ผู้เขียน หัวข้อ: "ยาพิษ" แอบแฝงการศึกษา ภัยร้ายสร้างเด็กไทยอ่อนแอ  (อ่าน 1820 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ "การศึกษากับยาพิษแอบแฝง" ผ่านมุมมองมุมคิดของ "รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งให้ความหมายของการศึกษาว่า เป็นกระบวนการฝึกฝนความคิด การสร้างความใฝ่รู้ หรือเป็นการจุดไฟให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ทั้งนั้นเพื่อยกระดับความคิดอ่าน จนทำให้ผู้เรียนเกิดคุณธรรม จริยธรรม

ดังนั้น การที่การศึกษาไทยไม่ก้าวไกล เพราะมี "ยาพิษ" ที่แทรกซึมอยู่ในระบบการศึกษา "รศ.ดร.วรากรณ์" จึงเปรียบยาพิษดังกล่าวเป็นเหมือน "ปรอท" ซึ่งคนที่ได้สารปรอทไปแล้วสักระยะหนึ่งจะเสียชีวิต เช่นเดียวกับเด็กที่ทุกวันนี้ได้รับสารพิษจากโรงเรียน ครอบครัว สิ่งแวดล้อมรอบข้าง และสังคม เมื่อค่อย ๆ ซึมซับสารพิษเข้าไปจะเกิดอาการเจ็บป่วย และแสดงผลลัพธ์มาสู่เรื่องคุณภาพทางการศึกษา

การศึกษาจึงไม่สมควรจะส่งผลให้เกิดยาพิษในการศึกษา ซึ่งมีอยู่หลายมิติ เริ่มต้นด้วยคนที่คอยอบรมสั่งสอนเด็กอย่างพ่อแม่ และครูที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งครูบางกลุ่มนำผลประโยชน์ของผู้สอนเป็นสำคัญ และกั๊กบทเรียนไว้เพื่อจะได้สอนพิเศษ เด็กก็รู้ว่าครูกั๊กบทเรียนเพื่ออะไร และทราบว่าเป็นสิ่งที่ผิด กระนั้นเมื่อเห็นครูทำอย่างนี้เรื่อย ๆ เด็กจะเคยชินกับความไม่ถูกต้อง เห็นเรื่องผิดเป็นเรื่องปกติ ทำให้พวกเขาเห็นด้วยกับการคอร์รัปชั่นในโรงเรียน และสังคม โดยเกิดความเชื่อว่า ใคร ๆ ก็คอร์รัปชั่นได้ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาของสังคม

"บางสิ่งเด็กทำไปเพราะกลัวว่าจะกลายเป็นคนแปลกแยก อย่างในต่างจังหวัดจะมีเด็กจากพื้นที่ไกล ๆ มาเรียนพิเศษในตัวเมือง ซึ่งสอนโดยครูโรงเรียนประจำจังหวัด แล้วมีนักเรียนของโรงเรียนนั้น ๆ มาเรียนด้วย หากเด็กบางคนไม่มาเรียนก็จะกลายเป็นคนแตกแยกกับเพื่อน ๆ จึงต้องมาเรียนด้วย หรือแม้แต่พ่อแม่ที่ละเลยศีลธรรม ไม่ได้ดูแลลูก ก็จะทำให้ความไม่ถูกต้องนั้นประทับตัวเด็ก และเกิดเป็น Poisson Mind ให้กับเด็ก"

นอกจากนั้น ครูยังมีการครอบงำศิษย์ โดย "รศ.ดร.วรากรณ์" บอกว่า การสอนเด็กไม่ใช่ทำให้การทำตนให้เหมือนกระจกที่สะท้อนความคิดตัวผู้สอน แต่ต้องทำให้เป็นหน้าต่างที่เปิดความคิดของผู้เรียน เพราะความคิดของคนมีหลากหลาย แต่คนมักชอบคนที่คิดเหมือนตัวเอง ซึ่งครูต้องเคารพความเป็นศิษย์ และเคารพความคิดของศิษย์ โดยไม่ยัดเยียดความคิดของตัวเองลงไป

ไม่เพียงเท่านั้น การที่ครูทำให้เด็กเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งถือว่าเป็นการจงใจล้างสมองเด็ก ยกตัวอย่างการปลูกฝังความคิดเรื่องชาตินิยม เด็กปฏิบัติตามด้วยความไม่ได้รู้สึกรักชาติจริง ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนการปลูกฝังเรื่องรักชาติ มาเป็นการสร้างให้เกิดความรัก และเน้นให้เห็นความสำคัญถึงผลประโยชน์ของชาติ

"การปลูกฝังเรื่องชาตินิยมในปัจจุบันทำให้เด็กมองโลกผิดไปจากที่ควรจะเป็น หากครูสอนให้เด็กเข้าใจชาตินิยมอย่างถูกต้อง และมองโลกอย่างสากล จะทำให้เขามองเรื่องราวของไทยและโลกได้ถูก ซึ่งตอนนี้เด็กไม่ได้เข้าใจบริบทของประวัติศาสตร์ตามความเป็นจริง โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็เหมือนเป็นยาพิษที่ใส่เข้ามาในใจเด็กให้เขามองชาติอื่นด้อยกว่าไทย"

