่า แม้กระทั่งกับเชอร์ชิล เขาก็มีความเป็นมิตรให้ด้วยเช่นกัน

ในปี ๒๔๙๖  เนห์รูได้รับเชิญเข้าร่วมพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ ๒ ณ พระราชวังบัคกิงแฮม  เมื่อเสร็จพิธี ขณะที่เนห์รูกำลังจะกลับ ก็เหลือบเห็นเชอร์ชิล ซึ่งตอนนั้นกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง กำลังยืนรอรถ เขาจึงตรงเข้าไปทักทายเชอร์ชิลราวกับคนคุ้นเคย ทั้ง ๆ ที่นั่นเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองได้พบกัน

เชอร์ชิลประทับใจในเหตุการณ์ครั้งนั้นมาก  ในเวลาต่อมาเขาได้พูดกับอินทิรา คานธี ลูกสาวของเนห์รูว่า ?ผมไม่คาดคิดว่าเขาจะทำเช่นนั้น  ทั้ง ๆ ที่ถูกผมจับเข้าคุกหลายครั้งแต่เขากลับเอาชนะความเกลียดชังได้ เขาปฏิบัติกับผมโดยไม่มีเค้าของความเจ็บแค้นเลย?

เหตุการณ์เพียงแค่ไม่กี่นาทีครั้งนั้นไม่เพียงเปลี่ยนทัศนคติของเขาต่อเนห์รู หากยังทำให้ท่าทีของเขาต่ออินเดียเปลี่ยนไปด้วย  เขาเคยพูดกับคนสนิทไม่นานหลังจากนั้นว่า ?หากผมย้อนกลับไปได้ในปี ๒๔๘๘ (ปีสุดท้ายในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกของเขาและสองปีก่อนที่อินเดียจะได้รับเอกราช)  ผมจะเสนอให้มีรัฐสภาในอินเดีย? เขายอมรับว่าเสียใจที่ไม่ได้ผูกมิตรกับชาวอินเดียเลย  แค่ติดต่อสัมพันธ์กันแต่ในเรื่องการเมืองเท่านั้น

?แรงมาก็แรงไป? คือวิธีการที่หลายคนนิยม เพราะเห็นว่าถูกต้องเหมาะสมแล้ว เขากระทำกับเราอย่างไร ก็ต้องตอบโต้กลับไปให้สาสมหรือหนักกว่า   เพราะเชื่อว่าเราจะชนะเขาได้ก็ด้วยวิธีนี้เท่านั้น  แต่ที่จริงแล้วน้ำใจไมตรีหรือความเป็นมิตรต่างหากที่นำมาซึ่งชัยชนะ  เป็นชัยชนะอันยั่งยืนเพราะเป็นการชนะใจเขา แม้กระทั่งคนซึ่งมีจิตใจแข็งแกร่งอย่างเชอร์ชิล ซึ่งสามารถนำอังกฤษชนะสงคราม และสยบฮิตเลอร์ได้ในท้ายที่สุด  ก็ยังแพ้ใจของเนห์รู ซึ่งไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าหยิบยื่นไมตรีให้โดยไม่ถือโทษโกรธเคืองในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว

ใจที่ไร้ความโกรธเกลียด มีแต่ความเป็นมิตรนั้น คือใจที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง เพราะเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง  สามารถโน้มน้าวใจที่แข็งกระด้าง กราดเกรี้ยว หวาดระแวง  ให้กลายเป็นใจที่อ่อนโยน นุ่มนวล และกลายเป็นมิตรได้  จะว่าไปแล้วในส่วนลึกของใจทุกดวงที่แข็งกระด้าง  ก็คือความรักและความอ่อนโยน ที่ยังหลับใหลอยู่ แต่มันจะตื่นขึ้นมาทันทีเมื่อได้สัมผัสกระแสแห่งความเป็นมิตรจากผู้อื่น  ความรักและความอ่อนโยนที่ถูกปลุกขึ้นมานี้หากมีพลังมากพอก็สามารถเอาชนะความแข็งกระด้าง และเปลี่ยนใจของผู้นั้น ให้หันมาเป็นมิตรกับผู้อื่น และทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามได้

อย่างไรก็ตามก่อนที่คิดจะชนะใจผู้อื่น อย่างแรกที่ต้องทำคือชนะใจตนเอง นั่นคือ รู้จักให้อภัย ไม่ปล่อยใจไปตามอำนาจของความโกรธเกลียด หรือผูกใจเจ็บไม่เลิกรา


ที่มา : http://www.visalo.org/article/Image255809.html