ผู้เขียน หัวข้อ: วิชาที่ไร้ประโยชน์  (อ่าน 2205 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
เมื่อ: สิงหาคม 15, 2015, 09:17:24 AM
?แล้วมันใช้ประโยชน์อะไรได้?? เป็นประโยคที่หล่นจากปากของนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษหลังจากดูสาธิตกลไกการทำงานของไฟฟ้ากับแม่เหล็กโดยนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง

นักวิทยาศาสตร์คนนั้นชื่อ ไมเคิล ฟาราเดย์ เป็นผู้ค้นพบความลับเกี่ยวกับไฟฟ้ามากมายหลายเรื่อง งานของเขาล้ำยุค แต่ดูไม่มีประโยชน์อะไร

ฟาราเดย์ผู้นี้มีชาติกำเนิดต่ำต้อย ฐานะยากจนมาก เขาเรียนไม่จบชั้นประถมเพราะครูเห็นว่าเขาเป็นเด็กทึ่ม เขาอาจไม่ได้กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์หากมิใช่เพระเขาทำงานในร้านทำปกหนังสือ มีโอกาสผ่านตาหนังสือจำนวนมากมาย เขาอ่านหนังสือทุกเล่มที่ผ่านมืออย่างกระหาย และพบว่าตัวเองรักวิทยาศาสตร์ เขาเรียนเองทุกอย่าง ค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับไฟฟ้าแทบทุกอย่างที่จินตนาการของเขาโลดแล่นไปถึง

โลกต้นศตวรรษที่ 19 รู้จักไฟฟ้าแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไร งานของฟาราเดย์ก้าวหน้าเกินกาล เขารู้ว่าเขากำลังก้าวไปสู่พื้นที่ใหม่ที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน แม้ว่าเขาจะสร้างชื่อเสียงในระดับหนึ่ง แต่คนในยุคของเขามองไม่เห็นคุณค่าของงานของเขา เป็นที่มาของคำถามของนายกรัฐมนตรีข้างต้น

ผ่านไปอีกหนึ่งร้อยปี มนุษย์รู้เรื่องเกี่ยวกับไฟฟ้าหมดแล้ว และเริ่มทำความเข้าใจกับอะตอมและอนุภาค โลกเคลื่อนเข้าสู่ยุคอวกาศ แต่คำถามแบบเดิมก็ยังคงอยู่ ทุกครั้งที่มีการส่งจรวดออกนอกโลก มีเสียงคำถามดังขึ้นเสมอว่า ?ส่งจรวดไปนอกโลกทำไม ในเมื่อประชาชาตินับพันล้านคนอดอยาก มีคนอดตายทุกวัน เอาเงินค่าทดลองจรวดไปช่วยคนพวกนั้นไม่ดีกว่าหรือ?? ทุกครั้งที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาเรื่องอะตอมและอนุภาคชื่อประหลาดๆ หลายคนบอกว่า ?แล้วมันใช้ประโยชน์อะไรได้?? ทุกครั้งที่มีคนศึกษาเรื่องจักรวาลไกลโพ้น หลุมดำ เควซาร์ พัลซาร์ สสารมืด พลังงานมืด ฯลฯ ไปจนถึงการเฝ้าดูร่องรอยของสิ่งทรงภูมิปัญญาต่างดาว คนจำนวนมากตั้งคำถามว่า ?รู้ไปทำไม??

เหล่านี้ย่อมมิใช่คำถามที่ไม่มีเหตุผล เพราะดูเผินๆ การศึกษาอวกาศ อนุภาค จักรวาล หลุมดำ ดูไร้สาระจริงๆ เหมือนว่าพวกนักวิทยาศาสตร์ว่างงานมาก เอาแรงไปขุดดินปลูกผัก ยังจะได้ผลเป็นรูปธรรมกว่า

นอกจากเรื่องการค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์แล้ว คนจำนวนมากยังตั้งคำถามเกี่ยวกับการศึกษาวิชาเลขคณิต เราขาคณิต พีชคณิต ตรีโกณมิติ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ปรัชญา ฯลฯ ว่า ?เรียนวิชาบ้าพวกนี้ไปทำไมก็ไม่รู้ ไม่เห็นต้องใช้? คนส่วนมากเรียนหลายวิชาเหล่านี้ในโรงเรียน แล้วไม่ได้นำไปใช้ประกอบอาชีพในตอนโตแต่อย่างไร เรียนวิศวกรรมจบมาขายประกัน เรียนรัฐศาสตร์จบมาเป็นเซลส์ขายเครื่องสำอาง เรียนแพทย์จบมาเป็นนักการเมือง เรียนปรัชญาจบมาผลิตดีวีดีเถื่อนขาย ฯลฯ

จริงหรือไม่ที่เราเรียนวิชาบ้าพวกนี้ไปทำไมก็ไม่รู้? จำเป็นแค่ไหนที่เราต้องรู้วิชาที่ ?รู้ไปทำไม?? ?

