ผู้เขียน หัวข้อ: ละทิ้งหน้าที่ราชการ กับ ทอดทิ้งหน้าที่ราชการ แตกต่างกันอย่างไร  (อ่าน 58111 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
สถานี ก.ค.ศ. เรื่อง การละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการจะเกิดผลอย่างไร

**************************

?ละทิ้งหน้าที่ราชการ?  หมายถึง ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามหน้าที่ ซึ่งได้แก่ การไม่มายังสถานที่ราชการเพื่อปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือเพื่อให้ผู้บังคับบัญชามอบหมายงานให้ปฏิบัติ รวมทั้งการมายังสถานที่ราชการแล้วแต่ไม่อยู่ปฏิบัติงาน ละทิ้งไปยังสถานที่อื่น

?ทอดทิ้งหน้าที่ราชการ?  หมายถึง การมาอยู่ในสถานที่ราชการ หรือมาปฏิบัติงานแต่ไม่สนใจ ไม่ปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ปล่อยให้งานคั่งค้าง

?อุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการ? หมายถึง ต้องอุทิศ หรือ สละเวลาทั้งหมดปฏิบัติราชการตามที่ทางราชการต้องการ รวมทั้ง เวลานอกเหนือจากเวลาปฏิบัติราชการตามปกติในกรณีที่ทางราชการมีงานเร่งด่วน ที่จำเป็นจะต้องให้ข้าราชการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการด้วย

************************

ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องตรงเวลา อุทิศเวลาของตนให้แก่ทางราชการและผู้เรียน จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันควรมิได้ โดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษาแล้ว ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ และกระทำโดยปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา โดยในสัปดาห์นี้จะขอนำความผิดกรณีที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษาแล้วไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการ แต่กลับมาลงเวลาปฏิบัติราชการย้อนหลัง ซึ่งได้มีการพิจารณาลงโทษแล้วมานำเสนอเป็นกรณีตัวอย่าง ดังนี้

นาย พ. ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน วิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยอ้างว่าไปประชม สัมมนา หรือไปศึกษาดูงานโรงเรียนในเครือข่าย โดยผู้บังคับบัญชาไม่อนุญาต แต่กลับมาลงเวลาปฏิบัติราชการย้อนหลังหลายครั้ง และดื่มสุราในเวลาราชการ ทำให้คณะกรรมการสถานศึกษา เครือข่ายผู้ปกครองเกิดความไม่พอใจที่ผู้อำนวยการไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้ทำหน้าที่ในการพัฒนาโรงเรียน หรือดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการครูในโรงเรียน จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้ตรวจสอบพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่า นาย พ. ได้กระทำผิดจริง จึงสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น และรายงาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาแล้ว เห็นชอบ และรายงาน ก.ค.ศ. ตามลำดับ

ในเรื่องดังกล่าว อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับวินัยและการออกจากราชการ ที่ทำการแทน ก.ค.ศ.พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของนาย พ. เป็นความผิดวินัยตามมาตรา 85 วรรคหนึ่ง มาตรา 87 วรรคหนึ่ง และมาตรา 94 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ กรณีละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และกรณีกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว จึงมีมติรับทราบการลงโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น และให้ติดตามความประพฤติเป็นเวลา 1 ปีด้วย (ครูบ้านนอกดอทคอม)

จากกรณีตัวอย่างที่นำมาเผยแพร่เป็นความรู้ในวันนี้ หวังว่าจะเป็นการกระตุ้นเตือนให้กับผู้บริหารสถานศึกษาที่กำลังกระทำเช่นนี้และยังไม่ถูกร้องเรียน ขอให้ประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ เพื่อช่วยกันพัฒนาการศึกษาให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ที่มา : กลุ่มประชาสัมพันธ์และการเผยแพร่ สำนักงาน ก.ค.ศ

**************************

การดำเนินการทางวินัยโดยผู้บังคับบัญชาอันเนื่องมาจากมีการกล่าวหาว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากระทำผิดวินัย ซึ่งผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นแล้ว ปรากฏว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากระทำผิดวินัย ก็เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ที่จะต้องดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยการสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง ตามมูลความผิดที่ได้สืบสวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้นมาแล้ว (มาตรา 98) ต่อจากนั้นก็เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมาย และมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (มาตรา 101) ที่จะไปดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ใน กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.2550 แล้วรายงานผู้บังคับบัญชาผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งผู้บังคับบัญชาจะต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาความผิดและกำหนดโทษ ในการพิจารณาความผิดและกำหนดโทษนั้น ผู้บังคับบัญชาจะต้องดำเนินการตามแนวทางการพิจารณาโทษข้าราชการครู ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ที่ ศธ 1306/ว4 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2543 ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะกรณีที่ข้าราชการครูกระทำผิดวินัย กรณีละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ ซึ่งมีแนวการพิจารณาโทษดังนี้

กรณีละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ ซึ่งมีแนวการพิจารณาโทษดังนี้

1.ละทิ้งหรือทอดทิ้งชั่วโมงสอน หรือเวรยาม

1.1 ละทิ้งหรือทอดทิ้งชั่วโมงสอน ระดับโทษปลดออก, ลดขั้นเงินเดือน, ตัดเงินเดือนหรือภาคทัณฑ์ตามความร้ายแรงแห่งกรณี

1.2 ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่เวรประจำวัน หรือเวรรักษาการณ์ ระดับโทษปลดออก, ลดขั้นเงินเดือน, ตัดเงินเดือนหรือภาคทัณฑ์ ตามความร้ายแรงแห่งกรณี

2.ละทิ้งหน้าที่ราชการเป็นเวลาไม่เกิน 15 วัน

2.1 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ระดับโทษปลดออก

2.2 ไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง

2.2.1 ละทิ้งไม่เกิน 3 วัน ระดับโทษตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 1 เดือน

2.2.2 ละทิ้งเกิน 3 วัน แต่ไม่เกิน 5 วัน ระดับโทษตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 2 เดือน

2.2.3 ละทิ้งเกิน 5 วัน แต่ไม่เกิน 10 วัน ระดับโทษตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 3 เดือน

2.2.4 ละทิ้งเกิน 10 วัน แต่ไม่เกิน 15 วัน ระดับโทษลดขั้นเงินเดือน

กรณีตาม 2.2.1-2.2.4 ให้คำนึงถึงความร้ายแรงแห่งกรณีด้วย

3.ละทิ้งหน้าที่ราชการเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน

3.1 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ระดับโทษไล่ออกหรือปลดออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี

3.2 ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

3.2.1 ไม่กลับมาปฏิบัติหน้าที่ราชการ ระดับโทษไล่ออก ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ นร 0205/ว 234 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2536

3.2.2 กลับมาปฏิบัติหน้าที่ราชการอีก ระดับโทษไล่ออกหรือปลดออก ตามความร้ายแรงแห่งกรณี

3.2.3 ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกัน เป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน โดยมีพฤติกรรมอันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ระดับโทษปลดออก

3.2.4 ละทิ้งหน้าที่ราชการเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน โดยไม่ติดต่อกัน

3.2.4.1 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ระดับโทษปลดออก

3.2.4.2 ไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ระดับโทษลดขั้นเงินเดือน

ที่มา : คอลัมน์ สถานี ก.ค.ศ. หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 กันยายน 2558
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 11, 2016, 11:34:40 PM โดย เลิศชาย ปานมุข »