ผู้เขียน หัวข้อ: ใช้กรรม หรือ ทำดี  (อ่าน 1592 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
เมื่อ: กันยายน 06, 2015, 10:11:53 AM
โดย  พระไพศาล วิสาโล มติชนรายวัน วันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘

เจี๊ยบ มีอาชีพที่มั่นคงพอสมควร  แต่วันหนึ่งเมื่อพบว่าแม่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์  เธอได้ลาออกจากงานเพื่อมาดูแลแม่  ไม่ใช่เพราะเธอเป็นน้องคนสุดท้อง  แต่เพราะไม่มีพี่คนใดสามารถปลีกตัวมาดูแลแม่เต็มเวลาเนื่องจากมีครอบครัวกันแล้วทั้งนั้น   ปีแรก ๆ พี่ ๆ ก็ให้เงินช่วยเหลือไม่ขาดมือ ทั้งค่าอาหาร ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเจี๊ยบ  แต่เมื่อผ่านไปหลายปี เงินช่วยเหลือจากพี่ ๆ ก็เริ่มขาด ๆ หาย ๆ  ทั้ง ๆ ที่ฐานะยังดีอยู่  เธอต้องตามทวงครั้งแล้วครั้งเล่ากว่าจะได้เงินมา  บางครั้งก็ขอไม่ได้ เธอต้องควักเงินเองขณะที่เงินเก็บก็ร่อยหรอลงเรื่อย ๆ

ระยะหลังความจำของแม่เลอะเลือนหนักขึ้น แถมช่วยตัวเองไม่ค่อยได้  จำเป็นต้องมีคนงานมาช่วยเธอ เช่น อุ้มแม่ขึ้นหรือลงจากเตียง รวมทั้งทำงานบ้านแทนเธอ  แต่พี่ ๆ กลับไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเป็นค่าจ้างคนงาน  เธอจึงดูแลแม่คนเดียวต่อไปด้วยความยากลำบาก  หลังจากดูแลต่อเนื่องนานนับสิบปีจนอายุเลย ๕๐ แล้ว กายก็เหนื่อยล้ามากขึ้น ส่วนใจก็คับข้องและขุ่นเคืองที่พี่ ๆ ไม่เห็นใจเธอเลย แถมไม่สนใจแม่ด้วย  จะมาหาแม่ก็ต่อเมื่อเป็นวันแม่ กราบแม่เสร็จ พูดคุยกับแม่สักพักก็ไป แล้วหายไปเป็นปี ทิ้งเธอให้อยู่คนเดียวกับแม่  บ่อยครั้งเวลานึกถึงพี่ ๆ ที่สุขสบายขณะที่เธอลำบาก  เธอก็อดท้อใจไม่ได้ว่าทำไมทำดีจึงต้องเป็นทุกข์อย่างนี้  แล้วทำไมคนที่ไม่ไยดีแม่เลยจึงมีชีวิตที่สุขสบาย

วันหนึ่งเธอเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนซึ่งเป็นคนสนใจธรรมะ  แทนที่เพื่อนจะเห็นใจเธอ  กลับบอกว่า ที่เธอเหนื่อยยากทุกวันนี้เป็นเพราะเคยทำกรรมไม่ดีกับแม่ในชาติก่อน ชาตินี้จึงต้องมาใช้กรรม  ส่วนพี่ ๆ ของเธอนั้นทำกรรมดีในชาติที่แล้ว ชาตินี้จึงสุขสบาย

เธอได้ฟังก็ทั้งผิดหวังและงงงวยว่า ทำไมเพื่อนจึงคิดเช่นนั้น   ที่จริงเธอคงไม่รู้ว่า คนที่คิดอย่างเพื่อนของเธอนั้นมีเป็นจำนวนมาก  ส่วนใหญ่ชอบเข้าวัดทำบุญ  และจำนวนไม่น้อยก็เรียกตัวเองว่านักปฏิบัติธรรม

