ผู้เขียน หัวข้อ: เชาวน์อารมณ์ E.Q. (Emotional Quotient)  (อ่าน 6084 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
เมื่อ: กรกฎาคม 20, 2015, 12:14:45 AM
ความหมายของ E.Q.

?E.Q.? คือ ชื่อย่อของ Emotional Quotient หรือ เชาว์อารมณ์ (Emotional Intelligence) ซึ่งหมายถึง ความสามารถใน การตระหนักรู้ถึง ความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น เพื่อการสร้างแจงจูงใจในตนเองบริหารจัดการอารมณ์ต่าง ๆ ได้ (Goleman, 1998) ในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ E.Q. ได้เปลี่ยนแปลงความเชื่อและมุมมองต่อสูตรแห่งความสำเร็จในเรื่อง การเก่งคน เก่งคิด และเก่งดำเนินชีวิต (Cooper, and Sawaf, 1997) คนที่คิดแก้ปัญหาเฉาะทางได้ดี หรือ มี I.Q. (Intelligent Quotient) สูง หรือความเฉลียวฉลาดทางสติปัญญาสูงอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจหรืองานทางด้านบริหาร (Gibbs, 1995) ตัวอย่างเช่น วิลเลียม ชอกลีย์ (William Shockley) นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ประจำปี พ.ศ. 2499 ของสหรัฐอเมริกา จากการประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ซึ่งเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำคัญได้เป็นคนแรกของโลก ชอกลีย์ ได้ชื่อว่าเป็น ผู้ปฏิวัติโลก อิเล็กทรอนิกส์ และได้ชื่อว่า เป็น ?บิดาแห่งทรานซิสเตอร์? แต่เมื่อเขามาเปิด โรงงานผลิตทรานซิสเตอร์ ณ ซิลิกอน แวลลีย์ สหรัฐอเมริกา ก็ไม่เป็นที่ยอมรับในเชิงการบริหารและ การมีวิสัยทัศน์ทางด้านธุรกิจจากผู้ร่วมงาน

นอกจากนี้ E.Q. ยังมีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตทำงาน ชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัวและสังคม เรื่องที่น่าสนใจและน่าดีใจก็คือ E.Q. สามารถเพิ่มพูนได้ฝึกฝนได้ เพิ่มทักษะได้ การเสริมสร้าง E.Q. โดยวิธีการฝึกใช้ E.Q. ก็เป็นวิธีการที่จะช่วยเพิ่มพูน ความฉลาดทางอารมณ์ แม้ว่า E.Q. จะเป็นของใหม่สำหรับเมืองไทย แต่หากมองเข้าไปลึก ๆ ถึง ข้อคิดของการดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆ ที่ปู่ ย่า ตา ยาย หรือบรรพบุรุษของไทยเราได้ฝากคติเตือนใจไว้ในสำนวน สุภาษิต คำคมและโวหาร เช่น ?จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว? อันเป็นข้อคิดที่ให้ลูกหลานรู้ ระวังรักษาควบคุมอารมณ์ รู้ระวังความคิด ไม่ให้กระเจิดกระเจิง กระจัดกระจาย อารมณ์และความคิดซึ่งโบราณหมายรวมถึง จิตหรือใจเป็นต้นแห่งการกระทำ และคำพูด ตลอดจนการเลือกตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ โดยอาศัยกาย หากมองในแง่นี้ แม้ว่า E.Q. จะดูเป็นของใหม่แต่ การใช้ E.Q. สำหรับคนไทยในหลายเรื่องได้รับการปลูกฝังกันมานานทีเดียว

ความสำคัญขององค์ประกอบ อีคิว

องค์ประกอบพื้นฐาน 5 ประการของ อีคิว ได้แก่
1) ความตระหนักรู้ตนเอง (Self Awareness)
2) การจัดการกับอารมณ์ (Managing Emotion)
3) การจูงใจตนเอง (Motivating Oneself )
4) การเห็นอกเห็นใจ (Empathy)
5) ทักษะทางสังคม (Social Skills)

