ผู้เขียน หัวข้อ: ไขความลับ(ที่ไม่ลับ)…ทำไมต่างประเทศถึงเรียน ‘ออนไลน์’ ได้สำเร็จ?  (อ่าน 207 ครั้ง)

ออนไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3726
ในขณะที่สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอก 2 ยังคงสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนพ่วงด้วยผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าของชีวิต รวมไปถึง การเปิดภาคเรียนใหม่ของปี 2564 ซึ่งการเรียนการสอนจะต้องกลับมาในรูปแบบออนไลน์อีกครั้ง แม้ว่าในครั้งนี้ ความรู้สึกของโรงเรียน ครู นักเรียน ผู้ปกครองอาจเริ่มคุ้นชินกับสิ่งนี้ แต่เราก็ยังอดเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเรียนออนไลน์ไม่ได้ผ่านทางคำบอกเล่าปนบ่นของผู้ปกครอง ตามโซเชียลมีเดียที่นักเรียนออกมาระบาย ทำให้เราตระหนักได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเรียนออนไลน์ก็ยังคงมีอยู่ บางเรื่องอาจได้รับการแก้ไข บางเรื่องอาจเป็นปัญหาใหม่ บางเรื่องไม่เคยได้รับการแก้ไขเลย ได้แต่ทนๆ ใช้เท่าที่มี เรียนเท่าที่ได้หรือปล่อยให้ความรู้สึกนี้ชินๆ กันไปเอง

แน่นอนว่าการเปิดเรียนอีกครั้งก็อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก จากเคสตัวอย่างของประเทศเกาหลีใต้ที่พยายามเปิดเรียนด้วยมาตรการการรักษาระยะห่าง แต่เพียงไม่กี่วันหลังเปิดเรียนก็ต้องยกเลิกไปเพราะมีเคสนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 จากที่โรงเรียน เช่นเดียวกับประเทศไทย แนวโน้มของการระบาดระลอก 2 อาจไม่ได้หายไปเร็วเท่าที่เราหวังไว้ ดังนั้น เราจึงต้องยอมรับสถานการณ์นี้ หันหน้าเข้าหาปัญหาและพยายามทำให้การเรียนออนไลน์เกิดผลมากที่สุดเพื่อที่จะยังคงมอบโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กไทย

ถึงแม้ว่า การเรียนออนไลน์จะไม่สามารถทดแทนการเรียนในห้องเรียนได้ครบทุกมิติ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนออนไลน์จะเป็นรูปแบบการเรียนใหม่ที่จะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต ในบางประเทศมีการเปิดสอนรูปแบบออนไลน์แบบเต็มเวลา เช่น โรงเรียน Te Aho o Te Kura Pounamu หรือ Te Kura ในประเทศนิวซีแลนด์สนับสนุนโดยรัฐบาล เป็นโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุด ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาซึ่งวิชาส่วนใหญ่ของโรงเรียนเป็นวิชาออนไลน์ จุดประสงค์ของโรงเรียนคือมอบการศึกษาให้แก่เด็กที่บ้านห่างไกลโรงเรียน นักเรียนที่ต้องเดินทาง นักเรียนที่มีปัญหาด้านสุขภาพและนักเรียนผู้ใหญ่ที่กลับมาเรียนอีกครั้ง โดยนักเรียนจะสามารถเรียนจากที่ไหนก็ได้ พร้อมกับมีแผนการเรียนเฉพาะบุคคล มีครูคอยดูแลทางออนไลน์หนึ่งต่อหนึ่ง หากนักเรียนบางคนมีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์น้อยกว่าคนอื่น โรงเรียนก็มีโปรแกรมช่วยเหลือยืมอุปกรณ์

การประสบผลสำเร็จในการเรียนออนไลน์มีหลายปัจจัยร่วม ซึ่งคนรอบตัวนักเรียนล้วนมีบทบาทเกี่ยวข้องที่ต้องช่วยกันสนับสนุนนักเรียน ครูเองก็ต้องปรับตัว เครื่องมือการสอนก็ควรเป็นเครื่องมือที่คลอบคลุมการใช้งานตามความต้องการของการสอนออนไลน์ วันนี้เราจึงมานำเสนอความลับ (ที่ไม่ลับ) ของกรณีตัวอย่างจากหลายๆ ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเรียนออนไลน์

1. ความพร้อมของอุปกรณ์..ของมันต้องมี!

