ผู้เขียน หัวข้อ: พระตำหนักคำหยาด เมืองอ่างทอง ร่องรอยของขุนหลวงหาวัดที่ยังเหลืออยู่  (อ่าน 2619 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3740

พระตำหนักคำหยาด เมืองอ่างทอง ร่องรอยของขุนหลวงหาวัดที่ยังเหลืออยู่

พระตำหนักคำหยาด ที่อำเภอโพธิ์ทอง อยู่ใกล้กับวัดโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เป็นพระตำหนักที่ประทับของเจ้าฟ้าอุทุมพร ขณะที่ทรงสละราชสมบัติ แล้วทรงผนวชอยู่ในเพศบรรพชิตตลอดมา ตราบจนเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.2310 พม่าได้จับพระองค์เป็นเชลยศึกติดไปกับบรรดาเชลยชาวไทยจำนวนมาก ภายหลังพม่าได้สอบปากคำถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาและตำนานต่างๆ จดบันทึกไว้เป็นหลักฐาน บันทึกนี้ได้แปลเป็นไทย ในสมัยต่อมาให้ชื่อว่า 'คำให้การขุนหลวงหาวัด'

พระตำหนักคำหยาดอยู่ในท้องที่ตำบลคำหยาด ถัดจากวัดโพธิ์ทอง ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2.5 กิโลเมตร บนถนนสายเดียว สภาพปัจจุบันมีเพียงผนัง 4 ด้าน ตัวอาคารตั้งโดดเด่นอยู่กลางทุ่งนา ก่อด้วยอิฐถือปูนขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ยังคงเห็นเค้าความสวยงามทางด้านศิลปกรรมเช่น ลวดลายประดับซุ้มจรนำหน้าต่าง มีมุขเด็จด้านหน้าและด้านหลัง ภายในทาดินแดง ปูพื้นกระดาน สถาปัตยกรรมแบบนี้สืบทอดความคิดมาจากสถาปัตยกรรมสมัยพระนารายณ์ พระตำหนักยกพื้นสูง มีห้องใต้ถุนแบบเดียวกับตำหนัดวัดตึก และวัดเจ้าย่าในกรุงศรีอยุธยา

ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรพระตำหนักคำหยาด เมื่อพ.ศ.2451 ได้เสด็จมายังโบราณสถานแห่งนี้และทรงมีพระราชวินิจฉัยดังปรากฏ ในพระราชหัตถเลขาอรรถาธิบาย เรื่อง เสด็จลำน้ำมะขามเฒ่าไว้ว่า เดิมทีทรงมีพระราชดำริว่า กรมขุนพรพินิต (ขุนหลวงหาวัด หรือ เจ้าฟ้าอุทุมพร) ทรงผนวชที่วัดโพธิ์ทองแล้วสร้างพระตำหนักแห่งนี้ขึ้นเพื่อจำพรรษาเนื่องจากมีชัยภูมิที่เหมาะสม ดังในบันทึกเสด็จประพาสต้นว่า "เมื่อเจ้าฟ้าอุทุมพรออกจากราชสมบัติครั้งแรก ทรงผนวชอยู่วัดประดู่ ที่จะยังไม่มีความบาดหมางมากกับขุนหลวงสุริยามรินทร ครั้นเมื่อทรงผนวชครั้งหลังทีความบาดหมางจะมากขึ้น จึงได้คิดออกมาสร้างตำหนักที่ตำบลคำหยาดเปนหมู่ไม้อยู่ในกลางท้องทุ่ง ไม่มีลำคลองที่เข้าไปถึง ถ้าจะเข้าทางทิศใดคงแลเห็นเสียก่อนนาน หวังจะเอาไว้เปนที่มั่นป้องกันตัว ถ้าขุนหลวงสุริยาสมรินทรเอะอะขึ้นมา"

แต่ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นตัวพระตำหนักสร้างด้วยความประณีตสวยงามแล้วพระราชดำริเดิมก็เปลี่ยนไป ด้วยทรงเห็นว่า ไม่น่าที่ขุนหลวงหาวัดจะทรงมีความคิดใหญ่โต สร้างที่ประทับชั่วคราวหรือที่มั่นในการต่อสู้ให้ดูสวยงามเช่นนี้ ดังนั้น จึงทรงสันนิษฐานว่า พระตำหนักนี้คงจะสร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เพื่อเป็นที่ประทับแรม เช่นเดียวกับที่พระเจ้าปราสาททองทรงสร้างที่ประทับไว้ที่บางปะอิน เนื่องจากมีพระราชนิยมเสด็จประพาสเมืองแถบนี้ และขณะเดียวกันที่กรมขุนพรพินิต (ขุนหลวงหาวัด หรือ เจ้าฟ้าอุทุมพร) ผนวชอยู่ที่วัดประดู่ก็ได้ทรงนำข้าราชบริพารกับพระภิกษุที่จงรักภักดีต่อพระองค์ เสด็จลงเรือพระที่นั่ง ออกจากพระนครศรีอยุธยามาจำพรรษาที่วัดโพธิ์ทองคำหยาด และประทับอยู่ที่พระตำหนักคำหยาดนี้


ที่มา : https://www.facebook.com/siamhistory