ผู้เขียน หัวข้อ: ปราบดาภิเษก : การขึ้นเสวยราชย์ด้วยศาสตรา  (อ่าน 2348 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
คำว่า ?ปราบดาภิเษก? เป็นคำสมาสแบบสนธิ ซึ่งยืมมาจากภาษาสันสกฤตว่า ปฺราปฺต + อภิเษก มีความหมายตามตัวว่า มีอภิเษกอันถึงแล้ว แต่ความหมายโดยนัยที่นำมาใช้อธิบายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของไทยคือ พระราชพิธีอภิเษกของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งได้ราชสมบัติมาด้วยการรบชนะข้าศึก จึงหมายความต่อไปว่า พระมหากษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ด้วยวิธีปราบดาภิเษกนั้นต้องมีเรื่องของการต่อสู้ รบพุ่งแย่งชิงอำนาจกับกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ไม่ว่าในหรือนอกราชสำนัก

ประวัติศาสตร์ตลอด ๔๑๗ ปีของกรุงพระมหานครศรีอยุธยามีพระมหากษัตริย์ผ่านพิภพ ๓๔ พระองค์ มีการผลัดแผ่นดิน ๓๔ ครั้ง (มี ๑ พระองค์ครองราชย์ ๒ ครั้ง) ซึ่งมีทั้งวิธีสืบราชสมบัติและการแย่งชิงราชสมบัติ หรือที่เรากำลังเรียกว่า ?ปราบดาภิเษก?

พระมหากษัตริย์ที่เสด็จขึ้นเสวยเศวตฉัตรอยุธยาด้วยการสืบราชสมบัติจากพระราชบิดาสู่พระราชโอรส ๑๕ รัชกาล ได้แก่ พระราเมศวร พระเจ้าทองลัน พระรามราชาธิราช พระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) พระบรมไตรโลกนาถ พระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระรัฏฐาธิราชกุมาร พระยอดฟ้า พระมหินทราธิราช พระนเรศวรมหาราช พระศรีเสาวภาคย์ พระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าไชย พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระและพระเจ้าอุทุมพร

สืบราชสมบัติจากพระเชษฐาธิราชสู่พระอนุชาธิราช ๓ รัชกาล ได้แก่ พระรามาธิบดีที่ ๒ พระเอกาทศรถและพระอาทิตยวงศ์

จากพระอนุชาธิราชสู่พระเชษฐาธิราช ๑ รัชกาล คือ พระเจ้าเอกทัศ

จากพระปิตุลา (อา) สู่พระภาคิไนย (หลาน) ๑ รัชกาล คือ พระบรมราชาธิราชที่ ๔ (หน่อพุทธางกูร)

จากพระราชบิดาบุญธรรม สู่พระราชบุตรบุญธรรม ๑ รัชกาล คือ พระสรรเพ็ชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ)

ว่ากันอันที่จริง การสืบราชสมบัติส่วนใหญ่ของกรุงศรีอยุธยาก็เป็นการสืบราชสมบัติโดยปกติ ๒๑ ครั้ง จาก ๓๔ ครั้ง แต่แน่นอนว่าการสืบราชสมบัติแบบเสียเลือดเนื้อที่เรียกว่า ?ปราบดาภิเษก? นั้นแม้จะมีจำนวนครั้งน้อยกว่า แต่กลับเป็นที่สนอกสนใจของ ?นักเลงประวัติศาสตร์ไทย? มากกว่ารัชกาลที่ส่งมอบราชสมบัติแบบสันติ

อนึ่ง ในการสืบราชสมบัติทั้ง ๒๑ ครั้งนี้ ก็ใช่ว่าทุกครั้งจะเป็นไปโดยเรียบร้อยปราศจากการปะทะหรือเสียเลือดเนื้อ ในบางครั้งก่อนจะมีการสืบราชสมบัติโดยสงบ ก็ปรากฏว่ามีการประหารบุคคลที่อาจเป็น ?อุปสรรค? สำหรับการสืบราชสมบัติ เช่น กรณีการสำเร็จโทษเจ้าพระขวัญพระราชโอรสของพระเพทราชา โดยพระเจ้าเสือเมื่อครั้งดำรงพระยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือกรณีการสำเร็จโทษ ?เจ้าสามกรม? ในช่วงก่อนเสวยราชย์ของพระเจ้าอุทุมพร