น่าคิดอย่างมากทีเดียวว่า  การดูแลพ่อแม่ในยามชราหรือยามเจ็บป่วยนั้น  ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นความกตัญญูอย่างหนึ่ง  ถือเป็นความดีในพุทธศาสนา แต่เหตุใดทุกวันนี้คนจำนวนไม่น้อยจึงมองว่าเป็นการใช้กรรม  (ซึ่งมีนัยยะของการถูกลงโทษ)  ทัศนะเช่นนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์อย่างหนึ่งซึ่งแพร่หลายมากในหมู่ชาวพุทธปัจจุบัน นั่นคือ เวลาเห็นใครประสบความเหนื่อยยากลำบาก ก็มักจะ ?ฟันธง? ทันทีว่าเขากำลังใช้กรรม อันเป็นผลสืบเนื่องจากบาปในชาติที่แล้ว ส่วนใครที่สุขสบาย ก็เป็นเพราะเขากำลังเสวยผลแห่งความดีที่ได้ทำไว้ในชาติก่อน

ทัศนคติดังกล่าวเป็นการมองแบบเหมาคลุมมาก เพราะความเหนื่อยยากลำบากนั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของการทำความดีก็ได้   ขณะที่ความสุขสบายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการไม่ทำความดี เพิกเฉยหน้าที่ที่พึงกระทำ  ยกตัวอย่างเช่น เด็กหญิงก. เป็นคนที่เอาใจใส่ในการเรียน ขณะที่เด็กชายข. เป็นเด็กขี้เกียจ  เป็นธรรมดาที่เด็กหญิงก. ย่อมเรียนหนักกว่าเด็กชาย ข. แทนที่จะเที่ยวเล่นสนุกสนานหรือนั่งดูโทรทัศน์ก็ต้องตรากตรำทำการบ้านหรืออ่านหนังสือ    ใครที่บอกว่าเด็กหญิงก. เรียนหนักเพราะกำลังใช้กรรม  ส่วนเด็กชาย ข. สุขสบายก็เพราะชาติที่แล้วทำกรรมดี  แสดงว่าคนนั้นย่อมมีความเห็นผิดอย่างแน่นอน  เป็นความคิดที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ

แน่นอนคงไม่มีชาวพุทธคนใดคิดว่าเด็กหญิง ก.กำลังใช้กรรม  ตรงกันข้ามย่อมเห็นตรงกันว่าเธอกำลังทำความดี  แต่เหตุใดเมื่อคนอย่างเจี๊ยบเหน็ดเหนื่อยจากการดูแลแม่  คนจำนวนไม่น้อยจึงคิดว่าเธอกำลังใช้กรรม ทำไมจึงไม่คิดว่าเธอกำลังสร้างกรรมดี  ในทำนองเดียวกันเมื่อพี่ ๆ ของเจี๊ยบสุขสบายเพราะไม่สนใจดูแลแม่  ทำไมชาวพุทธหลายคนจึงคิดว่าเขาเหล่านั้นกำลังรับผลจากการทำความดี  เหตุใดจึงไม่คิดว่าที่พวกเขาสุขสบายเพราะละเลยการทำความดีต่อแม่บังเกิดเกล้า

การทำความดีนั้นคือการสร้าง เหตุ  ส่วนการใช้กรรมนั้นคือการรับ ผล  สองอย่างนี้แตกต่างกันมาก แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าชาวพุทธจำนวนไม่น้อยไม่อาจแยกแยะสองสิ่งนี้ได้  กล่าวคือถ้าใครประสบความเหนื่อยยาก ก็คิดว่าเขากำลังใช้กรรม ไม่ใช่เพราะกำลังเพียรทำความดี   ถ้ามองให้ลึกลงไปก็จะพบว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวบ่งบอกถึงทัศนคติที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้น นั่นคือ การแยกไม่ออกระหว่าง การทำความดี กับ การละเลยที่จะทำความดี หรืออาจถึงขั้นแยกไม่ออกระหว่าง การทำความดี กับ การทำความชั่วด้วยซ้ำ

