ผู้เขียน หัวข้อ: สาระสำคัญการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑)  (อ่าน 2827 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
วิสัยทัศน์ คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ

เป้าหมาย ภายในปี ๒๕๖๑ มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยเน้นประเด็นหลักสามประการ คือ

๑) คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย โอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผู้เรียน สถานศึกษาแหล่งเรียนรู้ สภาพแวดล้อม หลักสูตรและเนื้อหา พัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า สามารถดึงดูดคนเก่งดีและมีใจรักมาเป็นครูคณาจารย์ได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

๒) เพิ่มโอกาสการศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนทุกคน ทุกเพศ  ทุกวัยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

๓) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม ในการบริหารและจัดการศึกษา โดยเพิ่มบทบาทของผู้ที่อยู่ภายนอกระบบการศึกษาด้วย

กรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษา มีการปฏิรูปการศึกษาและเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดย

๑) พัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ ที่มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

๒) พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่ ที่เป็นผู้เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า  สามารถดึงดูดคนเก่ง คนดี มีใจรักในวิชาชีพครูมาเป็นครู

๓) พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาทุกระดับ/ประเภทให้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพและพัฒนาแหล่งเรียนรู้อื่นๆ สำหรับการศึกษาและเรียนรู้ทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย

๔) พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน ภาคเอกชนและทุกภาคส่วน    มีระบบการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล

เป้าหมายยุทธศาสตร์และตัวบ่งชี้ การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑)

คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.)  กนป. ได้กำหนดค่าเป้าหมายและตัวบ่งชี้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองจนสิ้นสุด พ.ศ. ๒๕๖๑ จำนวน ๔ เป้าหมาย ๒๐ ตัวบ่งชี้ ดังนี้

เป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ ๑ คนไทยและการศึกษาไทยมีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย

๑.๑ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาหลักจากการทดสอบระดับชาติมีคะแนนเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ ๕๐

๑.๒ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ (ผลทดสอบ PISA)

๑.๓ ความสามารถด้านภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓ ต่อปี

๑.๔ ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓ ต่อปี

๑.๕ สัดส่วนผู้เรียนมัธยมศึกษาตอนปลายประเภทอาชีวศึกษา : สามัญศึกษาเป็น ๖๐ : ๔๐

๑.๖ ผู้สำเร็จอาชีวศึกษาและอุดมศึกษามีคุณภาพระดับสากลและเป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ

๑.๗ จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทย (อายุ ๑๕-๕๙ ปี) เพิ่มขึ้นเป็น ๑๒ ปี

เป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ ๒ คนไทยใฝ่รู้ : สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รักการอ่าน และแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย

๒.๑ ผู้เรียนทุกระดับการศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕ มีทักษะในการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

๒.๒ อัตราการรู้หนังสือของประชากร (อายุ ๑๕-๖๐ ปี) เป็นร้อยละ ๑๐๐

๒.๓ ผู้เข้ารับบริการในแหล่งเรียนรู้เพิ่มขึ้นปีละอย่างน้อยร้อยละ ๑๐

๒.๔ คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงานโดยเฉลี่ยอย่างน้อยวันละ ๖๐ นาที

๒.๕ สัดส่วนผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้ต่อประชากรอายุ ๑๐ ปีขึ้นไปเป็นร้อยละ ๕๐

เป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ ๓ คนไทยใฝ่ดี : มีคุณธรรมพื้นฐาน มีจิตสำนึกและค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีจิตสาธารณะ มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย

๓.๑ ผู้เรียนทุกระดับการศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕ มีคุณธรรม จริยธรรมและมีความเป็นพลเมือง

๓.๒ จำนวนคดีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนลดลงร้อยละ ๑๐ ต่อปี

๓.๓ จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ที่ตั้งครรภ์ลดลงร้อยละ ๑๐ ต่อปี

๓.๔ จำนวนเด็กเข้ารับการบำบัดยาเสพติดลดลงร้อยละ ๑๐ ต่อปี

๓.๕ สัดส่วนคนไทยที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา และกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมอย่างสม่ำเสมอเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕ ต่อปี

เป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ ๔ คนไทยคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ : มีทักษะในการคิดและปฏิบัติ มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความสามารถในการสื่อสาร

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย

๔.๑ ผู้เรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์

๔.๒ ผู้สำเร็จการอาชีวศึกษาและการอุดมศึกษา มีสมรรถนะเป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้ และมีงานทำภายใน ๑ ปี รวมทั้งประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น

๔.๓ กำลังแรงงานที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไปเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๖๕ และมีสมรรถนะทางวิชาชีพตามมาตรฐาน


ที่มา :

- สำนักนโยบายด้านการศึกษามหภาค สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ http://www.onec.go.th

- http://fin.in.th/archives/1811