ผู้เขียน หัวข้อ: เหตุผลที่ไม่ควรเร่งให้เด็กเขียน  (อ่าน 2535 ครั้ง)

ออฟไลน์ เลิศชาย ปานมุข

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 3925
เมื่อ: กรกฎาคม 23, 2022, 12:32:07 AM
สำหรับเด็กอนุบาลที่เลื่อนชั้นขึ้นมาในระดับชั้นประถมศึกษา ความคาดหวังอย่างหนึ่งที่ครูผู้สอนอยากได้จากนักเรียน นั่นคือเรื่องของการเขียน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการเรียนในระดับที่สูงขึ้น ยิ่งถ้าเด็กสามารถเขียนได้ไวเท่าไหร่ การเรียนรู้ในระดับประถมศึกษาก็สามารถขับเคลื่อนไปได้เร็วเท่านั้น เพราะสามารถที่จะเรียนรู้เนื้อหาได้เลย โดยไม่จำเป็นจะต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมหรือปรับพื้นฐานต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี สำหรับเด็กอนุบาลนั้นนับว่าอยู่ในช่วงของ Preschool Age คือช่วงของเด็กก่อนวัยเรียน ทำให้การเรียนในระดับปฐมวัยนั้นจะเน้นที่การเสริมประสบการณ์ให้กับเด็ก เพื่อให้เด็กมีความพร้อมและมีประสบการณ์ในการใช้ทักษะต่าง ๆ อย่างเหมาะสม มากกว่าที่จะเป็นการสอนเนื้อหาวิชาการ ทำให้การจัดการเรียนรู้ในระดับปฐมวัยแตกต่างจากระดับอื่น ๆ ทำให้สิ่งนี้กลายเป็นปัญหาเสมอในรอยต่อทางการศึกษาระหว่างการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาในระดับประถมศึกษา เพราะด้วยหลักสูตรที่แตกต่างกัน ทำให้รูปแบบการเรียนรู้จึงแตกต่างกันตามไปด้วย

หลายโรงเรียนต่างคาดหวังให้เด็กต้องอ่านออกและเขียนได้ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลเพื่อให้สามารถต่อยอดการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมในชั้นประถมศึกษาซึ่งบางครั้งคาดหวัง ถึงขั้นที่เด็กต้องสามารถเขียนเป็นประโยคยาว ๆ ได้ แม้ว่าสิ่งนี้จะดูเหมือนช่วยให้เด็กเข้าสู่ระบบการเรียนได้เร็วขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่นัก เพราะด้วยธรรมชาติของพัฒนาการเด็กในระดับปฐมวัย ไม่ใช่ช่วงของการเขียนที่ชัดเจนเช่นนี้

สำหรับเหตุผลของการไม่ควรเร่งเขียนในระดับการศึกษาปฐมวัยนั้น มีด้วยกันอยู่หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

1. ทักษะในการเขียนของเด็กปฐมวัยนั้น มีความเกี่ยวพันกับพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก ความสัมพันธระหว่างมือกับตา นอกจากนี้ยังรวมถึง ความเข้าใจเรื่องภาษาในการสื่อความหมาย และการเชื่อมโยงซึ่งอยู่ในส่วนของพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งในระดับปฐมวัยนั้นพัฒนาการเหล่านี้ ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่เท่าไหร่นัก จึงไม่ใช่ช่วงวัยที่เหมาะสมนักในการส่งเสริมการเขียนในรูปแบบเดียวกับการเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา

2. การเร่งเขียนในระดับปฐมวัยนั้น นับเป็นการลดทอนเวลาสำคัญ ที่ถือเป็นช่วงวัยทองของชีวิตที่เด็กควรจะได้เล่นและเรียนรู้ผ่านการเสริมประสบการณ์ต่าง ๆ อย่างหลากหลาย มากกว่าต้องมานั่งใช้เวลาทำแบบฝึกหัดที่เน้นการเขียนจำนวนมาก