กรณีของเจี๊ยบสะท้อนชัดเจนว่า   ทั้ง ๆ ที่พี่ ๆ ของเธอไม่สนใจดูแลแม่ที่กำลังป่วย  แทนที่หลายคนจะมองว่านี่เป็นการละเลยหน้าที่ต่อบุพการี อันเป็นสิ่งที่ควรตำหนิ  กลับมองว่าเป็นโชคของเขา  (เพราะชาติที่แล้วเขาทำดี ชาตินี้จึงสบาย ไม่ต้องเหนื่อยกับการดูแลแม่)  ส่วนเจี๊ยบซึ่งดูแลแม่ตัวเป็นเกลียว แทนที่จะผู้คนจะมองว่านี้คือการทำความดีที่ควรสรรเสริญ  กลับมองว่าเธอกำลังรับโทษทัณฑ์อันเป็นผลจากบาปกรรมในอดีต

ถามว่าความคิดดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้อย่างไร  คำตอบส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ที่ ทัศนคติที่มองเห็นความเหน็ดเหนื่อยว่าเป็นเรื่องไม่ดี  และมองเห็นความสุขสบายว่าเป็นเรื่องดี   ทัศนคติเช่นนี้หากสืบสาวไปก็อาจพบว่าเป็นอิทธิพลของบริโภคนิยมที่เชิดชูความสะดวกสบาย  ใฝ่เสพมากกว่าใฝ่ทำ  เมื่อผู้คนมีความรู้สึกดีกับความสุขสบาย เวลาเห็นใครสุขสบาย ก็พยายามหาคำอธิบายแบบสำเร็จรูป  และคำอธิบายส่วนหนึ่งก็คว้ามาจากคำสอนของพุทธศาสนา โดยเฉพาะกฎแห่งกรรมตามที่ตนเข้าใจ

ผลก็คือ เวลาใครมีชีวิตที่สุขสบาย ก็ฟันธงว่าเป็นเพราะเขาทำกรรมดีในอดีตชาติ ทั้ง ๆ ที่หากใคร่ครวญดูดี ๆ ก็จะพบได้ไม่ยากว่า ความสุขสบายของเขานั้นเกิดจากการละเลยหน้าที่ หรืออาจเกิดจากการทำความชั่วด้วยซ้ำ  เช่น คดโกง หรือคอร์รัปชั่น

ในทางตรงข้าม เมื่อมีความรู้สึกลบกับความเหนื่อยยากลำบาก ก็เอากฎแห่งกรรมมาอธิบายอย่างง่าย ๆ หยาบ ๆ ว่า เป็นเพราะเขาทำกรรมไม่ดีในชาติที่แล้ว   ข้อสรุปดังกล่าวเท่ากับหนุนส่งให้ผู้คนไม่อยากทำความเพียร เพราะขึ้นชื่อว่าความเพียรแล้วย่อมหนีไม่พ้นความเหน็ดเหนื่อยเพราะทำงานหนัก    ผลก็คือชาวพุทธจำนวนมากกลายเป็นคนที่หนักไม่เอาเบาไม่สู้  เอาแต่ทำบุญเพื่อหวังสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาดลบันดาลให้ร่ำรวยมีเกียรติยศ จะได้สุขสบายโดยไม่ต้องเหนื่อย  ในทำนองเดียวกันหากทำความดีแล้วเหน็ดเหนื่อย ก็เลิกทำเช่นกัน

หากทัศนคติดังกล่าวแพร่หลาย ก็น่าห่วงว่าสังคมไทยจะเป็นอย่างไร


ที่มา : http://www.visalo.org/article/jitvivat255809.html
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 15, 2015, 07:29:45 AM โดย เลิศชาย ปานมุข »