บางทีมันขึ้นกับว่าเราอยากเป็นมนุษย์แบบไหน และเราอยากได้สังคมแบบใด

สังคมมนุษย์ต่างจากสังคมสัตว์ส่วนใหญ่ตรงที่เราจัดระบบการดำเนินชีวิตของปัจเจก แบ่งหน้าที่กันทำเพื่อจะลดงานของแต่ละคนลง และที่สำคัญจะได้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาย ได้งานที่ดีที่สุดเพราะผู้เชี่ยวชาญทุ่มกำลังความคิดและพลังงานทั้งหมดกับงานประเภทเดียว

เราเป็นสัตว์โลกที่รู้จักมองไกลไปในอนาคต เราคาดการณ์ปัญหาก่อนที่มันจะเกิดขึ้นจริง มันเป็นกระบวนการหนึ่งเพื่อความอยู่รอดของเรา ยิ่งเรารู้มากเท่าไร โอกาสรอดของสายพันธุ์ก็สูงขึ้นและมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่การจะทำอย่างนี้ได้ เราต้องมีองค์ความรู้ที่กว้างพอ องค์ความรู้ระดับนี้มาจากความหลากหลายของความคิด ความหลากหลายของความคิดมาจากการรู้รอบด้านและทดลองหาทางสายใหม่ การรู้รอบด้านและทดลองหาทางสายใหม่มาจากการวางรากฐานเด็กๆ ด้วยการเรียนรู้ทุกวิชาก่อน

ความรู้ไม่ใช่ผลไม้ที่มีอยู่แล้วในป่ารอเราไปเก็บ มันไม่พอที่จะสร้างสังคมที่สมบูรณ์ขึ้น เราต้องการผลไม้ใหม่ๆ ที่เราต้องค้นหาหรือสร้างขึ้นมาเอง และหนทางไปสู่ความรู้ใหม่ๆ ก็คือการทดลองเรื่องประเภท ?ทำไปทำไม?? เช่นที่ ไมเคิล ฟาราเดย์ ทำ

ในวันนั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีอังกฤษถามเขาว่า ?แล้วมันใช้ประโยชน์อะไรได้?? ฟาราเดย์ตอบว่า ?แล้วทารกแรกเกิดใช้ประโยชน์อะไรได้??

บุคคลสำคัญและผู้สร้างสรรค์สิ่งสำคัญของโลกทุกคนล้วนเป็นทารกไร้ประโยชน์มาก่อนทั้งสิ้น! งานนวัตกรรมทุกชิ้นเป็นทารกแรกเกิด มันอาจโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่สมบูรณ์ หรืออาจตายเสียก่อน เราไม่มีทางรู้จนกว่าจะลองเลี้ยงทารกคนนั้น

?ทารกแรกเกิด? ที่ดูไร้ประโยชน์ของฟาราเดย์กลายเป็นรากฐานให้ เจมส์ คลาร์ก แมกซเวลล์ สานต่อ แล้วต่อมาเป็นรากฐานให้ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ พัฒนาความคิดของเขา ต่อยอดกลายเป็นการค้นพบอันยิ่งใหญ่แห่งสหัสวรรษ!

หากปราศจากผลงานที่ ?ใช้ประโยชน์อะไรได้?? ของ ไมเคิล ฟาราเดย์ ในวันนั้น และหากปราศจากการส่งจรวดไปนอกโลกและการศึกษาอนุภาค จักรวาล หลุมดำ ฯลฯ โลกเรายามกลางคืนในวันนี้ก็ยังคงเป็นโลกมืดมิดเช่นเมื่อล้านปีก่อน โลกวันนี้จะไม่มีพัดลม, เครื่องซักผ้า, ตู้เย็น, นาฬิกา, เครื่องดูดฝุ่น, ปั๊มน้ำ, เครื่องเล่นดีวีดี, เครื่องพิมพ์, โทรทัศน์, ดาวเทียม, คอมพิวเตอร์, อุปกรณ์ทางการแพทย์, เครื่องมือทันตแพทย์, ระบบเลเซอร์ทางการแพทย์, เครื่องตรวจมะเร็ง, เครื่องสแกนร่างกาย, แขนขาเทียม, เทอร์โมมิเตอร์อินฟราเรด, การตรวจโครโมโซม, เครื่องตรวจมะเร็งเต้านม, การพยากรณ์อากาศ, การหาตำแหน่งฝูงปลาสำหรับการประมง, เครื่องกู้กับระเบิด, การถ่ายทอดทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม, ระบบการสื่อสารทั่วโลก, สัญญาณโทรศัพท์, ระบบจีพีเอส, เครื่องป้อนนมลูกสัตว์ในฟาร์ม, เครื่องตรวจควันและสัญญาณเตือนไฟไหม้, เครื่องกรองน้ำ, ฉนวนกันความร้อนของบ้าน, สว่านเจาะไร้สาย, เครื่องกำจัดฝุ่น, ระบบ LED, เครื่องส่งสัญญาณขนาดจิ๋ว, กราไฟท์, เครื่องป้องกันฟ้าผ่าเครื่องบิน, เครื่องป้องกันเครื่องบินชนกัน, เลเซอร์ตัดของในโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจประดิษฐ์ ทั้งหมดนี้เป็นผลพลอยได้จากการค้นคว้าทดลองที่ ?ใช้ประโยชน์อะไรได้?? ล้วนๆ !