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการ ?ปราบดาภิเษก? หรือการแย่งชิงราชสมบัติกันในหมู่เจ้านายชั้นสูงหลังจากพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตไปแล้วก็คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างทางอำนาจของแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาที่ไม่มีระบบการตั้งตำแหน่งที่เรียกว่า ?รัชทายาท? หลายท่านอาจจะนำคติความคิดแบบปัจจุบันลงไปจับในเวลาที่ศึกษาประวัติศาสตร์ซึ่งจะทำให้มองประวัติศาสตร์คลาดเคลื่อนไปจากบริบทของเหตุการณ์ในยุคสมัยนั้น ๆ กล่าวคือ เข้าใจว่าตำแหน่ง ?พระมหาอุปราช? หรือในชั้นหลังต่อมาเรียกว่า ?วังหน้า? เป็นตำแหน่งเดียวกันกับตำแหน่ง ?มกุฏราชกุมาร? หรือที่ฝรั่งเรียกว่า ?Crown Prince? ซึ่งมีสถานเป็นองค์รัชทายาท

แต่แท้จริงแล้วตำแหน่งทั้งสองนี้ไม่เหมือนกัน และเป็นคนละสิ่งแยกจากกันอย่างชัดเจน

ถ้าเราย้อนไปในห้วงเวลาใกล้ ๆ นี้ คือ พ.ศ. ๒๔๒๙ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระบรมราชโองการให้สถาปนาพระราชกุมารพระองค์ใหญ่อันประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ?พระองค์แรกของสยาม? หลังจากการเสด็จทิวงคตของสมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ซึ่งถือเป็นการ ?ยกเลิก? ตำแหน่งมหาอุปราชหรือ ?วังหน้า? แล้วนำธรรมเนียมการสถาปนา ?รัชทายาท? หรือ ?มกุฏราชกุมาร? ตามอย่างตะวันตกมาใช้แทน เพื่อสร้างความ ?ชัดเจน? และ ?แน่นอน? ในการสืบราชสันตติวงศ์ในภายหน้า

ตำแหน่ง ?พระมหาอุปราช? หรือ ?วังหน้า? หรือ ?กรมพระราชวังบวรสถานมงคล? ที่เราใช้มาแต่เดิมนั้น พอจะเทียบกับคำในภาษาอังกฤษว่า ?Viceroy? ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กษัตริย์อังกฤษแต่งตั้งขึ้นเพื่อไปปกครองอาณานิคมโพ้นทะเลต่างพระเนตรพระกรรณ

ตำแหน่ง ?อุปราช? ของไทยนั้น คือตำแหน่งที่เรียกอย่างภาษาชาวบ้านว่า ?รองพระเจ้าอยู่หัว? คำว่า ?อุป? นั้นแปลว่ารอง ส่วนราช ก็คือ พระราชา (บางครั้งเราจะได้ยินตำแหน่ง ?อุปนายกสภากาชาดไทย? นั่นคือตำแหน่งรองนายกสภากาชาดไทยนั่นเอง) ตำแหน่งนี้พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตมักเลือกสถาปนาพระอนุชาธิราชหรือพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือราชการต่างพระเนตรพระกรรณ ทำนองตำแหน่งรองประธานาธิบดีหรือรองนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน หากแต่ไม่มีหลักฐานหรือธรรมเนียมใด ๆ เลยที่เป็นเครื่องยืนยันว่า ตำแหน่งอุปราชหรือวังหน้า คือตำแหน่งรัชทายาทผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นปัญหาความขัดแย้งที่จะนำไปสู่การ ?ปราบดาภิเษก? ย่อมจะเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตลงโดยไม่ทันมีรับสั่งให้เจ้านายพระองค์ใดสืบราชสมบัติ หรือบางครั้งมีการสืบราชสมบัติไปแล้ว แต่มีเจ้านายองค์อื่นนำกำลังเข้ามาต่อสู้แย่งชิงราชสมบัตินั้น และหนึ่งในบรรดาผู้ที่มักเป็นตัวละครในการแย่งชิงอำนาจอยู่หลาย ๆ รัชกาลคือเจ้านายที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น ?พระมหาอุปราช? นี่เอง ด้วยความที่ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสูงสุดของเจ้านายทั้งหลายทั้งปวง ถือศักดินา ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ ในแผ่นดินนี้เป็นรองแต่พระมหากษัตริย์ ดังนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตไป พระมหาอุปราชจึงมีความชอบธรรมที่จะขึ้นเสวยราชย์สืบต่อ แต่เจ้านายอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมักจะลุกขึ้นมาต่อสู้แย่งชิงกับอุปราชก็คือ พระราชโอรสองค์ใหญ่หรือพระราชโอรสอันประสูติแต่พระอัครมเหสีของพระเจ้าอยู่หัวที่เพิ่งสวรรคตไปซึ่งเรียกว่า ?สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า? ก็มีความชอบธรรมไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน บางครั้งยังมีพระราชโอรสอันประสูติแต่พระสนมที่อ้างความชอบธรรมเช่นกัน