องค์ประกอบ 5 ประการนี้มีความสำคัญต่อผู้นำองค์กรอย่างไร

1 ความตระหนักรู้ตนเอง หมายถึง การตระหนักถึงสิ่งที่ตนเองกำลังรู้สึก เป็นจิตสำนึกทางอารมณ์ภายในตนเอง ผู้นำสามารถสัมพันอารมณ์ของตนเอง เพื่อที่จะมี ปฏิสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพและซาบซึ้งในอารมณ์ของผู้อื่นได้ ผู้นำที่มีความตระหนักรู้ตนเองในระดับสูงย่อมเรียนรู้ที่จะไว้ใจความรู้สึกอดทนของตนเองและตระหนักได้ว่า ความรู้สึกเหล่านี้สามารถให้สารสนเทศที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการตัดสินใจที่ยากลำบากได้ เนื่องด้วยบางทีผู้นำไม่อาจหาคำตอบของปัญหาต่าง ๆ จากแหล่งภายนอกได้ก็จำเป็นที่จะต้องไว้ใจความรู้สึกของ ตนเอง

2 การจัดการกับอารมณ์ ผู้นำสามารถที่จะถ่วงดุลอารมณ์ของตนเองได้ แม้กระทั่ง ความวิตกกังวล ความตื่นเต้น ความกลัว หรือความโกรธ และไม่แสดงออกถึงอารมณ์เหล่านั้นได้ดีขึ้น การจัดการกับอารมณ์มิได้หมายความถึงการระงับหรือปฏิเสธ แต่เป็นการเข้าใจและใช้การเข้าใจนั้นเพื่อจะจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างดี ผู้นำควรตระหนักถึงอารมณ์ความรู้สึกแต่แรก แล้วคิดว่ามันเป็นอะไร มีผลต่อตนเองอย่างไร แล้วจึงคอยเลือกที่จะกระทำอย่างไรต่อไป

3 การจูงใจตนเอง จัดเป็น ความสามารถ ที่จะหวังและมองโลกในแง่ดี ทั้ง ๆ ที่มีอุปสรรค ปราชัย หรือผิดพลาด ความสามารถข้อนี้ มีความ สำคัญต่อ การดำเนินเป้าหมาย ในระยะยาวของชีวิต หรือ งานธุรกิจ ครั้งหนึ่ง บริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งได้รับคำแนะนำจาก ศาสตราจารย์ ทางจิตวิทยา แห่ง มหาวิทยาลัย เพนซิลเวเนีย ให้ว่าจ้าง กลุ่มผู้สมัครงาน ที่ทดสอบแล้วว่า มีค่าการมองโลกในแง่ดีอยู่ในระดับสูง แต่ผลการทดสอบ ความถนัดทางการขาย ปกตินั้น ไม่ผ่าน เปรียบเทียบกับ นักขายอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีผล การทดสอบตรงกันข้าม พบว่า ในกลุ่มแรก สามารถทำ สถิติการขาย ในปีแรกได้มากกว่าร้อยละ 21 และในปีที่สองทำได้มากกว่าร้อยละ 57

4 ความเห็นอกเห็นใจ องค์ประกอบนี้ หมายถึง ความสามารถที่เอาใจเขามาใส่ใจเราตระหนักรู้ถึงสิ่งที่คนอื่นกำลังรู้สึก โดยไม่จำเป็นต้องมาบอกให้ทราบ ซึ่งคนส่วนมากไม่เคยบอกเราให้ทราบถึงสิ่งที่เขารู้สึกในคำพูด นอกจากน้ำเสียง ภาษาท่าทาง และการแสดงออกทางสีหน้า ปัจจัยส่วนนี้ถูกสร้างขึ้นมาจากความตระหนักรู้ตนเองที่กำลัง ทำให้เหมาะกับ อารมณ์ของตนเอง ซึ่งทำให้ง่ายต่อการที่จะอ่านและเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้

