ผู้เขียน หัวข้อ: หยุด การศึกษาที่สร้างทุกข์ให้นักเรียน และผู้ปกครอง  (อ่าน 2830 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3893
ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง
คณบดีคณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยหาดใหญ่


การศึกษาไทยมาถึงยุคที่เกิดวิกฤตเสื่อมศรัทธามากที่สุด ตกต่ำที่สุด จากในอดีตที่การศึกษาของไทยสามารถสร้างคนเก่ง คนดี คนมีความสุขได้จริง จากการศึกษาที่มีต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูง มาเป็นการศึกษาที่จ่ายแพง เคร่งเครียด เลื่อนลอย ด้อยคุณภาพ และเป็นเต็มไปด้วยความทุกข์ระทมของ ผู้เรียนและผู้ปกครองทั้งแผ่นดิน

ปัจจุบันการศึกษาไทยเคลื่อนตัวเข้าสู่ความเป็น "ธุรกิจการศึกษา" อย่างเต็มรูปแบบ มีต้นทุนสูง ประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่ำ ภาคการศึกษาขั้นพื้นฐานของเยาวชนเกิดวิกฤตมากมาย การสอนในสถานศึกษาถูกพันธนาการด้วยเรื่องต่างๆ นานาประการ ทั้งเรื่องการประกันคุณภาพที่เน้นการจัดทำเอกสารเพื่อเป็นหลักฐานของการประเมิน และงานอื่นๆ ที่ครูต้องรับผิดชอบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการประเมินเพื่อที่จะให้โรงเรียนได้รับรางวัลต่างๆ หรือให้ผู้บริหารสถานศึกษารับรางวัลหรือวิทยฐานะต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับคุณภาพของผู้เรียน ไม่ว่าจะทางความรู้ การคิด และคุณลักษณะทางด้านจิตวิทยา เช่น ความสุข ความรัก ความภาคภูมิใจในท้องถิ่นและบ้านเกิดเมืองนอน เป็นต้น จนเด็กนักเรียนต้องมาพึ่งการเรียนพิเศษเพื่อจะได้มีความเข้มแข็งทางความรู้ที่จะใช้สอบเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น สถาบันติวหรือโรงเรียนกวดวิชาจึงเกิดขึ้นอย่างทวีคูณและเป็นธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ การเรียนพิเศษกับโรงเรียนกวดวิชาและสถาบันติวต่างๆ จึงเป็นภาระทางการเงินแก่ผู้ปกครองอย่างรุนแรงมาก ผู้ปกครองทั้งในสังคมเมืองและกึ่งเมืองจำต้องทนแบกรับค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษ ทั้งค่าเล่าเรียน ค่าเช่าที่พัก ค่าเดินทาง และอื่นๆ อย่างทุกข์ทน เพื่ออนาคต ของลูก

ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้ปกครองพบว่าผู้ปกครองที่ลูกเรียนระดับประถมศึกษามีค่าเรียนพิเศษที่ต้องจ่ายเพิ่มเดือนละประมาณ 5,000-10,000 บาทต่อคน นี่เป็นความทุกข์ที่ทับถม ผู้ปกครองอยู่ นักเรียนที่ผ่านการสอบเข้า ม.1 และ ม.4 ของโรงเรียนที่มีชื่อเสียง บอกว่าความรู้ที่ได้รับจากการเรียนประจำที่โรงเรียนไม่เพียงพอต่อการทำข้อสอบสอบเข้า ม.1 หรือ ม.4 นี่มันคืออะไรกัน ทำไมการสอนประจำในโรงเรียนกับการสอบเข้าศึกษาต่อ มันเป็นคนละเรื่องกันเช่นนี้ หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการกับข้อสอบการสอบเข้าเรียนต่อ ทำไมมันต่างคนต่างร้อง ต่างตนต่างรำ คนละท่วงทำนอง จนจังหวะมันเรรวนไปหมด

แสดงว่าการสอนในระบบโรงเรียน และการสอบเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เป็นสาเหตุแห่งทุกข์สาเหตุหนึ่งของเรื่องนี้