สิ่งจำเป็นต่อการเรียนในรูปแบบนี้คือ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต/wifi/hotspot โปรแกรมและแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้อง​ ส่วนอุปกรณ์เสริมเช่น หูฟัง กล้อง ปริ้นเตอร์ สแกนเนอร์ เป็นเรื่องรอง หากมีพร้อม ความคล่องตัวของนักเรียนก็มีมากขึ้นแต่ควรคำนึงว่าจำเป็นจริงๆ หรือไม่ เรื่องอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์คงเป็นช่องโหว่ใหญ่ที่เกิดการถกเถียงเรื่องความเหลื่อมล้ำ แน่นอนว่า ไม่ใช่นักเรียนทุกคนจะมีพร้อม

แต่โรงเรียน เขตการศึกษาควรพิจารณาการใช้ทรัพยากรร่วม หรือ ระบบยืม เหมือนที่ประเทศอังกฤษอนุญาตให้นักเรียนที่ขาดแคลนคอมพิวเตอร์กลับมาเรียนที่โรงเรียนเพื่อใช้ทรัพยากรของโรงเรียนในการเรียนออนไลน์ได้

2. อยู่กับความเป็นจริง..ยืดหยุ่นให้เป็น

อย่าคาดหวังความสมบูรณ์แบบจากการเรียนออนไลน์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะกดดันทุกคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจว่าการเรียนรูปแบบออนไลน์มีทั้งข้อดีและด้อยกว่าในห้องเรียน ให้อยู่กับความเป็นจริง ตระหนักถึงสภาพแวดล้อม เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นด้วย ยืดหยุ่น เห็นอกเห็นใจให้เป็น นักเรียนบางคนอาจจะไม่ได้มีอุปกรณ์พร้อมครบครัน บางคนอาจจะไม่สามารถจัดสรรเวลาได้ดีนักเพราะอาจต้องหยิบยืมอุปกรณ์จากผู้ปกครอง หรือ ในขณะที่เศรษฐกิจกำลงแย่ลง นักเรียนบางคนอาจต้องออกไปช่วยพ่อแม่ทำงาน ครูจึงต้องยืดหยุ่นเข้าไว้
หาจุดตรงกลางที่ประณีประนอมหลายๆ ฝ่าย ตัดความไม่จำเป็นออกหากสิ่งนั้นไม่สอดคล้องกับรูปแบบออนไลน์แต่กลับทำให้ยุ่งยากขึ้น เช่น
การเข้าแถวเคารพธงชาติ หรือ กิจกรรมหน้าเสาธง

3. ทำความเข้าใจให้ตรงกันอย่างชัดเจน

เพราะการเรียนรูปแบบออนไลน์ล้วนเป็นเรื่องใหม่ของทุกคนไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน ครู นักเรียนหรือผู้ปกครอง ในขณะที่ทุกฝ่ายพยายามปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ การลองผิดลองถูกจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โรงเรียน ครู นักเรียนและผู้ปกครองควรทำความเข้าใจให้ตรงกัน บอกความต้องการที่ชัดเจน บอกรายละเอียดในเรื่องแผนการเรียนการสอน การจัดการเรียน สร้างแบบแผน สร้างคู่มือ เรื่องง่ายๆ สามารถทำได้ เช่น ลิสต์อุปกรณ์หรือโปรแกรมที่ต้องใช้​ วิธีการเข้าใช้งานของโปรแกรม วิธีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ทำวิดีโอสอน ทำคำถามที่พบบ่อย เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันและพร้อมที่จะสนับสนุนการเรียนออนไลน์ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

