ผู้เขียน หัวข้อ: ความสุขจากการสนทนาที่ไร้ความหมาย  (อ่าน 1682 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740

ความสุขจากการสนทนาที่ไร้ความหมาย

อดีตในวัยเรียนเราต้องเรียนรู้ผ่านการศึกษาจากผู้รู้ (ครู-อาจารย์) เราได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ ภายในโลกของระบบการศึกษาในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ที่เรียกกันว่า "ห้องเรียน" โดยได้รับการถ่ายทอดจากผู้รู้จากการสื่อสารผ่านทั้งการพูดและการกระทำของครูผู้สอน

แต่ความเชื่อส่วนใหญ่ของคนเราปรับเปลี่ยนไปตามขอบเขตของกาลเวลา

ในระดับประถมศึกษา เราเชื่อในตัวบุคคลซึ่งก็คือ พ่อแม่ ครูอาจารย์ผู้สอน

ระดับมัธยมศึกษา เรากลับเชื่อเพื่อนมากกว่าสิ่งอื่น

ระดับมหาวิทยาลัย ปริญญาตรี เรากลับมาเชื่อในเนื้อหาของตำรา

ระดับปริญญาโทและเอก เราถึงกลับมาเชื่อมั่นในความคิดของตนเอง

แต่ทั้งหมดทั้งมวล เชื่อได้หรือไม่ว่า อะไรคือความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การศึกษาในระดับใดมากกว่ากันที่มาหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ของคนเราให้สมบูรณ์ที่สุด

ในอดีตเราอาจชอบพูดคุยกับผู้รู้ ผู้แตกฉานในวิชาการแขนงต่าง ๆ

เราชอบสนทนากับผู้ที่มีความรู้รอบด้าน นักปราชญ์ นักวิชาการ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ฯลฯ ซึ่งเราเป็นฝ่ายรับเอาความรู้และประสบการณ์ของท่านผู้รู้เหล่านั้นมาปรับเปลี่ยนประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและประกอบหน้าที่การงาน

แต่เป็นที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างมาก

ฤดูกาลที่โอบรัดเอากาลเวลาหมุนเวียนผ่านไประลอกแล้วระลอกเล่า กลับเปลี่ยนแปลงความเชื่อของคนเราให้กลับตาลปัตรอย่างคาดไม่ถึง...

โดยธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อเรามีความรู้สูงขึ้น
เรากลับไม่อยากสนทนากับผู้รู้หรือนักปราชญ์เหล่านั้น


เรากลับชอบการสนทนากับผู้ที่ไม่รู้...

อย่างเช่น ชอบคุยกับชายชราอายุ 70 ปี ชาวนาธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ซึ่งทำนามาทั้งชีวิต แต่ยังไม่เคยมีที่นาเป็นของตนเอง ยายแก้ว หญิงชราที่ใช้ค่อนชีวิตอาศัยข้าวก้นบาตรจากพระในวัดใกล้บ้าน หรือแม้กระทั่งคนบ้านนอกที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ที่อดมื้อกินมื้อในต่างจังหวัดแสนไกล แถมไม่รู้หนังสือด้วยซ้ำ

ทำไม...

เรากลับชอบสนทนาที่ไร้ความหมายกับผู้ที่ไม่รู้มากกว่าผู้ที่รู้


อาจเป็นเพราะ...

ความนึกคิดที่ถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดของผู้ไม่รู้เหล่านั้น เป็นการพูดออกมาตรง ๆ ไม่มีสิ่งใดเจือปน ให้ต้องมานั่งแปลความหมาย ต้องมานั่งขบคิดไขความหมาย ต้องมานั่งแต่งเติม กลัวไม่ถูกต้องตามหลักของภาษา

เป็นความรู้ที่มาจากความไม่รู้

คนที่ไม่รู้แต่กลับถ่ายทอดประสบการณ์ที่ไม่รู้ออกมาเป็นความรู้ให้เราฟัง นับว่าเป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ เป็นเนื้อหาจริง ๆ จากประสบการณ์จริง ๆ ในความรู้ คือรู้อย่างไรก็ถ่ายทอดออกมาอย่างนั้น...

เพราะคนเราชอบการสนทนาที่ไร้ความหมายมากกว่าเอาความหมายเหล่านั้นมานั่งขบคิด มาวิเคราะห์ นั่งตีโจทย์ให้แตก ไม่มีเงื่อน ไม่มีปมต้องมาแกะ

คำพูดตรง ๆ จากประสบการณ์ชีวิตตรง ๆ จึงนับว่าเป็นความรู้ที่ไม่เคยได้รับการยอมรับ เนื่องจากผู้คนเหล่านั้นไม่มีความรู้ ไม่มีในหนังสือเล่มไหน เพราะไม่มีคนสนใจที่จะเอาความไม่รู้มาใส่ในหนังสือความรู้

แต่เราอาจลืมเลือนไปว่า...

กว่าคนเหล่านั้นจะผ่านประสบการณ์ชีวิตจากเด็กเข้าสู่วัยชราย่อมมีการลองผิดลองถูกกับการใช้ชีวิตมาอย่างโชกโชน มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและความล้มเหลว ทั้งผิดหวังและสมหวัง

นั่นแหละ ปราชญ์ชาวบ้าน คือ นักปราชญ์บ้านนอก

บางครั้งถ้าหากเรามีเวลาว่าง

ทำตัวตามสบาย ทำความคิดให้โล่ง เหมือนกระดาษที่ยังไม่ได้เขียน

ลองให้นักปราชญ์บ้านนอกเหล่านั้นเป็นคนเขียนร่มเงาในความคิด... อย่าไปจับสาระความรู้อะไรมากนัก อย่าไปยึดติดกับหลักภาษา อย่าไปยึดติดกับความถูกต้องหรือความไพเราะของคำพูด

ที่สำคัญ

อย่าใช้คำถามกับปราชญ์บ้านนอกเหล่านั้นว่าเราจะบีบคั้นเอาความรู้ ไปกดขี่ข่มขืนทางความคิดของเขา จนเขาไม่กล้าที่จะพูด

ทำตัวเราให้เบาบาง เหมือนขนนกที่พัดปลิวในกระแสลมที่เย็นสบาย

แม้บางครั้งลมอาจจะแรงและเร็วบ้าง

จงเป็นขนนกที่เงียบสงบ และลอยละล่องไปตามกระแสธารความคิดของท่านเหล่านั้น

เป็นความสุขง่าย ๆ ที่เราไม่ต้องเสียค่าชั่วโมงฟังเล็คเชอร์จากอาจารย์ที่มีชื่อเสียง

เป็นความสุขที่ไม่มีความกังวลขุ่นข้องที่เป็นสิ่งกีดขวางความคิดใคร

ที่สำคัญ...

เป็นความสุขแบบธรรมดาสามัญที่สุด

ที่เราเผลอลืมไปเท่านั้นเอง

    คนที่คิดว่าตัวเองฉลาด
    จะเป็นคนที่โง่ที่สุด
    ต่างกับคนที่คิดว่าตัวเองโง่
    นั่นแหละ...คือคนที่ฉลาดที่สุด


ขอบคุณหนังสือดีดี "ความสุขจากการสนทนาที่ไร้ความหมาย"
สุพจน์  นุ้ยเจริญ.  สุขจริงได้ง่ายนิดเดียว.  นนทบุรี: ธิงค์ บียอนด์ บุ๊คส์, 2554.


ที่มา  :  http://www.gotoknow.org/blog/scented-book/446625