สถานศึกษาของชาติที่นักเรียนเรียนตามปกติ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ โรงเรียนเอกชนมักจะได้รับความนิยมจากผู้ปกครองมากกว่า เนื่องจากโรงเรียนเอกชนจัดการศึกษาได้คุณภาพกว่า แต่ทุกอย่างของโรงเรียนเอกชนเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องแบกรับทั้งหมด เช่น ค่าสอนเสริม ค่าห้องเรียนปรับอากาศ ห้องสมุดปรับอากาศ ค่าการสอนคอมพิวเตอร์ ค่าสอนภาษาอังกฤษเพิ่ม ค่าสอนคณิตศาสตร์เพิ่ม ค่าอาหารกลางวัน ค่ารถรับส่ง และค่ากิจกรรมต่างๆ ที่มีเกือบทุกสัปดาห์ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นธุรกิจการศึกษาที่อยู่บนกองทุกข์ของผู้ปกครองที่หาเช้ากินค่ำ และต้องการสร้างอนาคตที่ดีให้แก่ลูก งบประมาณรายหัวที่รัฐบาลจ่ายอุดหนุนให้แก่นักเรียนแต่ละคน เมื่อมาเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ผู้ปกครองต้องจ่าย ช่างเหมือนฟ้ากับเหว มันห่างไกลกันจนไม่อยากจะไปคิดถึง ฉะนั้นการที่รัฐใช้ วาทกรรมว่า "เรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ" กับประชาชนนั้น มันเป็นเพียง "ลมปาก" ดีๆ นี่เอง

ทุกข์อีกหลายๆ ประการหนึ่งของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ได้อภิปรายและพูดถึงกันอยู่บ้างแล้ว เช่น ทุกข์ของนักเรียนจากการเรียนที่ใช้เวลาเรียนเนื้อหาวิชาแต่ละวันมากเกินไป แนวคิดที่จะลดเวลาเรียนให้น้อยลงก็ต้องทำให้เห็นเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น การเรียนที่มีการบ้านมากเกินไป การเรียนที่ตำรับตำรามากเกินไปจนเด็กแบกกระเป๋านักเรียนกันหลังขดหลังแข็งตั้งแต่ตัวเล็กตัวน้อย ล้วนแต่เป็นปัญหาที่สร้างความทุกข์ให้แก่นักเรียน ประเด็นนี้หากมองในแง่มุมของจิตวิทยาการศึกษา (Educational Psychology) นับว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมากต่อเด็ก นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงของโลกไม่ว่าจะเป็นเพียร์เจท์ (Jean Piaget) หรือแอดเลอร์ (Alfred Adler) ประกาศทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ลือลั่นไว้ เป็นทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) และทฤษฎีจิตวิทยาบุคลิกภาพ (Personality Psychology) บอกชัดและยังเป็นอมตะจนถึงทุกวันนี้ว่าบุคลิกภาพของมนุษย์เป็นผลมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก รวมทั้งการไม่ได้รับการตอบสนองที่เป็นความสุขของชีวิตในวัยเด็ก เด็กที่ใช้ชีวิตเป็นทุกข์และเคร่งเครียดลักษณะเช่นนี้ นอกจากน่าสงสารแล้ว ยังส่งผลให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เคร่งเครียด หลายๆ คนมีโลกทรรศน์ต่อชีวิตและสังคมเป็นลบ กลายเป็นพลเมืองที่มีปัญหาต่อการพัฒนาประเทศต่อไป

ฉะนั้นหากเด็กเป็นทุกข์ยาวนานตั้งแต่อนุบาลจนกระทั่งจบมัธยมปลายซึ่งเป็นความทุกข์ที่หนักหน่วงมาก เราจะได้ผู้ใหญ่ที่หาความสุขในชีวิตได้ยาก

ในส่วนของอุดมศึกษา จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายในการเรียนของมหาวิทยาลัยเอกชนสูงกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ เนื่องจากมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรัฐบาล ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเอกชนต้องใช้จ่ายจากเงินค่าลงทะเบียนเรียนของนักศึกษา นี่ก็กลายเป็นทุกข์อันมหาศาลของผู้ปกครองที่ส่งลูกเรียนระดับอุดมศึกษา หากจะให้มหาวิทยาลัยเอกชนเรียกเก็บค่าเล่าเรียนไม่สูงจนเกินกำลังของ ผู้ปกครอง รัฐต้องจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งมาอุดหนุนการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยเอกชน

