ผู้เขียน หัวข้อ: วิศวกรรมแห่งชีวิต (วินทร์ เลียววาริณ)  (อ่าน 1491 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726

1. เรื่องกล้วยๆ

คุณวางกล้วยหนึ่งหวีบนโต๊ะอย่างไร?

วางโดยให้มันหงายขึ้น ส่วนที่สัมผัสพื้นโต๊ะคือโค้งด้านนอกของกล้วย หรือวางโดยคว่ำมันลง ให้ส่วนปลายทั้งสองของผลกล้วยสัมผัสพื้นโต๊ะ?

คำตอบที่ดีที่สุดน่าจะอธิบายด้วยหลักวิศวกรรมโครงสร้าง

การวางกล้วยหงายขึ้นโดยให้โค้งด้านนอกของกล้วยสัมผัสพื้นจะทำให้กล้วยส่วนนั้นช้ำ เพราะน้ำหนักทั้งหมดของกล้วยถ่ายลงที่จุดจุดเดียว ส่วนการวางส่วนปลายทั้งสองของผลกล้วยสัมผัสพื้น เป็นการถ่ายน้ำหนักของกล้วยทั้งหมดผ่านลงไปยังจุดปลายทั้งสองซึ่งเป็นโครงแข็ง เฉลี่ยลงฝั่งละครึ่ง ไม่ก่อให้เกิดการช้ำของผลกล้วย

นี่ก็คือหลักการก่อสร้างอาคารแบบโค้งรับน้ำหนัก (arch) น้ำหนักจากด้านบนส่วนโค้งถูกถ่ายลงทั้งสองข้าง รับน้ำหนักได้อย่างสมดุล เราจึงไม่เคยเห็นอาคารทรงโค้งหงาย

ในทางวิศวกรรม การรับแรงที่ดีคือการกระจายแรงเฉลี่ยออกไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ตกหนักที่จุดใดจุดหนึ่ง

เราสามารถใช้หลักการกระจายน้ำหนักนี้ในการใช้ชีวิตของเรา

เมื่อเจอปัญหาหนัก แต่ละคนมีวิธีเผชิญหน้าปัญหาต่างกัน บางคนแบกรับน้ำหนักที่จุดจุดเดียว ไม่ยอมแชร์ปัญหากับใคร เช่นลูกสอบตกก็ไม่ยอมบอกพ่อแม่ เพราะกลัวพ่อแม่จะผิดหวัง สามีเครียดเรื่องงานก็ไม่บอกภรรยา เป็นต้น ปล่อยทิ้งไว้ไม่นาน ความเครียดก็ทำลายตัวเอง

ในภาพยนตร์เรื่อง Tokyo Sonata หัวหน้าครอบครัวหนึ่งตกงาน แต่ไม่กล้าบอกภรรยาและลูก ทุกๆ วันเขาแต่งตัวออกจากบ้าน ทำทีเหมือนไปทำงานตามปกติ ทั้งที่ไม่มีที่ทำงานให้ไป

คนที่สามารถกระจายน้ำหนักของปัญหาออกไปได้มากกว่าจะข้ามพ้นปัญหานั้นได้ง่ายกว่า เพราะหลายหัวดีกว่าหัวเดียว และได้ทางเลือกของการแก้ปัญหามากทางกว่า อีกทั้งมีโอกาสระบายความทุกข์ออกไป เมื่อทุกข์ลด ใจก็ว่างขึ้น

มีเพื่อนก็ใช้เพื่อนให้เป็นประโยชน์ ปรึกษา ปรับทุกข์ มีครูอาจารย์ก็ขอคำปรึกษาจากท่าน มีพ่อแม่ก็รับคำปลอบโยนจากท่าน

เหล่านี้คือการกระจายน้ำหนักของปัญหาออกไป เป็นศิลปะการใช้ชีวิตที่ดี รู้จักรักษาสมดุลของความทุกข์-ความสุข

ลองใช้หลักรับน้ำหนักของกล้วย ก็จะพบว่า ปัญหาไม่ว่าหนักแค่ไหน ก็อาจกลายเป็นเรื่องกล้วยๆ!

