ผู้เขียน หัวข้อ: ในคืนที่ฟ้ามืดมิดที่สุด คนจึงจะมองเห็นดวงดาวได้  (อ่าน 2241 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740


ในสมัยที่เราเป็นเด็ก สิ่งหนึ่งที่เป็นคำถามเมื่อวัยเยาว์ในวันที่มีโอกาสนอนหนุนตักพ่อแม่ก็คือ การเรียกร้องอยากฟังนิทานกล่อมก่อนนอนเพื่อเป็นของขวัญในค่ำคืนก่อนนิทรา ฝ่ายพ่อและแม่ก็ใจดีพอที่จะเล่านิทานโดยยกเอาเรื่องของดวงดาวมาขับกล่อมให้นอนหลับอยู่เป็นนิจ เป็นภาพที่หลายคนโหยหา หรืออาจจะไม่มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศของชีวิตอย่างนี้เลยก็เป็นได้

แต่เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยน การเติบโตของชีวิตจิตใจก็เริ่มเปลี่ยนไปด้วย ความต้องการที่เรียบง่ายในวัยเยาว์ก็เริ่มจางหายไป เพราะเราวิ่งตามกระแสโลกเร็วจนเกินไป วิ่งตามความต้องการที่มากระตุ้นให้ใฝ่แสวงหาสิ่งต่าง ๆ อย่างลืมหูลืมตาไม่ขึ้น จนกระทั่งความสุขและความผ่อนคลายในช่วงจังหวะของชีวิตหล่นหายไป

ความสุขที่ควรได้รับเช่นดั่งเมื่อวัยเยาว์ ที่ได้รับเพียงนิทานของดวงดาวได้หายไปในฉับพลัน เพราะลืมทบทวนคุณค่าที่แท้จริงของการแสวงหานั้นว่า เราต้องการสิ่งใดให้กับชีวิตกันแน่ ? เหตุที่วิ่งวุ่นอยู่นี้ เพื่อความสุขหรือตอบสนองความอยากที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้ ?
เป็นคำถามที่หลายคนก็ยังสงสัยอยู่ตราบจนปัจจุบัน

เมื่อความต้องการที่เราปรารถนาไม่สามารถตอบโจทย์ของชีวิตให้มีความสุขดั่งที่หมายปองได้ สิ่งสะท้อนให้เห็นก็คือ "ความว่างเปล่าของสมบัติที่มี" เพราะถึงแม้เราจะมีทุกอย่างที่แสวงหามาได้ แต่สิ่งที่มีอยู่นั้น ก็ไม่ได้ให้ความอบอุ่นแก่ชีวิตแต่อย่างใด เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เราต้องเฝ้าถามและทบทวนก็คือ การรู้จักพักกายและใจให้มีความปลอดโปร่งในความรู้สึกภายในแทน โดยการเปรียบเทียบระหว่างความสุขที่ได้จากนิทานกล่อมก่อนนอนของพ่อแม่ และความสุขที่ตอบสนองเป็นก้อนวัตถุว่า สิ่งไหนให้คุณค่าทางจิตใจมากกว่ากัน ภาวะความรู้สึกไหนที่เราควรเพิ่มพูนให้กับชีวิต

นิทานกล่อมก่อนนอนในยามราตรีที่พ่อแม่กล่อมโสตเมื่อวัยเยาว์อาจดูเหมือนไร้ค่า เพราะอยู่ไกลโพ้นถึงดาวดวงอื่น อยู่ท่ามกลางความมืดที่ผู้เล่าเองก็ไม่อาจรู้ได้ว่านั่นเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเพียงเรื่องเล่า แต่อย่างน้อยในความมืดมิดของราตรีกาล ก็ยังหลงเหลือความรู้สึกที่แบ่งปันให้ได้รับรู้ถึงจินตนาการของความสุขได้ ถึงไม่ยิ่งใหญ่ก็เพียงพอที่จะทำให้เรานอนหลับฝันดีได้เมื่อวัยเยาว์