5. ทักษะทางสังคม จัดเป็น ความสามารถ ที่จะเกี่ยวดองกับผู้อื่น เพื่อสร้าง ความสัมพันธ์ในทางบวก ตอบสนองต่ออารมณ์ ของผู้อื่นและมี อิทธิพลต่อผู้อื่น ผู้นำสามารถที่จะใช้ ทักษะทางสังคม นี้เพื่อจะเข้าใจ ความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคล จัดการความไม่ลงรอย แก้ไข ข้อขัดแย้งและประสานผู้คนเข้าด้วยกัน เพื่อเป้าประสงค์ ความสามารถ ที่จะ สร้างความสัมพันธ์ นับว่าเป็น สิ่งจำเป็นใน องค์กรสมัยใหม่ ที่ยึด การทำงานเป็นคณะ และมีความสำคัญต่อผู้นำที่มี ประสิทธิภาพในทุก ๆ องค์กรด้วย ลักษณะเช่นนี้ สอดคล้องกับ นักการปกครองชั้นสูง ของไทยที่กล่าวย้ำว่า การสร้างความสัมพันธ์ อย่างแนบแน่นกับ ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยตรงควรต้องกระทำอย่างยิ่ง และโดยเฉพาะ การทำงาน ที่จำเป็น ต้อง อาศัย ความร่วมมือ จาก ข้าราชการ หรือพนักงาน ทุกฝ่าย ข้าราชการ ฝ่ายปกครองหรือ ผู้บริหาร ก็จะต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันไว้ด้วย ทั้งที่เป็น ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยตรงและหน่วยข้างเคียง นักการปกครอง ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ก็เพราะได้รับความร่วมมือด้วยดี มาโดยตลอดโดยใช้ หลักมนุษยสัมพันธ์ ที่ดีช่วยในการประสานงานให้ได้ผลดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งโดย แท้ที่จริงแล้วมนุษย์มีการประสานงานกันอยู่ตามธรรมชาติ ความร่วมมือนั้นเกิดจากความร่วมใจ เต็มใจในการทำงานที่ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมรับผิดชอบ

E.Q. กับการทำงาน

โดยมากแล้วความสำเร็จในการทำงาน โดยเฉพาะงานบริหาร หรือการทำธุรกิจ นอกจากจะขึ้นอยู่กับ ความสามารถ ของตนแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้อื่นด้วย ชีวิตการงานจะสดใสแน่นอน หากมี ?นายดึง ลูกน้องดัน และคนเสมอกันนิยม?

ไวซิงเกอร์ (Weisinger, 1998) ได้กำหนดการใช้ในการทำงานเพื่อพัฒนา สายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น (Interpersonal Emotional Intelligence) ซึ่งประกอบจากการพัฒนาทักษะ สื่อสารที่ดี ความเก่งคน และการช่วยเหลือผู้อื่นให้ช่วยตัวเขาเองได้ ไวซิงเกอร์เชื่อว่า การใช้ E.Q. เพื่อเสริมสร้างความสำเร็จในการทำงานได้นั้น จะต้องรับรู้ ตีความ และแสดงภาวะอารมณ์ได้อย่างถูกต้อง มีความสามารถในการใช้ภาวะอารมณ์นั้น ๆ ต่อตนเอง ผู้ร่วมงาน และมีการเรียนรู้ ตลอดจนเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกที่ได้รับ นอกจากนี้ต้องสามารถ ควบคุมอารมณ์และเอาชนะสร้างพฤติกรรมในทางบวก

โบราณของไทย เราสอนลูกหลานในเรื่อง ความสำเร็จในการทำงานว่า ต้อง ?ฉลาดรู้ ฉลาดทำ ฉลาดพูด และฉลาดใช้? กล่าวคือ ในเรื่องขอความฉลาดรู้นั้น บุคคลผู้หวังความสำเร็จในการทำงาน นอกจากจะฉลาดรู้ในกระบวนการทำงานแล้ว ยังต้องฉลาดรู้ในอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น ตำราพิชัยสงครามโบราณของจีนเขียนโดย ซุนวู ก็กล่าวถึง การฉลาดรู้ อย่างกระชับครบถ้วนในความ และสละสลวยชวนฟังว่า ?รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง?

ความฉลาดทำ หรือ ความมีศิลปะ เป็นเรื่องของการ ?ทำเป็น? ไม่ใช่ เพียงแค่ ?ทำได้? เท่านั้น คนที่ฉลาดทำการช่างต่าง ๆ อาจไม่ฉลาดพูด หรือ ฉลาดคิด (ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญทางสังคมของ E.Q.) การฉลาดพูด คือ การที่รู้จักเลือกพูดแต่สิ่งที่ดี ที่มีประโยชน์ สามารถยกใจของผู้พูดและผู้ฟังให้สูงขึ้น โบราณไทยมีคติให้ไว้มากมายในเรื่องของการฉลาดพูด เช่น ?พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วอัปราชัย? ?จะได้ดีก็เพราะปาก จะได้ยากก็เพราะคำ? ?ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วเป็นตรา? ?อันอ้อยตาลหวานลิ้นยังสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหู ไม่รู้หาย? และ ฯลฯ ความฉลาดคิดนั้นเป็นความฉลาดทางใจ ซึ่งต้องมีสติสัมปชัญญะ สามารถควบคุม ความคิดให้ไปในทางที่ดี คิดในทางที่สร้างสรรค์ คิดที่จะยกจิตใจของตนและผู้ร่วมงานให้สูงขึ้น ปู่ ย่า ตา ยาย ของไทยในอดีตได้ฝากหลักคิดทั้งฉลาดพูดและฉลาดคิดให้เราอย่าง น่าฟังว่า ?อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา?