"รศ.ดร.วรากรณ์" กล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาไทยทำให้เด็กเกิดลักษณะพิเศษ คือ เป็นคนว่านอนสอนง่าย หรือทำให้เด็ก "เชื่อง" และ "หงอย" เพราะเรียนมากไป ซึ่งหากเด็กเชื่องมากจะทำให้คิดอะไรไม่เป็น สวนทางกับเป้าหมายของการศึกษาที่เป็นการทำให้คนสามารถยืนบนขาของตัวเองได้ ซึ่งสาเหตุหนึ่งของการทำให้เด็กมีลักษณะเช่นนี้ เพราะหลักสูตรไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เด็กอยากรู้อยากเห็น หรืออยากเรียน

"ความงมงายอย่างการขาดระบบคิดทางวิทยาศาสตร์นับเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คนคิดไม่เป็น ส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เพราะเขาไม่ทันคน ซึ่งการมีทักษะการคิดที่อ่อนแอจะทำให้คนโง่ต่อไป"

ยาพิษที่อยู่ในระบบยังทำให้การศึกษาไทยขาดคุณภาพยกตัวอย่างการเรียนสายสามัญแม้จะเป็นการเรียนตามเกณฑ์ และเชื่อว่าจบออกมาแล้วมีงานรองรับ แต่หากมองอีกทางหนึ่งถือว่าเป็นการเสียเวลา และก่อให้เกิดต้นทุนโอกาสค่อนข้างสูง เพราะทุกวันนี้การผลิตบัณฑิตออกมาไม่ค่อยมีคุณภาพ ซึ่งอีก 2-3 ปีข้างหน้า คนเรียนมหาวิทยาลัยอาจไม่ได้งานทำเสมอไป เห็นได้จากภาวะการมีงานทำของคนจบปริญญาตรีลดลงทุกปี

ขณะที่การเรียนสายอาชีพซึ่งคนยังไม่นิยมเรียน หากรัฐต้องการส่งเสริมให้คนเรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น ต้องทำให้เด็กที่จบออกมามีคุณภาพ และเสริมให้พวกเขามีศักยภาพสูงเกินกว่าค่าตอบแทน 15,000 บาท

"ไม่เว้นแม้แต่เรื่องงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการที่ภาครัฐสูญเสียทรัพยากรอย่างไร้ประโยชน์ เพราะ 70% ของงบประมาณหมดไปกับเงินเดือนครูและบุคลากรทางการศึกษา อีก 30% เป็นงบประมาณในการพัฒนาเด็ก ซึ่งถือว่าน้อยและงบประมาณที่ลงไปถึงตัวเด็กจริง ๆ ก็อาจไม่เพียงพอ"

สำหรับยาพิษสุดท้ายในการศึกษา คือ หลักสูตรแอบซ่อน (Hidden Curriculum) เด็กจากชนชั้นกลางถูกสอนให้เชื่อใน Work Ethics จนมองข้ามเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และความคิดอิสระ ซึ่งการศึกษารูปแบบนี้เหมือนเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการหล่อหลอมชาติ และทำให้ทุนนิยมยังคงดำรงอยู่

อย่างไรก็ดี "รศ.ดร.วรากรณ์" ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรจะสร้างภูมิต้านทานให้กับเด็กเพื่อกันยาพิษในการศึกษาแทรกซึม ด้วยการฝึกฝนเด็กให้มีคุณสมบัติสอดคล้องกับสถานการณ์ในศตวรรษที่ 21 นั่นคือการสร้างเด็กให้มีทักษะวิชาชีพ และทักษะด้านต่าง ๆ ทั้งการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดวิเคราะห์ ซึ่งจะต้องเข้าใจสถานการณ์ เห็นแนวโน้ม สามารถแก้ไขปัญหาได้ ตลอดจนช่างเรียนรู้และจดจำ

ทั้งนั้น เครื่องมือล้างพิษดีที่สุด คือ คุณภาพของคน ซึ่งพ่อแม่และสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการดูแลเด็ก และพัฒนาการศึกษาไทย กระนั้น ตนไม่ได้คาดหวังกับโรงเรียนเท่าไร เพราะถูกครอบงำโดยระบบราชการ

"ปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทยคือมีความเป็นราชการมากเกินไป ทำให้โรงเรียน และชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการศึกษา ที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองพยายามเอาใจครูและบุคลากรทางการศึกษา หลายคนจึงอยากเข้ามารับราชการมากกว่าความตั้งใจในการเป็นครู อีกทั้งเงินเดือนครูที่เพิ่มขึ้นก็ไม่เกี่ยวพันกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็ก ทั้ง ๆ ที่ควรมีความเชื่อมโยงกัน"

ดังนั้น ถ้าความเข้มข้นของราชการลดลง ก็อาจช่วยล้างพิษในการศึกษาไทยได้ระดับหนึ่ง


ที่มา : http://campus.sanook.com/  เนื้อหา จากประชาชาติธุรกิจ