แม้ว่านิทานกล่อมก่อนนอนในวัยเด็กนั้น อาจจะฟังไม่รู้เรื่อง แต่แสงเรือง ๆ ของดาวดวงน้อยหลาย ๆ ดวงในยามค่ำคืน ก็เพียงพอที่จะทำให้เราและคนที่เรารัก ได้มีโอกาสสัมผัสถึงความอบอุ่นของกันและกัน สัมผัสถึงความรักและความห่วงหาอาทร ที่บางครั้งความสว่างไสวไม่สามารถมอบให้ได้ ถึงใครจะบอกว่าเป็นความมืดมิดในราตรีกาล แต่ระยิบระยับ กระทั่งส่องประกายฉายแสงสว่างแห่งความอบอุ่นที่แต่ละคนมอบให้ซึ่งกันและกันเสมอ เป็นความอบอุ่นที่มากมายในความน้อยนิด

แต่เมื่อมองย้อนกลับมาดูวันคืนแห่งการเติบโตของชีวิตบนโลกปัจจุบัน ที่วิ่งวุ่นแสวงหาความสำเร็จและเกียรติยศมาสู่ตัวเอง ซึ่งดูเหมือนว่าทำให้เราได้รับแสงสว่างแห่งการยอมรับจากชาวโลกได้ดี แต่พอมองเข้ามาสู่ชีวิตจิตใจภายในกลับพบว่าเรายังคงเดียวดาย ยังคงต้องการความรัก ความอบอุ่นและความเข้าใจทั้งจากตัวเองและผู้อื่นอยู่เสมอ เปรียบเสมือนตัวเรากำลังยืนอยู่ท่ามกลางแสงสว่างที่เจิดจ้า จนทำให้แสงสะท้อนกลับมาทำลายดวงตาให้พร่ามัว ไม่สามารถที่จะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวได้ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ แสงสว่างนั้นจึงชื่อว่าเป็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดมิด และความเดียวดายอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

ฉะนั้น ถ้ารักที่จะมอบความสุขให้เป็นกำลังใจแก่ชีวิตของตัวเอง อย่าให้สิ่งที่ฉาบฉวยที่ดูเหมือนเป็นความยิ่งใหญ่แต่ไร้คุณค่าทางความรู้สึกมาปิดบังหัวใจ แต่จงมอบความงดงามเล็ก ๆ แต่เป็นความยิ่งใหญ่ของความสุขมอบให้กับตัวเองด้วยความเอื้ออารี เมื่อนั้นเราจะได้สัมผัสความสุขที่เรียบง่ายแต่งดงามในความทรงจำเสมอ

เพราะสักวันหนึ่งไม่ว่าเราจะยิ่งใหญ่สักปากใด สุดท้ายก็ต้องกลับลงมาสู่ดิน กลับมาสู่ความเป็นสามัญชนที่เท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์แบบเช่นเดิม แต่ถ้าทำใจไม่ได้ ไม่เคยสัมผัสกับบรรยากาศอีกด้านหนึ่งของชีวิต ที่มีความเงียบสงบซ่อนอยู่ เราอาจจะไม่ได้มีสิทธิ์ที่จะเห็นดวงดาวแห่งความสุขและความสดใจในใจได้เลย

โปรดดูแลตัวเองอย่างคนเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ด้วยความสุขในใจด้วยเถิด เพราะหากเปรียบการเห็นดวงดาวที่ต้องอาศัยค่ำคืนที่มืดมิดแล้วไซร้ การจะใช้ชีวิตให้มีความสุขสงบร่มเย็นก็เช่นเดียวกัน ต้องอาศัยการกลับมาอยู่กับตัวเอง และอยู่กับธรรมชาติของชีวิตจิตใจจริง ๆ มิใช่ให้ความลวงมาฉาบไล้ให้หลงแต่อย่างใด เมื่อนั้นจะรู้ว่าความสุขที่งดงามได้ซ่อนอยู่ภายในตัวเองของเรานี่เอง



ขอบคุณหนังสือดีดี  :  ชุติปํญโญ (นามแฝง).  ถึงชีวิตจะสูญเสีย แต่อย่าให้ใจเสียศูนย์.  พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ใยไหม, 2549.

ที่มา  :  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/321078