การชิงเศวตฉัตรอยุธยาทุกครั้งจบลงด้วยการมี ?ผู้แพ้และผู้ชนะ? ผู้แพ้จะถูกกล่าวหาว่าเป็น ?กบฏ? ถูกฝ่ายที่ชนะสำเร็จโทษ และเหล่าขุนนางที่สนับสนุนเจ้านายฝ่ายที่แพ้ก็จะถูกกวาดล้างด้วย ส่วนฝ่ายชนะ ก็จะตั้งการพิธีราชาภิเษกที่เรียกว่า ?ปราบดาภิเษก? ต่อไป

พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาที่ขึ้นครองราชย์ด้วยการปราบดาภิเษกมีทั้งสิ้น ๑๒ รัชกาล ได้แก่ พระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) พระราเมศวร (ครั้งที่ 2) พระนครินทราชา พระไชยราชาธิราช ขุนวรวงศาธิราช พระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าทรงธรรม พระเจ้าปราสาททอง พระศรีสุธรรมราชา พระนารายณ์มหาราช พระเพทราชา และพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในจำนวนนี้บางครั้งเป็นการโค่นล้มราชวงศ์เดิมแล้วเริ่มพระราชวงศ์ใหม่ บางครั้งเป็นการแย่งชิงราชสมบัติจากเจ้านายในสายราชวงศ์เดียวกัน

อนึ่ง มีการผลัดแผ่นดินอีกครั้งหนึ่งซึ่งไม่เข้าลักษณะใด ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นอีก ๑ รัชกาล คือ สมเด็จพระมหาธรรมราชา ไม่ได้สืบราชสมบัติจากการปราบดาภิเษก แต่ได้รับการสถาปนาจากพระเจ้าบุเรงนองหลังสงครามที่เรียกกันทั่วไปว่า ?คราวเสียกรุงครั้งที่ ๑? พ.ศ. ๒๑๑๒

ต่อมาการปราบดาภิเษกเลือนหายไปพร้อม ๆ กับการถือกำเนิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ (Modern State) ที่มีกฎเกณฑ์กำหนดตำแหน่ง วิธีการเข้าสู่ตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งประมุขของรัฐไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าประมุขของรัฐนั้นจะทรงใช้อำนาจอธิปไตยเองอย่างเด็ดขาดเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) หรือทรงใช้ผ่านสถาบันหลักของรัฐที่เป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy)  แต่บทเรียนที่เราได้รับจากการศึกษาเรื่องสัมพันธภาพเชิงอำนาจของสังคมการเมืองยุคอาณาจักรโบราณ คือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กลุ่มบุคคลไปจนกระทั่งถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรกับอาณาจักร ล้วนมีพื้นฐานอยู่บนสิ่งที่เรียกว่า ?อำนาจ? และ ?ผลประโยชน์? เสมอ


ที่มา : http://www.samkokview.com