แม้จะฉลาดรู้ ฉลาดทำ ฉลาดพูด และฉลาดคิด หากใช้คนไม่เป็นหรือวางตำแหน่งของคนไม่ถูกกับงานนั้น หรือองค์กรนั้น ๆ ก็จะทำงานสัมฤทธิ์ผลได้ไม่เต็มกำลัง ความสามารถที่ควรจะได้รับหรือควรจะเป็น ดังที่ทราบกันดีใน การบริหารสมัยใหม่ ว่าต้องจัด ?The right man for the right job at the right time and right actions? โบราณไทยเราให้ยึดหลัก สัปปุริสธรรม หรือธรรมของสัตตบุรุษ คือความเป็นผู้รู้เหตุ รู้ผล รู้จักประมาณ (ซึ่งเป็น right actions) รู้จักตน รู้จักชุมชน (ได้แก่ รู้จักสังคม วัฒนธรรม และสังคม ซึ่งเป็นหลักการเลือก the right man for the right job) รู้จักกาล (ซึ่งคือ the right time นั่นเอง)

E.Q. กับภาวะผู้นำ

ความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องด้วย ฝีมือของมนุษย์เพื่อยังประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติด้วยกัน ดังเช่น เมื่อไม่นานมานี้เองที่นักวิจัยศึกษาพบว่า ความสามารถของมนุษย์นั้น เกาะติดอยู่กับขุมศักยภาพ ที่มีอยู่ในหัวใจ และจิตใจของบุคคล งานวิจัยอันโดดเด่นนั้น ได้แก่ งานเขียนของ แดเนียล โกลแมน ผู้เขียนเรื่อง Emotional Intelligence (หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า E.I.) และโรเบิร์ต คูเปอร์ เจ้าของเรื่อง Executive E.Q. ทั้งสองท่านต่างเน้นไปที่ ธรรมชาติทางอารมณ์ของการเป็นมนุษย์ซึ่งจัดว่า เป็นมโนทัศน์ (Concept) อันสำคัญยิ่งเกี่ยวกับ EI (หรือ E.Q.) ซึ่งตรงกันข้ามกับมโนทัศน์ทางสติปัญญา (I.Q. หรือ Intellectual Quotient) ตลอดจน ความสามารถเชิงเหตุผล ของเอกัตบุคคล หากว่าทั้ง E.Q. และ I.Q. ได้เข้ามาผสมผสานกัน จะก่อให้เกิด พลังความสามารถ และศักยภาพ ทั้งทางอารมณ์กับสติปัญญา ผลการศึกษาต่าง ๆ ชี้แนะว่า E.Q. ต่างหากที่เป็น พื้นฐานอันสำคัญ เพื่อการตัดสินใจที่ดีที่สุด (ไม่ใช่เพียงลำพัง I.Q. หรือพลังสมองเท่านั้น เพื่อองค์กรส่วนมากที่ไม่หยุดนิ่ง เพื่อการดำรงอยู่อัน เป็นที่น่าสนใจ และมีความสำคัญ

สารสนเทศใหม่ ๆ ดังกล่าวนั้นย่อมจะท้าทายผู้นำองค์กรให้ต้องขบคิดว่า E.Q. น่าจะมีผลกระทบใดบ้าง ต่อภายในที่ทำงานของตน และจะควบคุม E.Q. ให้ส่งเสริมสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน องค์กรที่ตนดูแลอยู่ได้เพียงใด ในเมื่อผลของการศึกษาชี้ว่า อารมณ์นั้นสามารถขับดันหลายสิ่งได้ ทั้งความไว้วางใจ ความภักดี พันธกิจ การเพิ่มผลผลิต และสัมฤทธิผลของ เอกัตบุคคล คณะทำงาน ตลอดจนองค์กร