2. รอยพับ

ลองหยิบกระดาษแผ่นบางหนึ่งแผ่นมากางไว้บนโต๊ะ วางปากกาด้ามหนึ่งลงบนกระดาษแผ่นนั้น แล้วจับขอบกระดาษยกปากกาดู แน่นอนคุณยกมันขึ้นมาไม่ได้

คราวนี้พับกระดาษแผ่นเดิมเข้าออกทั้งแผ่น แต่ละพับกว้างสักหนึ่งเซนติเมตร กระดาษบางเรียบแผ่นนั้นก็จะกลายเป็นแผ่นลูกฟูก วางปากกาบนกระดาษพับ คราวนี้คุณสามารถใช้กระดาษยกปากกาได้อย่างสบาย

นี่เป็นหลักวิศวกรรมอย่างง่ายๆ ที่ใช้มานานแล้ว โครงสร้างที่พับเป็นลอนหรือลูกฟูกรับน้ำหนักดีกว่าโครงสร้างที่ไม่พับหลายเท่า ทั้งที่หนาเท่ากัน วิศวกรใช้หลักนี้กับพื้นคอนกรีต ไม่เพียงจะรับน้ำหนักได้ดีขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ยังประหยัดวัสดุกว่าเดิม เพราะสามารถลดความหนาของมันลงจากแบบไม่พับได้มาก

โครงสร้างของกระเบื้องหลังคาก็ใช้หลักการนี้ จะเห็นว่าความหนาของกระเบื้องไม่มาก แต่เมื่อพับเป็นหยักแล้วจะแข็งแรงขึ้นกว่าไม่พับหลายเท่า

เราก็สามารถใช้หลักรอยพับ-รอยหยักในการใช้ชีวิตของเราเช่นกัน

รอยพับแห่งชีวิตคือประสบการณ์ ไม่ว่ารอยพับนั้นจะเป็นความเจ็บปวด ความทุกข์ ความลำบาก ความสูญเสีย หากรู้จักใช้ มันก็ทำให้เราแกร่งขึ้น รับน้ำหนักของอุปสรรคได้มากขึ้น

รอยพับก็คือความรู้ คือรอยหยักของสมอง ยิ่งใช้มากยิ่งฉลาด คนเราไม่มีความรู้ ต้านอะไรไม่ได้ แต่หากได้รับความรู้มากๆ ก็ต้านแรงได้

นอกจากวิธีถ่ายน้ำหนักและโครงสร้างแบบพับแล้ว โครงสร้างวิศวกรรมอื่นๆ อีกหลายชนิดก็สอนเราในการดำเนินชีวิตเช่นกัน

เคยสังเกตเห็นไหมว่า เวลาพายุมา ต้นไทรใหญ่อาจหักโค่น แต่ต้นอ้ออยู่ได้ดี การสร้างอาคารสูงใหญ่ที่ต้องตระหง่านตั้งโด่จึงต้องออกแบบ ?ช่อง? ให้ลมผ่านออกไปได้ เพื่อลดแรงกดอาคาร อาคารหลายหลังออกแบบให้โอนอ่อนเอนไปตามแรงพายุได้พอสมควร เพื่อลดแรงกระทำ

โครงสร้างที่ยืดหยุ่นมักอยู่ได้นานกว่าเสมอ

ในชีวิตของเรา การรู้จักโอนอ่อนในเรื่องที่ควรโอนอ่อนอาจช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนดีขึ้น แต่ไม่ใช่โอนเอนจนอ่อนแอเหยาะแหยะ เช่น เพื่อนชวนเข้าสู่อบายมุข ก็ยอมโอนอ่อนตาม

วิศวกรรมโครงสร้างเป็นเรื่องของการใช้แรง
วิศวกรรมแห่งชีวิตก็เป็นเรื่องของการจัดการรักษาความสมดุลของแรงต่างๆ ที่มากระทบชีวิตเรา

เพราะศิลปะการใช้ชีวิตก็คือการรู้จักจัดการแรงต่างๆ นั่นเอง


ที่มา  :  วินทร์ เลียววาริณ

www.winbookclub.com

23 กรกฎาคม 2554



คมคำคนคม

Everyone has his burden; what counts is how you carry it.

ทุกๆ คนมีภาระที่ต้องแบก สิ่งที่ต้องคิดคือคุณจะแบกมันยังไง

Joe Brown and David Brown