ส่วนการที่มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนจำเป็นต้องพยายามรับนักศึกษาเข้าเรียนในสถาบันของตนเอง ให้มากเข้าไว้ เพื่อจะได้ค่าลงทะเบียนเรียนมาเป็นค่าใช้จ่าย ส่งผลให้มีการเปิดการเรียนการสอนหลายๆ หลักสูตรไม่ตอบโจทย์ต่อความต้องการบัณฑิตของสังคม มหาวิทยาลัยขอเปิดหลักสูตรเพื่อให้มีผู้เรียน ผู้เรียนอยากเรียนอะไรก็เปิดอันนั้น พอๆ กับที่ผู้เรียนจำนวนไม่น้อยก็เรียนเพื่อให้ตัวเองสำเร็จการศึกษา ได้ใบปริญญาเพื่อจะได้เดินหน้าหางานต่อไป สภาพเช่นนี้จึงส่งผลให้บัญฑิตที่สำเร็จการศึกษาขาดแคลนความรู้ความสามารถ จบแล้วจึงตกงานมหาศาล เป็นความทุกข์ของทั้งบัณฑิตเองและพ่อแม่ผู้ปกครอง

เมื่อบัณฑิตต้องประสบกับปัญหาตกงาน ก็ไม่มีกำลังในการชำระหนี้ที่กู้จากกองทุนเงินให้กู้ยืมของรัฐบาลทั้ง กยศ. หรือ กรอ. เป็นปัญหาให้ต้องเป็นคดีความกับธนาคารเจ้าของเงินกู้ จนผู้ปกครองในฐานะผู้ค้ำประกันต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ยิ่งเป็นทุกข์อันใหญ่หลวงของผู้ปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนกลุ่มที่หาเช้า กินค่ำ แต่มีความหวังให้ลูกได้เรียนหนังสือจนจบปริญญา เพื่อเป็นเกียรติของครอบครัวและมีหน้าที่การงานที่ดีเหมือนพ่อแม่ทั่วไป

ในประเด็นที่ผู้เรียนมีน้อย สถาบันอุดมศึกษามีเยอะ จึงพยายามหาผู้เรียนมาเรียนโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงของตำแหน่งงานเช่นนี้ ผู้เขียนคิดว่าถึงเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ต้องคุมกำเนิดการเกิดใหม่ของมหาวิทยาลัยไทย ทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชน รวมทั้งการควบคุมการเปิดสอนนอกที่ตั้งของมหาวิทยาลัย เพราะการเปิดสอนนอกที่ตั้งเป็นสาเหตุหลักของการด้อยคุณภาพของบัณฑิต ลำพังตัวชี้วัดของ สมศ. และ สกอ.อย่างเดียว อาจจะเอาเรื่องนี้ไม่อยู่ การสอนที่ไม่มุ่งเน้นคุณภาพของบัณฑิต มุ่งหวังแต่รายได้จากการจัดการศึกษาเพียงอย่างเดียว เป็นการจัดการศึกษาที่เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ให้แก่ลูกศิษย์ แก่ผู้ปกครอง และผู้ว่าจ้างบัณฑิตเข้าสู่ตำแหน่งงาน

เราจะหยุดการศึกษาที่สร้างทุกข์ให้แก่คนทั้งแผ่นดินอย่างนี้ได้มั้ย ผู้เขียนมั่นใจว่าหยุดได้ แม้ไม่ได้ทันที เราก็ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ แก้ ค่อยๆ พัฒนาหาทางไปเรื่อยๆ ช่วยเหลือกันทุกฝ่าย โดยการเริ่มต้นที่กฎหมายลูกทุกฉบับที่จะเกิดตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหานี้ ไหนๆ เราก็ลงทุนทำต่างๆ นานากันมาจนถึงขณะนี้แล้ว

คสช.โปรดจับเรื่องนี้ให้ตรงประเด็นนะครับ คลายทุกข์เรื่องการศึกษาของเยาวชนให้แก่นักเรียนนักศึกษาและผู้ปกครองทั้งแผ่นดินด้วย การปฏิรูปการศึกษาของ คสช. คราวนี้ก็จะเป็นวีรกรรมจริง มิใช่เป็นเพียงวาทกรรมที่ลมๆ แล้งๆ เหมือนความ แห้งแล้งที่กำลังแผ่คลุมประเทศชาติอยู่ยามนี้

"เราจะหยุดการศึกษาที่สร้างทุกข์ให้แก่คนทั้งแผ่นดินอย่างนี้ได้มั้ย ผู้เขียนมั่นใจว่าหยุดได้ แม้ไม่ได้ทันที เราก็ค่อยๆ คิด ค่อยๆ แก้ ค่อยๆ พัฒนา หาทางไปเรื่อยๆ ช่วยเหลือกันทุกฝ่าย โดยการเริ่มที่ต้นที่กฎหมายลูกทุกฉบับที่จะเกิดตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหานี้"

 
ที่มา มติชน วันที่ 23 กรกฎาคม 2558