เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
Menu
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ครูเลิศชาย ปานมุข
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
บทความการศึกษา
หลักสำคัญ ?ลดเวลาเรียน? มุ่งพัฒนา ?ร่างกาย-จิตใจ-สังคม?
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
หน้า:
1
ผู้เขียน
หัวข้อ: หลักสำคัญ ?ลดเวลาเรียน? มุ่งพัฒนา ?ร่างกาย-จิตใจ-สังคม? (อ่าน 2974 ครั้ง)
เลิศชาย ปานมุข
Administrator
Hero Member
กระทู้: 3893
หลักสำคัญ ?ลดเวลาเรียน? มุ่งพัฒนา ?ร่างกาย-จิตใจ-สังคม?
เมื่อ:
กันยายน 12, 2015, 09:47:59 AM
หลักสำคัญ 'ลดเวลาเรียน' มุ่งพัฒนา 'ร่างกาย-จิตใจ-สังคม'
แนวคิดของกระทรวงศึกษาธิการ โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศธ. คนใหม่ ที่ได้ประกาศนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" โดยให้เด็กเรียนตามตำราถึงเวลา 14.00 น. ด้วยเหตุผลที่ไม่อยากให้เด็กคร่ำเคร่งกับการเรียนวิชาการมากจนเกินไป เพราะพบว่าเด็กไทยใช้เวลาอยู่ในห้องเรียนมากกว่าปีละ 1 พันชั่วโมง ขณะที่หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จทางการศึกษามีชั่วโมงเรียนเฉลี่ยเพียงประมาณ 800 ชั่วโมง
เรื่องนี้จะเริ่มต้นนำร่องในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนทั่วประเทศให้เตรียมการแล้ว และจะเริ่มต้นนำร่องในโรงเรียน 3,500 แห่ง ที่คัดเลือกจากโรงเรียนในสังกัดสพฐ. อาทิ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ให้คัดเลือกโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด โรงเรียนอนุบาลประจำอำเภอ และโรงเรียนอื่นๆ ตาม ความเหมาะสม ส่วนเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้เลือกโดยเน้นความหลากหลายตามขนาดและที่ตั้งของโรงเรียน
อย่างไรก็ดีเรื่องดังกล่าวยังมีความเข้าใจที่สับสน ผู้ปกครองจำนวนมากเป็นกังวลว่าเวลาที่เหลืออาจทำให้เด็กๆ ใช้ไปในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้น พื้นฐาน (สพฐ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ดังกล่าวในรายการ "ชั่วโมงที่ 26" สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล Now 26 อธิบายว่าการจัดการเรียนการสอนรูปแบบนี้ เด็กๆ ยังได้เรียนเท่าเดิม มาเรียนและเลิกเรียนเหมือนเดิม แต่จะเป็นการจัดกลุ่มวิชาใหม่ ใน 8 กลุ่มสาระการเรียน ซึ่งมีวิชาการ 5 กลุ่มวิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา เรียกว่าเรียนตัวหนังสือ อีก 3 กลุ่มวิชา เป็นเรื่องการฝึกทักษะ วิชาว่าด้วยเรื่องกิจกรรม เช่น สุขศึกษา พลศึกษา วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี และนาฏศิลป์
โดยมองว่าวิชาเหล่านี้ สามารถเรียนในช่วงบ่ายได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ายกทั้ง 3 กลุ่มวิชา มาไว้ในช่วงบ่ายทั้งหมด เนื้อหาสาระที่เป็นเชิงวิชาการ ก็ยังเรียนในช่วงเช้าเช่นเดิม พอในภาคปฏิบัติ การฝึก ก็จะยกมาอยู่ในช่วงบ่ายแทน มีหลักคิดง่ายๆ เท่านี้เอง
"แนวคิดนี้นายกรัฐมนตรีได้ดำริขึ้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ มาขยายต่อว่าจะทำอย่างไรให้เด็กมีความสุข เพราะถ้ายัดเยียดความรู้มากไป เด็กก็จะเหนื่อย และไม่อยากเรียน ครูเองถ้าเด็กไม่อยากเรียน ครูก็สอนไม่สนุก ผู้ปกครองก็จะมองว่าทำไมเนื้อหาเยอะจัง จึงมีแนวคิดที่จะปรับรูปแบบการเรียนการสอน"
นายกมล กล่าวว่าเรื่องนี้มีที่มา 3 ส่วนด้วยกัน อันดับแรก เด็กไทยเรียนเยอะแต่คุณภาพการศึกษาไม่สูงขึ้น เมื่อไปสอบเทียบกับเด็กจากชาติอื่น ซึ่งเด็กต่างประเทศเรียน 720-800 ชั่วโมง แต่เด็กไทยเรียน 1,000 ชั่วโมง โดยได้มีการพิจารณาปรับเนื้อที่ซ้ำซ้อนกัน เรียนแล้วเรียนอีกออกไป ข้อ 2 พบว่าเด็กได้รับการพัฒนาไม่ครบทุกด้าน ด้านสติปัญญามีการเน้นมากเกินไป แต่ละเลยด้านอารมณ์ และร่างกายเด็กไป ทั้งที่ความเป็นร่างกาย จิตใจ สังคม ต้องพัฒนาไปควบคู่กัน ประการที่ 3 หากไปดูในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา หรือ สิงคโปร์ จะเห็นว่ามีการเรียนการสอนในลักษณะนี้คือบ่ายโมง หรือบ่าย 2 ก็เลิกเรียน"