ผู้นำกับ E.Q. เกี่ยวข้องกันเพียงใด

อดีตประธานบริษัทซักแห้งและซักรีดแห่งหนึ่งในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ยกให้เรื่องของอารมณ์ เป็นความสำคัญระดับสูง ในการดำเนินงานธุรกิจของเขาเอง ซึ่งพบว่าเมื่อผู้คน ตกอยู่ในอารมณ์เครียด หรือคับข้องใจ จะเป็นการยาก ที่จะให้ได้ปัจจัยป้อนเข้า (Input) จาก พวกเขาแม้กระทั่งผลผลิตใด ๆ อาจได้คุณภาพแต่จะไม่ได้ในแง่ปริมาณ เมื่อไม่นานมานี้ นักจิตวิทยาและนักวิจัยคนอื่น ๆ ได้เสริมความเข้าใจ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ความเข้าใจเชิงอารมณ์ และทักษะนับว่า มีผลกระทบต่อความสำเร็จ และความสุขในการทำงานพอ ๆ กับในชีวิตส่วนตัว ผู้นำย่อมมีบทบาทที่จะยอมรับ ควบคุมเกี่ยวกับ อำนาจทางอารมณ์ เพื่อการแก้ไขปรับปรุง ความพอใจ ขวัญ และแรงจูงใจของผู้ตามได้พอ ๆ กับการส่งเสริมประสิทธิผลขององค์กรทีเดียว

สมัยก่อนมีมีความเข้าใจว่า เชาวน์ปัญญา (IQ) เป็นปัจจัยทำให้คนเก่ง ฉลาดและประสบความสำเร็จในชีวิต พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่จึงต้องการให้ลูกมี IQ ดี เรียน หนังสือเก่ง จึงคงเร่งรัดอย่างมากจนทำให้เด็กเครียด จะเห็นได้จากข่าวที่ว่า นักศึกษาหญิง ธรรมศาสตร์ ปี ๔ กระโดดตึกตาย เพราะตนเองเป็นคนเรียนดี แต่ทำข้อสอบวิชาหนึ่งไม่ได้ และกลัวว่าจะเรียนไม่จบ หรือนักศึกษาแพทย์ที่ยังไม่ทันจบแพทย์ ก็กลายเป็นนักโทษเพราะไป ฆ่าชำแหละศพคนรักตนเอง ทำให้นักจิตวิทยาเริ่มตั้งข้อสงสัยต่อความเชื่อดังกล่าว เพราะไม่ เชื่อว่าความสำเร็จและความสุขในชีวิตของคน ๆ หนึ่งจะขึ้นอยู่กับความสามารถของเชาวน์ ปัญญา (IQ) แต่เพียงอย่างเดียว จึงทำการศึกษาค้นคว้าและปัจจุบัน ความเห็นว่าความสำเร็จ ในชีวิตของคนเราขึ้นอยู่กับเชาวน์ปัญญา มีเพียง ๒๐ % อีก ๘๐% เป็นปัจจัยอื่น ๆ ที่รวมเรียก ว่า ความฉลาดทางอารมณ์

ความฉลาดทางอารมณ์คืออะไร

ความฉลาดทางอารมณ์หรือเชาวน์อารมณ์ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Emotional Quotient หรือ EQ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ได้รับ ความสนใจจาก นักการศึกษาและนักจิตวิทยาอย่างมาก ใน ค.ศ. ๑๙๙๐ Peter Salovey และ John Mayer กล่าวถึงความฉลาดทางอารมณ์ว่า เป็นรูปแบบ หนึ่งของความฉลาดทางสังคม ที่ประกอบด้วยความสามารถในการรู้อารมณ์และความรู้สึกของ ตนเองและผู้อื่น สามารถแยก ความแตกต่างของอารมณ์ที่เกิดขึ้นและใช้อข้อมูลนี้เป็นเครื่องชี้ นำในการคิดและการทำสิ่งต่าง ๆ

