ความรู้ดีดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา > ความรู้เกี่ยวกับการศึกษา

ปรัชญา"คิดเป็น"

(1/1)

เลิศชาย ปานมุข:
ความนำ

         แนวความคิดเรื่อง คิดเป็น ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในกลุ่มนักวิชาการศึกษามาไม่น้อยกว่า 20 ปี แล้ว โดย ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ได้ประยุกต์แนวความคิดในเรื่อง คิดเป็น และนำมาเป็นเป้าหมายสำคัญในการให้บริการการศึกษาผู้ใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา เช่น การจัดการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ โครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือ เป็นต้น การจัดกิจกรรมเน้นในเรื่องการเรียนรู้ด้วยแก้ปัญหาโดยใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และจากนั้นเป็นต้นมา การศึกษานอกระบบก็ได้ยึดปรัชญา ?คิดเป็น? มาเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมมาโดยตลอด

         ปรัชญาคิดเป็น อยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า ความต้องการของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนมีจุดรวมของความต้องการที่เหมือนกัน คือ ทุกคนต้องการความสุข คนเราจะมีความสุขเมื่อเราและสังคมสิ่งแวดล้อมประสมกลมกลืนกันได้ โดยการปรับปรุงตัวเราให้เข้ากับสังคมหรือสิ่งแวดล้อมหรือโดยการปรับปรุงสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเรา หรือปรับปรุงทั้งตัวเราและสังคมสิ่งแวดล้อมให้ประสมกลมกลืนกัน หรือเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับตน คนที่สามารถทำได้เช่นนี้ เพื่อให้ตนเองมีความสุขนั้น จำเป็นต้องเป็นผู้มีความคิดสามารถคิดแก้ปัญหา รู้จักตนเองและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม จึงจะเรียกได้ว่าผู้นั้นเป็นคนคิดเป็น หรืออีกนัยหนึ่งปรัชญา ?คิดเป็น? มาจากความเชื่อพื้นฐานตามแนวพุทธศาสนา ที่สอนให้บุคคลสามารถพ้นทุกข์ และพบความสุขได้ด้วยการค้นหาสาเหตุของปัญหา สาเหตุของทุกข์ ซึ่งส่งผลให้บุคคลผู้นั้นสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

 ความหมายของ คิดเป็น

         โกวิท วรพิพัฒน์ ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับ คิดเป็น ว่า บุคคลที่คิดเป็นจะสามารถเผชิญปัญหาในชีวิตประจำวันได้อย่างมีระบบ บุคคลผู้นี้จะสามารถพินิจพิจารณาสาเหตุของปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่ และสามารถรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับทางเลือก เขาจะพิจารณาข้อดีข้อเสียของแต่ละเรื่อง โดยใช้ความสามารถเฉพาะตัวค่านิยมของตนเอง และสถานการณ์ที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่ ประกอบการพิจารณา

         การคิดเป็น เป็นการคิดเพื่อแก้ปัญหา คือ มีจุดเริ่มต้นที่ปัญหาแล้วพิจารณาย้อนไตร่ตรองถึงข้อมูล 3 ประเภท คือ ข้อมูลด้วยตนเองชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และข้อมูลวิชาการ ต่อจากนั้นก็ลงมือกระทำถ้าหากสามารถทำให้ปัญหาหายไป กระบวนการก็ยุติลง แต่หากบุคคลยังไม่พอใจแสดงว่ายังมีปัญหาอยู่ บุคคลก็จะเริ่มกระบวนการพิจารณาทางเลือกใหม่อีกครั้ง และกระบวนการนี้ยุติลงเมื่อบุคคลพอใจและมีความสุข

สรุป ความหมายของ คิดเป็น

         - การวิเคราะห์ปัญหาและแสวงหาคำตอบหรือทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาและดับทุกข์
         - การคิดอย่างรอบคอบเพื่อการแก้ปัญหาโดยอาศัยข้อมูลตนเอง ข้อมูลสังคมสิ่งแวดล้อมและข้อมูลวิชาการ

เป้าหมายของ คิดเป็น

         เป้าหมายสุดท้ายของการเป็นคน ?คิดเป็น? คือความสุข คนเราจะมีความสุขเมื่อตัวเราและสังคมสิ่งแวดล้อมประสมกลมกลืนกันอย่างราบรื่นทั้งทางด้านวัตถุ กายและใจ

แนวคิดหลักของ คิดเป็น

         - มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการความสุข
         -  ความสุขที่ได้นั้นขึ้นอยู่กับการปรับตัวของแต่ละคนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตามวิธีการของตนเอง
         - การตัดสินใจเป็นการคิดวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูล 3 ด้าน คือด้านตนเอง ด้านสังคม และด้านวิชาการ
         - ทุกคนคิดเป็น เท่าที่การคิดและตัดสินใจทำให้เราเป็นสุขไม่ทำให้ใครหรือสังคมเดือดร้อน

คิดอย่างไรเรียกว่า ?คิดเป็น?