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อทำการศึกษา และพบว่าต้นแบบที่ทำลักษณะนี้ แล้วประสบผลสำเร็จ ก็น่าจะนำมาขยายผลในโรงเรียนของ สพฐ. โดยในเบื้องต้น จะทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบในชั้นประถมศึกษากับมัธยมศึกษาตอนต้นก่อน โดยมองว่าในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ยังไม่ได้พิจารณาปรับเปลี่ยน เพราะเนื้อหาใน ชั้นเรียนเชื่อมโยงไปถึงการสอบการเรียนในขั้นสูงขึ้นไป หากปรับแก้ในตอนนี้จะมีผลกระทบในเวลาต่อไปได้
สำหรับความเข้าใจที่ว่าเลิกบ่าย 2 แล้วกลับบ้านเลย ทำให้ผู้ปกครองหลายคนกังวลว่า เด็กจะเข้าร้านเกมส์ เล่นแต่กีฬา เลขาธิการ สพฐ. อธิบายว่าหลักการคือ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ กลับบ้านเวลาเดิม" ซึ่งเราจะจัดรูปแบบกิจกรรม 4 อย่าง 4 กลุ่มกิจกรรม
กลุ่มที่ 1 กลุ่มวิชาการ ก็คือวิชาเนื้อหา ที่เป็น 8 กลุ่มที่เรียนข้างต้น จะเพิ่มเป็นการปฏิบัติ เช่น วิทยาศาสตร์ มาทดลองกันในช่วงบ่าย หรืออย่างวิชาพลศึกษา เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 ค่อนข้างอิสระเพิ่มขึ้น เป็นแนวทางกิจกรรม ชมรม เช่น ชมรมดนตรี ชมรมผู้นำ จิตอาสา เป็นต้น ซึ่งต้องให้ทางโรงเรียนเป็นผู้คิดต่อจากแนวทางที่มอบให้ ไม่จำเป็นต้องตั้งครบตามจำนวน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน
กลุ่มที่ 3 เป็นเรื่องทักษะอาชีพ คนส่วนใหญ่จะมองแต่โรงเรียนในเมือง ในกทม. เป็นหลัก แต่ยังมีเด็กอีกเป็นหมื่นคน ที่เรียนในพื้นที่ต่างจังหวัด ฉะนั้นสิ่งที่จะเหมาะสมกับการพัฒนาศักยภาพก็คือการส่งเสริมในเรื่องทักษะอาชีพ เช่น การเลี้ยงสัตว์ การปลูกผัก ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
กลุ่มที่ 4 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องการบ้าน ในที่นี้ รวมทั้งการสอนเสริมด้วย ยกตัวอย่างการศึกษาในสิงคโปร์ จะมีห้องๆ หนึ่ง เมื่อเด็กเลิกเรียนไม่มีกิจกรรมอื่น จะนำการบ้านมาทำกัน โดยรุ่นพี่รุ่นน้องจะช่วยกัน และจะมีอาจารย์คอยมาช่วยแนะนำ จะมีประจำห้องหรือเป็นการหมุนเวียน เพื่อเสริมความรู้ให้เด็ก
"เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญการบ้าน ทำที่โรงเรียนได้ เพราะการเดินทาง กลับบ้านของเด็กในตอนเย็น โดยเฉพาะในกทม. กว่าจะถึงกว่าจะได้พักทานอาหารเย็น และต้องทำการบ้านอีก ซึ่งการทำการบ้านที่โรงเรียน ก็เป็นการ เสริมทักษะให้เด็ก" ส่วนศักยภาพและความพร้อมของโรงเรียน นายกมล บอกว่า จริงๆ เรามีกระบวนการทำงานก่อนแล้ว เป็นเรื่องที่คิดกันมานาน และเป็นสิ่งที่สังคมเรียกร้องกันมานาน ครั้งนี้จะไม่ใช่การทำเฉพาะจุด แต่จะทำทั้งประเทศ นอกจากนี้จะเปิดเว็บไซต์ให้เด็กสามารถแสดงความคิดเห็นว่า เด็กอยากเรียนอะไร อยากมีกิจกรรมอะไร ชมรมแบบไหน จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลเพื่อทำคู่มือแนวปฏิบัติที่ชัดเจนต่อไป โดยจะเริ่มทำในโรงเรียนที่สมัครใจก่อน เพราะหากไปทำในบางโรงเรียนที่ไม่พร้อม ก็จะไปสร้างภาระในกับครู หรือในบางโรงเรียนที่เป็นขนาดใหญ่ และเด็กเองเน้นในเรื่องวิชาการมาก หากไปทำเรื่องแนวคิดนี้ อาจจะกระทบต่อการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
นายกมล สรุปทิ้งท้ายว่า "เรามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างให้เด็กมีความสมบูรณ์ในลักษณะองค์รวม ที่ผ่านมาไม่ได้มีความผิดหรือเสียหาย เพียงแต่เราไปเน้นสอนกันในเรื่องความรู้เพียงอย่างเดียว เมื่อไปแข่งขันในโลกความเป็นจริง เขาไม่ได้ถามในเรื่องความจำแต่ถามในเรื่องการนำไปประยุกต์ใช้ เชื่อว่าถ้าเรียนตามแนวคิดนี้จะเป็นการพัฒนาอย่างถูกต้อง"
"ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะต่างประเทศที่ทำแบบนี้แล้วประสบผลสำเร็จ จึงนำมาขยายผลในโรงเรียนของสพฐ." กมล รอดคล้าย
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
Tweet
พิมพ์
หน้า:
1
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
ครูเลิศชาย ปานมุข
ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา
บทความการศึกษา
หลักสำคัญ ?ลดเวลาเรียน? มุ่งพัฒนา ?ร่างกาย-จิตใจ-สังคม?
Search
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
คงสถานะการเข้าระบบไว้ตลอด
ลืมรหัสผ่าน?