4. ใช้เวลาในการวางแผนให้ดี..ปรับตัวตามแผน

ลงทุนใช้เวลาเพื่อวางแผนให้ดีก่อนที่จะลงมือสอนออนไลน์ เมื่อทางโรงเรียนและครูช่วยกันวางแผนให้ชัดเจน ปัญหาที่จะตามมาก็จะมีน้อยลงหรืออย่างน้อยๆ ก็จะมีแนวทางแก้ไขที่เตรียมไว้ วางแผนในภาพรวม แผนการสอนตามหลักสูตร แผนกิจกรรมหรือการบ้านที่ต้องมอบหมาย แผนประจำวันล้วนแล้วเป็นเหมือนแผนที่ให้กับครูในการสอนออนไลน์ ลดการเสียเวลากับการหลงทาง นอกจากการวางแผนแล้ว การปรับตัวให้เข้ากับแผนก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้เกิดความสำเร็จ การวางแผนอาจวางเผื่อไปถึงกรณีที่นักเรียนต้องการความยืดหยุ่น เช่น หากต้องแชร์คอมพิวเตอร์กับพี่น้องคนอื่นที่บ้าน ครูจะต้องทำอย่างไร? โรงเรียนอาจจะจัดเวลาในการเช็คชื่อ 2 ครั้งไหม? หรือแบ่งวันเรียนเป็นครึ่งเช้า เรียนสด ครึ่งบ่ายทำงานด้วยตนเองหรือมอบหมายให้นักเรียนอ่านหนังสือหรือพูดคุย สื่อสารกับครูผ่านช่องทางออนไลน์แทน

5. เรียน สอน อย่างแท้จริง..ไม่ใช่สั่งแต่งาน

เพราะครูบางส่วนอาจจะยังปรับตัวกับการสอนออนไลน์ไม่ได้ เราจึงเห็นว่านักเรียนออกมาบ่นตามโซเชียลมีเดียว่าครูเอาแต่สั่งงาน กลับไม่ได้สอนเหมือนเคย แต่การเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะระหว่างสถานการณ์แบบนี้อย่างน้อยๆ ก็ควรเป็นประสบการณ์การเรียนที่สนุกสนาน ได้ความรู้ ไม่เช่นนั้นการเรียนในรูปแบบนี้จะยิ่งทำให้นักเรียนเครียด การเรียนออนไลน์ไม่ใช่ข้ออ้างของการมอบงานเท่านั้น ครูควรแบ่งการสอนเป็นการสอนย่อย ไม่กินเวลานานเกินไปเพราะสมาธิที่บ้านอาจน้อยกว่าในห้องเรียน สั่งพักบ่อยๆ สนับสนุนให้นักเรียนมีส่วนร่วมทางออนไลน์ คอยตอบสนองนักเรียนให้เร็วที่สุด เช่น ตรวจงาน ให้คอมเมนต์ ชมเชย เพื่อให้นักเรียนมีแรงบันดาลใจในการเรียน

6. สนับสนุนให้การเรียนให้เป็นเชิงตอบโต้

การเรียนออนไลน์เป็นรูปแบบที่แตกต่างจากการเรียนต่อหน้าเหมือนในห้องเรียนอย่างสิ้นเชิง บวกกับการอยู่บ้านที่มีสิ่งรบกวนอยู่มากมาย

ดังนั้น ควรออกแบบการเรียนออนไลน์ให้เป็นเชิงตอบโต้ ให้นักเรียนมีส่วนร่วม สนับสนุนการสนทนา อภิปรายกันระหว่างการเรียนจะทำให้นักเรียนสนุก ไม่เบื่อ ยังคงมีความสัมพันธ์กับเพื่อนในห้อง ครูผู้สอน บรรยากาศในห้องเรียนก็ยังคงเหมือนห้องเรียน แม้ว่าจะอยู่ในรูปแบบออนไลน์

ครูอาจใช้เทคนิค เช่น เรียกชื่อตอบ เพื่อให้นักเรียนจดจ่อ สนใจกับเนื้อหาการเรียนการสอน อนุญาตให้นักเรียนแช็ตถามคำถามอาจเหมาะสำหรับนักเรียนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก แต่การเรียนออนไลน์ทำให้การแช็ตถามเป็นเรื่องง่าย คอยหาเกมสั้นๆ มาเล่น วิดีโอที่น่าสนใจ พูดคุยเรื่องอื่นเพื่อยังคงความสนใจของนักเรียน ทำให้ไม่น่าเบื่อเกินไป

7. ตัวเลือกของการเรียนแบบไม่เรียลไทม์


เนื่องจากสถานการณ์การดำเนินชีวิตในช่วงโรคระบาดของแต่ละคนต่างกัน นักเรียนบางคนไม่สามารถดูการสอนสดได้ อาจเป็นเพราะข้อจำกัดทางด้านเวลา การเข้าถึงของอุปกรณ์ หรือความสามารถในการโฟกัสผ่านวิดีโอคอล นักเรียนบางคนมีปัญหาในการประมวลข้อมูลเมื่อถูกสอนผ่านรูปแบบการฟังอย่างเดียว หากครูสามารถสอนผ่านวิดีโอ หรือ อัดเอาไว้เพื่อให้นักเรียนดูหรือทบทวนได้ภายหลังผ่านการอัพโหลดวิดีโอบนเว็บเพื่อให้นักเรียนเรียนจากที่ไหนก็ได้ ในเวลาไหนก็ได้ ครูอาจสลับระหว่างการสอนสดและวิดีโอได้เช่นกัน ซึ่งทำให้นักเรียนหรือแม้แต่ตัวครูเองสามารถจัดสรรเวลาไปทำอย่างอื่นได้