ต่อมา Danial Goleman (ค.ศ.๑๙๙๕) ได้เขียนหนังสือเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) และกล่าวว่า ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความฉลาดที่เกิดจาก การประสานงานระหว่างอารมณ์ (Emotional) กับเหตุผล (Rational) หรือ การทำงานของ จิตใจ (Heart) กับสมอง (Head) ประกอบด้วย ความสามารถในการควบคุมตนเอง การมีใจ จดจ่อและความเพียร และความสามารถจูงใจตนเอง

สำหรับประเทศไทย กรมสุขภาพจิตได้ให้ความหมายของความฉลาดทางอารมณ์ว่า ประกอบด้วย เก่ง ดี มีความสุข

เก่ง หมายถึง ความสามารถในการรู้จักตนเอง มีแรงจูงใจ สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาและ แสดงออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น ประกอบด้วยความสามารถ ต่อไปนี้
๑. รู้จักและมีแรงจูงใจในตนเอง
- รู้ศักยภาพตนเอง
- สร้างขวัญและกำลังใจให้ตนเองได้
- มีความมุมานะไปสู่เป้าหมาย
๒. ตัดสินและแก้ปัญหา
- รับรู้และเข้าใจปัญหา
- มีขั้นตอนในการแก้ปัญหา
- มีความยืดหยุ่น
๓. มีสัมพันธภาพกับผู้อื่น
- สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น
- กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม
- แสดงความเห็นที่ขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์

ดี หมายถึง ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเองรู้จักเห็นใจ ผู้อื่นและมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ประกอบด้วยความสามารถต่อไปนี้
๑. ควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเอง
- รู้อารมณ์และความต้องการของตนเอง
- ควบคุมอารมณ์และความต้องการได้
- แสดงออกอย่างเหมาะสม
๒. เห็นใจผู้อื่น
- ใส่ใจผู้อื่น
- เข้าใจและยอมรับผู้อื่น
- แสดงความเห็นใจอย่างเหมาะสม
๓. รับผิดชอบ
- รู้จักให้ / รู้จักรับ
- รับผิด/ให้อภัย
- เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม

สุข หมายถึง ความสามารถในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข ประกอบด้วย
๑. ภูมิใจในตนเอง
- เห็นคุณค่าตนเอง
- เชื่อมั่นใจตนเอง
๒. พึงพอใจในชีวิต
- มองโลกในแง่ดี
- มีอารมณ์ขัน
- พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่
๓. มีความสงบทางใจ
- มีกิจกรรมที่เสริมสร้างความสุข
- รู้จักผ่อนคลาย
- มีความสงบทางจิตใจ

EQ มีผลต่อเราอย่างไร

ความฉลาดทางอารมณ์มีประโยชน์ต่อชีวิตคนเราอย่างมากมายมหาศาล ซึ่งอาจแบ่งเป็น ๓ ด้าน คือ
- ประโยชน์ต่อตนเอง
- ประโยชน์ต่อความรักและครอบครัว
- ประโยชน์ต่อการทำงาน

การใช้ความฉลาดทางอารมณ์กับตนเอง

โกลแมนได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์ ในหมวดสมรรถนะส่วนบุคคลใน การบริหารจัดการกับตนเองว่ามีองค์ประกอบ ๓ อย่างคือ
การตระหนักรู้ตนเอง หมายถึง การตระหนักรู้ความรู้สึกโน้มเอียงของตนเองและหยั่งรู้ ความเป็นไปได้ของตน รวมทั้งความพร้อมของตนในแง่ต่าง ๆ กล่าวคือ รู้เท่าทันในอารมณ์ตน สาเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกนั้น ๆ และผลที่ตามมา ประเมินตนเองได้ตามความเป็นจริง รู้จุด เด่น จุดด้อยของตนเอง

การควบคุมตนเอง หมายถึง ความสามารถในการจัดการกับความรู้สึกของตนเอง สามารถจัดการกับความรู้สึกของตนเอง สามารถจัดการกับภาวะอารมณ์หรือความฉุนเฉียวได้ รักษาความเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์และคุณงามความดี มีความสามารถที่จะปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่นใน การจัดการกับความเปลี่ยนแปลง สามารถสร้างสิ่งใหม่ มีความสุขและเปิดกว้างกับความคิดข้อ ใหม่ ๆ เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ

