ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อตัวกูชูคอ  (อ่าน 1740 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
เมื่อ: สิงหาคม 05, 2015, 01:41:39 AM
โดยวิชาชีพเขาเป็นหมอ  แต่ในอีกฐานะหนึ่ง เขาเป็นวิทยากรที่มีความสามารถ ได้รับเชิญไปบรรยายทั่วประเทศ  จึงมีภารกิจต้องเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ อยู่เสมอ  แต่เนื่องจากเขาเป็นคนที่ไม่ค่อยพิถีพิถันเรื่องการแต่งตัว โดยเฉพาะการหวีผม ภรรยาจึงมักทักท้วงเขาเสมอก่อนออกไปทำงาน

เช้าวันหนึ่ง เขามีธุระต้องไปบรรยายเช่นเคย   พอภรรยาเห็นหน้า ก็แนะนำเขาให้หวีผมเรียบร้อยก่อน ได้ยินเพียงเท่านั้น เขาก็อารมณ์เสียทันที โพล่งขึ้นมาในใจว่า ?พูดอย่างนี้กับกูได้ไง  ไม่รู้หรือว่ากูเป็นวิทยากรระดับชาติ? เดชะบุญเขามีสติรู้ทัน ไม่พูดออกไป  หาไม่คงเกิดเรื่องกับภรรยาอย่างแน่นอน

ชายผู้นี้โกรธเพราะตัวตนถูกกระทบ  รู้สึกว่า ?ตัวกู?ถูกกระแทก  ทั้ง ๆ ที่คำท้วงติงของภรรยานั้นน่าจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้เป็นสามี  แต่ตอนนั้นเขาคงลืมตัวว่าเป็นสามี  เพราะกำลังสำคัญตนว่าเป็นวิทยากรระดับชาติ  ตอนที่เขาอยู่ในสถานะนั้นผู้คนมีแต่ให้ความเคารพนับถือเขา เชื่อฟังเขา  จึงเพลินและหลงติดในสถานะดังกล่าว กระทั่งกลับมาบ้านแล้ว ก็ยังเอาความเป็นวิทยากรระดับชาติติดมาด้วย  พูดอีกอย่างคือ ติดใจใน ?หัวโขน?  จึงไม่ยอมวางหัวโขนแม้อยู่กับภรรยา ยังคิดว่าตัวเองเป็นวิทยากรระดับชาติอยู่นั่นเอง จึงไม่พอใจเมื่อถูกภรรยาทักท้วง

อันที่จริงความเป็นสามีก็เป็นหัวโขนเหมือนกัน  แต่สำหรับปุถุชน  ความเป็นวิทยากรระดับชาติเป็นหัวโขนที่มีเสน่ห์กว่า  จึงฉวยมาเป็น ?ตัวกู? ก่อนอย่างอื่น และยึดเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมปล่อยวางง่าย ๆ  ครั้นมีความสำคัญมั่นหมายว่า ?กูเป็นวิทยากรระดับชาติ?   ตัวกูก็จะมีอาการพองโต ไปไหนก็รู้สึกมั่นใจ  แต่ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง  อะไรที่ใหญ่โต ก็ถูกกระทบง่าย  และยิ่งพองมากเท่าไหร่ แค่ถูกกระทบเบา ๆ ก็อาจจะแตกออกมาได้ ไม่ต่างจากลูกโป่งใบใหญ่ที่แค่โดนใบหญ้าบาง ๆ ทิ่มก็ระเบิดโพละทันที
 
นอกจากความเป็นวิทยากรระดับชาติแล้ว  ยังมีสถานะอื่น ๆ อีกมากมายที่ผู้คนชอบยึดมาเป็นตัวกูเพราะให้ความรู้สึกที่เหนือกว่า เก่งกว่า หรือดีกว่า   เช่น  ความเป็นนักธุรกิจ  นักวิชาการ ดอกเตอร์ ศาสตราจารย์  นายพล ผู้จัดการ พระครู  พระราชาคณะ หรือแม้แต่ความเป็นข้าราชการ

ข้าราชการวัยใกล้ ๔๐ ผู้หนึ่งมาบวชปฏิบัติที่วัดป่าแห่งหนึ่ง ในพรรษานั้นมีพระหนุ่มลูกชาวบ้านมาบวชด้วยกันหลายรูป  แต่ปฏิบัติตัวไม่ค่อยเรียบร้อย จึงถูกพระรูปนั้นตำหนิ พระหนุ่มไม่พอใจ โต้เถียงกลับไป  พระรูปนั้นโกรธขึ้นมาทันที นึกในใจว่า ?รู้ไหมว่ากูเป็นใคร กูเป็นข้าราชการชั้นเอกนะเว้ย?

ตัวกูที่ยึดติดกับความเป็นข้าราชการชั้นเอก ทำให้พระรูปนั้นลืมไปว่าท่านกำลังเป็นพระอยู่ มิได้เป็นข้าราชการแล้ว  แต่เนื่องจากมีความสำคัญมั่นหมายว่ากูเป็นข้าราชการ จึงทำใจไม่ได้เมื่อลูกชาวบ้านโต้เถียงตน

ที่จริงแม้กระทั่งความเป็นพ่อแม่ หากยึดมาเป็นตัวกูเมื่อใด ก็ทำให้เป็นทุกข์ได้ง่ายมาก หลายคนเมื่อพบว่าลูกไม่เชื่อฟังตน  ความคิดอย่างแรกที่ผุดขึ้นมาก็คือ ?ฉันเป็นพ่อ(แม่)แกนะ มาเถียงฉันได้ยังไง?  ผลก็คือโกรธลูกและอาจต่อว่าลูกด้วยถ้อยคำแรง ๆ ที่ทำให้เสียใจในภายหลัง  ทั้ง ๆ ที่มีความรักความเมตตาต่อลูก  แต่ในยามนั้นตัวกูที่ผุดขึ้นมาได้ขัดขวางมิให้ความรักความเมตตาแสดงตัวออกมา แต่กลับปลุกเร้าความโกรธให้เกิดขึ้น

คำพูดใด ๆ ก็ตาม แม้เป็นคำด่าว่าก็ไม่ทำให้เราเจ็บปวดได้เลย  หากไม่ชูตัวกูขึ้นมารับคำด่านั้นหรือปล่อยให้ตัวกูออกโรง  เพียงแค่รู้สึกว่า ?กูถูกด่า? เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างความทุกข์แก่เรา  ในทางตรงข้ามหากเราเอาสติหรือปัญญานำหน้า  เมื่อถูกคนทักท้วงต่อว่า ก็หันมาพิจารณาว่า ที่เขาพูดนั้นจริงไหม ถูกต้องไหม  มีประโยชน์ไหม  ทำอย่างนี้นอกจากจะไม่ทุกข์แล้ว ยังได้ประโยชน์อีกด้วย

ปุถุชนแม้จะยังละทิ้งความสำคัญมั่นหมายในตัวกูไม่ได้ แต่ก็สามารถมีสติรู้ทันเมื่อมันโผล่หรือชูคอขึ้นมา  ทำให้มันครอบงำใจไม่ได้ แต่หากเผลอให้มันครอบงำใจ  อย่าว่าแต่คำตำหนิติเตียนเลย  แค่คนอื่นไม่เรียกเราว่า ดอกเตอร์ ศาสตราจารย์ ผู้จัดการ ผู้กำกับ  นายพล หรือพระอาจารย์  เท่านี้ก็ทำให้ขุ่นเคืองใจแล้ว

ที่มา : http://www.visalo.org/article/secret255807.html