8. เลือกเครื่องมือที่ใช่และใช้อย่างต่อเนื่อง

เครื่องมือ แพลตฟอร์ม โปรแกรมด้านการศึกษานั้นมีมากมายให้เลือกใช้ ในบางครั้งครูหรือโรงเรียนอาจจะอยากลองใช้หลายๆ ตัวเพื่อเลือกตัวที่ดีที่สุด แต่การจำกัดจำนวนเครื่องมือ แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มจะทำให้นักเรียนและผู้ปกครองไม่รู้สึกเครียดและกดดันมากเกินไป โรงเรียนและครูควรเลือกใช้ตัวที่ตอบโจทย์มากที่สุด ทำให้นักเรียนเข้าถึงสื่อการสอนได้มากที่สุด ไม่ใช่แค่วิดีโอเท่านั้นที่จะต้องเข้าถึงได้ แต่ไฟล์งาน เอกสารต่างๆ ก็ต้องทำให้นักเรียนเข้าถึงได้ด้วย ครูและนักเรียนควรฝึกใช้เครื่องมือเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเคยชิน อย่าเปลี่ยนเครื่องมือไป มา เพราะจะทำให้นักเรียนสับสน
 
9. พูดคุยถึงภาระทางอารมณ์

คอยถามไถ่ถึงความรู้สึกของนักเรียนหรือลูก โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยถนัดในการใช้เครื่องมือดิจิทัลว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือหรือต้องการพูดคุยปัญหากับใครไหม การอยู่บ้านหรือการเรียนออนไลน์อาจทำให้เกิดความเครียด โดดเดี่ยวและความกลัว ใช้เวลาในการพูดคุยถึงความรู้สึกเพราะสิ่งนี้สำคัญพอๆ กับผลการเรียน ควรสนับสนุนนักเรียนให้พักบ่อยๆ ออกกำลังกาย นอนให้เป็นเวลา สร้างเป้าหมายของวันและสัปดาห์ หาเวลาในการเข้าสังคม (อาจเป็นทางออนไลน์ก็ได้) รักษาและอย่าปล่อยให้สุขภาพจิตเสีย

10. จัดระเบียบพื้นที่การเรียน​

พื้นที่การเรียนมีผลต่อการเรียนอย่างมาก พื้นที่นี้ควรเป็นพื้นที่เงียบ ปราศจากสิ่งรบกวน เช่น โทรทัศน์ สัตว์เลี้ยง หรือพี่น้องคนอื่นที่วิ่งเล่นในบ้าน ควรจะเป็นพื้นที่ที่สบายพอที่จะโฟกัส มีสมาธิกับสิ่งที่เรียน แต่จะต้องไม่สบายเกินไปจนผ่อนคลายและทำให้อยากนอน มีโต๊ะ เก้าอี้นั่งให้เป็นกิจลักษณะ มีไฟสว่างเพียงพอกับการอ่านหนังสือ มีอากาศปลอดโปร่ง ถ่ายเท มีอุปกรณ์เพียงพอ อย่าง กระดาษ ปากกา ดินสอ เอกสารการเรียนต่างๆ
 
แม้ว่าวิธี 10 ข้อนี้จะฟังดูง่ายหรือโรงเรียน ครู นักเรียน ผู้ปกครองอาจไม่สามารถทำได้ครบทุกข้อ แต่ความเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้เสมอจากจุดเล็กๆ ต่อให้การเรียนออนไลน์ไม่เกิดขึ้นในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แต่ข้อปฏิบัตินี้ก็ยังสามารถนำไปฝึกฝน ประยุกต์และจะเป็นประโยชน์ได้ในอนาคตที่การศึกษาอาจเปลี่ยนเป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น

ที่มา https://www.ignitethailand.org/content/6276/ignite