การสร้างแรงจูงใจให้ตนเอง หมายถึงแนวโน้มของอารมณ์ที่เป็นปัจจัยสู่เป้าหมาย เป็น ความพยายามที่จะปรับปรุง หรือมีแรงบันดาลใจให้ได้มาตรฐานที่ดีเลิศ มีความคิดริเริ่ม พร้อม ที่จะปฏิบัติตามโอกาสที่อำนวย มีการมองโลกในแง่ดี แม้มีปัญหาอุปสรรค ก็มิได้ล้มความตั้งใจ ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย

ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์ ไม่เพียงแต่รู้ว่ามีคุณสมบัติที่พึงประสงค์สำหรับตนเองเท่า นั้น แต่ปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมตามความสามารถที่มีอยู่ด้วย

ที่จริงแล้วการตระหนักรู้ตนเอง การควบคุมตนเอง และการสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ให้กับ ตนเองตามทัศนะของนักวิชาการตะวันตก อาจนำมาประยุกต์เข้ากับธรรมะในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีความหมายคล้ายคลึงกัน แต่อธิบายกันคนละอย่าง เช่น การมีสติ คือ การระลึกได้ เตือนตน เอง ตระหนักรู้ตนเองได้ ส่วนสัมปชัญญะ เป็นธรรมที่เป็นปัจจัยในการตระหนักรู้ตนเอง ควบคุม และสร้างแรงจูงใจให้ตนเอง ปราชญ์ไทยท่านหนึ่งผูกเรื่องการตระหนักรู้ตนเอง การควบคุมตน เองและการสร้างแรงจูงใจไว้เป็นคำกลอนน่าฟังว่า

"จงเตือนตนของตนให้พ้นผิด
ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน
ตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน
อ่าแชเชือนเตือนตนให้พ้นภัย"

การใช้ความฉลาดทางอารมณ์กับครอบครัว

ปัญหาในครอบครัวที่จะนำไปสู่ความแตกแยก ล้วนมีรากฐานมาจากการขาดความเข้าใจ ซึ่งกันและกัน สามีไม่เข้าใจภรรยา ภรรยาไม่เข้าใจสามี พ่อแม่ไม่เข้าใจลูก หรืออาจกล่าวได้ว่า สมาชิกในครอบครัวขาดความเข้าใจกัน ดังนั้น การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว จึงเป็นเรื่องของการ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" โดยตระหนักถึงความรู้สึก ความต้องการ ความ ห่วงใยต่อสมาชิกในครอบครัว
ทัศนะเกี่ยวกับการใช้ความฉลาดทางอารมณ์ (Goleman ค.ศ.๑๙๙๘) ในเรื่องการสร้าง และรักษาสัมพันธภาพมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ

- การเข้าใจและรู้สึก มุมมองสนใจในสิ่งที่กังวลของคนในครอบครัว
- การมีจิตใจรับรู้และตอบสนองความต้องการของคนในครอบครัวได้ดี
- การทราบความต้องการและพัฒนาสมาชิกในครอบครัว ส่งเสริมความรู้ ความสามารถ ให้ถูกต้อง

ในยุคปัจจุบันของสังคมไทย ปัญหาเศรษฐกิจนับเป็นต้นเหตุสำคัญอันก่อให้เกิดภาวะ เครียดของคนในหลายครอบครัว กลยุทธ์การบริหารความเครียดตามกรอบความคิดของความ ฉลาดทางอารมณ์ของบาร์ออน เกี่ยวกับการควบคุมและจัดการกับความเครียด สามาถนำมาใช้ ได้โดยชี้นำให้สมาชิกในครอบครัวมองโลกในแง่ดี สร้างความสนุกสนานให้เกิดขึ้นแก่คนใน ครอบครัว

