ผู้เขียน หัวข้อ: การศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 การพัฒนาทักษะคือหัวใจสำคัญของการศึกษา  (อ่าน 2119 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3925
คำว่า การศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 ย้ำให้เห็นว่า เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมที่ประเทศต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ  และระบบการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัว โดยไม่ใช่แค่การปฏิรูปเพียงครั้งคราว แต่ต้องเป็นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  เพื่อตอบสนองความต้องการของเยาวชน สังคมและตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งผู้กำหนดนโยบายและบุคลากรด้านการศึกษาของไทยที่ผู้เขียนมีโอกาสได้รู้จักล้วนตระหนักว่า การศึกษาควรจะมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและสอดคล้องกับสังคมในอนาคต

แม้ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าในด้านการเข้าถึงการศึกษาในระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษา รวมทั้งมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อปรับปรุงคุณภาพการศึกษา แต่ประเทศไทยยังคงประสบความท้าทายอีกหลายประการ เช่น นักเรียนจำนวนมากยังไม่มีทักษะพื้นฐานที่ควรจะมี ดังจะเห็นได้จากผลการประเมินต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและในระดับระหว่างประเทศ  หรืออัตราส่วนของเด็กที่ไม่ศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษายังค่อนข้างสูง จึงทำให้เยาวชนจำนวนมากขาดทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง

การปรับปรุงระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งจะช่วยเพิ่มศักยภาพ โอกาส และความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ  และด้วยแนวโน้มการเป็นสังคมผู้สูงอายุและสัดส่วนของประชากรในวัยทำงานที่ลดลงเรื่อย ๆ ทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะคือปัจจัยสำคัญของความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต  ดังนั้น คุณภาพของระบบการศึกษา ตลอดจนสมรรถนะและทักษะของผู้สำเร็จการศึกษา จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะตอบโจทย์ดังกล่าว

แม้ยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาและการพัฒนารวมทั้งการปฏิรูประบบการศึกษาที่กำลังเกิดขึ้นในไทยจะมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองต่อปัญหาข้างต้น  แต่ความท้าทายของไทยคือจะทำอย่างไรจึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในชั้นเรียนทั่วประเทศ และเราจะเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนให้มุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะและทักษะของผู้เรียนได้อย่างไร

ในขณะที่ทักษะพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การคำนวนและการอ่านเขียนยังคงเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเรียนรู้ในอนาคต นักเรียนต้องได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ด้วย เพื่อให้พวกเขาเติบโตได้ในยุคแห่งความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา ทักษะที่สำคัญดังกล่าวที่เราควรหันมาให้ความสำคัญ เช่น การปรับตัว การคิดเป็นระบบ การสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา และการทำงานร่วมกับคนอื่น ซึ่งเป็นทักษะที่นำไปใช้ได้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ตามแนวโน้มปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนงานข้ามสาขาวิชาชีพที่หลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถในการนำทักษะที่มีไปปรับใช้ในสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ

การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะหลักสูตรการศึกษาคือกรอบที่กำหนดวิสัยทัศน์และแนวทางในการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้และผลลัพธ์ที่คาดหวังให้เกิดขึ้นกับนักเรียนทั่วประเทศ  ดังนั้น กระบวนการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาจึงควรจะนำไปสู่การปลูกฝังความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และค่านิยมต่าง ๆ ที่เยาวชนจำเป็นต้องมี เพื่อให้พวกเขาเติบโตได้ ไม่ใช่แค่ในโลกปัจจุบัน แต่รวมถึงอนาคต

กระบวนการดังกล่าวควรจะอยู่บนพื้นฐานของผลการศึกษาวิจัย และการใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ด้านการพัฒนาสมรรถนะจากทั่วโลก รวมทั้งต้องตอบสนองต่อความคาดหวังและเป้าหมายในการพัฒนาของประเทศ  มันควรเป็นกระบวนการที่ทุกคนมีส่วนร่วม ตอบสนองความต้องการของเยาวชน และสามารถพัฒนาทักษะที่พวกเขาต้องการให้เกิดขึ้นได้ โดยอาศัยวิธีการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียน  ทั้งนี้ ภาคเอกชนควรมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ด้วย เพื่อให้การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษานำไปสู่การพัฒนาทักษะที่เป็นที่ต้องการของนายจ้างได้อย่างแท้จริง

ความพร้อมของระบบการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาและความเชื่อมั่นของครูที่จะปฏิบัติตามแนวทางใหม่เป็นอีกเรื่องที่สำคัญต่อความสำเร็จในการนำหลักสูตรที่เน้นการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนไปปฏิบัติ  ดังนั้น เราจึงต้องเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปหลักสูตรตั้งแต่ต้น เพื่อให้พวกเขาพร้อมที่จะเดินตามในขั้นตอนการปฏิบัติ  นอกจากนั้น ครูควรได้รับการสนับสนุนให้เข้าใจแนวทางใหม่ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน และเข้าถึงทรัพยากรและความรู้ใหม่ ๆ ในการสร้างสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และการมีกิจกรรมร่วมกัน เช่น โครงงานเพื่อการเรียนรู้ การวิจัยและการวิเคราะห์ และแบบฝึกหัดเพื่อฝึกฝนการแก้ไขปัญหา

กระบวนการประเมินผลการเรียนรู้ควรได้รับการปฏิรูปไปพร้อมกับการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาและวิธีการเรียนการสอน เนื่องจากระบบการสอบและประเมินผลในระดับประเทศในปัจจุบันไม่ได้ถูกออกแบบมาภายใต้กรอบแนวคิดที่ต้องการพัฒนาทักษะและสมรรถนะของผู้เรียน  ทั้งนี้ การประเมินผลควรจะเป็นการวัดสมรรถนะและความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ของนักเรียน และควรเป็นส่วนหนึ่งของโครงงานหรือกิจกรรมในชั้นเรียนที่เกิดขึ้นตลอดปีการศึกษา

องค์การยูนิเซฟยังสนับสนุนให้การปฏิรูประบบการศึกษานำไปสู่โอกาสที่เท่าเทียมด้วย เพื่อให้นักเรียนทั่วประเทศได้รับประโยชน์ โดยรัฐบาลต้องกำหนดกรอบให้มีการส่งครูที่มีคุณภาพไปประจำโรงเรียนที่มีความต้องการมากที่สุดก่อน โดยเฉพาะโรงเรียนที่ยังขาดแคลนที่นักเรียนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่ขาดโอกาส ซึ่งยังต้องการเครื่องมือและทรัพยากรที่จำเป็นต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงกระบวนการศึกษาและการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้จริง มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเป็นประโยชน์กับเฉพาะโรงเรียนที่มีความพร้อม โดยทิ้งให้โรงเรียนและนักเรียนที่ยังขาดแคลนไว้ข้างหลัง โดยที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อย่างเต็มที่

บทความนี้เป็น 1 ใน 5 บทความขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เพื่อนำเสนอประเด็นหลัก 5 ด้านที่สำคัญต่อการลงทุนในการพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมของประเทศไทยต่อไป

ที่มา https://www.unicef.org/thailand/th