3. การเร่งเขียนมีโอกาสทำให้เด็กคร้านการเรียนในอนาคต เพราะเนื่องจากสิ่งที่ตัวเองทำในชั้นประถมศึกษานั้น เทียบเคียงได้กับการเร่งเรียนในระดับอนุบาล จึงทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองต้องทำเรื่องเดิมซ้ำ ๆ  เช่น การคัดลายมือ หรือการเขียนตามข้อความบนกระดาน ซึ่งทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่ายได้ และทำให้รู้สึกว่าการเรียนนั้นไม่น่าสนใจ

4. นักวิชาการหลายท่านสนับสนุนว่าการส่งเสริมทักษะการเขียนโดยใช้วิธีการเดียวกับการเรียนในระดับประถมศึกษานั้น ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็กปฐมวัย ซึ่งนอกจากจะขัดกับการเจริญเติบโตของเด็กแล้วการบังคับให้เด็กปฐมวัยเรียนเขียนทั้ง ๆ ที่เขายังไม่พร้อม นอกจากนี้ยังส่งผลให้เด็กมีทัศนคติที่ไม่ดีกับการเรียน และคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถในการเรียนไม่ดี เพราะคิดว่าตัวเองทำไม่ได้เหมือนเพื่อน

5. งานวิจัยหลายแห่งยืนยันว่า การไม่เร่งเรียนเขียนอ่านในเด็กปฐมวัยนั้น เมื่อขึ้นชั้นประถมศึกษา ช่วงแรกเด็กอาจมีปัญหาในการปรับตัวบ้าง แต่เมื่อไปถึงในระดับหนึ่ง ทักษะการเขียนของเด็กที่เร่งและไม่เร่งเรียนนั้นจะไม่มีความแตกต่างกันหรือบางงานวิจัยก็แสดงให้เห็นว่าเด็กปฐมวัยที่ไม่ได้เร่งเรียนเขียนอ่านนั้นกลับทำได้ดีกว่าในระยะยาว

ความจริงทักษะการเขียนในเด็กปฐมวัยนั้นมีการเติบโตและพัฒนาตามพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ขวบปีแรกโดยเริ่มต้นจากการวาดภาพเพื่อการสื่อความหมาย การขีดเขียนเป็นเส้นหรือเป็นสัญลักษณ์ เพื่อแทนคำศัพท์ตามความความเข้าใจของตัวเอง ก่อนที่จะเริ่มเป็นการออกแบบตัวอักษรของตัวเอง การเขียนเลียนแบบตัวอักษร การเขียนตัวอักษรโดยเรียงลำดับอย่างอิสระ โดยไม่ตรงหลักไวยากรณ์ และจึงค่อยเป็นการเรียนรู้ที่จะการเขียนตามแบบแผนในเวลาต่อมา

ซึ่งถ้าสังเกตตามแนวทางนี้จะเห็นว่า ท้ายที่สุดแล้วเด็กจะเขียนได้ด้วยตัวเองตามแต่ความพร้อมของแต่ละคน โดยที่ครูผู้สอนไม่จำเป็นต้องเร่งให้เด็กต้องเขียนให้ได้ตามแบบแผนโดยเร็ววัน ซึ่งครูผู้สอนควรส่งเสริมให้เขามีประสบการณ์การเขียนอย่างเป็นธรรมชาติด้วยการส่งเสริมกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ เช่น

1. ส่งเสริมกิจกรรมที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กเช่น การร้อยลูกปัด การปั้นดินน้ำมันหรือการทำงานฝีมือเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กให้มากขึ้นซึ่งส่งผลทำให้เด็กสามารถใช้ประโยชน์จากพัฒนาการเหล่านี้เพื่อการเขียนได้ในอนาคต

2. สนับสนุนให้นักเรียนวาดภาพบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าประทับใจในแต่ละวันหรือเล่าเรื่องเกี่ยวกับหนังสือนิทานที่ได้ฟัง

3. ครูผู้สอนควรเล่านิทานที่เหมาะสมกับวัย โดยเล่าให้เด็กฟังเป็นประจำและชี้ชวนให้เด็กสังเกตตัวอักษรหรือคำศัพท์ต่าง ๆ ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้เด็กรักการสังเกต และมีความทรงจำเกี่ยวกับตัวอักษรหรือคำศัพท์นั้น ๆ ซึ่จะเป็นผลดีในการเขียนของเด็กในอนาคต