          คิดเป็น เป็นการคิดแบบพอเพียง พอประมาณ ไม่มาก ไม่น้อยเป็นทางสายกลาง สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล พร้อมที่จะรับผลกระทบที่เกิดโดยมีความรอบรู้ในวิชาการที่เกี่ยวข้องอย่างรู้จริง สามารถนำความรู้มาใช้ประโยชน์ได้ มีคุณภาพใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง เป็นการบูรณาการเอาการคิด การกระทำ การแก้ปัญหา ความเหมาะสมและความพอดี มารวมไว้ในคำว่า ?คิดเป็น? คือ การคิดเป็นทำเป็นอย่างเหมาะสมตนเกิดความพอดี และแก้ปัญหาได้ด้วย

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้เป็นคน คิดเป็น

         กระบวนการเรียนรู้ตามปรัชญา คิดเป็น นี้ ผู้เรียนสำคัญที่สุดผู้สอนจะเป็นเพียงผู้จัดโอกาส จัดกระบวนการ จัดระบบข้อมูล และแหล่งการเรียนรู้ กิจกรรมในการเรียนรู้อาจมีแนวปฏิบัติดังนี้

         1. กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์จากปัญหาและความต้องการของตนเอง
         2. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ
         3. เรียนรู้จากการอภิปรายถกเถียงในประเด็นที่เป็นปัญหา
         4. ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากกระบวนการกลุ่ม มีการใช้ข้อมูลหลาย ๆ ด้าน
         5. เรียนรู้จากวิถีชีวิตจริง จากการทำงาน
         6. ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการทำโครงงาน
         7. เรียนรู้จากการศึกษา กรณีตัวอย่างเพื่อการแก้ปัญหาชุมชน
         8. ผู้เรียนต้องรู้จักใช้ข้อมูลที่ลึกซึ่ง ฝึกตัดสินใจด้วยระบบข้อมูลที่เพียงพอและเชื่อถือได้
9. นำเวทีชาวบ้านมาเป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการคิดแก้ปัญหา
10. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ตัดสินใจในการแก้ปัญหาบนพื้นฐานของข้อมูลตนเอง ชุมชนสิ่งแวดล้อม และวิชาการ

ตัวอย่าง

        ปราชญ์ชาวบ้าน คุณลุงประยงค์ รณรงค์ แห่งชุมชนบ้านไม่เรียงจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นตัวอย่างของบุคคลที่เป็นรูปแบบของความหมาย คิดเป็น ได้อย่างดี ลุงประยงค์ จะมีความคิดที่เชื่อมโยง คิดแยกแยะ ชัดเจน เพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดในการนำไปปฏิบัติ และต้องทดลองความรู้ที่หามาได้ก่อนการยืนยันเสมอ แนวคิดเช่นนี้ทำให้ลุงประยงค์เป็นแกนนำสำคัญที่ทำให้ชุมชนไม่เรียง เป็นชุมชนตัวอย่างหนึ่งที่เข้มแข็งมานาน พึ่งพาตนเองได้อย่างเหมาะสมพอดีกับบริบทของตนเอง

สรุป

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ คิดเป็น นั้นคือ
         - สำรวจปัญหาลำดับความสำคัญของปัญหาที่ต้องแก้ไขก่อนหลัง
         - แสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยการรวบรวมข้อมูล
         - วิเคราะห์ข้อมูล
         - สรุปตัดสินใจเลือกวิธีการที่ดีที่เหมาะสมที่สุด
         - นำไปปฏิบัติและตรวจสอบ

         อาจกล่าวได้ว่าการกระจายอำนาจการบริหารจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ส่งผลให้แนวคิดในเรื่อง ?คิดเป็น? เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างสังคมชุมชนให้เข้มแข็ง หากประชาชนในชุมชนมีความสามารถ วิเคราะห์แยกแยะปัญหาความต้องการของคนได้ถูกต้อง และสามารถพัฒนาชุมชนหรือแก้ปัญญาได้ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ก็จะช่วยให้ชุมชนนั้น ๆ สามารถพัฒนาได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืนถาวร ผู้ที่มีหน้าที่จัดการศึกษาจึงควรให้ความสำคัญในแนวคิดนี้ และหาแนวทางที่จะนำแนวคิดลงสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมให้มากที่สุด

เอกสารและแหล่งอ้างอิง

กรมการศึกษานอกโรงเรียน. 2538. สารานุกรมการศึกษาตลอดชีวิต เล่ม 1 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว.

ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์. 2550. ?คิดเป็นคือคิดพอเพียง? วารสาร กศน. เพื่อนเรียนรู้ มีนาคม 2550, หน้า 9-11.

ชุมพล หนูสง และคนอื่นๆ. 2544. ปรัชญาคิดเป็น. (หนังสือรวบรวม คำบรรยายและบทสัมภาษณ์ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์. 2544. ในโอกาสต่างๆ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรไทย.

ทองอยู่ แก้วไทรฮะ. ?คิดเป็น : เพื่อนเรียนรู้สู่อนาคต? วารสาร กศน.พื่อนเรียนรู้. มีนาคม 2550, หน้า 12-16.

อุ่นตา นพคุณ. 2528. แนวคิดทางการศึกษานอกระบบโรงเรียนและการพัฒนาชุมชนเรื่อง คิดเป็น. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version