ไทยโบราณเรายึดหลักการให้ชีวิตครอบครัวมีความสุขด้วยหลักสังคหะ แปลว่าการ สงเคราะห์กันและให้ปฏิบัติตามหลักสังคหวัตถุ ๔ เพื่อเป็นการยึดน้ำใจซึ่งกันและกันของ สมาชิกในครอบครัวดังนี้
๑. ทาน การให้ปันแก่กัน คนที่อยู่ด้วยกันก็ต้องปันกันกิน ปันกันใช้ การปันนี้รวมถึงการ ปันทุกข์ให้กันด้วย ผู้ใดในครอบครัวมีทุกข์มีปัญหา โดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วย ปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ สมาชิกในครอบครัวก็ควรจะปรึกษาหารือกัน
๒. ปิยวาจา พูดกันด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ ผู้ใหญ่มักให้โอวาทแก่คู่บ่าวสาวในวันแต่งงาน โดยถือหลักในการพูดกันว่า ก่อนแต่งเคยพูดไพเราะอย่างไร ก็ให้พูดด้วยถ้อยคำไพเราะ เช่นนั้นในการครองชีวิต ในครอบครัวการพูดกัน ด้วยถ้อยคำไพเราะ จะทำให้ผู้รับฟัง เกิดความพอใจหรือสบายใจขึ้นจากอารมณ์ที่ขุ่นมัวได้
๓. อัตถจริยา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อกัน เมื่อมี สมาชิกในครอบครัวผู้หนึ่งผู้ใด ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ควรแนะนำตักเตือนกัน
๔. สมานัตตตา วางตัวให้เหมาะสมกับที่ควรเป็นตามบทบาทของ การเป็นพ่อแม่ลูกหรือ สมาชิกญาติพี่น้องในครอบครัว ถ้าสมาชิกในบ้านต่างวางตัวได้เหมาะสมตามบทบาท และหน้าที่ ความผาสุกย่อมเกิดขึ้นในครอบครัว

จะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีอีคิวอยู่ในระดับไหน

การที่จะบอกว่าควรมีอิคิวสูงหรือไม่อย่างไร อาจทำได้โดยการประเมินความสามารถ ใน ด้านต่าง ๆ อาทิ การควบคุมตนเอง การเห็นใจผู้อื่น การรับผิดชอบการสร้างแรงจูงใจการตัดสิน ใจการแก้ปัญหา การภูมิใจในตนเอง การพอใจในชีวิตเป็นต้น

เราสามารถประเมินความฉลาดทางอารมณ์ได้ โดยการตอบแบบประเมินตามความเป็น จริงส่วนผลคะแนนที่ได้ ไม่ใช่การตัดสินที่ตายตัว แต่เป็นเพียงการประเมินโดยสังเขปเพื่อให้ เราใช้ เป็นแนวทางในการเรียนรู้ข้อบกพร่องของตนเองในแต่ละด้านและนำไปสู่การแก้ไข ปรับปรุงให้ดี ขึ้นต่อไป
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สงสัยว่าตนเองมีระดับความฉลาดทาอารมณ์เป็นอย่างไร ก็สามารถ หาคำตอบ เพื่อเป็นข้อเตือนใจได้จากแบบประเมิน จากภาควิชากการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ หรือกรมสุขภาพจิต

สรุป

ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ในปัจจุบัน คนที่มี ความฉลาดทางอารมณ์สูง จะเป็นคนที่สามารถรับรู้ เข้าใจและจัดการกับความรู้สึกของ ตนเองได้ดี รวมทั้งเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น จึงมักประสบความสำเร็จในการทำงาน มีความ พึงพอใจในชีวิตสามารถสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ออกมาได้เสมอตรงกันข้ามกับคน ที่ไม่สามารถ ควบคุม อารมณ์ได้ มักจะเต็มไปด้วยความขัดแย้งภายในจิตใจ พลอยทำให้ขาดสมาธิในการ ทำงาน และ มีความคิดหมกมุ่น กังวลไม่ปลอดโปร่ง เกิดปัญหากับบุคคลรอบข้างได้ ดังนั้น การ พัฒนาให้ ประชาชนมีความฉลาดวทางอารมณ์สูงจะมีประโยชน์ต่อตนเอง และประเทศชาติ ต่อไป


เอกสารอ้างอิง
กรมสุขภาพจิต. คู่มือความฉลาดทางอารมณ์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมชนสหกรณ์การ เกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด,๒๕๔๓.
กรมสุขภาพจิต. "สุขภาพจิตดีด้วยอีคิว." เอกสารประกอบการประชุมวิชาการประจำปีวิลา สลักษณ์ ชีววัลลี. รวมบทความทางวิชาการ EQ : การพัฒนาสติปัญญาทางอารมณ์ เพื่อความ สำเร็จในการทำงาน.๒๕๔๓.
วีระวัฒน์ ปันนิตามัย. เชาวน์อารมณ์ EQ ดัชนีความสำเร็จของชีวิต. กรุงเทพฯ : บริษัท เอ็กซเปอร์เน็ท จำกัด, ๒๕๔๓


ที่มา : http://www.kroobannok.com