4. ครูผู้สอนสามารถใช้แบบฝึกหัดที่เป็นการเขียนเส้นปะได้บ้าง เพื่อให้เด็กมีประสบการณ์ในการเขียน แต่ไม่ควรใช้เป็นหลักและไม่ควรเน้นที่ความถูกต้องและสวยงาม แต่ควรเน้นในเรื่องการมีประสบการณ์ในการเขียนที่หลากหลายมากกว่า

5. การจับดินสอของเด็กนั้นควรคำนึงถึงพัฒนาการของเด็กเป็นสำคัญ ซึ่งครูผู้สอนควรเลือกใช้อุปกรณ์ทั้งดินสอและสีให้เหมาะสมกับวัย และควรส่งเสริมให้เด็กจับดินสอให้ถูกต้องตามแต่ละช่วงวัยของเขา โดยไม่จำเป็นต้องเร่งให้เด็กจับให้ถูกต้อง

6. ไม่ปิดกั้นการเขียนอิสระของเด็กและจัดให้มีกระดาษและอุปกรณ์การเขียนให้เด็กได้เขียนหรือวาดภาพตามจินตนาการเมื่อมีเวลาว่างหรือในกิจกรรมอิสระ

7. ใช้วิธีการจัดประสบการณ์ทางภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยโดยแนวการจัดการเรียนรู้แบบ Whole language ซึ่งหมายถึงการสอนภาษาแบบองค์รวม ที่จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เข้าใจภาษาทั้งการอ่านและการเขียนให้เติบโตไปพร้อม ๆ กัน

8. ครูผู้สอนควรเน้นที่การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยมีประสบการณ์ทางภาษาที่หลากหลายทั้งการอ่านและการเขียนอย่างเหมาะสม มากกว่าที่จะเน้นที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

9. การจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะด้านการเขียนของเด็กปฐมวัยนั้น ควรดำเนินการอย่างเป็นลำดับขั้นตอนตามพัฒนาการของเด็ก

การเร่งเขียนนั้น แม้ว่าสำหรับเด็กบางคนอาจไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหาเท่าไหร่นัก แต่ถ้าดูตามพัฒนาการโดยทั่วไปของเด็กส่วนใหญ่ การเร่งเขียนในระดับปฐมวัยก็เป็นเรื่องที่ยากลำบากมากในความไม่พร้อมของเด็กหลาย ๆ คน ยิ่งเราเร่งเรียนเขียนอ่านมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการเบียดบังเวลาอันมีค่าที่จะใช้ในการพัฒนาด้านอื่น ๆ ให้เด็กมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย การพัฒนาทักษะความคิด หรือ แม้แต่การเรียนรู้ในเรื่องที่จำเป็นกับการใช้ชีวิต ซึ่งในโลกปัจจุบันสิ่งที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญมากกว่า

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่าการเขียนนั้นไม่สำคัญ เพราะทักษะพื้นฐาน เช่น การฟัง การอ่าน และการเขียน นั้นก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเรียนรู้ในเรื่องอื่น ๆ แต่การเขียนที่เป็นไปตามวัยนั้น ย่อมดีกว่าการเขียนที่เร่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะมันคือการสร้างรากฐานที่แข็งแรงไปพร้อม ๆ กับการเติบโตของเด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างเหมาะสม เมื่อก้าวเข้าสู่ระบบการเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา และแม้ว่าสิ่งนี้จะใช้เวลามากหน่อยในการปรับตัว แต่ก็เป็นเรื่องที่คุ้มค่ากว่ามากในระยะยาว

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร
 
แหล่งข้อมูล
Learning to Read and Write: What Research Reveals. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2565
งานวิจัยเผยจี้เร่งเรียนเขียนอ่าน ส่งผลหยุดยั้งทักษะสมองต่ำ. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2565

ที่มา : https://www.trueplookpanya.com/education/content/91398