ผู้เขียน หัวข้อ: เปลือกของสุภาพชน  (อ่าน 1888 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740
เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2015, 08:07:32 AM


ครั้งหนึ่งเอกอัครราชทูตเยอรมันมาขอพบไอน์สไตน์ที่บ้าน ภรรยาของไอน์สไตน์บอกสามีว่า "ทำไมคุณไม่ไปเปลี่ยนชุดที่มันเรียบร้อยกว่านี้เล่า?"

ไอน์สไตน์ตอบว่า "ถ้าเขาอยากพบตัวฉัน ฉันก็อยู่นี่แล้วไง แต่ถ้าอยากดูเสื้อผ้าของฉัน ก็พาเขาไปเปิดตู้เสื้อผ้าดูซี"

ผมชอบไอน์สไตน์มิใช่เพราะเขาฉลาดปราดเปรื่องเกินมนุษย์ทั่วไป คิดสมการพิสดารออกมาได้ หากเพราะเขาเป็นคนขวานผ่าซาก ผ่าตรงเป้า คิดง่าย ๆ เสมอ

หลายปีมาแล้ว ผมลองไปเรียนเรื่องมารยาทสังคมจากสถาบันสอนบุคลิกภาพแห่งหนึ่ง ได้ความรู้ติดหัวมาว่า "การแต่งกายดีนั้นก็เพื่อให้เกียรติสถานที่ที่เราไป"

มาครุ่นคิดนานหลายปีว่าจริงหรือ? และถ้าจริง จำเป็นหรือ?

เวลาเราไปงานแต่งงานของใครสักคู่ เราสวมสูทและชุดราตรี เหตุผล? เพราะเป็นมารยาทสังคม เพราะเป็นการให้เกียรติคู่บ่าวสาวในงานสำคัญของพวกเขา เพราะเป็นการให้เกียรติสถานที่หรูหรา และเพราะสุภาพชนพึงทำเช่นนั้น

อดคิดต่อไม่ได้ว่า อะไรคือความสุภาพ? อะไรคือมาตรวัดความสุภาพ? การพูดคำว่า "ครับ /ค่ะ" ตลอดเวลา หรือว่าการแต่งกายเหมาะสม? หรือทั้งสองอย่าง? ถ้าใช่ อะไรเป็นมาตรวัดความเหมาะสมของการแต่งกาย?

โรงแรมระดับห้าดาวส่วนใหญ่ไล่แขกที่สวมรองเท้าแตะออกจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ นั้น (มักใช้คำว่า "เชิญ") ทั้งที่รองเท้าแตะก็ปกป้องตีนได้ดีไม่แพ้เกือกบู๊ทหรือรองเท้าหุ้มส้น และคนสวมรองเท้าแตะก็สามารถเอ่ยคำว่า "ครับ /ค่ะ" ได้เช่นกัน

ดูเหมือนค่านิยมของสังคมจะเดินไปในทิศทางที่ว่า "ความสุภาพ" ของการแต่งกายวัดกันที่ "แบบ" ของเสื้อผ้า เช่น รองเท้าแตะไม่เรียบร้อย รองเท้าฟองน้ำไม่สุภาพ การไม่เสียบชายเสื้อเข้าในกางเกงน่าดูแคลน

ผมเคยทดลองสวมเสื้อยืดกับรองเท้าแตะ เข้าไปในร้านหรู ไม่มีพนักงานคนใดเดินมาต้อนรับเลย ซึ่งตรงกันข้ามกับเมื่อสวมเสื้อผ้าแบบ "สุภาพชน" เสื้อเชิร์ตแขนยาว รองเท้าหนังมันเงา เข้าไปในร้านเดียวกัน พนักงานเข้ามาพูดจาอย่างสุภาพ เพราะปรัชญาการทำธุรกิจของหลายองค์กรไม่ต้อนรับ ผ้าขี้ริ้วห่อทอง หรืออย่างน้อยก็ไม่เชื่อว่า ภายในผ้าขี้ริ้วมีทอง

ไอน์สไตน์กล่าวว่า "คนจำนวนมากรู้สึกละอายที่สวมเสื้อผ้าเก่า และใช้เครื่องเรือนคร่ำคร่า เราน่าจะละอายในความคิดเก่าคร่ำคร่ากับปรัชญาไร้ค่ามากกว่า น่าเศร้านะถ้ากระดาษที่ห่อหุ้มดีกว่าเนื้อภายใน"

คนถ่อยสวมสูทตัวละแสนบาท ก็ยังเป็นคนถ่อยอยู่เช่นเดิม

ความจริงคือ มารยาทย่อมไม่มีกฎเกณฑ์ การสวมชุด "สุภาพชน" มิได้เป็นการให้เกียรติต่อทั้งสถานที่และบุคคลเสมอไป

การเปลือยกายในสังคมหนึ่งอาจเป็นเรื่องน่าละอาย ขณะที่เป็นค่านิยมปกติในอีกสังคมหนึ่ง

ความจริงการเปลี่ยนแปลงกติกาของการแต่งกายเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อโลกแคบลง และความเป็นสากลสูงขึ้น ปัญหามักเกิดจากความพยายามเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมที่(เราคิด ว่า)เหนือกว่าเราอย่างไม่มีราก อย่างหลับหูหลับตา และตีค่าของคนที่เปลือกนอกมากกว่าภายใน

ดังนี้สวมชุด "สุภาพชน" ก็ไม่ผิด ไม่สวมชุด "สุภาพชน" ก็ไม่ผิด การสวมชุดสีแดงไปงานศพ หรือชุดสีดำไปงานมงคลก็ไม่ผิด แต่สุภาพชนที่แท้ย่อมมองไกลกว่าเครื่องแต่งกาย

สุภาพชนที่แท้ย่อมเป็นอิสระจากการเดินตามกฎและการไม่เดินตามกฎ อิสรภาพหมายถึงการไม่ยึดติดกับค่านิยมของสังคม แต่ก็ไม่จำเป็นต้องต่อต้านเพียงเพื่อแสดงให้ชาวโลกเห็นว่า ตนเองไม่ยึดติดกับค่านิยมของสังคม


ที่มา  :  วินทร์ เลียววาริณ

www.winbookclub.com

8-11-2004