แต่ละวิชาในโลกดูแตกต่างกัน แต่ทุกๆ ศาสตร์เชื่อมต่อกัน คณิตศาสตร์เชื่อมกับฟิสิกส์ ชีววิทยาเชื่อมกับเคมี เคมีเชื่อมกับกายวิภาคศาสตร์ ประวัติศาสตร์เชื่อมกับภูมิศาสตร์ ฯลฯ การรู้เพียงจุดเดียวทำให้โลกทรรศน์ของเราไม่กว้างพอ การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จำเป็นต้องได้มีความรู้รอบด้าน ยกตัวอย่างเช่น หากเรารู้เรื่องโครงสร้างอาคารและวัสดุก่อสร้าง เราก็สร้างตึกได้ แต่มันไม่ได้แปลว่าเราเป็นสถาปนิก การเป็น ?สถาปนิก? ต้องมีองค์ความรู้และภูมิปัญญากว้างกว่านั้นมาก ต้องรู้ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ชีววิทยา ปรัชญา สังคม วัฒนธรรมจิตวิทยา ดาราศาสตร์ ฯลฯ ต้องเข้าใจจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ ต้องรู้ว่างานชิ้นหนึ่งสร้างผลกระทบต่อเพื่อนมนุษย์ สังคม และโลกอย่างไร

เช่นกัน การเป็นพระต้องรู้มากกว่าแค่บทสวด พระธรรม ศีลธรรม ?พระ? ต้องรู้ประวัติศาสตร์ ปรัชญา สังคม วัฒนธรรมจิตวิทยา ดาราศาสตร์ จักรวาลวิทยา ฯลฯ พระจะบรรลุธรรมได้อย่างไรหากไม่รู้ว่าคนมาจากไหน

หลายเรื่องหลายสิ่งในโลกมองเผินๆ ไร้ประโยชน์ เช่น ขี้ ซากศพ ขยะ ฯลฯ แต่มองให้ลึกจะเห็นว่า ขี้เป็นที่อยู่และอาหารของสัตว์หลายชนิด ซากศพเป็นอาหารของแร้ง ขยะสามารถนำไปรีไซเคิล บางครั้งนำไปสร้างเป็นงานศิลปะ การศึกษาค้นคว้าก็เช่นกัน

ความรู้เป็นตัวขยายสมอง เปิดโลกทรรศน์ เปิดประตูสู่ดินแดนใหม่ๆ เราต้องไม่กลัวก้าวไปสู่พื้นที่ใหม่ พื้นที่ที่ไม่มีใครเคยไปมาก่อน ปริมาณและคุณภาพของความรู้และปัญญาจะกำหนดว่าเราเป็นมนุษย์แบบไหน วิชาการต่างๆ จึงจำเป็นต่อเรา และแม้ว่าความรู้ที่มีอยู่ในโลกตอนนี้เรียนทั้งชีวิตก็ไม่หมด แต่มันก็ยังน้อยเกินไป! ยังมีความรู้ใหม่ๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้นรอเราอยู่ และความรู้เหล่านั้นอาจเปลี่ยนมนุษยชาติและสรรพชีวิตในโลกในทางที่ดีขึ้น

ดังนั้นการมองการเรียนด้วยมุมมองเดิมๆ มุมมองเดียวจึงอาจพลาดโอกาสได้ ประโยค ?เธออ่านอะไรยากจัง? ?รู้ไปทำไม?? ?เรียนไปทำไม?? เหล่านี้ทำลายโอกาสการสร้างนวัตกรรมมามากแล้ว

แน่ละ มันย่อมไม่ใช่ความผิดของคนถาม ?มันใช้ประโยชน์อะไรได้?? และ ?รู้ไปทำไม?? เพราะความสามารถมองไกลกว่าสิ่งที่โลกมี สิ่งที่โลกเป็น และมองเห็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในโลกนั้นไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะคนที่ไม่มีความรู้รอบตัวมากพอ ไม่เปิดสมองกว้างพอ และไม่เปิดใจกว้างพอ

บนโต๊ะทำงานของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ วางรูปถ่ายของบุคคลสามคนที่เป็นไอดอลของเขา ไอแซค นิวตัน, ไมเคิล ฟาราเดย์ และ เจมส์ คลาร์ก แมกซเวลล์ เตือนใจเขาว่าเขากำลังยืนอยู่บนรากฐานของคนรุ่นก่อนซึ่งคิดค้นสิ่งที่ดูเหมือนไร้ประโยชน์ รอให้เขาสานต่อเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ความรู้ต่อยอดความรู้ คลื่นต่อยอดคลื่น

กระบวนการต่อยอดทางปัญญาหยุดเมื่อไร ไม่เพียงเราจะเดินถอยหลัง แม้แต่มนุษยชาติก็อาจสิ้นสุดไปด้วย



วินทร์ เลียววาริณ

www.winbookclub.com

14 มิถุนายน 2557